15 Jan 2025
กองบรรณาธิการ
101
ชื่อของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ โลดแล่นอยู่ในห้วงจังหวะสำคัญของการเมืองไทย -และบ่อยครั้งก็กลายเป็นใจกลางประเด็นสำคัญ- เสมอเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษแล้ว ด้านหนึ่ง เขาอาจเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความอยุติธรรมจากพิษภัยรัฐประหาร แต่ในอีกด้าน การกลับประเทศไทยในปี 2566 ก็ทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยถูกตั้งคำถามไม่น้อย
คล้อยหลังจากนั้น บทบาทของทักษิณ (และตระกูลชินวัตร) ต่อแวดวงการเมืองไทย ก็ดูเหมือนจะเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงได้รับความสนใจจากสาธารณชนไม่ต่างไปจากเมื่อครั้งยังเป็นนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพล ตอกย้ำว่าเงาของทักษิณได้ทาบทับกับความเคลื่อนไหวของการเมืองไทย ชนิดยากจะสลัดหลุดโดยง่าย
ขณะที่โลกก้าวเข้าสู่ปี 2568 อย่างสมบูรณ์ ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า สังคมการเมืองไทยก้าวไม่ข้าม ‘ทักษิณ’ กล่าวคือนับวันบทบาทของทักษิณบนเวทีทางการเมืองและพื้นที่สาธารณะมากขึ้นในหลายๆ เรื่อง แต่คำถามมีอยู่ว่าทิศทางการเมือง -ที่แม้จะก้าวไม่พ้นทักษิณ- จะเดินต่อไปอย่างไร
101 สนทนากับ ศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต และผู้ลี้ภัยทางการเมือง เพื่อมองการกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งของ ‘ทักษิณ’ รวมไปถึงมองสถานการณ์ที่น่าจับตาของการเมืองไทยในปี 2568
หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ 101 One-on-One EP.351: การเมือง 68 ก้าว (ไม่) ข้ามทักษิณ เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568
ทักษิณกับการเมืองไทย: ก้าวข้ามไม่ได้ หรือไม่เคยออกไปจากการเมือง?
ปวินเปิดประเดิมการสนทนาด้วยการนิยาม ‘ระบอบทักษิณ’ อีกครั้งว่า “ระบอบทักษิณ คือความเป็นตัวตนของทักษิณที่สังเคราะห์ออกมาผ่านนโยบายต่างๆ” แม้ว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คำดังกล่าวอาจจะหายไปจากบทสนทนาของสังคม เนื่องจากทักษิณไม่ได้อยู่ในอำนาจทางการเมือง แต่เมื่อทักษิณกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง จึงเป็นเรื่องปกติที่หลายคนมองว่า ‘ระบอบทักษิณ’ กำลังกลับมา
“เรื่องที่น่าสนใจและน่าตลกคือ กลุ่มที่เคยต่อต้านระบอบทักษิณในอดีต กับกลุ่มคนที่ต่อต้านระบอบทักษิณในปัจจุบันกลับกลายเป็นคนละกลุ่ม เนื่องจากในอดีตกลุ่มที่ต่อต้านระบอบทักษิณคือ ‘ชนชั้นนำ’ ที่ไม่พึงพอใจคุณทักษิณ แต่ในวันนี้กลับเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ไม่ต้องการเห็นการเมืองแบบเก่าแบบที่คุณทักษิณทำอีกต่อไป” ปวินกล่าว
แม้ว่าที่ผ่านมาสังคมไทยมักมีบทสนทนาเกี่ยวกับ ‘การก้าวข้ามทักษิณ’ อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าทักษิณได้ออกไปจากการเมืองไทยไปแล้ว แต่จากสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองของทักษิณยังคงมีอยู่เสมอ กล่าวคือแม้ในช่วงที่เขาตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปยังต่างประเทศ แต่อิทธิพลของทักษิณยังคงอยู่ในการเมืองไทยตลอดสองทศวรรษ รวมถึงการกลับประเทศไทยของเขายิ่งตอกย้ำว่า “ทักษิณอาจไม่เคยออกไปจากการเมือง” ต่างหาก
หากนับตั้งแต่ปลายปี 2567 สังคมไทยได้เห็นบทบาทของทักษิณบนเวทีการเมืองแบบทางการและไม่ทางการอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือแม้แต่การนำเสนอเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยอยู่บ่อยครั้ง
สำหรับปวินที่สังเกตการณ์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด เขามองว่าท่าทีดังกล่าวของทักษิณถือว่าเป็นการเดิมพันทางการเมืองครั้งใหญ่และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อทักษิณ อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และบทบาทของนายกรัฐมนตรีปัจจุบันอย่างแพทองธาร ชินวัตร ที่ถูกกลบด้วยบทบาททางการเมืองของผู้เป็นพ่อ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมมักวิพากษ์วิจารณ์ภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี
สารพัดความท้าทายครั้งใหญ่ของรัฐบาลเพื่อไทยในปี 2568
นอกจากบทบาทของทักษิณที่เด่นชัดในการเมืองไทย ในปี 2568 ยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่อาจจะกลายเป็นโจทย์ทางการเมืองครั้งใหญ่สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นคำถามต่อการกลับบ้านของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, การเรียกร้องเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ของภาคประชาชน และการทวงความยุติธรรมให้กับ ‘กลุ่มคนเสื้อแดง’ ที่กำลังจะครบรอบ 15 ปี
