ประเด็นสำคัญที่กลายเป็นจุดสนใจหลักของสังคม คือ การตั้งคำถามต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบเตือนสาธารณะ แม้ว่าการเกิดแผ่นดินไหวจะไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่หากมีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพจะทำให้สามารถแจ้งให้ประชาชนทราบถึงวิธีการเตรียมตัวและรับมือต่อสิ่งที่จะเกิดขี้นได้ทันท่วงที
"ข้อความสั้นแจ้งเตือน" หรือ "เอสเอ็มเอส" คือ ประเด็นคำถามที่คนไทยทั้งประเทศสะท้อนกลับไปยังภาครัฐคือเหตุใดจึงไม่มีการแจ้งเตือนภัย และกว่าหน่วยงานรัฐจะตกลงกันได้แล้วส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนประชาชนนั้นล่าช้าไปแล้วหรือไม่
คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งนั่งเป็นประธานในการประชุมเร่งด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจี้ถามผู้มีส่วนรับผิดชอบเช่นกัน เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา
"ท่านต้องตอบคำถามตรงนี้ เพราะดิฉันต้องตอบคำถามประชาชน เพราะดิฉันสั่งไปตั้งแต่ก่อนบ่ายสองว่าให้เอสเอ็มเอสเตือนให้หมด ทุกอย่าง แต่ระบบไม่ออก" นายกฯ กล่าวในที่ประชุม

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่อาคารสำนักงานใหม่ของ สตง. ที่กำลังก่อนสร้าง แต่พังถล่มลงมาเพราะแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา
คำอธิบายของ ปภ.-กสทช. ที่ไม่สามารถส่ง SMS เตือนได้ทันเวลาย้อนกลับไปในการประชุมครั้งนั้น นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เริ่มตอบคำถามแรกว่า แผ่นดินไหวนับเป็นเหตุการณ์เดียวที่ไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ ก่อนจะอธิบายขั้นตอนการทำงานว่าเป็นไปดังต่อไปนี้
สำหรับกรณีของเหตุแผ่นดินไหว เริ่มแรก ปภ. จะได้รับการแจ้งเตือนจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา จากนั้นจึงจะส่งคำแจ้งเตือนที่จะให้กับประชาชนต่อไปที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อให้แจ้งเตือนประชาชน
จากนั้น นายไตรลักษณ์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. อธิบายต่อว่าเนื่องจากปัจจุบันไทยยังไม่มีระบบการส่งเซลล์บรอดแคส จนต้องส่งเนื้อหาข้อความที่ผ่าน ปภ. แล้วไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เป็นผู้ดำเนินการต่อไป
หากย้อนกลับมาดูตามไทม์ไลน์จะพบว่า เหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นราว 13.20 น. นายกฯ ระบุว่า ได้เร่งสั่งการให้ต้องส่งเอสเอ็มเอสถึงประชาชนก่อนเวลา 14.00 น. หลังจากนั้น อธิบดี ปภ. ระบุว่าเริ่มส่งข้อความให้ กสทช. ครั้งแรกตอน 14.42 น. เพื่อให้แจ้งว่าประชาชนสามารถกลับเข้าไปในอาคารในกรณีที่มีความจำเป็นได้ และที่ไม่ได้ส่งข้อความเตือนเรื่องเหตุแผ่นดินไหวเนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้ว
ในขั้นตอนนี้ กสทช. ชี้แจงว่าเมื่อได้ข้อความจาก ปภ. ก็ส่งต่อไปให้ผู้ให้บริการเครือข่าย ในเวลา 14.44 น. ซึ่ง ติดข้อจำกัดว่าส่งข้อความได้ทีละหนึ่งแสนถึงสองแสนเลขหมายเท่านั้น

ภาพฝูงชนอพยพลงมาจากตึกสูงเพื่อมายืนรออยู่ข้างถนนหลังรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อ 28 มี.ค.

