วันอังคาร, มกราคม 14, 2568

เกิดอะไรขึ้นกับประชาชนไทยบางกลุ่มที่เริ่มเปรยว่า “คิดถึงลุงตู่” ?



ภาวะความจำเสื่อม หลงลืม และถวิลหาจำเลยรักอำนาจนิยม

เรื่อง: เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง
ภาพประกอบ: พิรุฬพร นามมูลน้อย
101 World

ปรากฏการณ์ประชาธิปไตยถดถอยทั่วโลกเตือนทุกคนว่า ไม่มีจุดหมายปลายทางใดในประวัติศาสตร์ที่แน่นอน วิวัฒนาการทางการเมืองนั้นไม่ได้ดำเนินเป็นเส้นตรง จากเผด็จการหรืออำนาจนิยมมาสิ้นสุดที่เสรีนิยมประชาธิปไตย ตรงกันข้าม ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยได้แล้ววันนี้ วันหน้าก็อาจจะถอยหลังกลับไปเป็นเผด็จการใหม่ก็ได้ แม้แต่ประเทศที่ประชาธิปไตยดูเหมือนจะปักหลักลงฐานมั่นคงก็ถอยย้อนกลับได้เช่นกัน

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ในหลายกรณีประเทศนั้นๆ ผ่านการต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อจะกำจัดเผด็จการผู้กดขี่ แต่ผ่านมาไม่กี่ปี ประชาชนกลับหวนกลับไปเรียกร้องต้อนรับเผด็จการอีกครั้ง บางครั้งเป็นเผด็จการคนเดิมเสียด้วย ดูเหมือนบทเรียนแสนแพงที่แลกมาด้วยชีวิตและเลือดเนื้อน้ำตานั้นไม่มีประโยชน์อะไรเสียเลยในการช่วยรักษาประชาธิปไตยไว้ให้ได้

ปรากฏการณ์ดังกล่าวรู้จักกันในชื่ออาการถวิลหาอำนาจนิยม (authoritarian nostalgia) เมื่อปวงชนจำนวนไม่น้อยหวนคิดถึงอดีตภายใต้ระบอบอำนาจนิยมหรือเผด็จการในลักษณะที่พึงปรารถนา หากคนถวิลหาอดีตอำนาจนิยมมากๆ เข้า ก็กลายเป็นพลังทางการเมืองที่ตัดสินใจเลือกหมุนเข็มเวลากลับด้วยการเลือกผู้นำที่มีลักษณะอำนาจนิยมหรือสัญญาจะนำประเทศกลับไปภายใต้ระบอบดังกล่าว

ประชาชนถวิลหาอะไรในระบอบเผด็จการ สิ่งที่ประชาชนถวิลหาอาจจะเป็นตัวบุคคล ผลงานทางเศรษฐกิจ หรือสภาพสังคมและการเมือง ที่มองว่าน่าปรารถนากว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้นำเผด็จการนั้นพึ่งพาอำนาจนำที่ขึ้นกับบุคลิกส่วนตัวค่อนข้างมาก เช่น ผู้นำเข้มแข็ง เด็ดขาด อบอุ่น ใจดี เอื้อเฟื้อ เหมือนพ่อเหมือนแม่ หน้าตาดี สวย จะเห็นว่าคำบรรยายเหล่านี้เน้นไปที่ด้านดีส่วนตัวของผู้นำทั้งสิ้น อาจจะพูดจาเด็ดขาด ดุดันถูกใจประชาชน พกเงินเป็นฟ่อนไปโปรยให้ประชาชนเก็บตามถนน หรือเมตตาแวะเยี่ยมบ้านเด็กกำพร้า แน่นอนว่านี่ไม่ใช่คำบรรยายตัวผู้นำที่ถูกต้อง เพราะละเลยด้านที่เลวร้ายไป บางครั้งเน้นคุณสมบัติบางอย่างซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น ใจดีชอบแจกเงิน แต่ไม่บอกว่า ข้อเสียคือเงินที่แจกเป็นเงินภาษีจากประชาชน ไม่ใช่เงินส่วนตัว หรือเด็กกำพร้านั้นเป็นเพราะผู้ปกครองเสียชีวิตเนื่องจากการบริหารผิดพลาดของรัฐบาล

