วันพุธ, พฤศจิกายน 20, 2567

นิรโทษกรรมรวมม. 112 ยังเดินต่อ -ต้องสร้างอำนาจต่อรองสักวันประชาชนจะชนะ



นิรโทษกรรมรวมม. 112 ยังเดินต่อ -ต้องสร้างอำนาจต่อรองสักวันประชาชนจะชนะ

19/11/2024
iLaw

19 พฤศจิกายน 2567 เวลา 18.00-19.00 น. ที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ Thumb Rights แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดกิจกรรม “สี่ปีใต้เงา 112 under Article 112” เนื่องในวันครบรอบสี่ปีของการหวนคืนของการบังคับใช้มาตรา 112 ภายในงานมีวงเสวนาเรื่องการนิรโทษกรรมประชาชน โดยมุ่งเน้นไปที่ข้อถกเถียงเรื่องคดีมาตรา 112 มีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนได้แก่ นิราภร อ่อนขาว จำเลยคดีมาตรา 112 กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความสิทธิมนุษยชน พูนสุข พูนสุขเจริญ ผู้เสนอร่างนิรโทษกรรมประชาชนและลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย

ในเรื่องความหวังผู้เข้าร่วมหลายคนมองว่า ค่อนข้างไม่มีหวังในการรวมคดีมาตรา 112 ไปกับการนิรโทษกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ยังคงเดินหน้าผลักดันต่อไป ซึ่งเส้นทางนี้จะต้องหล่อเลี้ยงด้วยหลักการทางกฎหมายว่า คดีมาตรา 112 เป็นการใช้เสรีภาพการแสดงออกและไม่ควรเป็นคดีแต่แรก และหล่อเลี้ยงชีวิตคนในขบวนการด้วยการเติมหวังเติมกำลังใจต่อกัน ขณะที่ทนายด่างมองว่า ที่สุดแล้วการดีลกับอำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งนิรโทษกรรมรวมคดีมาตรา 112 นั้นไม่ใช่ทางออก แต่ประชาชนต้องสร้างอำนาจต่อรองกับอำนาจ

จำเลยม.112 ยังมีหวังนิรโทษกรรม ถ้าทุกคนไม่ยอมแพ้ยังไงก็ชนะ

นิราภร อ่อนขาว นักกิจกรรมและจำเลยคดีมาตรา 112 ตอบคำถามเรื่องความหวังของการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ว่า ค่อนข้างหมดหวัง แม้กระทั่งเธอเองที่จริงๆควรจะมีความหวังที่สุดต่อการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 เพราะถ้าได้นิรโทษกรรมมาตรา 112 มันเหมือนกับชีวิตที่มันถูกพันธนาการตั้งแต่รู้ตัวว่า ถูกดำเนินคดีมันเหมือนได้ใส่ปีกและโบยบินอีกครั้ง แต่เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ยังมีข้อถกเถียงที่จะนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 หรือไม่ทำให้ความหวังริบหรี่ลงเรื่อยๆ เธอเปรียบว่า ตอนนี้เหมือนกับเธอเดินอยู่ในถ้ำที่มืดมิด พอเห็นแสงสว่างอยู่ริบหรี่แต่ก็ห่างไกลออกไป ซึ่งมันสะท้อนว่า อาจจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง อาศัยความอดทนและแรงกายแรงใจที่ค่อนข้างสูง

เธอมองว่า การเดินหน้าผลักดันนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 กำลังใจเป็นแรงผลักดันสำคัญที่สุด ทำให้เธอในฐานะที่เป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมถึงหลายๆคนที่อยู่ในเรือนจำยังมีความหวัง กำลังใจในที่นี้มาจากเพื่อน พี่น้องที่ยังคงสนับสนุนและยังฝันถึงสังคมแบบเดียวกัน “กำลังใจและการช่วยเหลือกันตรงจุดนี้มันทำให้ขบวนการประชาธิปไตยในประเทศเรามันยังสามารถดำเนินอยู่ได้แม้ว่า เราจะถูกกดขี่แค่ไหนหรือว่าเราจะถูกทำให้เงียบสักเท่าไหร่ รู้สึกว่า ถ้าเรายังอยู่ตรงนี้ เรายังคงออกมา เรายังคงไม่ยอมแพ้ ยังไงก็เราก็ต้องชนะ”