ประชาชนไทยต่างไม่ได้รับเอสเอ็สเอสแจ้งเตือนการเกิดเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งในเวลาต่อมา ปภ. อธิบายว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติเดียวที่ไม่สามารถแจ้งเตือนได้
ในการแถลงครั้งนี้ ปภ. ชี้แจงว่า มีการส่งข้อความไปให้ กสทช. ทั้งหมด 4 ครั้ง สำหรับครั้งที่ 2-3 เป็นช่วงเวลา 16.07 น. และ 16.09 น. เพื่อแจ้งเรื่องข้อปฏิบัติตนในกรณีแผ่นดินไหว และครั้งสุดท้ายเวลา 16.44 น. เพื่อแจ้งให้ประชาชนสามารถกลับเข้าอาคารได้
เมื่อกลับมาที่ฝั่งของผู้ที่ต้องได้รับข้อความ ผู้สื่อข่าวบีบีซี เช็คข้อความแจ้งเตือนในโทรศัพท์มือถือของตนเอง ซึ่งลงทะเบียนอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพบว่ามีข้อความแจ้งเตือนข้อความเดียวที่ส่งมาถึง เวลา 19.24 น. ของวันที่ 28 มี.ค. ระบุถึง วิธีปฏิบัติตัวหากเกิดอาฟเตอร์ช็อค
ภาพบันทึกหน้าจอข้อความที่ผู้เขียนได้รับ
หลังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องแถลงเสร็จ นายกฯ เองก็ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกอย่างช้าเกินไป แล้วข้อมูลที่ถูกส่งออกไปนั้นสุดท้ายอาจไม่ได้มีประโยชน์มากเพียงพอ
นายกฯ ยังตั้งคำถามกับทุกฝ่ายว่าจะทำอย่างไรให้การประสานงานของทุกหน่วยงานมีประสิทธิภาพได้มากกว่านี้ …
แผ่นดินไหวในเมียนมา กะเทาะภาพ "กรมาธิปไตย" ในไทยอย่างไร

ภาพถนนในเมียนมาหลังเหตุแผ่นดินไหว
เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ บีบีซีไทยเพิ่งมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร. บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อวิเคราะห์ถึง
ระบบการทำงานของรัฐราชการไทย ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงแต่บุคคลากรภาครัฐที่อยู่ภายใต้สถานะ "ข้าราชการ" แต่ยังรวมถึงกำลังพลภาครัฐอื่น ๆ ด้วย
"มีคนเคยพูดว่าประเทศไทยเป็น 'กรมาธิปไตย' คือไม่ได้แยกกันแค่การทำงานในระดับกระทรวงนะ มันลงไปถึงระดับกรมเลย" เธออธิบาย
ดร.บุญวรา ยังเสริมว่า รัฐราชการไทยยังชอบที่จะใช้คำว่า "บูรณาการ" แต่ไม่มีผลลัพธ์ออกมาจริง ๆ กล่าวคือ เป้าหมายของการบูรณาการคือเพื่อให้มีการทำงานร่วมกัน แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลับ "มีน้อยมากที่ทำงานร่วมกันได้"
ผศ.ดร. ฉัตรทิพย์ ชัยฉกรรจ์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า การทำงานของรัฐราชการไทยว่าเป็นแบบ "แนวดิ่ง" คือเน้นทำแต่ภารกิจของตัวเองและไม่ได้มีการบูรณาการอยู่จริง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ดร.บุญวรา
นอกจากนี้ ผศ.ดร. ฉัตรทิพย์ ยังกล่าวเพิ่มว่า "อีกสิ่งที่สำคัญของระบบราชการคือการกลัวความผิดบางอย่าง"
หากเราหยิบยกกรณีเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ขึ้นมา ความผิดที่ว่านี้อาจเป็น 'ข้อความผิด' "มันจึงต้องผ่านการกรองหลายชั้นเพื่อความมั่นใจ"
วิเคราะห์ขั้นตอน-การสื่อสารในภาวะวิกฤตของราชการไทยต่อคำถามที่ว่า โดยปกติแล้วหน่วยงานรัฐแต่ละแห่งสื่อสารกันอย่างไร และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการข้ามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อสื่อสารในยามวิกฤต
ผศ.ดร.ฉัตรทิพย์ ตอบว่า ในภาวะปกติ "เราน่าจะเห็นภาพกันอยู่แล้ว" พร้อมอธิบายต่อว่า ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐแต่ละแห่งก็จะมาในหลายรูปแบบ เช่น การตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน และนัดประชุมกันทุกสามเดือน หกเดือน หรือทุกหนึ่งปี หรือจะมีการดำเนินโครงการร่วมกัน ซึ่งสังเกตได้จาก "เวลาเราเห็นป้ายโปสเตอร์แล้วมีโลโก้รัฐเยอะ ๆ ก็เป็นความพยายามในการสื่อสารว่า 'เฮ้ย... เรามีการประสานงานกันนะ'"
สำหรับโครงการประเภทที่สองนี้ การติดต่อสื่อสารก็ดูจะอยู่ที่หัวหน้าของแต่ละหน่วยงานว่าสามารถ "ยกหูหากันได้ไหม"
เมื่อก้าวมาสู่ภาวะวิกฤตที่เกิดภัยพิบัติขึ้น ผศ.ดร.ฉัตรทิพย์ ตอบว่า ประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่หน่วยงานรัฐแต่ละหน่วยงานสามารถยกหูโทรหากันได้หรือไม่ตามที่บีบีซีไทยถาม แต่ "คำถามคือที่ผ่านมามีการสร้างระบบและกลไกในการประสานความร่วมมือไว้ก่อนหรือไม่"
เธอตั้งข้อสังเกตว่า ในที่ประชุมที่มีนายกฯ นั่งเป็นประธานเมื่อวันที่ 29 มี.ค. นั้น มีการไล่จี้ว่าหน่วยงานไหนทำอะไร ส่งข้อความกันเวลาเท่าไหร่ แต่ "ภัยพิบัติมันคือเสี้ยววินาที มันมานั่งร่างข้อความไม่ทัน มันต้องเตรียมพร้อมเอาไว้ ต้องมีการฝึกซ้อม"
"สิ่งเหล่านี้เรายังไม่เห็นจากส่วนระบบของราชการ"
"ยกประโยชน์ให้จำเลย" จากความไม่รู้ได้หรือไม่ ?

ณ วันที่ 2 เม.ย. มีรายงานว่า มีผู้ประสบภัยแค่จากเหตุอาคารถล่มจากแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว มีผู้สูญหาย 72 ราย บาดเจ็บ/รอดชีวิต 9 ราย และ เสียชีวิตอีก 15 ราย
ประชาชนที่ไม่ได้รับเอสเอ็มเอส หรือได้หลังเวลาผ่านไปแล้วหลายชั่วโมง เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นปัญหาในระบบราชการไทย ตามทัศนะของ ผศ.ดร. ฉัตรทิพย์ โดยเธอบอกว่า รัฐราชการไทยไม่มีความพร้อมรับมือมากเพียงพอ
เมื่อถามว่า ฝ่ายรัฐบาลรวมถึงตัวนายกฯ เองก็เพิ่งมีประสบการณ์พร้อม ๆ กับคนไทย เรื่องการรับมือกับเหตุแผ่นดินไหว เช่นนั้น เราสามารถ 'ยกประโยชน์ให้กับจำเลย' ได้หรือไม่
นักวิชาการรายนี้ ตอบว่า "ถ้าตอบแบบคนใจดีก็จะบอกว่า 'ยกประโยชน์ให้จำเลย' ก็ได้
