เลือกตั้ง 2566 : ประวิตร “ฟิตเปรี๊ยะ” พร้อมเป็นนายกฯ เผยมีดีลประยุทธ์-ไม่คุยทักษิณ
12 เมษายน 2023
บีบีซีไทย
แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พูดคุยกันว่า หากพรรคไหนได้คะแนนเสียงมากกว่า ให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง และรับตำแหน่งนายกฯ ไป พร้อมปฏิเสธว่าไม่เคยพูดคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในวัยย่าง 78 ปี เดินทางไปยังสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อาคารมาลีนนท์ เพื่อให้สัมภาษณ์กับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวชื่อดัง ในรายการ “กรรมกรข่าวเปิดอกคุย” ออกอากาศทางยูทิวบ์
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ พล.อ. ประวิตรให้สัมภาษณ์ในรายการสด และเป็นบทสนทนาการเมืองแบบเข้ม ๆ กินเวลาถึง 45 นาที
บีบีซีไทยสรุป 7 ประเด็นที่สนใจมาไว้ ณ ที่นี้
1. ก้าวข้ามความขัดแย้ง
ทำไมต้อง พล.อ.ประวิตร ที่จะเป็นผู้นำในการ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”
เจ้าของคำขวัญหาเสียงข้างต้นปฏิเสธว่า “ไม่ใช่ผมคนเดียว การก้าวข้ามความขัดแย้งต้องช่วยกันทั้งประเทศ” พร้อมระบุว่า ต้องการให้คนไทยรักสามัคคีกัน นำพาประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้าต่อไป ส่วนเรื่องความคิดการเมือง ให้ไปว่ากันในสภาฯ
จากนั้นสรยุทธได้ทบทวนเนื้อหาใน “จดหมายเปิดใจ” ของ พล.อ. ประวิตร ซึ่งเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียเมื่อ 27 ก.พ. ที่อธิบายความคิดของฝ่ายอนุรักษนิยมเดิม กับฝ่ายเสรีประชาธิปไตย โดย “กลุ่มอีลีทไม่เชื่อถือและไว้วางใจนักการเมือง” ขณะเดียวกันเมื่อมีเลือกตั้ง “ฝ่ายอำนาจนิยมจะพ่ายแพ้ต่อฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมทุกคราว” พร้อมขอให้ประชาชนให้โอกาส พล.อ. ประวิตร
ในระหว่างนั้น พล.อ. ประวิตรนั่งฟัง และพยักหน้ารับคำพูดของ “กรรมกรข่าว” เป็นช่วง ๆ ก่อนกล่าวว่า “ผมว่าไม่ใช่ให้โอกาสผมคนเดียว ให้ทุกคนที่ต้องรักสามัคคี เป็นหนึ่งเดียว นำพาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป”
แล้วถ้าฝ่ายอนุรักษนิยมยังไม่พอใจละ ?
“ในเมื่อความรักสามัคคีเกิดขึ้นแล้ว จะไม่พอใจได้ไง... ปล่อยให้สภาว่าไป” หัวหน้าพรรค พปชร. ตอบ และออกตัวว่า ตัวเอง “ไม่ได้เป็นขั้ว”
เมื่อถูกถามถึงพรรคการเมืองอื่น เพื่อไทยขั้วหนึ่ง และรวมไทยสร้างชาติ “พรรคน้องชาย” ก็เป็นอีกขั้วหนึ่ง เจ้าตัวหัวเราะรับคำถาม ก่อนตัดบทว่า “อันนี้เป็นเรื่องของคนแต่ละคน เรื่องการเมืองใครคิดอย่างไร ก็คิดได้ ผมไม่ได้ไปก้าวล่วงใคร”
2. อยากเป็นนายกฯ ไหม?
พล.อ. ประวิตร เป็นทั้งหัวหน้าพรรค, แคนดิเดตนายกฯ และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรค ถูกถามตรง ๆ ว่า “อยากเป็นนายกฯ ไหม”
“ถ้าเลือก ผมก็เป็น ถ้าไม่เลือก ผมก็ไม่ได้เป็น” เขาตอบง่าย ๆ
“ถ้าผมเข้ามาถึงขนาดนี้แล้ว ผมก็ไม่ได้บอกว่าผมอยากเป็น แต่ผมจะเข้ามาทำงานให้ประชาชน ให้เกิดความอยู่ดี กินดี มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นความมุ่งหมายของ พปชร.”
