ธีร์ อันมัย updated his cover photo.
2d
ในเช้าของวันที่โซฟี โชลล์จะถูกนำตัวไปประหารชีวิตโดยการตัดหัวด้วยเครื่องกิโยตินนั้น หญิงสาววัย 21 ปี พูดว่า
"ช่างเป็นวันที่แสงแดดสดใส และฉันต้องไปแล้ว...ความตายของฉันมีความหมายอย่างไรนะหรือ ถ้าเพราะพวกเรา ผู้คนนับพันหมื่นจะได้ตื่นรู้และลุกขึ้นสู้"
ที่มาของข้อความ - https://www.bbc.com/thai/international-57050825 โซฟี โชล นักศึกษาผู้ไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการนาซี และเป็นแรงบันดาลใจให้เยอรมนี
ภาพดัดแปลงจาก - https://www.facebook.com/photo/?fbid=266146592419857&set=a.204432178591299&locale=th_TH
.....
โซฟี โชล นักศึกษาผู้ไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการนาซี และเป็นแรงบันดาลใจให้เยอรมนี
โซฟี โชล เป็นที่จดจำของคนเยอรมันจากการลุกขึ้นขัดขืนการปกครองของจอมเผด็จการ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตของตัวเองก็ตาม
เจนนี ฮิลล์
ผู้สื่อข่าวบีบีซี เบอร์ลิน
10 พฤษภาคม 2021
ชื่อของ โซฟี โชล ไม่เป็นที่รู้จักมากนักนอกประเทศเยอรมนี แต่เธอคือบุคคลสำคัญในประเทศนี้ และมีเรื่องราวชีวิตอันน่าทึ่ง
ปี 2021 เป็นวาระ 100 ปีชาตกาล โซฟี โชล หญิงสาวผู้เป็นที่จดจำของคนเยอรมันจากการลุกขึ้นขัดขืนการปกครองของจอมเผด็จการ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตของตัวเองก็ตาม
เรื่องราวการต่อสู้ของเธอถูกถ่ายทอดลงในหนังสือ ภาพยนตร์ และละครนับครั้งไม่ถ้วน อีกทั้งยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนเยอรมันมาจนถึงทุกวันนี้
โซฟี เกิดวันที่ 9 พ.ค. ปี 1921 ในช่วงที่เยอรมนีกำลังตกอยู่ในความวุ่นวาย แต่ถึงอย่างนั้น ชีวิตในวัยเด็กของเธอก็มีความมั่นคงและสะดวกสบาย
พ่อของโซฟีเป็นนายกเทศมนตรีเมืองฟอร์ชเท็นแบร์ก ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี (แต่ในเวลาต่อมาครอบครัวได้ย้ายไปอยู่เมืองอูล์ม) เธอกับพี่น้องหญิงชายอีก 5 คนเติบโตมาในครอบครัวชาวคริสต์นิกายลูเธอรัน ซึ่งยึดมั่นในค่านิยมแบบคริสเตียน
เมื่อโซฟีย่างเข้าสู่วัยรุ่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้กุมอำนาจปกครองประเทศของเธอ
ในตอนแรกโซฟีและพี่ชายของเธอที่ชื่อ ฮันส์ ให้การสนับสนุนพรรคสังคมนิยมแห่งชาติ (National Socialist Party) ของฮิตเลอร์แบบที่หนุ่มสาวเยอรมันจำนวนมากทำกัน โดยเขาเป็นสมาชิกกลุ่มเยาวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth) ขณะที่โซฟีเป็นสมาชิกในเครือเดียวกันสำหรับเด็กผู้หญิงที่เรียกว่า สหพันธ์เยาวชนหญิงเยอรมัน (League of German Girls)
