ส่วนหนึ่งของผลงานชุดอมิตโตโฟ โดยศิลปินชาวจีน ชู่ ผี ซึ่งกำลังเป็นอาร์ตทอยที่ได้รับความนิยมในไทย
เหตุใดอาร์ตทอย “อมิตโตโฟ (Amitofo)” กลายเป็นเรื่องอ่อนไหวในสังคมพุทธประเทศไทย
จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
13 พฤศจิกายน 2024
กล่องจุ่มอาร์ตทอยอมิตโตโฟ (Amitofo) เป็นผลงานสร้างสรรค์ของศิลปินอิสระชาวจีนชื่อว่า ชู่ ผี (Shu Pi) ซึ่งมีทั้งที่เป็นพวงกุญแจและตุ๊กตารูปพระอมิตภะพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในพระพุทธเจ้าตามความเชื่อของนิกายมหายานและวัชรยาน
ด้วยความหลากหลายของผลงานที่มีตั้งแต่พวงกุญแจพระอมิตภะพุทธเจ้าที่สวมแว่นตากันแดดทรงแฟชั่น ทำผมขาวใส่ชุดนอนลายแบรนด์เนมชาแนล ไปจนถึงรูปพระพุทธเจ้าใส่ชุมคลุมสีชมพูมีแผ่นมาส์กหน้าจนคนไทยเรียกว่า “หลวงเจ้”
นายบุญเชิด กิตติธรางกูร รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ว่า “อยากให้แม่ค้าพินิจพิเคราะห์ให้ดี ก่อนที่จะนำสินค้าใด ๆ ก็ตามที่สื่อถึงพระศาสดา มาจัดจำหน่าย ไม่ว่าศาสดาของศาสนาไหนก็ตาม เช่นสินค้าชุดนี้ เป็นสินค้าที่สื่อถึงพระเศียรขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำมาห้อยกระเป๋าหรือพวงกุญแจ ไม่เหมาะโดยประการทั้งปวง กรณีนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนยิ่ง ที่ผ่านมา พศ. ทำได้เพียงขอความร่วมมือ”
ในส่วนแสดงความเห็นใต้โพสต์ดังกล่าว มีความเห็นหลากหลายต่อประเด็นนี้ ส่วนใหญ่ไปในทางที่ไม่เห็นด้วย พร้อมกับตั้งคำถามต่อบทบาทของ พศ. ถึงแม้นายบุญเชิดจะแสดงความเห็นในนามส่วนตัวก็ตาม
ก่อนหน้านี้ ชู่ ผี ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานได้ให้สัมภาษณ์กับรายการไทยบันเทิงของไทยพีบีเอสว่า ตนเองไม่ทราบมาก่อนว่าคนไทยเรียกตุ๊กตารูปพระพุทธเจ้าที่มาส์กหน้าว่า “หลวงเจ้” เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากนิสัยรักสวยรักงามของสาวจีนเท่านั้น ส่วนผลงานอื่น ๆ ก็ไม่ได้ทำออกมาเพื่อเป็นของขลัง แต่อยากให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายจากการทำงานหนักหรือการใช้ชีวิตว่าไม่จำเป็นต้องรีบร้อนหรือเครียดไปกับทุกสิ่ง
สิรนันท์ เดชะคุปต์ นักวิจัยด้านกฎหมายเพื่อการพัฒนาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) มองว่ากรณีนี้เป็นการแสดงความเห็นในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามของ พศ. ซึ่งนายบุญเชิดก็มีสิทธิแสดงออกได้ว่าเขามีความเห็นและความอ่อนไหวต่อประเด็นใด ๆ เพราะคนเราไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือน ๆ กัน
“มันก็แสดงให้เห็นว่ามันมีคนแบบนี้ไม่น้อยที่รู้สึกเช่นนี้ เพราะพุทธศาสนาและนักบวชในศาสนาหรือพระก็อยู่ในหลาย ๆ จุดของชีวิตคนตั้งแต่เกิดไปจนถึงงานศพ หรือแม้แต่ในหนังสือเรียนก็มีวิชาพุทธศาสนา” เธอกล่าว “มันก็ไม่แปลก หากคนจะรู้สึกไม่ดี หากเขาเห็นสิ่งที่เคารพถูกนำไปทำเล่น ๆ”