ประชาชนอาจจะถวิลหาผลงานที่ดี บ่อยครั้งภายใต้การนำเผด็จการ (โดยเฉพาะเผด็จการฝ่ายขวา) เป็นยุคเศรษฐกิจรุ่งเรือง เติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลปัจจุบัน ประชาชนรู้สึกว่ามาตรฐานการดำรงชีพในยุคเผด็จการนั้นไม่แร้นแค้นฝืดเคืองเท่ารัฐบาลเลือกตั้ง

ประชาชนอาจจะคิดถึงสภาพการเมืองสงบ กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนั้นหมายถึงการเลือกตั้ง การแข่งขัน การทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงอำนาจในหมู่นักการเมือง ในขณะเดียวกันสังคมที่ถูกกดทับมานานก็อาจจะซ่อนความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์หรือศาสนาไว้ ซึ่งระเบิดออกมาเมื่อสังคมเปิดเสรี เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนเกิดเบื่อหน่ายก็คิดถึงอดีตที่ไม่มีนักการเมืองทะเลาะกัน สภาพสังคมที่อาชญากรรมต่ำ อาวุธถูกควบคุมเข้มงวด

อย่างที่กล่าวไปข้างบนคือสิ่งที่สังคมดังกล่าวถวิลหานั้นน้อยนักที่จะถูกต้องตรงกับความจริง อาการถวิลหาอดีตอำนาจนิยมนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีภาวะความจำเสื่อมทางประวัติศาสตร์ (historical amnesia) ร่วมด้วย ภาวะความจำเสื่อมนั้นไม่ได้แปลว่าจำไม่ได้เอาเสียเลย แต่หมายถึงการหลงลืมข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนบูรณ์ กลับเลือกจำบางอย่างที่อยากจำ และกลบฝังสิ่งที่ไม่อยากจำไป ความจำเสื่อมนี้อาจจะเกิดตามธรรมชาติ แต่ภาวะเสื่อมนี้จะเกิดง่ายขึ้นหากสังคมไม่ใส่ใจจะจำด้วย หลายครั้งคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาภายหลังเผด็จการล่มสลายไม่มีประสบการณ์ตรงกับตัวเอง จึงมีภาพเผด็จการในอดีตที่บิดเบี้ยวดีกว่าความเป็นจริง

อีกปัจจัยที่หนุนเสริมให้สังคมหวนถวิลถึงเผด็จการ คือความล้มเหลวในปัจจุบัน หลายครั้งเผด็จการดำรงอยู่ได้เพราะประชาชนยอมแลกสิทธิเสรีภาพกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อบริหารประเทศผิดพลาดจนตกต่ำถึงที่สุด ประชาชนจึงลุกฮือขึ้นมาโค่นล้มเผด็จการ แต่นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่เข้ามารับบริหารประเทศต่อนั้น รับมรดกปัญหาเศรษฐกิจที่หมักหมมฝังลึกจนยากจะแก้ไข ตลอดจนปัญหาที่ประชาธิปไตยเกิดใหม่ต้องเผชิญ เช่น วัฒนธรรมทางการเมือง ค่านิยมที่ยังเป็นเผด็จการอยู่ หรือสังคมและระบบเศรษฐกิจยังอยู่ภายใต้การผูกขาดและเคยชินกับการทุจริต ทำให้รัฐบาลที่รับไม้ต่อนั้น ไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศให้พ้นจากหล่มได้ เมื่อภาพตรงหน้าล้มเหลวไม่มีอนาคต คนก็ย่อมเลือกหาที่หลบภัยในอดีต โน้มนำให้สร้างภาพอดีตที่หอมหวานสวยหรูเกินที่เป็นจริง

เทคโนโลยีสารสนเทศรุ่นใหม่ก็ช่วยเผด็จการกลับมาได้ ในสังคมที่ไม่เคยจำอะไรได้นาน หากนักการเมืองคนนั้นอุ้มแมว ก็มีคนพร้อมจะกดหัวใจให้แบบไม่รีรอ แม้ว่าคนอุ้มแมวคนนั้นอาจจะเคยสั่งยิงคนก็ตาม