ภาพของฮันส์ (ซ้าย) และโซฟี (ขวา) ขณะเป็นนักศึกษาประมาณปี 1940
พ่อของโซฟี ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านฮิตเลอร์ตัวยงรู้สึกตกใจกับความศรัทธาที่ลูกทั้งสองของเขามีต่อผู้นำพรรคนาซี อย่างไรก็ตาม ค่านิยมของครอบครัวและเพื่อนฝูงเริ่มมีอิทธิพลต่อโซฟีและพี่ชายของเธอ
ในที่สุด แนวคิดที่เอียงไปทางเสรีนิยมของพี่น้องคู่นี้ ก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถยอมรับกับแนวคิดทางการเมืองของพรรคนาซีเยอรมนีได้ และการได้เห็นคนรู้จักและศิลปินชาวยิวถูกเลือกปฏิบัติอย่างเลวร้าย ก็ทำให้ความคิดต่อพรรคนาซีของพวกเขาเปลี่ยนไป
"อย่าบอกฉันว่ามันคือการทำเพื่อปิตุภูมิ"
เมื่อฮิตเลอร์เข้ารุกรานโปแลนด์ ความคิดต่อต้านนาซีของพี่น้องคู่นี้ก็ยิ่งแข็งกร้าวขึ้น
ตอนที่ชายหนุ่มชาวเยอรมันถูกส่งไปรบในสงคราม โซฟีเขียนถึง ฟริตซ์ ฮาร์ตนาเกิล แฟนหนุ่มที่เป็นทหารว่า "ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนถึงยังเอาชีวิตคนอื่นไปเสี่ยง ฉันไม่มีวันเข้าใจเรื่องนี้ และคิดว่ามันแย่มาก อย่าบอกฉันว่ามันคือการทำเพื่อปิตุภูมิ"
ในเวลาต่อมา โซฟีได้ตามฮันส์ ผู้เป็นพี่ชายไปเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมิวนิค ซึ่งเขาเรียนด้านการแพทย์อยู่ นี่จึงทำให้สองพี่น้องได้มีเพื่อนกลุ่มเดียวกัน อีกทั้งยังมีความสนใจเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม และปรัชญาเหมือนกันด้วย โดยโซฟี ซึ่งเรียนด้านชีววิทยา ชอบเต้นและเล่นเปียโน รวมทั้งยังเป็นจิตรกรที่มีพรสวรรค์
ในตอนนั้นคือช่วงเวลาที่บ้านเมืองอยู่ท่ามกลางความรุนแรง นักศึกษาหลายคนเข้าร่วมกับกองทัพ แต่โซฟีและฮันส์ ต่างมีอุดมการณ์แน่วแน่ที่จะไม่ก้มหัวให้ผู้ปกครองเผด็จการ
"เราจะไม่เงียบ"
ตอนที่ฮันส์ และอเล็กซานเดอร์ ชมอเรลล์ เพื่อนของเขา ร่วมกันก่อตั้งขบวนการ "กุหลาบขาว" (White Rose) นั้น มีสมาชิกกลุ่มเพียง 6 คน ซึ่งรวมถึง โซฟี, คริสตอฟ โพรบส์, วิลลี กราฟ และหนึ่งในอาจารย์ของพวกเขาที่ชื่อว่า เคิร์ต ฮูแบร์
หนังเยอรมันในปี 1982 เรื่อง The White Rose บอกเล่าเรื่องราวของโซฟี ฮันส์ และเพื่อนร่วมขบวนการอีก 4 คน
ด้วยความช่วยเหลือจากเครือข่ายเพื่อนฝูงและผู้สนับสนุน ขบวนการกุหลาบขาวได้ตีพิมพ์และแจกจ่ายใบปลิวเรียกร้องให้คนเยอรมันลุกขึ้นต่อต้านการปกครองของนาซี ประณามการเข่นฆ่าชาวยิว และเรียกร้องให้ยุติสงคราม
"พวกเราจะไม่เงียบ" คือข้อความหนึ่งที่ปรากฏในใบปลิว "เราคือฝ่ายที่รู้ผิดชอบของพวกคุณ กุหลาบขาวจะไม่ปล่อยให้พวกคุณอยู่กันอย่างสงบสุข"
กลุ่มได้ผลิตใบปลิวฉบับที่ 6 ช่วงต้นปี 1943 ที่มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า
