วันศุกร์, มกราคม 17, 2568
สแกมเมอร์นั้นเป็นเครือข่ายธุรกิจ หรือเศรษฐกิจประเภทหนึ่ง ที่ดำเนินกิจการผ่านองค์ประกอบสำคัญสี่ประเภทคือ 1. การดึงคนเข้ามาทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่ทำผ่านเครือข่ายค้ามนุษย์ 2. ซื้อขายข้อมูลผิดกฎหมายผ่านตลาดมืด 3. ใช้ข้อมูล และธุรกรรมการเงินออนไลน์ในการหลอกลวง และ 4. การฟอกเงิน
Pinkaew Laungaramsri
12 hours ago
·
สแกมเมอร์นั้นเป็นเครือข่ายธุรกิจ หรือเศรษฐกิจประเภทหนึ่ง ที่เราเรียกกันว่าทุนนิยมนักล่า/ทุนนิยมหลอกลวง ( predatory capitalism) นักสังคมศาสตร์บางคน เรียกมันว่า compound capitalism (โปรดดูงานเขียนที่น่าสนใจมากของ Ivan Franceschini, Ling Li & Mark Bo 2023) หรือทุนนิยมที่ดำเนินงานโดยการคุมขังแรงงานไว้ภายใน ทุนนิยมสแกมเมอร์ ดำเนินกิจการผ่านองค์ประกอบสำคัญสี่ประเภทคือ 1. labor recruitment -การดึงคนเข้ามาทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่ทำผ่านเครือข่ายค้ามนุษย์, 2. การซื้อขายข้อมูลผิดกฎหมายผ่านตลาดมืด (illegal data market) 3.การใช้ข้อมูลนั้น (เบอร์โทร และข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ) ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสาร และธุรกรรมการเงินออนไลน์ในการหลอกลวงเหยื่อ และ 4. การฟอกเงิน/แปรสภาพเงินที่ได้จากการหลอกลวงให้เป็นสินทรัพย์ชนิดอื่น ไม่ว่าจะในรูปของดิจิทัล หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ตาม (money laundering)
ทั้งสี่องค์ประกอบนี้ สร้างวงจรที่เชื่อมต่อกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นวงจรเดียวกัน ของอาชญากรรมสี่ลักษณะ ได้แก่ วงจรของการค้ามนุษย์ วงจรของการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล วงจรของการล่อลวงธุรกรรมออนไลน์ และวงจรการฟอกเงิน วงจรเหล่านี้ดำเนินการผ่านเครือข่ายหลายชนิด ที่มีทั้งไทย และเมืองชายแดนไทย-เมียนมาร์ เป็นฐานปฏิบัติการสำคัญ การจะทลายอาชญากรรมข้ามชาติสแกมเมอร์หรือแก๊งค์คอลเซนเตอร์ได้ รัฐไทยต้องตัดวงจรทั้งสี่นี้ ไม่ให้สามารถปฏิบัติการได้ ไม่ให้สามารถเชื่อมต่อกันได้
ที่ผ่านมา วงจรอาชญากรรมเหล่านี้ ดำเนินไปได้ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ 1) อำนาจและอิทธิพลของนักการเมืองและข้าราชการไทย ทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ ที่ให้การคุ้มครอง ผ่านระบบส่วยและสินบน 2) ระบอบ disaggregated sovereignty หรืออธิปไตยแยกส่วน ที่รัฐพม่าส่วนกลาง แบ่ง/ถ่ายอำนาจอธิปไตยให้กลุ่มกองกำลังชนกลุ่มน้อยในการดูแลชายแดน เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์หลายประเภท พื้นที่ชายแดน ที่เป็นที่ตั้งของเมืองสแกมเมอร์ จึงไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ หรือกฎหมายของรัฐส่วนกลาง แต่อยู่ภายใต้อำนาจของกองกำลังกะเหรี่ยงชายแดน 3) การสนับสนุนการเติบโตของเมืองสแกมเมอร์ในชายแดน