วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 15, 2561
หนัง 5 เรื่องที่คอหนังพลาดไมได้
หนัง 5 เรื่องที่ คสช. ไม่อยากให้คนไทยดู?
.
.
203 คือ จำนวนอย่างน้อยที่สุดของกิจกรรมสาธารณะที่ คสช. ได้ปิดกั้นและแทรกแซง หรือเป็นเหตุผลสำคัญจนทำให้กิจกรรมเหล่านี้ต้องเกิดอุปสรรคหรือยกเลิกไปในที่สุด ในจำนวนนี้มีไม่น้อยกว่าห้าครั้งที่ คสช. ได้ปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมฉายภาพยนตร์ ได้แก่ 1984, The hunger games, White Shadow, ดาวคะนอง และ Joshua: Teenager vs Superpower โดยแก่นเรื่องของหนังที่ถูกห้ามฉายมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองและความไม่เป็นธรรมในสังคม ขณะที่ในการระงับฉายหนังเรื่อง White Shadow ที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการล่าคนผิวเผือกในแทนซาเนียเพื่อนำอวัยวะไปเป็นเครื่องราง เนื้อหาไม่ได้อิงการเมืองโดยตรงแต่กลับถูกห้ามฉายจากมหาวิทยาลัยเจ้าของสถานที่ เนื่องจากหวั่นเกรงผลที่จะตามมาจากการถกเถียงต่อจากหนัง
.
.
1984: สังคมที่ปราศจากเสรีภาพ
.
วันที่ 14 มิถุนายน 2557 ที่จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มปันยามูฟวี่คลับ กำหนดจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง 1984 ที่แสงดีแกลเลอรี่ โดยทางกลุ่มเริ่มประชาสัมพันธ์กิจกรรมตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2557 แต่ปรากฏว่า ทางแสงดีแกลเลอรี่ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบถามว่า ภาพยนตร์ที่จะฉายนี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอะไร และอ้างว่าภาพยนตร์อาจติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ในการฉายหรือไม่ จึงได้มีการหารือกันจนยุติการจัดกิจกรรมฉายหนังในที่สุด
.
ต่อมาในวันที่ 25 มิถุนายน 2557 เวลา 10.00 น. ทหารเรียกตัวบดินทร์ คอลัมนิสต์วิจารณ์ภาพยนตร์ และผู้ก่อตั้งกลุ่มปันยามูฟวี่คลับ ไปพูดคุยที่สโมสรค่ายกาวิละ มณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ โดยเจ้าหน้าที่กองข่าวของ มทบ.33 ได้สอบถามถึงการเตรียมจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง 1984 และการจัดนิทรรศการศิลปะในอดีตก่อนการมาของ คสช. ด้วย
.
ภาพยตร์เรื่อง 1984 ถูกสร้างขึ้นในปี 1984 ไมเคิล แรดฟอร์ด เป็นผู้กำกับและเขียนบทหนัง โดยดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ชิ้นสำคัญของจอร์จ ออร์เวล ที่เขียนขึ้นในปี 1949 เนื้อหาพูดถึงสังคมในจิตนาการที่ปราศจากเสรีภาพภายใต้การควบคุมของพรรคอภิชนพรรค (Inner Party) ในรัฐโอเชเนีย โดยผู้นำของพรรค คือ พี่เบิ้ม (Big Brother) ที่ควบคุมความคิดของปัจเจกชนในรัฐอย่างเผด็จการ มีการสอดส่องและควบคุมไม่เพียงการแสดงออกทางกายแต่ก้าวล่วงไปถึงความคิดและจิตใต้สำนึกของประชาชน
.
ตัวละครนำของเรื่อง วินส์ตัน สมิธ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงความจริง รับหน้าที่เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่เพื่อสนับสนุนผู้นำของรัฐ อย่างไรก็ตามสมิธมีความเกลียดชังพรรคอย่างลับๆ และคิดกบฏต่อพี่เบิ้ม
.
.
The hunger games: Mockingjay Part 1เสรีภาพ ความเสมอภาค และภารดรภาพ
.
