จนกระทั่งวันนี้ กสทช.ก็ยังเป็นองค์กรอิสระที่ไม่อิสระในพฤติกรรม พูดได้ว่าอยู่ในอาณัติของผู้ประกอบการคลื่นความถี่รายยักษ์ “เมื่อวานมีการยื่นประมูลคลื่นมือถือรอบใหม่ และมีผู้ยื่นแค่ ๒ รายเท่านั้น คือ true กับ AIS” Kanoknai Thawonphanit ระบุ
อาจารย์นิติศาสตร์ผู้นี้ เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ในคณะอนุกรรมาธิการ ด้านการแข่งขันและการค้าของ กสทช. ซึ่งเป็น “องค์กรอิสระของรัฐ ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม”
เขาบอกว่า “การที่ตลาดเหลือผู้เล่นรายใหญ่แค่ ๒ ราย แสดงให้เห็นว่าทิศทางการพัฒนาตลาดโทรคมนาคมไทยที่ผ่านมาไม่ให้ความสำคัญกับการแข่งขัน...นี่คือความล้มเหลวของ กสทช.ที่ต้องยอมรับ” นั่นคือไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่รัฐธรรมนูญมอบหมาย
ลึกๆ ของปัญหา กสทช.อยู่ที่กรรมการซึ่งเป็นประธานและเลขาธิการ เป็นเสียงส่วนน้อยที่สามารถหักล้างมติของเสียงส่วนมากได้ ด้วยอำนาจศาล อันนี้เรื่องยาวย้อนไปไกล ล่าสุดของคดี ศาลกลับคำพิพากษายกฟ้องกรรมการ ๔ คน
เรื่องอนุมัติเงิน ๖๐๐ ล้านให้การกีฬาประเทศไทย ซื้อลิขสิทธิถ่ายบอลโลก แล้ว กกท.เอาไปยกให้ ‘ทรู’ ซึ่งจ่ายแค่ ๓๐๐ ล้าน จึงเกิดอาการ ‘จอดำ’ ชาวบ้านอดดู ตอนนั้นประธานฯ ตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนพบว่ารักษาการเลขาฯ ประพฤติผิด
เสียงข้างมากสี่คน (จากกรรมการทั้งหมด ๗ คน) มีมติให้สอบวินัย และให้พ้นจากหน้าที่รักษาการระหว่างการสอบสวน แต่ผู้ถูกสอบฮึดสู้ หันกลับไปฟ้องกรรมการเสียงข้างมากสี่คน ข้อหา ม.๑๕๗ ทีแรกศาลตัดสินยกฟ้อง แต่มาพลิกเมื่อผู้พิพากษาคนหนึ่งไม่ยอม
นอกจากนั้นกรรมการหนึ่งในสี่ยังถูกทรูฟ้อง หลังจากเป็นเสียงข้างน้อยคัดค้านการควบรวมของทรูต่อดีแท็ค พิรงรอง รามสูต เป็นกรรมการที่ผู้บริโภครู้จักดีจากการยืนหยัดรักษาหลักการ ‘แข่งขัน’ ของผู้ประกอบการ ที่ อจ.กนกนัย ยกมาเป็นประเด็นในโพสต์ของเขา
“การยอมรับให้มีการควบรวมเกิดขึ้นโดยง่ายก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่แย่ยิ่งกว่าคือ การที่ไทยไม่มีผู้ให้บริการแบบไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง หรือ Mobile Virtual Network Operators (MVNOs)” ซึ่งถ้ามีจะเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างมากมาย
แนวปฏิบัติที่ทำกันอยู่ คือผู้ประกอบการ MVNOs จะต้องไปทำสัญญาเช่าคลื่นของ Mobile Network Operators (MNOs) ผู้ประกอบการหลักที่มีอยู่สามสี่ราย ได้แก่ True+dtac, AIS และ NT “ในไทยส่วนใหญ่ไปใช้คลื่นของ NT กันหมด”
ปัญหาคือพวก MNOs เหล่านี้กีดกันไม่ยอมให้ผู้ประกอบการย่อยเช่าใช้คลื่นความถี่ การเจรจาขอเช่ามักล้มเหลว รายใหญ่ยักท่ารายเล็กก็ทำอะไรไม่ได้ ตรงนี้แหละที่ อจ.กนกนัยบอกว่า กสทช.ควรที่จะเข้าไปช่วย แต่ไม่ทำ “ทำงานแบบเกียร์ว่างเหมือนในอดีต”
(https://www.facebook.com/kanoknaithawonphanit/posts/vmXHNhMPB)