ประเด็นแรกอย่าง ‘การกลับบ้านของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ที่อาจเกิดขึ้นในปี 2568 ปวินเชื่อว่าการเดินทางกลับประเทศจะสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองอย่างแน่นอน ซึ่งแรงกระเพื่อมดังกล่าวอาจไม่แตกต่างจากการกลับบ้านของทักษิณกลับมายังประเทศไทย
“วิธีการกลับบ้านของคุณทักษิณครั้งนั้นเป็นการกระทำที่ตรงข้ามจากสิ่งที่ควรจะเป็น เนื่องจากในฐานะผู้ที่ถูกกระทำจากรัฐ เมื่อคุณกลับมาแล้ว คุณทักษิณจำเป็นต้องกลับมาเพื่อทำให้ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมหายไป ทว่า คุณทักษิณกลับยิ่งทำให้ความอยุติธรรมในสังคมไทยบาดลึกขึ้นกว่าเดิมไปอีก”
ทั้งนี้ ปวินอธิบายว่าวิธีการกลับบ้านของชทักษิณ หรือการกลับบ้านของยิ่งลักษณ์ที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ กำลังตอกย้ำให้เห็นว่า ‘การนิรโทษกรรมทางการเมือง’ ที่ถูกพูดถึงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา อาจกลายเป็นเพียง ‘การนิรโทษกรรมแบบสองมาตรฐาน’ ที่ถูกออกแบบและบังคับใช้กับเพียงบางคนเท่านั้น โดยปวินเชื่อว่าการกลับประเทศของยิ่งลักษณ์อาจแตกต่างจากการกลับประเทศของทักษิณ กล่าวคือยิ่งลักษณ์จะได้รับอิสรภาพตั้งแต่วันแรกที่เดินทางมาถึงประเทศไทย
“หลายคนอาจมองว่า การกลับมาแล้วได้รับอิสรภาพทันทีอาจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่หากมองย้อนไปตั้งแต่ช่วงเวลาที่คุณทักษิณพูดว่าเขาจะกลับบ้าน ผมก็ไม่เคยเชื่อ เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้และคุณทักษิณยังคงเป็นภัยของชนชั้นนำไทยอยู่ ท้ายที่สุดแล้ว คุณทักษิณพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นไปได้ โดยที่เขาไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว ดังนั้นหากมีใบสั่งออกมา ผมเชื่อว่าการกลับบ้านของคุณยิ่งลักษณ์บนเงื่อนไขว่าอาจได้รับอิสรภาพตั้งแต่วันแรกก็เป็นไปได้ ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยใบสั่ง” ปวินกล่าว
ต่อมาคือประเด็นการเรียกร้องเพื่อแก้ไขมาตรา 112 โดยในปี 2568 เป็นปีที่มีหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่รออยู่ นั่นคือการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคและ 44 สส. ของพรรคก้าวไกล (ปัจจุบัน คือพรรคประชาชน) จากการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง
ปวินมองว่า กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงทางสถานะชนชั้นนำไทยในสังคมปัจจุบัน หรือก็คือพวกเขาหวาดกลัวการพูดถึงการแก้ไขมาตรา 112 ขึ้นมาในสังคมไทย โดยเกรงว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจกระทบต่ออำนาจของกลุ่มชนชั้นนำไทย นับว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงกังวลต่อประชาธิปไตยและสถานการณ์การเมืองไทยอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นการจำกัดเสรีภาพทางความคิดของสังคมไทยมากขึ้นกว่าเดิม
สำหรับประเด็นสุดท้ายอย่างการทวงความยุติธรรมให้กับกลุ่มคนเสื้อแดง หากนับจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ในปี 2553 ก็กำลังจะครบรอบ 15 ปีในอีกไม่นาน ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองและหน้าตาของพรรคร่วมรัฐบาล นี่จึงเป็นอีกประเด็นที่อาจเป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งปวินมองว่าการทวงความยุติธรรมให้กับกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของพรรคเพื่อไทย แต่หากดูจากท่าทีแล้ว พรรคเพื่อไทยคงจะไม่ดำเนินการอะไรต่อไปอย่างเป็นรูปธรรมในประเด็นดังกล่าว
“ผมคาดหวังให้พรรคเพื่อไทยต้องไม่เพียงเรียกร้องความยุติธรรมแก่คนเสื้อแดงเท่านั้น แต่ต้องพูดถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยก่อนหน้านี้ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาสังคมไทยผ่านเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงของรัฐไทยกับประชาชนอยู่หลายครั้ง แต่ไม่มีสักครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น
“การผลักดันและเรียกร้องข้อเสนอดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐบาลปัจจุบันในการเรียกร้องและผลักดันข้อเสนอเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในสังคม มิเช่นนั้นอาจกล่าวได้ว่า พรรคเพื่อไทยกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย” ปวินกล่าวทิ้งท้าย
https://www.the101.world/one-on-one-351-summary/