อยากมาทำงานให้ประชาชน ก็คืออยากเป็นนั่นแหละ สรยุทธทวนความ-สรุปความ
“ไมรู้สิ ก็ทำงาน ก็ถ้าเป็น ก็ต้องทำงาน ถ้าไม่เป็น ก็ไปนอนอยู่บ้าน” อีกครั้งที่ พล.อ. ประวิตรตอบแบบสามัญ ๆ
อย่างไรก็ตาม เขายังไม่ยอมเปิดเผยโรดแมปก้าวข้ามความขัดแย้งหากได้เป็นนายกฯ คนใหม่ โดยบอกใบ้เพียงว่า “ผมจะทำทันทีแล้วกัน ผมมีของผมแล้วกัน”
“ไม่ใช่บอกไม่ได้ แต่ผมยังไม่บอก อ่า” พล.อ. ประวิตรพูดพร้อมกับส่งยิ้มกรุ้มกริ่ม
“ก็ต้องรอดูกันต่อไป ให้ผมได้เป็นก่อนนะ ก็ลองเลือกผมดูแล้วกัน ก็จะได้เห็นว่าผมทำอย่างไรให้ประชาชนได้อยู่รวมกันอย่างสันติ”
เมื่อถูกยิงคำถามใส่ว่า จะไปบอกฝ่ายอนุรักษนิยมหรือไม่ว่าอย่ารัฐประหาร พล.อ. ประวิตรอยู่ตรงนี้
“ไม่ต้องบอกครับ เพราะคงจะไม่มีใครรัฐประหารผม” นายพลวัยเกษียณตอบด้วยน้ำเสียงมั่นใจ เรียกเสียงฮือฮาจากคนในห้องส่ง
แล้วกับอีกฟากฝั่ง อย่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่มองว่า พล.อ. ประวิตรเป็นตัวขัดแย้ง
เขาย้อนถามว่า “เป็นตัวขัดแย้งยังไงครับ ผมยังไม่ขัดแย้งกับใครเลย”
3. นาที 3 ป. แยกทาง-การเดินการเมืองหลังจากนั้น
แม้ “พี่ป้อม” ถูกมองว่าเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่ม “3 ป.” โดยมีน้องรัก 2 คนคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ “ตู่” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กับ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือ “ป๊อก” รมว.มหาดไทย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า 3 ป. อยู่เบื้องหลังทุกอย่าง และเคยมีการอภิปรายในสภาโดยฝ่ายค้าน ซึ่งประกาศ “กำจัดปรสิต 3 ป.”
ป.ประวิตร หัวเราะหึ ๆ ในลำคอ ก่อนบอกว่า “ไม่จริงหรอก ก็คิดไปเองทั้งนั้น”
“ไอ้ 3 ป. ใครตั้ง ผมยังไม่รู้เลย ใครตั้ง คุณตั้งหรือเปล่า ก็เรียกกันไปอย่างนั้นเอง คือทั้ง 3 คนก็เป็นน้องผม แล้วผมก็ดูแลเขามาตั้งแต่เด็ก ก็ไม่มีอะไร อยู่ร่วมกัน ทำอาหารให้กินมั่ง ทำงานร่วมกันมา อยู่ด้วยกันในกองทัพอย่างมีความสุข” พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์กล่าว
พล.อ. ประวิตรยังเปิดเผยคำเรียกขานน้องทั้ง 2 เวลาอยู่ด้วยกัน 1-2 คนว่า “ไอ้ป๊อก” และ “ไอ้ตู่”