"ชื่อของเยอรมนีจะเสียหายไปตลอดกาล หากเยาวชนเยอรมันไม่ยอมลุกฮือขึ้นคิดบัญชีและไถ่โทษ พร้อมกำจัดผู้ทรมานพวกเขา และสร้างยุโรปที่มีอุดมการณ์ใหม่"
มันคือใบปลิวฉบับสุดท้ายของกลุ่ม
โซฟี ผลักปึกใบปลิวให้ตกลงไปที่โถงใหญ่ของอาคารในมหาวิทยาลัยมิวนิค
วันที่ 18 ก.พ. ปี 1943 ฮันส์และโซฟี กำลังไปแจกใบปลิวที่มหาวิทยาลัยของพวกเขา
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเหตุใดโซฟีจึงเดินขึ้นไปที่ระเบียงชั้นบนสุดของอาคารมหาวิทยาลัย ซึ่งมองเห็นโถงขนาดใหญ่อยู่เบื้องล่าง ก่อนจะใช้มือผลักใบปลิวปึกใหญ่ให้ตกไปข้างล่าง หลายคนเดาว่าเธออาจต้องการให้นักศึกษาได้เห็นใบปลิวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่ในขณะที่กระดาษกำลังปลิวลงสู่พื้นนั้น มีสายตาของภารโรงคนหนึ่งเฝ้ามองการกระทำของโซฟี แล้วนำเรื่องไปแจ้งต่อตำรวจลับของพรรคนาซี
โซฟีและฮันส์ถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำ และหลังจากการพิจารณาคดี ทั้งคู่ก็ถูกตัดสินประหารชีวิต พวกเขาไม่ยอมทรยศสมาชิกร่วมขบวนการคนอื่น แต่ในที่สุดทางการก็ตามตัวพวกเขาได้อยู่ดี และภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือนสหายของขบวนการกุหลาบขาวก็ถูกประหารชีวิตหมดทุกคน
โรแลนด์ ฟริสเลอร์ (ขวา) ที่รู้จักในนาม "ผู้พิพากษาของฮิตเลอร์ สั่งตัดสินประหารชีวิตโซฟี, ฮันส์ และคริสตอฟ โพรบส์ ในเดือน ก.พ. ปี 1943
ในเช้าของวันที่โซฟีจะถูกนำตัวไปประหารชีวิตโดยการตัดหัวด้วยเครื่องกิโยตินนั้น หญิงสาววัย 21 ปี พูดว่า
"ช่างเป็นวันที่แสงแดดสดใส และฉันต้องไปแล้ว...ความตายของฉันมีความหมายอย่างไรนะหรือ ถ้าเพราะพวกเรา ผู้คนนับพันหมื่นจะได้ตื่นรู้และลุกขึ้นสู้"
ถ้อยคำอันหาญกล้าของโซฟียังคงได้รับการยกย่องในเยอรมนีมาจนถึงปัจจุบัน ชื่อของเธอและพี่ชายถูกนำไปตั้งเป็นชื่อโรงเรียนและถนนหลายสาย แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายคนรู้สึกผิดหวังที่สมาชิกคนอื่น ๆ ของขบวนการกุหลาบขาวไม่ได้รับการยกย่องเท่ากับสองพี่น้องตระกูลโชล
ชื่อของโซฟี และฮันส์ โชล เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วเยอรมนี แต่สมาชิกร่วมขบวนการที่เหลือ คือ คริสตอฟ โพรบส์, วิลลี กราฟ, เคิร์ต ฮูแบร์ และอเล็กซานเดอร์ ชมอเรลล์ กลับเป็นที่รู้จักน้อยกว่า
ในวาระ 100 ปีชาตกาล โซฟี โชล ทางการเยอรมีได้ออกเหรียญที่ระลึกของเธอ นอกจากนี้ยังมีการจัดพิธีทางศาสนา และมีการเปิดช่องอิสตาแกรมใหม่เกี่ยวกับเธอ
ขณะเดียวกัน ชาวเยอรมันจำนวนมากยังคงระลึกถึงชีวิตของหญิงสาวผู้นี้ ซึ่งความกล้าหาญและการพิพากษาลงโทษเธอยังคงปลุกเร้าจิตใจและความคิดของผู้คนมาจนถึงปัจจุบัน
.....