
Jon Sangkhamanee
17 hours ago
·
เราเห็นอะไรเมื่อวัฒนธรรมตรวจสอบของไทยถล่ม?
----
เหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม และกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สตง. ในแง่ของการตรวจสอบที่ผ่านมาซึ่งมีปัญหามากมายนั้น ทำให้นึกถึงหนังสือ Audit Cultures: Anthropological Studies in Accountability, Ethics and the Academy (2000) ที่บรรณาธิการโดยนักมานุษยวิทยา Marilyn Strathern โดยเฉพาะในบทนำที่ Strathern เองเป็นคนเขียน
หนังสือ Audit Cultures เสนอว่าการตรวจสอบ (audit) และความรับผิดชอบตรวจสอบได้ (accountability) ไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการด้านการเงินหรือการบริหารจัดการทั่วไป แต่มันกลายเป็น “วัฒนธรรม” ที่มีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมวิธีคิด วิธีการทำงาน และปฏิสัมพันธ์ในองค์กรต่างๆ ตั้งแต่ภาครัฐ มหาวิทยาลัย ไปจนถึงหน่วยงานระหว่างประเทศ การตรวจสอบในโลกยุคใหม่มีลักษณะเฉพาะคือทำงานผ่านการสร้าง “ตัวเลข” และ “มาตรฐาน” ที่ดูเหมือนมีความเป็นกลางและเป็นสากล แต่ในความจริงกลับเต็มไปด้วยข้อจำกัดทางการเมืองและอำนาจที่ซ่อนอยู่ภายใน ถ้าดูให้ดีๆ แล้วจะพบว่า audit ไม่ได้มีความเป็นกลางทางศีลธรรมเสมอไป — มันทำให้สิ่งที่เป็นนามธรรมและตีความได้ กลายเป็นสิ่งที่แน่นิ่งแข็งทื่อ รวมทั้งยังแฝงไว้ซึ่งอำนาจลำดับชั้น วาทกรรม และการนิยามสิ่งที่ “นับได้” เท่านั้น (only certain operations count)
ประเด็นที่ Strathern ชี้ให้เห็นก็คือ ความพยายามที่จะสร้าง "audit" ในฐานะวัฒนธรรมใหม่นั้น มันได้รวมเอา “คุณธรรม” บางอย่างเข้ามาด้วย เช่น ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการบริหารจัดการที่ดี (good governance) แต่ขณะเดียวกัน มันก็กลับทำให้คุณค่าเหล่านี้กลายเป็น “พิธีกรรม” เอาตัวรอด (rituals of verification) หรือสิ่งที่องค์กรต้องแสดงให้เห็น มากกว่าเข้าใจและปฏิบัติอย่างจริงใจ
จุดที่น่าสนใจคือ Strathern เสนอว่า audit กลายเป็นสิ่งที่แทบจะไม่สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ในตัวมันเอง เพราะสิ่งที่มันอ้างถึง เช่น ความโปร่งใส และความรับผิดชอบนั้น ดูจะเป็นคุณธรรมที่ทุกคนยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้น audit จึงถูกทำให้เป็นธรรมชาติ (naturalized) และกลายเป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์ (แท้กระทั่งอภิสิทธิ์) ในการใช้อำนาจหรือกดดันองค์กรต่างๆ โดยที่องค์กรเองก็ไม่อาจต้านทานหรือวิพากษ์กลับได้ง่ายๆ
ในอีกแง่หนึ่ง หนังสือยังชี้ให้เห็นถึงผลพวงที่เกิดจากวัฒนธรรม audit ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนัก เช่น การลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanization) ของผู้ถูกตรวจสอบ โดยให้ความสำคัญกับตัวเลขหรือผลการวัดผลมากกว่าคุณค่าเชิงสังคมหรือบริบทที่ซับซ้อน ในบางครั้ง รูปแบบการ audit อาจขัดกับคุณค่าของวิชาชีพเอง เช่น นักวิจัยหรือคนทำงานอาจต้องเปลี่ยนวิธีทำงานเพื่อให้ “audit ได้” มากกว่าจะทำในสิ่งที่ดีจริง ผลก็คือ ผู้ปฏิบัติงานต่างๆ มักหันมาทำงานเพื่อให้ “ตรวจสอบได้” มากกว่าจะทำงานในรูปแบบที่ส่งเสริมคุณค่าเชิงสังคม หรือบริบทเชิงวัฒนธรรมเฉพาะที่
เหตุการณ์ตึก สตง. ที่ถล่มลงมาไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คนที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ และต่อโครงสร้างเชิงกายภาพเท่านั้น แต่มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนกลับไปยังสิ่งที่ Strathern เสนอ ในแง่ที่ว่า เหตุการณ์นี้ได้ทำให้ผู้คนกลับมาตั้งคำถามอีกครั้งถึงบทบาทของ “ผู้ตรวจสอบ” (auditors) ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณ ความโปร่งใส และความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นๆ ว่าแท้จริงแล้ว ผู้ตรวจสอบเองได้รับการตรวจสอบอย่างไร และมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจนี้เพียงใด
นอกจากนี้การวิพากษ์วิจารณ์ยังขยายไปถึงว่า วัฒนธรรมการตรวจสอบในแบบราชการไทย นั้นแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร มีบริบททางการเมืองและอำนาจแบบไหนที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังระบบ audit ที่ดูเหมือนเป็นกลาง
ปรากฏการณ์ตึกถล่มจึงนำมาสู่ข้อสงสัยว่า audit culture แบบราชการไทยนั้นอาจเป็นการ perform หรือ “แสดง” ให้เห็นถึงความโปร่งใส มากกว่าการสร้างความรับผิดชอบจริงๆ เพราะหากวัฒนธรรม audit ไทยสนใจแต่การสร้างตัวเลขหรือรายงานผลตรวจสอบที่ดูดี "บนกระดาษ" แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบริบทหรือความซับซ้อนของหน่วยงานต่างๆ ระบบตรวจสอบที่ดูเข้มแข็งจึงอาจมีจุดอ่อนที่ใหญ่โตอยู่ภายใน — เหมือนตึกที่ดูแข็งแรงแต่กลับพังทลายลงอย่างง่ายดายเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนจากภายนอก
อีกประเด็นที่ควรอภิปรายให้มากคือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตรวจสอบกับหน่วยงานที่ถูกตรวจสอบ Cris Shore และ Susan Wright (บทที่ 2 ของหนังสือ) เสนอคำว่า “coercive accountability” ซึ่ง audit กลายเป็นเครื่องมือบังคับ มากกว่าเป็นกระบวนการเสริมสร้างความรับผิดชอบ ระบบแบบนี้แหละจะสร้างบรรยากาศของความไม่ไว้ใจ การเก็บซ่อนข้อมูล หรือการต่อต้านเงียบๆ มากกว่าจะเกิดการร่วมมือหรือสร้างสรรค์คุณค่าทางสังคมที่แท้จริง
สิ่งที่เราควรตั้งคำถามต่อไปคือ แล้วใครจะ audit หรือใครจะตรวจสอบวัฒนธรรมการตรวจสอบเอง? — ซึ่งนี่คือโจทย์สำคัญที่เหตุการณ์นี้ได้ทิ้งไว้ให้สังคมไทยในวันนี้
https://www.facebook.com/photo/?fbid=10163058466531802&set=a.10151844965541802