วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2567

ผลกระทบจากการลักลอบค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมายกำลังส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในโลกในขณะนี้ และก็ช่วยเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มอาชญากรเฟื่องฟูด้วย เพราะเหตุใด

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกขายเป็นสินค้าที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ในประเทศยากจนหลายแห่งถูกเผาหรือทิ้งหลังจากการสกัดโลหะมีค่าไปแล้ว

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเพิ่มขึ้นในแอฟริกาเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มอาชญากรอย่างไร

นาวิน สิงห์ คัดคา
สื่อข่าวด้านสิ่งแวดล้อม 
บีบีซีเวิลด์เซอร์วิส
21 พฤศจิกายน 2024

กลุ่มควันหนาทึบลอยขึ้นมาจากที่ทิ้งขยะ “อักโบกบลอชี” (Agbogbloshie) สามารถมองเห็นได้ แม้จะอยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร

สภาพอากาศรอบกองขยะขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงอักกรา เมืองหลวงของกานา เต็มไปด้วยมลพิษในระดับสูง ยิ่งเข้าใกล้ก็ยิ่งหายใจลำบากและความสามารถในการมองเห็นก็เริ่มที่จะพร่ามัว

รอบ ๆ กลุ่มควันเหล่านี้มีชายหลายสิบคนที่รอให้รถแทรกเตอร์เทสายเคเบิลออกมาก่อนที่จะจุดไฟเผา บางคนปีนขึ้นไปบนเนินขยะพิษ และนำทีวี คอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนเครื่องซักผ้าลงมาแล้วจุดไฟเผา

คนเหล่านี้กำลังสกัดโลหะมีค่า เช่น ทองแดง และทอง จากขยะที่มาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยะส่วนใหญ่ถูกขนส่งมายังกานาจากประเทศร่ำรวย

“ฉันรู้สึกไม่สบาย” อับดุลลา ยาคูบู คนงานหนุ่มกล่าวขณะกำลังเผาสายไฟและพลาสติก ขณะที่เราสังเกตเห็นว่าดวงตาของเขาเป็นสีแดงและมีน้ำตาไหล

“อย่างที่คุณเห็น ที่นี่อากาศไม่ดีเลย และฉันต้องทำงานที่นี่ทุกวัน มันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราอย่างแน่นอน”


ตัวแทนจำหน่ายบางรายที่โรงงานเก็บขยะอักโบกบลอชีบอกว่า พวกเขาจะเผาหรือไม่ก็ทิ้งพลาสติกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์เพราะพวกเขาไม่สามารถรีไซเคิลขยะเหล่านั้นได้

ฮาบิบา อัลฮัสซัน คุณแม่ลูกสี่ที่ทำงานใกล้กับจุดที่เผาขยะซึ่งมีการคัดแยกขวดพลาสติกที่ใช้แล้วแห่งนั้น ก็หนีไม่พ้นควันพิษเช่นกัน

“บางครั้งก็หายใจลำบากมาก ฉันรู้สึกแน่นที่หน้าอกและรู้สึกไม่สบายอย่างมาก"

ที่ผ่านมา ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ถือว่าขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โดยมีจำนวนถึง 62 ล้านตัน ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 82% จากปี 2553 ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ

การที่สังคมของเราหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ไมว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น ทีวีและสัญญาณเตือนภัยอัจฉริยะ ไปจนถึงรถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างเช่น การจัดส่งโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในแต่ละปีเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตั้งแต่ปี 2010 โดยแตะที่จำนวน 1.2 พันล้านครั้งในปี 2023 ตามรายงานของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) ในปีนี้


เมื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกเผาเพื่อสกัดเอาโลหะมีค่า ก็จะทำให้เกิดควันพิษออกมา ส่วนใหญ่มาจากชิ้นส่วนที่เป็นขยะพลาสติก

สิ่งที่ถูกอายัดบ่อยที่สุด

องค์การสหประชาชาติกล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโลกมีเพียงประมาณ 15% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล ดังนั้นบริษัทที่ไร้ศีลธรรมจรรยาบรรณจึงพยายามกำจัดขยะไปที่อื่น โดยมักจะผ่านพ่อค้าคนกลางที่ขนขยะดังกล่าวออกนอกประเทศ