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) จัดกิจกรรม "รำกระตั้ว คั่วป๊อบคอร์น นอนดูหนัง" ชิงตั๋วหนังฟรี โดยให้ผู้ร่วมสนุกตอบคำถามว่า “The Capitol ในภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games: Mockingjay Part 1 ภาค 2 เหมือนกับ Bangkok ในประเทศไทยอย่างไรบ้าง?" และจะซื้อตั๋วชมภาพยนตร์ที่สกล่าแจกให้กับผู้ร่วมกิจกรรม ต่อมาตำรวจได้โทรศัพท์ไปขอความร่วมมือกับโรงภาพยนตร์ไม่ให้ฉาย The hunger game ตามรอบกำหนดเดิมที่ทางกลุ่มได้แจ้งประชาชนไว้ก่อนหน้าและขอให้คืนเงินทั้งหมดให้ทางกลุ่ม
.
แต่กลุ่ม LLTD ยังคงยืนยันที่จะจัดฉายภาพยนตร์ โดยระบุว่า ในวันที่ 20 พ.ย. เวลา 11.30 น. ให้ผู้เข้าร่วมกิจรรมนำเฟซบุ๊คมายืนยัน เพื่อรับตั๋วชมภาพยนตร์ ที่บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์สกาล่า สยามสแควร์ซอย 1 และนักกิจกรรมได้เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปดูภาพยนตร์เรื่องเดียวกันที่สยามพารากอนแทน ก่อนจะมีการจับกุมรัฐพล สมาชิกกลุ่ม LLTD ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์สกาล่า, “แชมป์” ผู้มาร่วมกิจกรรมที่นำตั๋วหนังมาคืนกลุ่ม LLTD และนัชชชา นักศึกษาที่ชูสามนิ้วหน้างานดังกล่าวไป โดยภายหลังทั้งสามได้รับการตักเตือนและปล่อยตัวออกมา
.
The hunger games: Mockingjay Part 1 ถือเป็นภาคที่สามของภาพยนตร์ชุดเรื่องนี้ที่เล่าถึงการกดขี่ของ "แคปปิตอล" เมืองหลวงของพาเนมที่มีต่อเขตการปกครองทั้ง 13 เขต เมื่ออดรนทนไม่ไหวเขต 13 จึงก่อกบฏ แต่แคปปิตอลรู้เรื่องดังกล่าวจึงทำลายเขต 13 ทิ้ง หนังภาคนี้เล่าเรื่องต่อจากสองภาคแรกที่แคปปิตอลจัดการแข่งขันเกมล่าชีวิตขึ้น เพื่อย้ำเตือนถึงผลลัพธ์ของการแข็งข้อต่อแคปปิตอล โดยเกมล่าชีวิตนี้มีกฎให้แต่ละเขตต้องสุ่มจับสลากบรรณาการชายหญิงเขตละสองคนมาร่วมการแข่งขันและฆ่ากันจนกว่าจะเหลือคนสุดท้ายถือเป็นผู้ชนะ โดยแคตนิส ตัวเอกของเรื่องได้เสียสละแทนน้องเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ในนามตัวแทนของเขต 12
.
ในหนังเรื่องดังกล่าวสองภาคแรก ชาวเขต 12 ชูสามนิ้วเพื่อแสดงความนับถือต่อแคตนิส ตัวเอกของเรื่อง และเป็นสัญลักษณ์แสดงการต่อต้านการปกครองของแคปปิตอล โดยการชูสามนิ้วเป็นท่าทางที่เก่าแก่และไม่ค่อยใช้กันมากนัก จะพบเจอได้ในพิธีศพ โดยหมายถึงการขอบคุณ การสรรเสริญและการบอกลาต่อบุคคลอันเป็นที่รัก
.
หลังการเข้ายึดอำนาจโดย คสช. มีการจับกุมผู้ชุมนุมคัดค้านการรัฐประหาร จับกุมผู้ถือป้ายกระดาษต่อต้าน คสช. ผู้ชุมนุมจึงนำสัญลักษณ์ "ชูสามนิ้ว" มาใช้แทนการต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. ในแง่นี้การชูสามนิ้วได้ถูกนำไปผนวกกับอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ได้แก่ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภารดรภาพ
.
.
White Shadow : สิ่งลี้ลับที่อยู่เหนือความเป็นมนุษย์
.
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักศึกษาร่วมกับองค์กรแอมเนสตี้ประเทศไทยจัดงานฉายหนังเรื่อง White Shadow ให้นักศึกษาได้รับชม เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องประเด็นปัญหาทางสิทธิมนุษยชนที่ภาพยนตร์นำเสนอ โดยเฉพาะปัญหาการล่าคนผิวเผือกในแทนซาเนีย ต่อมา ผศ.ดร.สุขุม วสุนธราโศภิต รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่อนุญาตให้จัดฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเนื่องจากหากมีประเด็นอ่อนไหว และทางมหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ
.