โดยภาคธุรกิจ และรัฐท้องถิ่นในเมืองแม่สอด และ 4) การทำงานของรัฐไทยที่หย่อนยาน อ่อนแอ ทั้งด้านกฎหมาย นโยบาย และมาตรการ ขาดแผนมุ่งเป้าที่ชัดเจน ครอบคลุม และเป็นระบบ ขาดองค์กรที่เป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการงานปราบปรามแก๊งค์คอลเซนเตอร์ ขาดมาตรการที่บังคับให้ธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะธนาคาร และโทรคมนาคม ร่วมรับผิดชอบในการปราบปรามแก๊งค์คอลเซนเตอร์
ถ้ารัฐไทยมีความจริงจังในการปราบปรามอุตสาหกรรมสแกมเมอร์จริง ไม่ใช่เพียงต้องการกู้ภาพลักษณ์ชั่วครั้งชั่วคราวเมื่อมีข่าวขึ้นมา มีความจำเป็นต้องมีการวางยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบเพื่อถอนรากถอนโคนเครือข่ายอุตสาหกรรมนี้ เพื่อไม่ให้สามารถใช้ไทย และชายแดนไทย-เมียนมาร์เป็นฐานปฏิบัติการได้อีกต่อไป โดยทลายวงจรอาชญากรรมสี่ประเภทลงให้ได้ ดิฉันมีข้อเสนอ ดังนี้ คือ
1.ในแง่องค์กร มีความจำเป็นต้องมีคณะกรรมการเฉพาะที่มี mission ในการปราบปรามแก๊งค์คอลเซนเตอร์โดยเฉพาะ ที่ชัดเจนและเป็นระบบ ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้เข้าด้วยทั้งรัฐและเอกชน ไม่ใช่เพียงฝากความหวังไว้ที่ตำรวจไซเบอร์ ที่สำคัญคือ กองทัพ ควรมีบทบาทในเรื่องนี้ได้แล้ว เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงชายแดน ที่ผ่านมายังไม่เห็นว่ากองทัพไทย มียุทธศาสตร์อะไรที่เป็นระบบ ในการจัดการกับปัญหาแก๊งค์คอลเซนเตอร์ ที่ฉวยใช้ประโยชน์จากพรมแดนไทยแต่อย่างใด
2. ปฏิรูปกฎหมาย และมาตรการควบคุมที่ทำให้การลงโทษ และความรับผิดชอบ มีอัตราที่สูงกว่าแรงจูงใจด้านการเงิน และทำให้ภาคเอกชนต้องร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ผลักภาระการป้องกันตนเองไปให้ประชาชนเพียงถ่ายเดียว ควรนำมาตรการที่มีประสิทธิภาพจากประเทศอื่นมาประยุกต์ใช้ เพื่อขยายระบบคุ้มกันประชาชนจากภัยคอลเซนเตอร์ ยกตัวอย่างเช่น ในบางประเทศ เช่น จีน มีมาตรการเชิงรุก ที่ธนาคารต้องร่วมผิดชอบกรณีสูญเงินให้แก๊งค์คอลเซนเตอร์ ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องออกมาตรการในการกลั่นกรองการเปิดบัญชีที่เข้มงวด มีการติดตามบัญชีที่น่าสงสัย กำหนดเงื่อนไขห้ามทำธุรกรรมในช่วงที่ถูกตรวจสอบ ฯลฯ หรือบริษัทโทรคมนาคม ถูกกำหนดให้ต้องสกรีนหมายเลข หรือการสื่อสารที่น่าสงสัย และแจ้งเตือนผู้ใช้บริการโดยทันที ไม่ใช่ให้ผู้บริการ ต้องคอยโทรเช็คเบอร์ที่น่าสงสัยเอง
3. การตัดวงจรอาชญากรรมทั้งสี่ประเภท ได้แก่ labor recruitment, illegal data market, scamming, และ money laundering, ในการตัดวงจร labor recruitment นั้น รัฐต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่ามีความจริงจังในการทำลายวงจรการค้ามนุษย์อย่างแท้จริง กล้าที่กวาดล้าง และทำลายกลุ่มผลประโยชน์ ที่อยู่ในรัฐและหน่วยงานรัฐเอง การตัดตอนกระบวนการนำพาแรงงานสแกมเมอร์ข้ามแดน จึงต้องเริ่มจาก