แต่เธอตั้งข้อสังเกตพร้อมตั้งคำถามว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินมาเนิ่นนานแล้วกว่า 22 ปี เช่นนั้น "ทำไมปรากฏว่าเราต้องรอให้เกิดเรื่อง ถึงมาเรียนรู้ว่าระบบมีช่องว่างเหรอคะ"
เธอถามต่อว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐมีการเตรียมความพร้อมไว้มากน้อยแค่ไหน มีการติดตามและประเมินแผนที่วางไว้หรือไม่ เพราะกระบวนการที่ดูเหมือนจะใช้เวลานานกว่าจะสื่อสารออกมาได้นั้น สะท้อนว่าระบบยังมีข้อจำกัดอยู่มาก และเป็นสิ่งที่ควรได้รับการทบทวนอย่างจริงจัง
"จริง ๆ ไม่ว่าเราจะเป็นประชาชน นักวิชาการ หรือใครก็แล้วแต่ หรือท่านนายกฯ เอง ก็พยายามจะหาคำตอบกับเรื่องนี้ด้วยนะคะว่า ทำไมล่ะ แล้วเราในฐานะคนไทยจะต้องรอให้หน่วยงานภาครัฐมีความพร้อมแค่นั้นเหรอ เราถึงจะรู้สึกมั่นคง หรือรู้สึกปลอดภัยได้"
"เวลาเราพูดถึงสาธารณภัย มันมีต้นทุนของความเสียหายอยู่เยอะ เพราะฉะนั้นมันต้องถามกลับไปยังรัฐ"
ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาที่ส่งผลกระทบมายังประเทศไทย อาจจะยังไม่ถูกประเมินออกมาเป็นตัวเลขอย่างชัดเจน หรืออาจไม่สามารถคำนวณให้ออกมาสะท้อนทุกความสูญเสียได้จริง ๆ

"เวลาเราพูดถึงสาธารณภัย มันมีต้นทุนของความเสียหายอยู่เยอะ เพราะฉะนั้นมันต้องถามกลับไปยังรัฐ" ผศ.ดร.ฉัตรทิพย์ ระบุ
แต่หากนับจนถึงวันที่ 2 เม.ย. นี้ เรากำลังพูดถึงตึกอาคารสำนักงานของรัฐจากเงินภาษาประชาชนที่มีงบประมาณกว่าสองพันล้านบาท และเรากำลังพูดถึงผู้ประสบภัยแค่จากเหตุการณ์อาคารถล่มครั้งนี้ จนมีผู้สูญหาย 72 ราย บาดเจ็บ/รอดชีวิต 9 ราย และ เสียชีวิตอีก 15 ราย
เมื่อลองสรุปจากคำตอบของ ผศ.ดร.ฉัตรทิพย์ อาจกล่าวได้ว่า สำหรับคำถามว่าเราจะ "ยกประโยชน์ให้จำเลย" จากความไม่รู้ได้หรือไม่ รัฐราชการไทยอาจต้องลองกลับไปตอบเองดู
หลังเรียกประชุมนัดแรกอย่างเร่งด่วน นายกฯ แพทองธารกลับมาติดตามผลอีกครั้งในวันที่ 31 มี.ค. เพื่อเร่งให้กระบวนการตอบรับกับภัยพิบัติในอนาคตเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าเดิมจนกว่าไทยจะมีระบบ cell broadcast ในอีกราว 3 เดือนต่อจากนี้
ผลสรุปจากการประชุมครั้งนี้ เป็นไปว่า ต่อไป ปภ. ไม่ต้องมานั่งวิเคราะห์เรื่องข้อความเหมือนที่ผ่านมาซึ่งทำให้เสียเวลา แต่ให้มีชุดข้อความไว้อยู่แล้วพร้อมใช้งานทันที ระบบแจ้งเตือนภัยจะใช้ Virtual Cell Broadcast สำหรับผู้ใช้แอนดรอยด์ทั้งหมดประมาณ 70 ล้านหมายเลข โดยส่งข้อมูลตรงจาก ปภ. ไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือส่วนผู้ใช้ iOS อีกประมาณ 50 ล้านหมายเลข จะได้รับการแจ้งเตือนผ่านเอสเอ็มเอสไปก่อน
ความรับผิด-ไม่รับแต่ชอบอยู่ที่ไหน ใครจัดการได้ ?