ขณะเดียวกันเธอก็เสริมว่า หากผู้คนจะรู้สึกเฉย ๆ หรือรู้สึกว่าอาร์ตทอยดังกล่าวนั้นน่ารัก มันก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน เพราะโลกของศาสนานั้นกว้างมาก ในปัจจุบันเรามีทั้งผู้ที่ไม่นับถือศาสนาและศาสนาพุทธเองก็มีหลากหลายนิกายที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งตีความคำสอนไม่เหมือนกัน นอกจากนี้สินค้าด้านศาสนาไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายในไทย
ด้านนายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา บอกกับบีบีซีไทยว่า พศ. มีหน้าที่เป็นเพียงเลขาธิการของมหาเถรสมาคม ภารกิจหลักตามกฎหมายจึงเป็นเรื่องการปกครองคณะสงฆ์ ไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการชี้นำความเชื่อของประชาชน
เขาเห็นด้วยว่า รองผู้อำนวยการ พศ. มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่เนื่องจากมีตำแหน่งในองค์กรศาสนาของรัฐ จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีการใช้อำนาจเข้ามาปราม ซึ่ง “หากพิจารณาจากกรอบแนวคิดเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา ก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม”
บีบีซีไทยได้ติดต่อไปยังนายบุญเชิดเพื่อขอความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เขาปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ และบอกว่าเคารพและเข้าใจทุกความเห็น
ทำไมมีพระเครื่องได้ แต่อาร์ตทอยพระพุทธเจ้าเป็น “เรื่องอ่อนไหว” ?
ในปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประเมินไว้ว่า ธุรกิจพระเครื่องสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในไทยไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งของความเห็นใต้โพสต์ของนายบุญเชิด มีผู้คนบางส่วนตั้งคำถามถึงความแตกต่างระหว่างพระเครื่องซึ่งเป็นเครื่องรางที่ใช้รูปหรือสัญลักษณ์ที่สื่อถึงพระพุทธเจ้าไม่ต่างจากอาร์ตทอย อมิตโตโฟ แต่เหตุใดกลับไม่เคยถูกห้ามปรามหรือถูกมองว่าเป็นความอ่อนไหวที่ไม่เหมาะสม
นายสุรพศบอกกับบีบีซีไทยว่า หากมองจากสายตาของผู้มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมแบบพุทธเถรวาทในไทย ก็จะเห็นว่ารูปลักษณ์ของพระพุทธรูป สัญลักษณ์ทางศาสนา รวมถึงพระสงฆ์นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นไม่ว่าใครจะทำอะไรกับสิ่งเหล่านี้ต้องกระทำด้วยความเคารพ “ทำแบบบ้าน ๆ แบบพื้น ๆ ทางโลกไม่ได้”