1) ปราบปรามอิทธิพลส่วยค้ามนุษย์ในไทย 2) สร้างความมั่นคงชายแดน ด้วยการควบคุมกำกับพรมแดนให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงตั้งแต่ต้นทาง ถึงปลายทางแม่สอด เพื่อตัดตอนการเติบโตของเมืองสแกมเมอร์ ตำรวจจีนมีข้อมูลอาชญากรแก๊งคอลเซนเตอร์รายบุคคลเยอะมาก เป็นพันๆรายชื่อ เคยให้กับตำรวจไทยไว้ ไม่ทราบว่าทีผ่านมา ตม.ได้เคยใช้ข้อมูลนี้ในการสกรีนคนเข้าออกประเทศหรือไม่ เส้นทางเข้าแม่สอด มีด่าน check points ไม่ต่ำกว่า 3 แห่ง ด่านเหล่านี้ เคยทำหน้าที่ในการสกรีนคนเข้ามายังพื้นที่ชายแดนหรือไม่ เช่นเดียวกับ ท่าข้ามของเอกชน ตลอดริมน้ำเมยเฉพาะในแม่สอด 20 กว่าท่า ที่ส่งทั้งคนและสินค้าอุปโภค บริโภคเข้าไปยังเมืองสแกมเมอร์ เคยถูกควบคุมกำกับหรือไม่
เรามีความจำเป็นต้องควบคุมพรมแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตัดตอนการเติบโตของเมืองสแกเมอร์ และสร้างแรงกดดันให้เมืองอาชญากรรมเหล่านี้ ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ต้องเข้าใจก่อนว่า เมืองสแกมเมอร์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นชเวโก๊กโกะ KKPark ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่พึ่งพาทรัพยากรจากไทยเป็นหลัก เจ้าของธุรกิจต่างๆในแม่สอดทราบดี ว่าผู้ที่สั่งสินค้าจากเมืองสแกมเมอร์ เป็นใครบ้าง วัสดุก่อสร้างจากร้านใหญ่ในแม่สอดส่งไปเมืองสแกมเมอร์ใดบ้าง เจ้าของท่าข้ามต่างๆ ทราบดี ว่าน้ำดื่ม อาหาร คน ข้ามไป/ส่งไปที่ไหน หมู่บ้านตลอดแนวชายแดน ผู้ใหญ่บ้านทราบดี ว่าบ้านไหน ที่ส่งสายเคเบิล ส่งสัญญาณอินเตอรเน็ต ไปฝั่งเมืองสแกมเมอร์ แต่เราเกียร์ว่างมาตลอด กระทรวงมหาดไทย ไม่เคยมีนโยบายหรือมาตรการใดๆในการควบคุมท่าข้าม และหมู่บ้านตลอดแนวชายแดนเหล่านี้ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ที่ดิฉันเคยสัมภาษณ์ บอกชัดว่า พวกคนจีนในชเวโก๊กโกะ ไลน์มาสั่งอาหารที่ร้านเขาประจำ ถ้าสั่งเยอะ เขาก็จะไปส่งถึงที่ ข้ามที่ท่าประจำ เข้าไปส่งถึงภายใน เขามีไลน์ มี contact ใน wechat กัน ขนาดนั้น
การประกาศให้แม่สอดเป็นเมืองสีแดง เป็นเขตพิเศษในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ประกาศเฉยๆนั้น ไม่มีผล เพราะไม่มีมาตรการหรือแผนมุ่งเป้าในการสร้างแรงกดดัน ให้เมืองสแกมเมอร์เหล่านี้ เปลี่ยนแนวทางจากการทำธุรกิจอาชญกรรมไปยังทำอย่างอื่น รัฐไทย ไม่เคยมีมาตรการเชิงรุก หรือยื่นข้อเสนอให้กองกำลังกะเหรี่ยงต่างๆที่ควบคุมชายแดน ยุติกิจกรรมอาชญากรรมที่ทำอยู่ กองทัพ ซึ่งรู้จักกองกำลังเหล่านี้ดีกว่าใครทั้งหมด ที่ผ่านมา ทำงานเพียงแค่ “ประสาน” แต่ไม่เคยสร้างแรงกดดันใดๆ เพื่อให้พรมแดนของเราปลอดภัย นายทหารท่านหนึ่ง พูดให้สัมภาษณ์ในกรณีของดาราจีนที่ถูกจับตัวไปว่า
“เราประสานเขาไปว่า หากคุณยังทำอย่างนี้อยู่ มันจะอยู่ไม่ได้เพราะคุณจะถูกสังคมโลกประณามและโจมตี ซึ่งหลายส่วนก็เข้าใจและพยายามปรับทิศทางกันอยู่” (โปรดดูสำนักข่าวชายขอบ) น่าแปลกใจว่า กองทัพไทยทำได้แค่นี้ ทั้งที่พรมแดนเป็นของฝั่งไทยด้วยเช่นกัน และการที่พรมแดนไทยกลายเป็นพรมแดนสีเทา กระทบกับอธิปไตยและความมั่นคงของชาติโดยตรง