ย้อนกลับไปช่วงกลางเดือน มี.ค. ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว ดร.บุญวรา เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า "ราชการเช้าชามเย็นชามอย่างนี้ได้ เพราะมันไม่มีการตรวจสอบความรับผิดชอบกับประชาชน ถึงประชาชนมองว่าเขาทำงานได้ไม่ดี แก้ปัญหาไม่ได้ ก็เอาเขาออกไม่ได้"
"คนเดียวที่เอาเขาออกได้คือใครอ่ะ หรือเราต้องมีอีลอน มักส์ ประเทศไทยไหม" เธอ ตั้งคำถาม
เธอบอกอีกว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ภาครัฐทำงานโดยมีประสิทธิภาพต่ำนอกเหนือจากการ "ไม่ถูกตรวจสอบและเอาผิด" ภาครัฐยังมีปัญหาเรื่องระบบโครงสร้างการทำงานที่ทั้งซ้ำซ้อน หรือทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เก่งและไม่เชี่ยวชาญ ซึ่งเธอเคยเสนอว่าบริการเหล่านี้อาจโอนให้เอกชนเป็นผู้จัดการแทนได้
อย่างไรก็ดี ในบริการที่ต้องเชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรงเช่น สาธารณสุข การศึกษา หรือแม้แต่อาชีพอย่างนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งมีอย่างไม่เพียงพอนั้น รัฐราชการไทยควรหันไปใส่ใจ ทุ่มเงิน ทุ่มทรัพยากรลงไปมากกว่า
"ถ้าคุณไม่แก้วัฒนธรรมของระบบราชการ เขาก็ทำงานแบบเดิมแหละ"

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะติดตามปัญหา เอสเอ็มเอสแจ้งเตือนภัย สั่งเร่งพัฒนาระบบ Cell Broadcast ให้ใช้งานได้โดยเร็ว เมื่อวันที่ 31 มี.ค.
คำถามต่อไปคือใครมีอำนาจแก้ไขวัฒนธรรมของราชการเช่นนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมการลาออกเพื่อรับความผิดเฉกเช่นในต่างประเทศ
ผศ.ดร.ฉัตรทิพย์ ตอบกลับบีบีซีไทยว่า หนึ่งในบุคคลที่มีอำนาจจัดการปัญหาตรงนี้ได้คือนายกรัฐมนตรี จริงอยู่ว่าหลายครั้งเรากำลังพูดถึงหน่วยงานอิสระซึ่งนายกฯ อาจไม่มีอำนาจเข้าไปสั่งการโดยตรง แต่ไม่ใช่ทำอะไรไม่ได้เลย
ถ้าในเชิงโครงสร้าง ยึดโยงอยู่กับการบริหารงานตามขอบเขตกฎหมายเราสามารถเข้าใจได้เรื่องนายกฯ เข้าไปก้าวก่ายบางองค์กรไม่ได้เธอเริ่มอธิบาย อย่างไรก็ดี ภายใต้ขอบเขตความเป็นนักการเมือง นายกฯ อาจใช้กลยุทธ์ในการดำเนินการบางอย่างได้
"นี่คือพาร์ท[ส่วน]ที่เราอยากรู้ว่านักการเมือง จะทำอะไรให้กับเราในฐานะประชาชนได้บ้าง"
กลยุทธ์ที่ว่านี้คือการต่อรองอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นวิธีการที่ผู้นำทั่วโลกต่างก็เอามาปรับใช้ อย่างไรก็ดี ต้องเป็นการดีล[ตกลง]ที่มีความรับผิดชอบและโปร่งใสต่อสังคมเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับที่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ จากนั้นนายกฯ หรือนักการเมืองเองก็ต้องมีหน้าที่ในการสื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใสเช่นเดียวกัน
