วันอังคาร, เมษายน 11, 2566

คืนปอดให้ประชาชน


จากฝุ่นควันถึงจานข้าว
2d
·
“เหมือนฉี่ลงทะเล” สมชาย ปรีชาศิลปกุล เปรียบเทียบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่อกรณีฝุ่นละออง PM2.5 ของหน่วยงานท้องถิ่นด้วยอารมณ์แบบกวีเสาะหาคำอุปมาอุปไมย เพื่อเผยให้เห็นการกระทำในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลง
“เราต้องการเห็นการแก้ปัญหาโดยใช้สติปัญญาและความรู้ครับ” อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุ
บ่ายวันศุกร์ที่ 7 เมษายน ผมเดินทางไปลงชื่อสนับสนุนการฟ้องคดีนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปฏิบัติการตามกฎหมายและนโยบายที่ได้มีการจัดทำไว้เพื่อลดทอนความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้
ประตูทุกบานของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปิดสนิท ค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูงกว่า 430 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เห็นได้ชัดว่าทัศนีภาพภายนอกมัวหม่น แต่มีบางอย่างที่เรามองไม่เห็น นั่นคือการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล
ประชาชนทยอยเดินทางเข้ามาลงชื่อ ป้ายโปสเตอร์ 'คืนปอดให้ประชาชน' ถูกติดตั้งอยู่บริเวณโต๊ะลงชื่อ แสดงถึงเจตนารมย์ร่วมของผู้คนที่เดินทางมา
"ผมขออนุญาตถ่ายภาพตอนคุณลงชื่อได้มั้ยครับ ผมจะพยายามถ่ายไม่ให้เห็นใบหน้า" ผมขออนุญาตชายหนุ่มผู้มาร่วมลงชื่อ แต่เขาบอกว่า "ถ่ายให้เห็นหน้าผมได้เลยครับ"
นอกจากปอดแล้ว - ดูเหมือนว่ามีหลายสิ่งที่ประชาชนต้องการคืนจากรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
“ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา อากาศมันแย่มาก สิ่งที่น่าตกใจคือเราไม่เห็นปฎิบัติการจากหน่วยงานรัฐอย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่รัฐทำราวกับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ผมคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้รุนแรงและอันตรายมาก” นักวิชาการคนสำคัญแห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ระบุ
เครือข่ายประชาชนภาคเหนือจึงได้ร่วมกันภายใต้แคมเปญ #คืนปอดให้ประชาชน ฟ้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง, พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มีการปฏิบัติการตามกฎหมายและนโยบายที่ได้มีการจัดทำไว้เพื่อลดทอนความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้
โดยจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่วันจันทร์ที่ 10 เมษายน 2566 เวลา 10.00 น.
“วันจันทร์ที่ 10 เมษายนนี้ เราจะไปฟ้องนายกฯในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และเรากำลังคิดถึงการฟ้องคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะที่เป็นองค์กรควบคุมการลงทุนของเอกชน เราควรมีข้อกำหนดอะไรในการควบคุม เพราะคุณกำลังเอาผลกำไรมาจากชีวิตและความปลอดภัยของคนในสังคม” สมชาย กล่าว
เมื่อมองปัญหาฝุ่นละอองผ่านแว่นของกฎหมาย รัฐบาลมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษทางอากาศหลายฉบับ เช่น ‘พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535’ รวมถึง ‘แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ ปี 2562
“รัฐบาลชุดนี้เคยทำ ‘แผนฝุ่นชาติปี 62' หมายความว่าเมื่อเกิดวิกฤติเราต้องมีแผนดำเนินการใช่ไหมครับ แต่เรากลับพบว่าในวิกฤติที่เกิดขึ้นในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ไม่มีการดำเนินการอะไรออกมาจากรัฐบาลเลย ที่ชอบพูดกันว่า ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ คำถามของผมก็คือ ทำอะไรวะ” สมชายตั้งคำถาม ไม่ใช่แคมเปญหาเสียง แต่ความรับผิดชอบในฐานะรัฐบาล
'แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2562' ที่จัดทำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะเห็นว่าระยะเวลาของแผนดังกล่าวครอบคลุมสถานการณ์ในปัจจุบัน แผนฯแบ่ง 3 มาตรการตามระยะเวลา ระยะสั้น (2562-2564) และระยะยาว (2565-2567)