ยันคดีม. 112 เป็นคดีการเมือง ผันผวนตามสถานการณ์การเมือง

พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตอบคำถามในกรณีที่มีการระบุว่ามาตรา 112 ไม่ใช่คดีการเมืองและจะไม่เป็นเหตุให้นิรโทษกรรมในทำนองว่า คดีมาตรา 112 เป็นคดีการเมือง การบอกว่า ไม่ใช่คดีการเมืองคือ วาทกรรมที่ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลเพียงพอ เวลาจะพิจารณาว่าอะไรคือคดีการเมือง ง่าย ๆ คือดูแรงจูงใจทางการเมือง การดำเนินนโยบายต่างๆ หากพูดถึงคดีการเมืองมาตรา 112 ถือเป็นคดีการเมืองที่เด่นชัดที่สุด เป็นคดีที่มีการบังคับใช้อย่างผันผวนมากที่สุดในรอบสิบปีถ้าเทียบกับฐานความผิดอื่นๆ ในช่วงปี 2553 จนถึงก่อนหน้าการรัฐประหาร 2557 เกณฑ์ภายในของศาลหรือเรียกว่า “ยี่ต๊อก” วางไว้ที่กรรมละห้าปี แต่หลังจากรัฐประหาร 2557 มีการประกาศให้คดีมาตรา 112 ต้องขึ้นศาลทหารและมีแนวโน้มลงโทษสูงขึ้นคือ 8-10 ปี กลายเป็นว่าเกณฑ์ภายในของศาลยุติธรรมในช่วงนั้นก็สูงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีข้ออ้างอื่นๆ ในความพยายามที่จะไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 เช่น สิ่งใดจะรับประกันได้ว่า หากนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ไปแล้วจะไม่กระทำผิดซ้ำอีก พูนสุขย้ำว่า ต้องย้อนกลับไปที่หลักการว่า มาตรา 112 เป็นคดีที่ไม่ควรถูกดำเนินคดีเสียแต่แรกด้วยซ้ำเพราะเกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและมีสัดส่วนโทษสูงเกินไป รวมถึงความประหลาดอื่นๆระหว่างกระบวนพิจารณาคดี นอกจากนี้ผู้เสนอข้ออ้างนี้ยังมองข้ามการประวัติศาสตร์การนิรโทษกรรมในไทยที่เคยมีมากว่า 20 ครั้งแล้ว ในจำนวนนี้ 13 ครั้งเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร ซึ่งยังไม่เคยมีสิ่งใดที่การันตีในการไม่รัฐประหารซ้ำเลยเช่นกัน

เธอกล่าวว่า หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องคิดถึงประโยชน์ของสังคมและสถาบันกษัตริย์ในอนาคต การนิรโทษกรรมคดีการเมืองรวมคดีมาตรา 112 เป็นเรื่องที่ต้องทำ

ไม่มีทางนิรโทษกรรม ม. 112 ในรัฐบาลนี้แต่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีอำนาจต่อรอง

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า เขาไม่ได้อยู่ขบวนการนิรโทษกรรมประชาชนเพราะอยู่ในฐานะทนายจำเลยเหมือนกับเป็นพี่เลี้ยงแต่ตะโกนให้ช่วยนักมวยของตัวเองมันยาก เมื่อถามว่า นิรโทษกรรมมาตรา 112 จะเป็นเช่นใดต่อไป เขามองว่า มันไม่มีทางสำเร็จ “เอาง่ายๆในรัฐบาลชุดนี้ไม่มีวันสำเร็จ” มันไม่มีเหตุผลอะไรที่ฝ่ายรัฐจะนิรโทษกรรมเพราะไม่ได้ประโยชน์ใดเลยหลายคนถูกเหยียบย่ำ มีผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ซึ่งมันถึงจุดที่เขาจะได้ควบคุมสิ่งที่เขาหวังในการร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใช้ “ผมถามว่าพรรคการเมืองที่มีอำนาจมากที่สุดในปัจจุบัน รวมทั้ง[พรรค]ที่ร่วมรัฐบาลเขาได้ประโยชน์อะไรจากการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เขาไม่ได้ประโยชน์เลย [ถ้าบอกว่า] บังเอิญเขามีตัวประกันอยู่ชั้น 14 โอ้ย…เขามีวิธีการอยู่รอดมากกว่าที่ต้องออกนิรโทษกรรมด้วยซ้ำ”

เขาเล่าบทสนทนาของเขากับนักกิจกรรมคนหนึ่งที่มาสอบถามว่า เหตุใดการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์ 6 ตุลาถึงเกิดขึ้นได้ ซึ่งเขาเห็นว่า ตอน 6 ตุลาเป็นเพราะผู้อำนาจหวาดกลัวพลังประชาชน ดังนั้นการนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นต้องทำให้อำนาจในการต่อรองอยู่ในมือประชาชน ในการเจรจา ไม่ใช่การดีลกับพรรคการเมืองต่างๆ “ไม่ดีลกับเขาแต่ไม่ได้หมายความว่าไม่คุยกับคน…จะเป็นธนกร วังบุญคงชนะ…หรือคุณไพบูลย์ นิติตะวัน เราพูดกับเขาด้วยความเมตตา คือผมนับถือพุทธแต่เชื่อพระเยซูอย่างหนึ่งว่า เราเกิดมาเพื่อคนบาป เรามีหน้าที่ไปอธิบายทางสวรรค์ มันไม่เชื่อก็ให้มันลงนรกไป ยังไงวันหนึ่งเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน ซึ่งมันก็เป็นเหมือนกับคำขวัญในสมัยผมอ่ะ ยังไงประชาชนชนะแน่นอน…”

นอกจากนี้กฤษฎางค์ยังเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อสื่อสารเรื่องมาตรา 112 ว่า ให้ประชาชนเข้าชื่อ10,000 รายชื่อเพื่อยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติที่มีการเปลี่ยนแปลงโทษมาตรา 112 ให้หนักและบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเสนอกฎหมายฉบับนี้แล้วหากประธานรัฐสภาบรรจุวาระก็เป็นโอกาสอันดีที่จะมีผู้แทนของประชาชนเข้าไปพูดปัญหาความเลวร้ายของมาตรา 112 ในเวทีรัฐสภา

(https://www.ilaw.or.th/articles/48093)