"เราคงไม่ได้คาดหวังว่าให้นักการเมืองไปดีล[ตกลงกัน]ข้างหลัง แล้วสุดท้ายไม่มีความโปร่งใสอะไรกับประชาชน"

(แฟ้มภาพ)
แม้จะตอบคำถามได้แล้วว่า ใครจะมีอำนาจเข้ามาแก้ปัญหาข้าราชการได้บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถตอบได้ครบถ้วนอยู่ดีว่าจะต้องทำอย่างไรให้รัฐราชการเข้าใจว่า พวกเขาไม่สามารถทำงานแบบเช้าชามเย็นชามได้
ผศ.ดร. ฉัตรทิพย์ เห็นด้วยกับมิตินี้ และมองว่า "เราอยู่ในประเทศที่อาจจะมีคำถามเรื่องพวกนี้เยอะ" แต่ก็ยังไม่มีคำตอบตายตัว ไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน เธอจึงแนะนำว่าสิ่งที่ภาคประชาชนพอจะทำได้คือการใช้ความรู้และความง่ายขึ้นในการเข้าถึงเครื่องมือทางเทคโนโลยีมาถึงความโปร่งใสและต้องถูกตรวจสอบขององค์กรรัฐแต่ละแห่งออกมา
"สำหรับบ้านเรา ยังไม่ต้องไปถึงกดดันให้ลาออก เอาในลักษณะที่เปิดข้อมูลทุกอย่างออกมามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ให้เห็นความโปร่งใสให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อน"
ผศ.ดร. ฉัตรทิพย์ เสริมว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่พลเมืองสามารถมีแนวคิดในการเอาเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ เพื่อดึงความรับผิดชอบของรัฐออกมาได้ อันนี้จะมีความน่าสนใจและเป็นความหวังที่มันเพิ่มมากขึ้นจากในอดีตที่ สุดท้ายรัฐก็ไม่ทำอะไร ปล่อยไว้สามเดือนก็เงียบ
เธออธิบายต่ออีกว่าเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท "เสริมแรง" ให้กับเสียงจากกลุ่มต่างๆ ให้มีพลังมากขึ้นในการกดดันรัฐบาล เพราะเมื่อข้อมูลต่างๆ ถูกแปลงเป็นดิจิทัล จะเกิดร่องรอยทางข้อมูลดิจิทัล (digital footprint) ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำในการขับเคลื่อนประเด็นนั้น ๆ
ท้ายสุด เธอสรุปว่าในเชิงการเมือง สิ่งเหล่านี้สามารถกลายเป็น "วาทกรรม" ที่มีพลังในการกดดันรัฐบาล ซึ่งนำไปสู่การสร้างความรับผิดชอบ (accountability) จากฝ่ายรัฐ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่เทคโนโลยีหรือการมีองค์กรเท่านั้น ยังต้องอาศัยกลไกทางการเมือง เช่น บทบาทของฝ่ายค้าน หรือภาคการเมืองอื่น ๆ ที่จะร่วมกันผลักดันในทิศทางเดียวกันด้วย
ความน่าเชื่อถือของภาครัฐประเมินจากสิ่งใด ?