แต่ปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวกำลังถูกท้ายจากมุมมองของผู้คนในโลกสมัยใหม่ที่มีภาวะโลกวิสัยมากขึ้น และตั้งคำถามต่อตำนานต่าง ๆ ที่เล่าสืบต่อกันมาว่ามีความจริงมากน้อยเพียงใด รวมถึงมองว่าวัตถุมงคลก็เป็นเพียงของปลุกเสกเพื่อเป็นสินค้าทางพุทธพาณิชย์เท่านั้น
“ดังนั้น ถ้าชาวบ้านจะเอามาทำเป็นตุ๊กตาหรืออะไรก็ตาม มันก็เป็นเพียงสินค้าแบบหนึ่งเหมือนกัน คำถามคือคุณจะเป็นผู้ผูกขาดตลาดศรัทธาให้กับพระเกจิดัง ๆ ว่าปลุกเสกได้ ไม่มีความผิด พระผู้ใหญ่ทำผ้ายันต์เลสเตอร์ ก็ไม่ถูกมองว่าผิด แต่พอชาวบ้านมาทำในลักษณะเดียวกัน คุณบอกว่ามันผิด สรุปมาตรฐานมันอยู่ตรงไหน” นักวิชาการด้านศาสนากล่าว
ขณะที่สิรนันท์จาก TDRI มองว่า พระพุทธรูปเป็น “วัฒนธรรมหลัก” ที่รัฐไทยเลือกมาแล้วว่าต้องเชิดชูบูชา ทำนุบำรุง แตะต้องได้ยากกว่าเพราะมีความศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่ “วัฒนธรรมรอง” หรือวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่รัฐไม่ได้เข้าไปกำกับ ยกตัวอย่างเช่น “หิมพานต์มาร์ชเมลโล่” ซึ่งเป็นรูปปั้นสัตว์หิมพานต์ที่ทำหน้าที่เฝ้าวัดท้องถิ่นในภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง สามารถถูกนำมาตีความและสร้างสรรค์ออกมาในแนวน่ารักได้โดยไม่มีใครเข้าไปห้าม แม้เป็นสิ่งที่ผู้คนในท้องถิ่นให้ความเคารพนับถือเช่นกัน
หิมพานต์มาร์ชเมลโล่
“มันเป็นเรื่องการที่รัฐเข้าไปวางความศักดิ์สิทธิ์ไว้กับวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวคิดของรัฐไทยเท่านั้น ขณะที่กล่องจุ่มหลวงเจ้มันเป็นสินค้าที่นำเข้ามา มันกลายเป็นเรื่องข้ามรัฐ มันมาจากจีน ความศักดิ์สิทธิ์ก็ตีความไม่เหมือนกันแล้ว วัฒนธรรมหลัก-วัฒนธรรมรองที่รัฐเข้าไปดูแลก็ไม่เหมือนกันแล้ว เส้นของความเหมาะสมมันก็ต่างกันแล้ว” เธอกล่าว
นักวิจัยจาก TDRI ยกตัวอย่างต่อว่า ในอดีตเคยมีชาวต่างชาติทำพระพุทธรูปออกมาในเนื้อหาเชิงเพศ “ซึ่งดูแรงกว่าอาร์ตทอย” แต่ในอีกมุมหนึ่งศาสนาพุทธนิกายวัชรยานก็มีพระพุทธรูปปางเสพสังวาสซึ่งเป็นศิลปะแบบตันตระของทิเบต เพื่อให้เข้าถึงคำสอนเกี่ยวกับการมีกามคุณอย่างมีสติ
“ถามว่ามันยังเสื่อมเสียอยู่ไหม ในเมื่อมันเป็นความเชื่อแบบอื่น” สิรนันท์ กล่าว “ดังนั้นคิดว่าประเด็นมันไม่น่าใช่เรื่องความเหมาะสมหรือไม่ แต่เป็นเรื่องความเข้าใจมากกว่า เช่น ชาวต่างชาติเขาก็ไม่เข้าใจว่ามันศักดิ์สิทธิ์อย่างไร ทำไมเอามาตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ส่วนเราเองที่โตมาแบบนี้ก็อาจไม่เข้าใจการที่เอาทุกอย่างมาทำ content (เนื้อหา) ได้แบบชาวต่างชาติ”
อมิตโตโฟมีหลากหลายชิ้นงานให้นักสะสมเลือกซื้อจากกล่องจุ่ม
นายสุรพศ นักวิชาการด้านศาสนาอธิบายเพิ่มเติมว่า พุทธศาสนานิกายเถรวาทของไทยนั้นมีความอนุรักษนิยมค่อนข้างมาก และมีความซับซ้อนพิเศษกว่าเถรวาทในศรีลังกา เมียนมา หรือกัมพูชา ตรงที่ความศักดิ์สิทธิสูงสุดอยู่ที่ “การปกครองโดยธรรม” ของผู้มีอำนาจ นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังระบุด้วยว่า รัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท
“นิกายแบบอนุรักษนิยมจึงต้องสร้างเรื่องเล่าว่าพระเป็นเนื้อนาบุญ ซึ่งคำนี้ก็มีความหมายในเชิงศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าการทำบุญกับพระได้บุญมากกว่าคนธรรมดา เมื่อพระเป็นเนื้อนาบุญ พระก็ต้องมีสถานะเป็นผู้บริสุทธิ์ สูงส่ง ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้วัตถุต่าง ๆ เกี่ยวกับศาสนามีความศักดิ์สิทธิ์ตามกันไปด้วย แต่หากมองด้วยมุมมองโลกสมัยใหม่ บุญก็เป็นสินค้า เพราะมีการบอกว่าบริจาคมาก ยิ่งได้บุญมาก ที่บอกว่าเผยแผ่ธรรมะ ก็เป็นสินค้า เพราะเราก็ไม่เห็นว่าพระสงฆ์จะบรรยายธรรมะฟรี ยิ่งพระดัง ๆ คิวงานมีข้ามปี ไม่เคยมีใครไปเช็คบัญชีส่วนตัว บางรูปมีเงินซื้อที่ดินเป็นร้อย ๆ ไร่ ซึ่งเป็นเงินจากการเผยแพร่ธรรมะ ดังนั้นธรรมะก็กลายเป็นสินค้า วัตถุมงคลต่าง ๆ ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามันคือสินค้า ดังนั้นความศักดิ์สิทธิ์ก็มีไว้เพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม หากเรามองด้วยหลักเหตุผล แต่หากมองจากหลักศรัทธาก็อาจมองได้ว่าสิ่งที่ผมพูดมานี้มันแรงไป” นายสุรพศ กล่าวกับบีบีซีไทย
องค์กรศาสนาของรัฐควรอยู่ตรงไหน ?
สิรนันท์บอกว่า อาร์ตทอยคือผลิตภัณฑ์หนึ่งที่มาจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) หรือที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเรียกว่า “ซอฟต์พาวเวอร์ (soft power)”
เธออธิบายต่อว่าโดยหลักแล้ว เศรษฐกิจสร้างสรรค์คือการทำคอนเทนท์ (content) ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบเพลง ดนตรี นิยาย หรือแม้แต่อาร์ตทอย และปัจจุบันพวกเรากำลังอยู่ในโลกที่อุตสาหกรรมการสร้างคอนเทนท์กำลังเฟื่องฟูอย่างมาก แต่บทบาทของรัฐไม่ใช่การเลือกคัดสรรคอนเทนท์ เพราะรัฐไม่มีทางทราบเลยว่าคอนเทนท์ไหนที่จะไวรัล (viral) หรือขายได้ เพราะมีเพียงเอกชนเท่านั้นที่ทราบทิศทางการตลาดได้ดีกว่า
เธอบอกว่าพระพุทธรูปเองก็ถือว่าเป็นคอนเทนท์หนึ่งในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดังนั้นการมีสิ่งมากำกับว่าทำอะไรกับคอนเทนท์ได้-ไม่ได้ จึงถือว่าเป็นการจำกัดความคิดสร้างสรรค์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในอดีตการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์และละครของไทยซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระก็ต้องผ่านการตรวจสอบโดยกองเซ็นเซอร์ ซึ่งทำให้บางเรื่องถูกแบนหรือต้องแก้ไขด้วยการตัดเนื้อหาที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมออกไป
“แต่เราก็ยังเห็นผู้ผลิตสร้างหนังเกี่ยวกับพระออกมาเรื่อย ๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่ในสังคมไทย เป็นสิ่งที่เราเห็นและต้องการนำเสนอ ซึ่งเมื่อนำเสนอออกมาแล้วมันก็สร้างการถกเถียงในสังคมได้ เพียงแต่ว่ารัฐเราเลือกที่จะไม่ต้องการให้เกิดการถกเถียงมากกว่า” เธอกล่าว
สำหรับเรื่องอาร์ตทอย สิรนันท์เสนอว่ารัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจน หากรัฐเห็นว่าไม่ต้องการให้มีการขายหลวงเจ้ เพราะขัดความรู้สึกประชาชนมาก ๆ รัฐก็ต้องกีดกันทางการค้าโดยใช้นโยบายศุลกากร แต่หากไม่มีกลไกหรือเครื่องมือทางกฎหมาย ป้องกันไม่ได้ ไปจับเขาไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ คนที่ชอบเขาก็ยังคงหาซื้อ แถมราคาจะแพงขึ้นด้วย เพราะมีต้นทุนในการลักลอบนำเข้าหรือการผลิต
“ในทางกลับกัน หากรัฐมีความชัดเจนว่าเราขายกล่องจุ่มหลวงเจ้ได้นะ เอาพระพุทธรูปมาตีความเป็นสินค้าได้หลากหลาย หน่วยงานของรัฐก็ต้องเลิกออกมาห้ามและปล่อยให้ประชาชนทำ หากขายไม่ได้ เขาก็เลิกขายไปเอง โดยส่วนตัวจึงไม่ได้มองว่ารัฐต้องมีความยืดหยุ่นหรืออะไร ต้องการความชัดเจนก็พอ เพื่อประชาชนจะได้ทำตัวถูก” นักวิจัยจาก TDRI ระบุ
เธอเสนอว่าควรมีการทบทวนบทบาทองค์กรศาสนาของรัฐในไทย ให้กลายเป็นองค์กรที่สร้างความเข้าใจระหว่างศาสนา รวมถึงกำกับดูแลองค์กรด้านศาสนา ทุกศาสนาในไทยให้มีความโปร่งใส ไม่เป็นแหล่งฟอกเงิน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ซึ่งเป็นภารกิจที่องค์กรศาสนาของรัฐที่ประเทศต่าง ๆ มุ่งดำเนินไปในทิศทางนี้
“การทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว มันก็ไม่ใช่แค่การกีดกันคนออกจากศาสนา แต่มันเป็นการกีดกันบริบทอื่น ๆ กีดกันความเข้าใจต่อศาสนาในฐานะพลเมืองโลกที่มันมีศาสนาแบบอื่น และมันถูกตีความใหม่ไปเรื่อย ๆ ดังนั้นเราอาจไม่จำเป็นต้องไปให้ถึง secular state (รัฐโลกวิสัย หรือรัฐที่เป็นกลางทางศาสนา ไม่สนับสนุนศาสนาใดเป็นพิเศษ และไม่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการปกครอง) แต่ควรทบทวนบทบาทเพื่อให้แน่ใจได้ว่าเขาจะไม่เข้ามาห้าม หรือเข้ามากำกับนิยามของศาสนาแล้ว” สิรนันท์กล่าวกับบีบีซีไทย
https://www.bbc.com/thai/articles/cew2jy9dn28o
.....
"คำถามคือคุณจะเป็นผู้ผูกขาดตลาดศรัทธาให้กับพระเกจิดัง ๆ ว่าปลุกเสกได้ ไม่มีความผิด พระผู้ใหญ่ทำผ้ายันต์เลสเตอร์ ก็ไม่ถูกมองว่าผิด แต่พอชาวบ้านมาทำในลักษณะเดียวกัน คุณบอกว่ามันผิด สรุปมาตรฐานมันอยู่ตรงไหน”
นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา ตั้งคำถาม
สำนัก Puss#arttoy #buddha #สำนักพุทธ #ศาสนาพุทธ pic.twitter.com/aJNnbt6B2w
— Buttersugar104🇹🇭 (@Buttersugar104) November 14, 2024