ก่อนหน้านี้ทีมผู้จัดงานได้เดินทางไปยังมณฑลทหารบกที่ 23 ในช่วงเช้าเพื่อแจ้งขออนุญาตจัดงานฉายหนังแล้ว และทหารก็ได้ให้อนุญาตเพราะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
.
White Shadow ออกสู่สายตาผู้ชมครั้งแรกในปี 2013 เล่าถึง เอเลียส เด็กหนุ่มผิวเผือกชาวแทนซาเนียที่ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัว โดยอิงกับสถานการณ์จริงที่คนผิวเผือกในแทนซาเนียต้องประสบ นับตั้งแต่ปี 2000 มีคนผิวเผือกในแทนซาเนียไม่น้อยกว่า 75 คน ถูกฆาตกรรมและอีกจำนวนมากต้องทนทุกข์กับการทำร้ายอย่างรุนแรงเนื่องด้วยความเชื่อที่ว่า อวัยวะต่างๆ ของคนผิวเผือกจะสามารถใช้เป็นเครื่องรางของขลังนำพาความโชคดีมาให้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นความรุนแรงต่อคนผิวเผือก ขณะเดียวกันหนังเรื่องนี้ยังบอกเล่าถึงการตีตราทางสังคมต่อคนผิวเผือก สะท้อนผ่านการล้อเลียนเอเลียส ตัวเอกของเรื่อง รวมทั้งยังฉายภาพการต่อรองซื้อขายอวัยวะในตลาดมืด
.
แม้จะมีการสร้างความตระหนักรู้ผ่านหนังและการใช้กระบวนการทางกฎหมายในการปราบปรามแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ความรุนแรงต่อคนผิวเผือกในแทนซาเนียไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ในปี 2014 คนผิวเผือกไม่น้อยกว่า 5 คนต้องถูกทำร้ายเป็นผลจากสีผิวที่ผิดปกติของพวกเขา เด็กหญิงผิวเผือกวัยสี่ขวบถูกลักพาตัวและยังคงไม่พบตัว และเด็กทารกถูกพรากไปจากอกแม่ หายไปก่อนที่หลายวันต่อมาจะพบร่างขาดวิ่นทิ้งอยู่ ขณะที่ในปัจจุบันคนผิวเผือกในแทนซาเนียยังคงต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
.
.
ดาวคะนอง : อดีตที่ไม่อยากให้จำ
.
วันที่ 6 ตุลาคม 2560 ที่ Warehouse30 ถนนเจริญกรุง Documentary Club กำหนดจัดกิจกรรมฉายหนัง ดาวคะนอง + Talk วิเคราะห์เจาะลึก แต่เจ้าหน้าที่ขอความร่วมมืองดจัดกิจกรรมทั้งการฉายหนังและพูดคุยหลังฉายให้เหตุผลว่า ได้รับความเห็นจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายว่าเนื้อหาของหนังมีความสุ่มเสี่ยง และไม่แฮปปี้ที่จะให้จัดฉายหนังเรื่องดังกล่าว
.
โดยผลงานจากผู้กำกับ อโนชา สุวิชากรพงศ์ เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตของผู้คนหลากหลายที่ได้มาเกี่ยวข้องกัน เช่น นักศึกษาหญิงในเหตุการณ์ 6 ตุลา แม้ดาวคะนองต้องการบอกเล่าเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์โดยมวลชนฝ่ายขวาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ก็ไม่ได้ถ่ายทอดเหตุการณ์ดังกล่าวให้เห็นตรงๆ ด้วยเลือกที่จะแสดงผ่านเรื่องราวของคนที่พยายามสร้างหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แทน
.
ขณะเดียวกันดาวคะนองยังแสดงให้เห็นผลกระทบในปัจจุบันของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ซึ่งเต็มไปด้วยความคลุมเครือ พร่าเลือน และถูกซ่อนเร้นมาตลอด ยิ่งกับผลกระทบต่อผู้คนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้นเอง และผลกระทบต่อคนรุ่นหลัง ในการจดจำภาพประวัติศาสตร์ ก่อนหน้านี้ดาวคะนอง (By the Time It Gets Dark) ได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าชิงรางวัลหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ ปี 2560
.
.
Joshua: Teenager vs Superpower : พลังของคนรุ่นใหม่
.