มองไปรอบๆ ประเทศไทย เราจะเห็นอาการความจำเสื่อมและถวิลหาเผด็จการอยู่รอบเราเต็มไปหมด ในฟิลิปปินส์ ครอบครัวมากอสกลับมามีอำนาจอีกครั้ง หรืออินโดนีเซียที่เลือกนายทหารผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคซูฮาร์โตกลับมาเป็นประธานาธิบดี โดยมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่เกิดหลังยุคมืดนั้นเป็นฐานเสียงสำคัญ หรือแม้แต่ในพม่า คนจำนวนไม่น้อยที่ผิดหวังกับรัฐบาลประชาธิปไตยก็กลับไปสนับสนุนพรรคทหาร ปรากฏการณ์นี้ยังเกิดขึ้นไปรอบโลกอีกด้วย

ในประเทศไทยเอง คำถามน่าสนใจคือเราอยู่ในอาการถวิลหาอดีตอำนาจนิยมด้วยไหม แต่ในกรณีของไทยพิเศษกว่าที่อื่น ในขณะที่ปรากฏการณ์ถวิลหาอดีตเผด็จการโดยทั่วไปเกิดเมื่อประเทศนั้นเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการมาสู่ประชาธิปไตยแล้วล้มเหลว ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทักษิณ ซึ่งหลายคนบรรยายว่าเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง เข้าสู่เผด็จการเต็มรูปแบบ ซึ่งไร้ความสามารถในการบริหารประเทศอย่างสิ้นเชิง จนทำให้ประชาชนไม่เคยลืมอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกทหารโค่นไป ตำนานการบริหารราชการอันมีประสิทธิภาพ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอันน่าทึ่ง การแก้ไขวิกฤตความสัมพันธ์ประเทศอย่างเฉียบขาด ถูกนำกลับมาเล่าขานในแง่ของยุค ‘บ้านดีเมืองดี’ ยุคที่ข้าราชการถูกกดดันให้ต้องทำงานรับใช้ประชาชน ไม่ใช่เป็นเจ้านายประชาชน ยุคที่เราส่งทหารลงไปยึดสนามบินโปเชนตงเพื่อรับคนไทยกลับบ้านในกรณีเผาสถานทูตไทยในพนมเปญ ยาเสพติดถูกปราบปราม ไทยปลดหนี้ IMF และอื่นๆ อีกมากมาย โดยไม่กล่าวถึงการแทรกแซงสื่อ การฟ้องคดีปิดปากผู้วิจารณ์รัฐบาล สงครามยาเสพติด การฆ่าตัดตอน หรือข่าวการทุจริตคอร์รัปชัน

แต่ในแง่กลับกัน ที่น่าห่วงไม่แพ้อาการถวิลหาระบอบทักษิณ ก็คือเมื่อรัฐบาลเพื่อไทยได้อำนาจเข้ามาบริหารประเทศแล้วแต่ไม่อาจทำผลงานให้เข้าตาประชาชนได้ ก็เริ่มมีคำวิจารณ์ “คิดถึงลุงตู่” ขึ้นมาให้เห็นประปราย แต่ที่ประปรายนั้นก็ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาการถวิลหาลุงตู่นั้น เข้ากับคำอธิบายกลไกการเกิดอาการถวิลหาเผด็จการในอดีตแบบคลาสสิก

จะอย่างไรเสีย หากประเทศไทยจะไปให้รอดก็ต้องไปต่อกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้จะมีข้อบกพร่องอันใดก็ไม่ควรหวนกลับไปหาระบอบเผด็จการทหาร แต่รัฐบาลเพื่อไทยและประชาธิปไตยไทยจะรอดหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นกับคนอื่น หากขึ้นกับตัวรัฐบาลเองว่าจะรักษาภาวะความจำเสื่อมของสังคมและโน้มน้าวให้ประชาชนยอมรับว่ารัฐบาลเลือกตั้งเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้สังคมจำความเลวร้ายของเผด็จการภายใต้สาม ป. ให้ได้ เช่น การจับตัวเผด็จการมาลงโทษข้อหากบฏ หรือการผลิตนโยบายเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เหนือกว่าเก้าปีที่ผ่านมา ทั้งการปราบปรามการทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

https://www.the101.world/authoritarian-nostalgia/