เวลาอยู่หลายคน “ก็เรียกท่านนายกฯ แต่เวลาอยู่คนเดียวสองคนก็เรียกไอ้ตู่”
เขาย้ำคำเดิมว่า “ความเป็นพี่น้อง คนไทยเราตัดไม่ขาด”
ส่วนที่เคยระบุว่า 3 ป. การเมืองมันจบไปแล้วนั้น พล.อ. ประวิตรยืนยันข้อเท็จจริงที่เคยเล่าไว้ในจดหมายของเขา
“ผมถามท่านนายกฯ ว่าอยากอยู่ พปชร. ไหม ถ้าจะเป็นนายกฯ อยากเป็นหัวหน้าพรรคก็เป็น แต่ผมขอเป็นประธานที่ปรึกษา ท่านนายกฯ ก็หายไป แล้วกลับมาบอกว่าผมไปอยู่พรรคใหม่ดีกว่า” พล.อ. ประวิตรกล่าว
เมื่อเปิดทางให้ขึ้นเป็นผู้นำพรรค พปชร. แต่ “น้องตู่” ไม่รับ “พี่ป้อม” บอกว่าไม่เคยตามตื้อ ไม่ถามต่อ ไม่ว่าอะไร และไม่คุยเรื่องการเมืองกันอีก
“นายกฯ อยากทำงานให้ประชาชน ผมมีนโยบายอย่างหนึ่ง ท่านนายกฯ ก็มีนโยบายอีกอย่างหนึ่ง ก็แล้วแต่ ท่านอาจจะเห็นว่านโยบายผมใช้ไม่ได้ ก็ไปทำของท่านเอง ไม่เป็นไร”
เมื่อถูกถามว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตกลงเป็น “บัตรลุงป้อม” หรือ “บัตรลุงตู่” กันแน่
หัวหน้าพรรค พปชร. บอกว่า เป็นบัตรของ พปชร. ที่เสนอตั้งแต่หาเสียงปี 2562 แต่ลุงตู่ก็มาทำต่อ “ไม่ใช่ของใคร ของ พปชร. พรรคริเริ่ม” และส่วนตัวไม่ได้คิดว่ามีการเกทับกันระหว่าง รทสช. ที่เสนอเติมเป็นลงบัตรเป็น 1,000 บาท และ พปชร. 700 บาท
ไม่ว่าจะถูกถามกี่ครั้ง พล.อ. ประวิตรก็ย้ำแต่คำว่า “ไม่คุยเรื่องการเมืองกัน”
แม้แต่ในวันเปิดรับสมัคร ส.ส.กทม. ที่ปรากฎภาพ 2 ป.นั่งข้างกัน พล.อ. ประวิตรก็บอกว่าเป็นการคุยเรื่องทั่วไป
“วันนั้นถามว่า ขาพี่ยังดีไหม ก็ธรรมดา ก็เดินได้อยู่ บอกว่าไม่คุยก็ไม่คุย เรื่องพรรคก็เรื่องของลูกพรรค”
ส่วนที่ก่อนหน้านี้ ปรากฏภาพ 2 ป. ปาดหน้ากันไปมา-แย่งกันลงพื้นที่ พล.อ. ประวิตรแจกแจงว่า เป็นเรื่องของนักข่าว ไม่ใช่ลูกพรรคของเขา “ผมเองผมยังไม่รู้เลยว่าจะไปที่ไหน เขาเป็นคนจัดให้ผม... ผมวางเป็นเดือนนะ”
อย่างไรก็ตามหัวหน้าพรรค พปชร. ไม่ปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าบางคนในพรรคไม่ถูกกับนายกฯ แต่ออกตัวแทนลูกพรรคว่า ไม่มีใครเกลียดนายกฯ และนับถือนายกฯ ทุกคน
พล.อ. ประยุทธ์ กับ พล.อ. ประวิตร นั่งเคียงข้างกันในระหว่างรอลุ้นผลการจับสลากเบอร์ผุ้สมัคร ส.ส.กทม. ของพรรค เมื่อ 3 เม.ย.