วันที่ 18 สิงหาคม 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีนัดจัดกิจกรรมฉายหนังเรื่อง Joshua: Teenager vs Superpower ที่ G village ลาดพร้าวซอย 18 ก่อนหน้าวันจัดฉายหนัง ทีมงานแอมเนสตี้ ได้รับการติดต่อจากตำรวจสันติบาล และได้เข้าพบพล.ต.ท.สราวุฒิ การพาณิช ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เพื่อพูดคุยด้วย โดยตำรวจแสดงความกังวลในสองประเด็น คือ ประเด็นแรกหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับโจชัว หว่อง จะทำให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีน ประเด็นที่สอง คือ เรื่องข้อกฎหมายของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดว่า การฉายหนังทุกเรื่อง
ต้องผ่านการอนุญาตจากกระทรวงวัฒนธรรมก่อน
.
หลังจากพูดคุยทีมงานแอมเนสตี้ได้ติดต่อไปยังกลุ่มภาพยนต์และวีดีทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการขออนุญาตฉายภาพยนตร์ เจ้าหน้าที่แจ้งปากเปล่าว่า ฉายได้ เป็นเรื่องปกติที่คนทำกันเพราะหากจะขออนุญาตจะใช้เวลานานและไม่ทันการ ต่อจากนั้นได้โอนสายไปยังกลุ่มนิติการ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ไม่สามารถฉายได้ต้องขออนุญาตก่อน หากฉายจะถูกปรับ 200,000 - 1,000,000 บาท แอมเนสตี้ฯ จึงยุติการฉายหนังเรื่องดังกล่าว
.
Joshua: Teenager vs Superpower ซึ่งเป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ "โจชัว หว่อง" นักกิจกรรมรุ่นใหม่ของฮ่องกงที่เริ่มชีวิตนนักกิจกรรมตั้งแต่อายุ 14 ปี จากการออกมาคัดค้านหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของรัฐบาลจีน (National Education) ต่อมาก็เข้าร่วมขบวนการประท้วงเรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงออคคิวพาย เซนทรัลหรือการปฏิวัติร่มที่ฮ่องกงในปี 2014 เป็นการแสดงความไม่พอใจของชาวฮ่องกงที่มีต่อการปกครองของจีน ภายใต้กติกาที่ชาวฮ่องกงมีสิทธิเลือกตั้งผู้ปกครอง แต่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทุกคนจะต้องผ่านการคัดเลือกโดยพรรคคอมมิวนิสต์จากปักกิ่งมาก่อน
.
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีสัญลักษณ์ คือ ร่ม ที่ผู้ชุมนุมใช้เป็นเกราะป้องกันจากแก๊ซน้ำตา และ สเปรย์พริกไทยของตำรวจ มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากออกมาประท้วงตามท้องถนน กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามที่จะกดดันรัฐบาลปักกิ่งและเชิญชวนผู้คนเข้ามาร่วมชุมนุมผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้จีนต้องบล็อคเว็บไซต์และคำค้นหาที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้การชุมนุมลุกลามไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ในตอนนั้นทางการจีนเองประกาศว่า จะไม่ยกเลิกแนวทางการเลือกตั้งและอ้างว่า แนวทางดังกล่าวจะสร้างความมั่นคงให้แก่ฮ่องกงในระยะยาว ทั้งพยายามที่จะทำให้การประท้วงครั้งนี้เป็นเรื่องภายในประเทศเท่านั้น ไม่เปิดทางให้มีฝ่ายที่สามเข้ามาพูดคุย ในส่วนของผู้ชุมนุมนั้นก็รู้ดีว่า ไม่สามารถเอาชนะรัฐบาลจีนได้ แต่ยังคงชุมนุมต่อไป เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองและกดดันให้ทางการเข้ามาเจรจา การปฏิวัติร่มถือเป็นการสั่นสะเทือนรัฐบาลปักกิ่งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบสองทศวรรษ
iLaw
Supanat Suwannapasri Joshua: Teenager vs Superpowe ดูใน netflix ได้ครับ รู้ไส้จีนเลย
Neenun Noon 1984 และ White Shadows มีให้เช่าใน iTunes
Neenun Noon 1984 และ White Shadows มีให้เช่าใน iTunes
Mockingjay Part 1 และ Joshua Wong มีให้ดูใน Netflix
ดาวคะนอง มีออกเป็น DVD