มาตรการที่ 1 ในแผนฯคือ 'การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่' ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่จะเน้นที่การทบทวน วิเคราะห์ และประเมินผลข้อมูลที่เกิดขึ้น รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชนและแผนเผชิญเหตุตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในลักษณะเฉพาะหน้าตามระดับฝุ่นละออง 4 ระดับ
ข้อมูลในแผนฯน่าสนใจตรงที่ระบุแนวทางการปฏิบัติการตามความรุนแรงของสถานการณ์ไว้อย่างชัดเจน แผนระบุว่า เมื่อฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าระหว่าง 51 - 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร “ให้ทุกส่วนราชการต้องดำเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่างๆให้เข้มงวดขึ้น"
ความรุนแรงในระดับนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองจะเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ สำหรับส่วนราชการอื่นๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กรมป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัย และกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยสนับสนุนในการปฏิบัติการ
เมื่อลองนำแนวทางปฏิบัติของภาครัฐในแผนปี 62 มาเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเกิน 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เรากลับพบท่าทีของนายกรัฐมนตรีในอิริยาบทผ่อนคลายพร้อมกับกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "อากาศดี"
แผนฯระบุ ว่า “ระดับที่ 4 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีค่ามากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีการดำเนินการในระดับที่ 3 แล้ว แต่สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลงและมีแนวโน้มสูงขึ้นมากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อเนื่อง แนวทางปฏิบัติกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วน พิเศษ และพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยจะต้องนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาในการสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นแนวทางหรือมาตรการในการลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป"
เว็บไซต์ thaipublica วิเคราะห์แผนปฏิบัติการฯเอาไว้ว่า จากแนวทางดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ 123 ข้อ จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นมาตรการระยะสั้นหรือยาวกว่า 66% ของแนวทางดำเนินการทั้งหมด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการอย่างน้อยอีก 2-5 ปีข้างหน้าถึงจะแล้วเสร็จ โดยแบ่งเป็นมาตรการระยะยาว 42 ข้อ หรือคิดเป็นประมาณ 34% ของแนวทางดำเนินการทั้งหมด ซึ่งจะแล้วเสร็จอย่างช้าสุดในปี 2567
'แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2562' ครอบคลุมแนวทางปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจนถึงปีหน้า แต่ปีนี้เราพบความว่างเปล่าและประชาชนต้องเผชิญภัยพิบัติโดยลำพัง เราอาจกล่าวได้ว่า รัฐไม่ร่วมทุกข์นี้กับประชาชน
เมื่อความเพิกเฉยเป็นมาตรการ ประชาชนจำนวนหนึ่งจึงลุกขึ้นมาฟ้องร้อง เพื่อทำลายมาตรฐานไม่พึงประสงค์อย่างการวางเฉยในปัญหามลพิษทางอากาศ
สามารถร่วมลงชื่อเป็นผู้สนับสนุนการฟ้องคดี ได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย (ชั้น 1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถึงวันที่ 9 เมษายน 2566
#คืนปอดให้ประชาชน
#นายกยะก๋านกำเต๊อะ
#นายกทำงานซะบ้าง


ประชาไท Prachatai.com
12h

ประชาชนภาคเหนือรวมตัวฟ้อง ‘นายกฯ’ ต่อศาลปกครอง เหตุไม่แก้วิกฤตฝุ่น PM2.5 ทำปอดพัง
.
ประชาชนภาคเหนือรวมตัวที่ศาลปกครองเชียงใหม่ยื่นฟ้อง “พล.อ.ประยุทธ์” นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหตุไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายที่มีแก้ไขวิกฤตฝุ่น PM2.5 ทำปอดพัง มีนักวิชาการ, แพทย์, สภาลมหายใจ และตัวแทนประชาชนเข้าชื่อเป็นผู้ฟ้องคดี หนึ่งในนั้นมีเยาวชนอายุ 14 ปีร่วมเป็นโจทก์ฟ้องนายกฯ ด้วย และมีประชาชนอีก 727 คนลงชื่อสนับสนุนการฟ้องคดีครั้งนี้
.
.
อ่านเพิ่มเติมที่ : https://prachatai.com/journal/2023/04/103598