วันพฤหัสบดี, เมษายน 20, 2566

ประสบการณ์อันนำมาสู่นโยบายหาเสียง ‘ระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง’ และ “ไปข้างนอกแล้วไม่มีที่ให้นมลูก”

ในบรรดาผู้สมัคร ส.ส.ที่ลงหาเสียงกันคลั่กขณะนี้ เสนอแนวนโยบายหรือสัญญาว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เมื่อได้เข้าไปทำงานการเมืองในใจกลางของกลไกอย่างจริงจัง ซึ่งก็คือรัฐสภานั้น เห็นมีรายหนึ่งที่แสดงความมุ่งมั่นชวนสนใจ

เป็นความมุ่งมั่นจากประสบการณ์ที่ตัวเองได้พานพบ อันสะท้อนปัญหาของสังคมโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด หนึ่งในสามข้อที่เจ้าตัวประกาศว่าจะเข้าไปทำให้ได้ ไม่เพียงสิทธิลาคลอด ๑๘๐ วันของทั้งพ่อและแม่ กับศูนย์เด็กเล็กซึ่งมีห้องให้นม

และ “สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง” ว่าที่ผู้สมัครเขตสายไหมจากพรรคก้าวไกลโยงใยนโยบายกับเหตุการณ์ที่ตนเองเจอะเจอ พ่อของเราเคยเส้นเลือดในสมองแตก แล้วต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง...ค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงมาก”

เช่นนี้เมื่อมีผู้ป่วยติดเตียง ๑ คน จะก่อให้เกิดผู้สูญเสียรายได้ ๒ คน เพราะ “พ่อทำงานไม่ได้ เราก็ต้องดูแล” ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือ ทนายแจมหาเสียงด้วยข้อเสนอนโยบายช่วยค่าใช้จ่าย ๙ พันบาทต่อเดือน “มันไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมดหรอก”

เธอบอก “อย่างน้อยทำให้รู้สึกว่า เราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว” และว่า “รัฐต้องมีบุคลากรวิชาชีพมาดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน ผ่านการสมทบเงินจากเงินผู้สูงวัยเข้าสู่กองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเป็นงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ย้อนไปประเด็นการให้นมลูก ศศินันท์เล่าว่า “จุดเปลี่ยนของเราเกิดขึ้นตอนมีลูก เราไม่ได้คิดแค่วันที่ตัวเองเสียชีวิตแล้ว แต่คิดถึงวันที่ลูกจะเติบโตอยู่ในสังคมนี้ เราเลยอยากแก้อะไรหลายอย่างเพื่อลูกและเด็กคนอื่นๆ

เรามีปัญหาเรื่องซึมเศร้าหลังคลอด สิ่งที่เป็นก็แย่อยู่แล้ว พอเจอกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก เช่น เราพาลูกไปข้างนอกแล้วไม่มีที่ให้นมลูก ต้องไปให้นมลูกในห้องน้ำ นั่งบนโถเลย” กับเวลาที่ต้องล้างก้นให้ลูก แต่ไปล้างที่อ้างล้างมือก็ไม่ได้

เลยต้องไปล้างที่โถส้วม เราทำลูกหลุดลงไปครึ่งตัว เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่แย่ รู้สึกผิดไปหมด พูดตอนนี้ยังรู้สึกแย่เลย ขนาดเรามีสิทธิพิเศษ (Privilege) พอสมควรนะ แล้วคนอื่นในสังคมที่ต้องเลี้ยงลูกล่ะ” ก็พอดีกับการค้นคว้าข้อมูล

“เจอว่า ประเทศไทยมีแม่ที่เป็นซึมเศร้าหลังคลอดเยอะมาก หลายอย่างในประเทศนี้ไม่เอื้อต่อการมีลูก เหมือนเป็นการผลักภาระว่า ถ้าคุณมีลูกก็ต้องดูแลกันเอง เราเลยอยากผลักดันเรื่องนี้” เสียแต่ว่าเขตสายไหมนั้นว่ากันว่าหินมาก

“เวลาเราลงพื้นที่ มักเจอคนบอกว่า ไม่ได้หรอก เขตนี้มีเจ้าของอยู่แล้ว แต่เรามีความตั้งใจ มีความหวัง และอยากมาเปลี่ยนแปลงจริงๆ”

(https://www.facebook.com/bkkhumans/posts/24s1uCYbLvALXwA)