4. เร็ว-เช้า-หนัก-เบา กับความ ”ฟิตเปรี๊ยะ” ของลุงป้อม
แม้วัยย่างเข้าสู่ปีที่ 78 แต่เมื่อสมาชิกพรรคเห็นชอบให้ พล.อ. ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ เขาก็ต้องไปต่อ
“ผมแก่แล้วก็จริง แต่ผมใช้ความเร็ว ความช้า ความหนักแน่น ความเป็นคนตัวเบา”
เขาขยายความประโยคข้างต้นไว้ว่า
ช้า - ผมเดินช้า
เร็ว - ผมคิดเร็ว และสั่งการ ทำงานเร็ว
หนักแน่น - ผมเป็นคนหนักแน่นอยู่แล้ว
ตัวเบา - ไม่ใช่น้ำหนัก แต่ผมไม่มีครอบครัว ผมตัวเบา ผมไม่ต้องการไรแล้ว ผมก็ทำงานให้ประชาชนได้ ไม่ต้องไปหาอะไรเข้าตัวแล้ว ผมเข้ามาป่านนี้แล้ว
ส่วนที่มีเสียงซุบซิบนินทาว่าใครอยู่ใกล้ พล.อ. ประวิตร ไปยุให้ทำอะไร สุดท้ายก็มีคำสั่งตามนั้น ผู้ถูกพาดพิงขอปฏิเสธ และยืนยันว่า สั่งงานด้วยตัวผมเอง
“เขานินทาก็นินทา เขาอาจเข้าใจไปอย่างนั้น หูผมหนัก” พล.อ. ประวิตรกล่าวเน้นเสียง พลางเอานิ้วชี้ให้ดูหูของเขา
กับภารกิจอันหนักหนาของผู้นำประเทศ ย่อมนำไปสู่คำถามที่ว่าสุขภาพของเขาไหวจริงหรือไม่
“ผมน่ะ หมอเขาตรวจแล้ว ผมฟิตเปรี๊ยะเลยนะ เว้นขาอย่างเดียว เอาปี๊บมาเตะได้เลย” ชายวัยลุงพูดยิ้ม ๆ และอธิบายเพิ่มเติมว่า มีอาการสะโพกเลื่อนมา 5 ปีแล้ว ทำให้เดินช้า
เมื่อถูกท้าให้เอาใบรับรองแพทย์มาแสดงความฟิตเปรี๊ยะ เขาสวนกลับทันควัน “เอาหมอมาตรวจเลยดีกว่า หมอประจำตัวผมก็มี คนที่เขาเป็นใหญ่เป็นโต บางคนก็นั่งรถเข็นก็มีนะประเทศอื่น”
“ผมยังอยู่ได้อีก 4 ปี อยู่ได้แน่นอน อ้า....” เขากล่าวพร้อมกับส่งยิ้มกว้าง จนเห็นลิ้นและไรฟัน
ผู้ดำเนินรายการทวนความว่า สรุปเป็นเรื่องทางขาที่โยงมาสะโพก ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความคิด พล.อ. ประวิตรจึงโยนคำถามกลับว่า “คุณว่าสมองผมใช้ได้ไหม” พลางเอามาจิ้มที่ขมับตัวเอง ซึ่งสรยุทธก็ตอบกลับว่า “ไม่รู้ แต่ดูการถามตอบว่องไวนะ”
พล.อ. ประวิตร ขึ้นเวทีปราศรัยที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 19 มี.ค.
5. “มึงคิดที่จะปฏิวัติหรือเปล่า”
ครั้งหนึ่ง พล.อ. ประวิตรเคยทิ้งวรรคทองกลางสภาในระหว่างฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยบอกว่า “ผมไม่ใช่คนปฏิวัติ” พลางชี้นิ้วไปยัน พล.อ. ประยุทธ์ว่าเป็นยึดอำนาจ
“ก็ใช่ ก็ท่านนายกฯ ทำเอง วันปฏิวัติวันไหน ผมยังไม่รู้เลย ไม่รู้ ไม่รู้จริง ๆ ผมก็พยายามถามเขา เขาไม่บอก แต่นายกฯ ไม่ได้มีความคิดที่จะปฏิวัตินะครับที่คุยกับผม”
พล.อ. ประวิตร ผู้ที่กลายเป็นรองหัวหน้า คสช. ในเวลาต่อมา ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการวางแผนยึดอำนาจ แต่ พล.อ. ประยุทธ์ให้เขามาช่วย มาเป็นที่ปรึกษาหลังจากนั้น
“ผมก็ถามเขาแต่แรกแล้วว่า ‘มึงคิดที่จะปฏิวัติหรือเปล่า’ เขาบอก ‘ผมไม่คิดหรอกพี่’ เขาบอกใครไม่ได้ เดี๋ยวตู่จะถูกจับ” พล.อ. ประวิตรเล่า และกล่าวเสริมว่า ในเวลานั้น บ้านเมืองมันไปไม่ได้ มีแบ่ง 2 ฝัก 3 ฝ่าย
6. ดีลนายกฯ จริง รทสช.-พปชร. ใครได้เสียงมากกว่า คนนั้นฟอร์มรัฐบาล
