วันศุกร์, พฤศจิกายน 08, 2567

จากกรณีกรมราชทัณฑ์ให้อดีตนายกรัฐมนตรีพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ทำให้สังคมเกิดข้อคำถามถึงการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน กมธ.ความมั่นคงฯ จึงเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล


Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม
10 hours ago
·
Poetry of กมธ.ความมั่นคงฯ [ครั้งที่ 52]
ความเป็นมา
ภารกิจเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นหนึ่งในภาระหน้าที่ของกมธ.ความมั่นคงฯ และมีบทบาทในการแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม
จากกรณีกรมราชทัณฑ์ให้อดีตนายกรัฐมนตรีพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ทำให้สังคมเกิดข้อคำถามถึงการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน กมธ.ความมั่นคงฯ จึงเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาปัญหาและแนวทางในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ประเด็นการพิจารณา
พิจารณาศึกษาปัญหาและแนวทางในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กรณี กรมราชทัณฑ์ให้อดีตนายกรัฐมนตรีพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม
1. ประธานคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร
2. อดีตรองนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ
3. ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
ประเด็นซักถามและความเห็นในที่ประชุม
คณะกรรมาธิการฯ ได้ตั้งประเด็นการพิจารณา 3 ประเด็นหลักคือ 1. การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นไปโดยชอบหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบจากราชทัณฑ์ว่า ผู้บัญชาการเรือนจำมีอำนาจหน้าที่อนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรับการรักษานอกเรือนจำตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 และจากกรณีการส่งตัวอดีตนายกฯ ไปโรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้ผ่านโรงพยาบาลราชทัณฑ์นั้น เพราะพยาบาลในสถานพยาบาลพิจารณาว่ามีความเสี่ยง อีกทั้งมีเครื่องมือการแพทย์ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลภายนอก ทั้งนี้ การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวด้านนอก ถ้าเป็นในเวลาจะเป็นหน้าที่ของแพทย์ในเรือนจำ แต่ถ้านอกเวลาจะเป็นพยาบาลเป็นผู้ประเมิน เพราะไม่มีแพทย์คนใดเข้าไปในสถานพยาบาลแต่ละแดนนอกเวลา แต่พยาบาลก็มีทักษะประเมินผู้ป่วยฉุกเฉินได้และคนเซ็นอนุญาตคือ ผู้บัญชาการเรือนจำ
ประเด็นที่ 2 กรณีอดีตนายกฯ ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเกินกว่า 120 วันนั้น มีการประเมินต่อเนื่องและการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่ จากประเด็นดังกล่าว ทาง กมธ.ฯ ได้รับคำตอบว่า ราชทัณฑ์มีการประเมินทุก 30 วัน 60 วันและ 120 วัน ซึ่งมีการทำตามขั้นตอนและมีการรายงานไปยังรัฐมนตรีตามระเบียบของกฎกระทรวง แต่กลับไม่ได้รับข้อมูลว่าแพทย์ท่านใดเป็นผู้ให้ความเห็นในการรักษา และไม่มีผู้ให้ความชัดเจนได้ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานใดในการพิจารณาการรักษาตัวเป็นระยะเวลานานดังกล่าว โดยทางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ขอให้ข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง ภายใน 7 วัน
ประเด็นสุดท้ายคือ ผลทางกฎหมายกรณีการพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน ซึ่งก็ต้องรอคำตอบจากประเด็นที่ 1 และ 2 ว่าเป็นไปโดยชอบหรือไม่ เพราะจะมีผลต่อเนื่องถึงการพักโทษและผลทางกฎหมายอื่น ๆ
คณะกรรมาธิการฯ ได้สอบถามถึงสิทธิผู้ต้องขังว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ เนื่องจากค่าใช้จ้ายห้องพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจ หากรวมค่ารักษาและค่าห้องตลอดการพักรักษาตัว รวมค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท รวมถึง มาตรฐานการรักษาและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอื่น ๆ จะได้รับมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า ทางกรมราชทัณฑ์ไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของอดีตนายกฯ แต่ผู้ต้องขังทุกคนที่อยู่ในโรงพยาบาล จะได้รับการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในทุกกรณี ยกเว้นกรณีที่เกินสิทธิ ผู้ต้องขังหรือญาติผู้ต้องขัง ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ และยืนยันว่าหากมีกรณีผู้ต้องขังเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็จะได้รับการรักษาตัวทันท่วงทีเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน
คณะกรรมาธิการฯ ได้สอบถามถึงการควบคุมผู้ต้องขังว่าเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ รวมถึงการห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไปมีเจ้าหน้าที่ควบคุมอย่างไรและการเข้าเยี่ยม การรักษามีการบันทึกหรือไม่ ซึ่งไม่ได้รับข้อมูลที่แน่ชัดจากผู้ชี้แจง
คณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อย รวมถึงบางหน่วยงานขอส่งเอกสารประกอบการพิจารณาภายหลัง ทำให้ไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม ทาง กมธ.ความมั่นคงฯ จะแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ทุกหน่วยงานได้ชี้แจงถึงการทำหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เป็นที่กระจ่างแก่สังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่สุดต่อผู้ปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน
ข้อมูลที่น่าสนใจจากผู้เข้าชี้แจง
ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้ให้ข้อมูลว่า ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพจำกัดในการรักษา เนื่องจากเป็นแห่งเดียวที่รองรับจากเรือนจำทั้งหมด หากผู้ป่วยมีภาวะวิกฤต จะจำเป็นต้องส่งต่อโรงพยาบาลภายนอก ซึ่งทุกขั้นตอนเป็นไปตาม พรบ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ส่วนโรงพยาบาลตำรวจเป็นโรงพยาบาลที่ราชทัณฑ์ส่งผู้ป่วยไปมากที่สุด และการประเมินว่า ต้องได้รับการรักษาตัวต่อในภายนอกและจำนวนวันที่ต้องรักษาระยะเวลานั้น เป็นหน้าที่แพทย์ผู้รักษาของโรงพยาบาลตำรวจ
ประธานคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งประเด็นข้อสังเกตถึงขั้นตอนการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ต่อการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำว่าเป็นไปโดยชอบหรือไม่ รวมถึงความรวดเร็วในการส่งตัวผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินที่เป็นไปโดยรวดเร็วของอดีตนายกที่ระบุเป็นภาวะฉุกเฉิน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ต้องส่งตัวด่วนจากโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ไปโรงพยาบาลตำรวจ ใช้เวลาส่งตัว 21 นาที การเดินทางจากเรือนจำไปโรงพยาบาลตำรวจ ระยะทาง 17 กิโลเมตร เดินทางโดยทางด่วน 17 นาที การปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์หรือพยาบาลที่เรือนจำ จึงมีเวลาปฏิบัติการ 3 นาทีเท่านั้น ดังนั้น ผู้ต้องขังอื่นจะได้รับมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ รวมถึงการอนุญาตให้อดีตนายกรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นเวลานาน ใครคือผู้ให้ความเห็นดังกล่าว ซึ่งกรณีแพทย์ผู้ให้ความเห็น ยังเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้จากทุกหน่วยงาน
.....

[LIVE]: กมธ. ความมั่นคงฯ ประชุมเรื่องการรักษาตัวในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ของอดีตนายกทักษิณ


[LIVE]: กมธ. ความมั่นคงฯ เชิญ ‘พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ - พล.ต.อ.สุรเชษฐ์’ แจง ปม ’ทักษิณ’ รักษาตัวชั้น 14

The Reporters TV

Streamed live 19 hours ago

https://www.youtube.com/watch?v=CcsGhflrG0A