(แฟ้มภาพ) พิธีเปิดอาคารที่ทำการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดสุรินทร์ มีข้อความที่ติดไว้บนผนังภายในตึกระบุว่า "เงินของแผ่นดินนั้นคือเงินของประชาชนทั้งชาติ"
ปัญหาของรัฐราชการไทยไม่ได้มีแค่คนนอกที่รับรู้ แม้แต่ "รัฐราชการ" เองก็ตระหนักรู้เช่นเดียวกัน หน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อหน้าที่ปฏิรูปราชการโดยเฉพาะ
ในเอกสาร "
การพัฒนาระบบราชการและการบริการภาครัฐ" โดย ก.พ.ร. ที่เผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย. 2560 สะท้อนชัดว่า "การเมือง-ระบบราชการ" บริหารงานแบบแนวดิ่งโดยมีส่วนกลางอยู่ยอดสุด ก่อนจะไล่ลงมาเป็นส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ซึ่งระบบนี้ต้องมีการปฏิรูปให้เป็นเป็นแนบราบมากขึ้น
สำหรับการปรับตัวนั้น ก.พ.ร. แนะนำไว้ว่า หัวใจสำคัญคือ "ภาครัฐต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนและ
เชื่อถือไวว้างใจได้" โดยมีองค์ประกอบสามข้อคือ ภาครัฐต้องเปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน ภาครัฐต้องมีความอัจฉริยะในการบริหารจัดการ และภาครัฐต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางการบริการและเข้าถึงความต้องการในระดับปัจเจก
เมื่อกลับมากดูในส่วนของการประเมินผลพบว่า ในรายงานการจัดอันดับ
ความสามารถในการแข่งขันทั่วโลกประจำปี 2567 ของ International Institute for Management Development (IMD) พบว่า แม้ประเทศจะมีสถิติดีขึ้นถึง 5 อันดับ แต่เมื่อลงไปดูในฝั่งประสิทธิภาพของภาครัฐกลับพบว่าปัจจัยบางส่วนคงที่หรือลดลง และมีเพียงหัวข้อเดียวอย่างการคลังภาครัฐ ที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการประเมินในปี 2566 ขณะที่กรอบบริหารภาครัฐมีอันดับแย่ลงถึง 5 อันดับ ขณะที่กฎหมายด้านธุรกิจแย่ลงถึง 8 อันดับ
นอกจากนี้ หากไปดูการจัดอันดับ หรือ ตัวชี้วัดธรรมาภิบาลทั่วโลก Worldwide Governance Indicators (WGI) ของธนาคารโลก ซึ่งจะไปวัดจากปัจจัย 6 ข้อคือ
- Voice and Accountability (เสียงของประชาชนและความรับผิดชอบ) การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ และความสามารถของประชาชนในการเลือกผู้นำ
- Political Stability and Absence of Violence/Terrorism (เสถียรภาพทางการเมืองและการขาดความรุนแรง/การก่อการร้าย) การประเมินความเสี่ยงจากความไม่มั่นคงทางการเมือง การรัฐประหาร หรือความรุนแรง
- Government Effectiveness (ประสิทธิภาพของรัฐบาล)ความสามารถของรัฐในการกำหนดและดำเนินนโยบายสาธารณะ การให้บริการของรัฐ และคุณภาพของข้าราชการ
- Regulatory Quality (คุณภาพของกฎระเบียบ) ความสามารถของรัฐบาลในการกำหนดกฎระเบียบที่ส่งเสริมการพัฒนาภาคธุรกิจ และไม่สร้างภาระโดยไม่จำเป็น
- Rule of Law (หลักนิติธรรม) การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ความเชื่อมั่นในระบบตุลาการ การปกป้องสิทธิในทรัพย์สิน
- Control of Corruption (การควบคุมคอร์รัปชัน) การประเมินว่าการใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวถูกควบคุมมากน้อยเพียงใด รวมถึงการคอร์รัปชันในภาครัฐและภาคเอกช
พบว่า คะแนนด้านประสิทธิภาพของรัฐบาลลดลง มาอยู่ที่ 0.17 ในปี 2023 เมื่อเทียบกับคะแนน 0.25 ในปี 2018 โดยเป็นการให้คะแนนในกรอบตั้งแต่ -2.5 ไปถึง +2.5 โดยยิ่งคะแนนสูงแปลว่ายิ่งดี ขณะที่คะแนนการควบคุมการคอร์รัปชันก็ปรับลดลงเช่นเดียวกัน จาก -0.46 ในปี 2018 เป็น -0.49 ในปี 2023
https://www.bbc.com/thai/articles/cze1ge7xjyko