กับกระแสข่าวที่ว่า “2 ลุง” จับเขาคุย-ตกลงกันว่า รทสช. กับ พปชร. หากพรรคไหนได้คะแนนเสียงมากกว่า ให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และรับตำแหน่งนายกฯ ไปนั้น พล.อ. ประวิตรยอมรับว่าเขาเป็นคนพูดกับนายกฯ เอง
“ใครได้มากกว่า คนนั้นก็ฟอร์ม ถ้านายกฯ ได้มากกว่าก็ฟอร์มไป ไม่มีปัญหา แต่ถ้าผมได้มากกว่า ผมก็ฟอร์มเท่านั้น”
ผู้ดำเนินรายการถามว่า ส่วนใครจะเป็นนายกฯ ก็ตกลงกันแบบนี้ พล.อ. ประวิตรตอบว่า “ก็ตกลงกันแบบนี้”
แต่สำหรับวงพบปะและรับประทานอาหารร่วมกับแกนนำพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เขาอ้างว่า “ไม่ได้คุยเรื่องการเมือง” พร้อมปฏิเสธรายงานข่าวของสื่อมวลชนเรื่องการไปตกลงกับ ภท. ว่าใครได้เสียงมากกว่า ให้เป็นนายกฯ
ส่วนที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร. แถลงว่า พปชร. จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นั้น พล.อ. ประวิตรยังขอรอดูผลการเลือกตั้งก่อน และจะตัดสินใจอย่างไรต้องเป็นมติพรรค ในชั้นนี้ยังเป็นข้อคิดเห็นของนายไพบูลย์ แต่ยอมรับว่านายไพบูลย์มาแจ้งก่อนว่า “ถ้านโยบายไม่ตรงก็ไม่ร่วม ผมก็เห็นด้วย ถ้าเราตกลงกันไม่ได้ เขาจะแก้รัฐธรรมนูญ ผมไม่แก้ เขาจะแก้ข้อนั้น ผมไม่แก้ ก็ไม่รู้จะทยังไง”
แต่จุดยืนที่หัวหน้าพรรค พปชร. ประกาศอย่างชัดเจนคือ “ไม่ร่วม” กับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
“ไม่แก้แน่นอน แตะไม่ได้... ผมจะไม่แตะต้องเลย” นายพลนอกราชการระบุ
7. ไม่เคยคุยทักษิณ-ไม่มีดีลเพื่อไทย
ท้ายที่สุดเมื่อถูกถามถึงการดีลกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
“ไม่เคย” เขาตอบโดยลากเสียงสูง และย้ำอีกที “ไม่เคยคุย ตั้งแต่ผมออกจาก ผบ.ทบ. เมื่อปี 2548”
พล.อ. ประวิตรได้รับตำแหน่งให้เป็น ผบ.ทบ. ในช่วงรัฐบาลทักษิณ
ครั้งหนึ่ง อดีตนายกฯ คนที่ 23 เคยทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “ท่าทีและน้ำเสียงขึงขังน่ากลัวจัง ไม่นุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนตอนมาเกาะโต๊ะขอเป็น ผบ.ทบ.เลย” เพื่อตอบโต้ พล.อ. ประวิตรที่ไล่ให้เขาไปเคลียร์คดี ก่อนค่อยมาปรองดอง
“ปัดโธ่ ผมไปยืนค้ำโต๊ะของนายกฯ ได้ไง ไม่มี พูดไปเรื่อย ผมก็บอกว่าพูดไปเรื่อย” พล.อ. ประวิตรปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการวิ่งขอตำแหน่งอดีตนายกฯ
พล.อ. ประวิตรปฏิเสธว่า ไม่มีดีลกับ พท. หลังมีข่าวปล่อยทำนองว่าหาก พท. ชนะเลือกตั้ง จะดึง พปชร. ร่วมรัฐบาล โดยย้ำว่า “ผมยังไม่เคยคุยเลย”
ในช่วงนี้ ผู้ดำเนินรายการยิงคำถามไปหลายข้อเพื่อให้เกิดความกระจ่าง จน พล.อ. ประวิตรต้องเอามือมาเกาศีรษะ และบอกว่า “นี่ผมตอบแล้ว”
เมื่อถูกถามว่า ร่วมงานกับ พท. ได้หรือไม่ คำตอบของหัวหน้าพรรค พปชร. ไม่ปิดกั้นโอกาสทางการเมืองของพรรค โดยระบุว่า “ก็ถ้านโยบายตรงกันได้ “ผมร่วมได้ทั้งนั้น ถ้าเป็นไปตามนโยบายของผม”