ในการตัดวงจรตลาดมืดค้าข้อมูล ที่ผ่านมา ยังไม่เห็นหน่วยการรัฐมีแผนอย่างจริงจังในการทลายตลาดซื้อขายข้อมูลเหล่านี้อย่างเด็ดขาด ไม่ใช่เพียงเอาผิดผู้ขาย แต่ต้องจัดการกับผู้ซื้อ กับแหล่งซื้อขายด้วย และช่องโหว่สำคัญคือ แหล่งที่ทำให้ข้อมูลรั่วไหล ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกัน ธนาคาร บริษัทโทรคมนาคม หน่วยงานรัฐ กลับไม่เคยต้องรับผิดชอบ กับการปล่อยให้ข้อมูลรั่วไหลแต่อย่างใด ทั้งที่ผิดเต็มๆเพราะล้มเหลวในเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
เช่นเดียวกับการตัดตอนการฟอกเงิน ที่ซึ่งฐานใหญ่อยู่ในไทย หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงคือกรุงเทพฯเรานี่เอง ข้อมูลจำนวนไม่น้อย ที่ตำรวจไซเบอร์เองก็ทราบดี ระบุชัดว่า เส้นทางของเงินจากการเรียกค่าไถ่ และการหลอกลวงเหยื่อใน KK Park ถูกแปลงให้เป็นสกุลเงินดิจิทัลจำนวนมหาศาล เดินทางเข้าสู่บัญชีวอลเล็ทของนักธุรกิจจีนบางคน ที่ทำมาหากินอยู่ในกรุงเทพฯ บางรายมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับสมาคมไทย-จีน บางแห่ง เช่าตึก ซื้อตึกอยู่ในเมืองหลวงของเรานี่เอง คำถามสำคัญคือ รัฐไทยมีแผนเชิงรุกในการจัดการกับการฟอกเงิน ตลอดจนสายสัมพันธ์ระหว่างแหล่งอาชญากรรมชายแดน กับขบวนการจีนเทาที่ปักหลักอยู่ในเมืองหลวงของประเทศอย่างไร?
คำถามและข้อเสนอเหล่านี้ เป็นมาตรการเชิงโครงสร้าง ที่ทำไม่ได้เพียงแค่คิดง่ายๆสั้นๆ เรื่องการแก้ภาพลักษณ์ แต่เรียกร้องความกล้าหาญและจริงจังในการแก้ปัญหาจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ในขณะที่รัฐและคนของรัฐ ต่างพากันกำลังตื่นเต้น ฝันหวานที่จะได้เงินเป็นพันล้าน จากเอ็นเทอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ที่เพิ่งผลักดันกันออกมาสดๆร้อนๆ แต่อาชญากรรมที่พล่าผลาญเงินมหาศาลของประชาชน ในแต่ละปี ที่มีจำนวนสูงแทบจะเท่ากับจีดีพีของประเทศเล็กๆประเทศหนึ่ง และทำลายเศรษฐกิจของชาติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน รัฐกลับไม่มีแผนในการแก้ปัญหาที่ชัดเจนแต่อย่างใด ฝันหวานเรื่องเอ็นเทอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์นั้น ทำให้คนของรัฐตาพร่ามัว จนคงจะลืมไปว่า ในสมัยที่กลุ่มทุนจีนเทา เสนอที่จะสร้างเมืองชเวโก๊กโกะขึ้นที่ชายแดนเมียวดีนั้น ไอเดียอันตื่นตาตื่นใจของเมืองดังกล่าว ก็คือการสร้างเมืองให้เป็น เมืองแห่งเอ็นเทอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์นั่นเอง และเผื่อไม่ทราบกัน กลุ่มทุนเดียวกันนี้ ก็เคยแสดงความจำนงในการร่วมลงทุนในเอ็นเทอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ของไทย ด้วยเช่นกัน
https://www.facebook.com/arunothai.ruangrong/posts/9102558359791144