ขยะดังกล่าวรีไซเคิลได้ยากเนื่องจากมีองค์ประกอบที่ซับซ้อน รวมถึงสารเคมีที่เป็นพิษ โลหะ พลาสติก และองค์ประกอบที่ไม่สามารถแยกและรีไซเคิลได้ง่าย

แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพียงพอ

คณะผู้สืบสวนของสหประชาชาติกล่าวว่า พวกเขาพบการค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organisation) พบว่า ในปัจจุบัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งของที่ถูกอายัดบ่อยที่สุด โดยคิดเป็น 1 ใน 6 ของการอายัดขยะทุกประเภททั่วโลก

ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ที่ท่าเรือเมืองเนเปิลส์ของอิตาลีได้แสดงให้ผู้สื่อข่าวบีบีซีเวิลด์เซอร์วิสเห็นว่า ผู้ค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้สำแดงเท็จและซ่อนเร้นอำพรางขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพวกเขาบอกว่า ปริมาณดังกล่าวคิดเป็นราว 30% ของขยะที่ถูกอายัดไป

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวยังได้แสดงภาพสแกนตู้คอนเทนเนอร์ที่มุ่งหน้าไปยังแอฟริกา ซึ่งระบุว่าขนส่งรถยนต์ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ท่าเรือเปิดตู้คอนเทนเนอร์ กลับพบชิ้นส่วนที่แตกหักของยานพาหนะและขยะอิเล็กทรอนิกส์กองอยู่ข้างใน โดยมีน้ำมันรั่วออกมาจากบางส่วนด้วย

“คุณไม่ได้แพ็คของส่วนตัวแบบนี้ ส่วนใหญ่มีไว้เพื่อทิ้ง” ลุยจิ การ์รูโต เจ้าหน้าที่สืบสวนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งยุโรป (European Anti-Fraud Office: -- OLAF) ซึ่งร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ท่าเรือทั่วยุโรป กล่าว


เจ้าหน้าที่ท่าเรือในยุโรปกล่าวว่า ผู้ค้าถึงกับบดขยะอิเล็กทรอนิกส์และผสมกับเกล็ดพลาสติกเพื่อลักลอบขนออกไป

ยุทธวิธีลักลอบค้าที่ซับซ้อน

ในสหราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่กล่าวว่า พวกเขาพบปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกลักลอบขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน

อย่างเช่นที่ท่าเรือเฟลิกซ์สโตว์ เบน ไรเดอร์ โฆษกสำนักงานด้านสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ขยะมักถูกสำแดงเท็จว่าเป็นขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ขยะเหล่านั้นถูกย่อยสลายเพื่อสกัดโลหะที่มีค่า แล้วจึงนำไปเผาอย่างผิดกฎหมายหลังจากไปถึงจุดหมายปลายทาง” อย่างในประเทศอย่างกานา

เขากล่าวว่า ผู้ที่ลักลอบค้าขยะดังกล่าวยังพยายามปกปิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการบดและผสมกับพลาสติกรูปแบบอื่น ๆ ที่สามารถส่งออกได้ด้วยเอกสารที่ถูกต้อง

รายงานก่อนหน้านี้โดยองค์การศุลกากรโลกแสดงให้เห็นว่า มีการลักลอบค้ายานยนต์ที่สิ้นอายุการใช้งานแล้วเพิ่มขึ้นเกือบ 700% และกลายเป็นแหล่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่

แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การจับกุมหรืออายัด และกรณีที่มีรายงานดังกล่าวเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ เหมือนกับยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีการศึกษาระดับโลกอย่างครอบคลุมที่เฝ้าติดตามขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่ถูกขายออกจากประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่รายงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ของสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่าประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลัก
แต่ขณะนี้ มีบางประเทศกำลังปราบปรามการลักลอบค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้สืบสวนและนักรณรงค์ขององค์การสหประชาชาติกล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังแพร่กระจายไปยังประเทศในแถบแอฟริกาเพิ่มมากขึ้น

ในมาเลเซีย เจ้าหน้าที่ได้ยึดตู้คอนเทนเนอร์ขยะอิเล็กทรอนิกส์อันตราย 106 ตู้นับตั้งแต่เดือนพ.ค. - มิ.ย. 2024 ตามข้อมูลของ มาซูด คาริมิปูร์ ผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime --UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก


สารเคมีที่เป็นพิษจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนพลาสติกเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

ผู้สืบสวนของสหประชาชาติ ระบุว่าผู้ลักลอบขายขยะพิษดังกล่าวมักจะใช้กลวิธีใหม่ ๆ ในการลักลอบขนเข้าเมืองที่สามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับโดยเจ้าหน้าที่และรัฐบาลได้ชนิดตามไม่ทัน

“เมื่อเรือที่บรรทุกขยะอันตราย เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่สามารถขนถ่ายไปยังจุดหมายปลายทางตามปกติได้อย่างง่ายดาย พวกเขาจะปิดสัญญาณเมื่ออยู่กลางทะเลเพื่อไม่ให้ตรวจพบ” การิมาปูร์ กล่าว

“และการขนส่งที่ผิดกฎหมายก็ถูกทิ้งลงทะเล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลธุรกิจกลุ่มอาชญากรใช้”

“มีกลุ่มอาชญากรที่ก่อเหตุแบบนี้มากเกินไป และมีหลายประเทศที่ได้กำไรจากการกระทำขององค์กรอาชญากรรมระดับโลกเหล่านี้”


ปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นขยะที่ถูกยึดหรืออายัดบ่อยที่สุด จากเจ้าหน้าที่ด้านศุลกากรทั่วโลก

สารเคมีที่น่ากังวล

รายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลกระบุว่า พลาสติกและโลหะในขยะอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเผาหรือทิ้งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และยังพบว่า ประเทศผู้รับขยะดังกล่าวหลายประเทศยังมีกระบวนการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับการฝึกอบรม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงและเด็กที่ทำงานโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม และต้องสัมผัสกับสารพิษ เช่น สารตะกั่ว

องค์การแรงงานระหว่างประเทศและองค์การอนามัยโลก ประมาณการว่า แรงงานสตรีและเด็กหลายล้านคนที่ทำงานในภาคการรีไซเคิลอย่างไม่เป็นทางการมีความเสี่ยง และการสัมผัสในระหว่างที่ทารกในครรภ์กำลังพัฒนา รวมถึงเด็กที่สัมผัสกับขยะเหล่านี้ อาจทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับพัฒนาการทางระบบประสาทและโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางระบบประสาท

ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2025 อนุสัญญาบาเซิลจะกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องสำแดงขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดและต้องได้รับอนุญาตจากประเทศผู้รับ เจ้าหน้าที่สืบสวนหวังว่าการดำเนินการนี้จะช่วยปิดช่องโหว่บางส่วนที่ผู้ลักลอบใช้ในการขนส่งขยะดังกล่าวทั่วโลก


ขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกถูกพัดพาไปตามทะเลสาบและแม่น้ำลงสู่ทะเล จากนั้นจะถูกพัดพากลับขึ้นฝั่ง

แต่มีบางประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ที่ไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาบาเซิล และผู้รณรงค์กล่าวว่านั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ดำเนินต่อไปได้

“ในขณะที่เราเริ่มปราบปราม สหรัฐฯ ก็มีรถบรรทุกขนส่งข้ามพรมแดนไปยังเม็กซิโกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” จิม พัคเก็ตต์ กรรมการบริหารของเครือข่ายปฏิบัติการบาเซล (Basel Action Network) ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์เพื่อยุติการค้าที่เป็นพิษรวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ กล่าว

กลับมาที่ที่เก็บขยะอักโบกบลอชีในกานา สถานการณ์เลวร้ายลงทุกวัน

ฮาบิบาบอกว่า เธอใช้เงินเกือบครึ่งหนึ่งที่เธอได้รับจากการเก็บขยะเพื่อซื้อยารักษาสภาพร่างกายที่เจ็บป่วย ซึ่งเป็นผลจากการทำงานในกองขยะ

“แต่ฉันยังอยู่ที่นี่ เพราะนี่คือหนทางเอาชีวิตรอดของฉันและครอบครัวของฉัน”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสรรพากรและกระทรวงสิ่งแวดล้อมของกานา ยังไม่ตอบคำถามที่ผู้สื่อข่าวบีบีซี แม้ว่าจะสอบถามเพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไปแล้วหลายครั้งก็ตาม

https://www.bbc.com/thai/articles/clyrp253yd7o