ส่อง 3 ปัจจัย ทำก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนบ่อยครั้งอุบัติเหตุดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตและคาดว่าเสียชีวิตรวม 6 ราย เป็นคนงานของบริษัท พีเอสซีไอ คอนสตรัคชั่น จำกัด
29 พฤศจิกายน 2024
อุบัติเหตุคานก่อสร้างถนนพระราม 2 ช่วง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ถล่มจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย คาดว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นขณะกำลังมีการประกอบกล่องคอนกรีตเซกเมนต์ โดยจะต้องตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียดอีกครั้งว่าเกิดจากการวิบัติของโครงสร้างส่วนใด ส่วนการรื้อถอนสถานที่เกิดเหตุคาดว่าต้องใช้เวลาหลายวัน
ตัวแทนส่วนราชการในจังหวัดสมุทรสาคร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และบริษัทผู้รับเหมา ร่วมหารือถึงแผนการกู้ที่เกิดเหตุที่จุดบัญชาการชั่วคราว โดยเบื้องต้นได้มีการระดมรถเครนขนาดใหญ่จำนวน 3 คัน ซึ่งคาดว่าจะเข้าพื้นที่ได้ในช่วง 15.00 น. วันนี้ (29 พ.ย.)
ตามการรายงานของประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร ล่าสุดเมื่อ 17.00 น. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตและคาดว่าเสียชีวิตรวม 6 ราย เป็นคนงานของบริษัท พีเอสซีไอ คอนสตรัคชั่น จำกัด แบ่งเป็นคนไทย 2 ราย ชาวเมียนมา 2 ราย
สำหรับผู้สูญหายจำนวน 2 ราย ซึ่งคาดว่าเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เป็นชายสัญชาติเมียนมาทั้งสองคน
ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล จำนวน 9 ราย ปัจจุบันออกจากโรงพยาบาลแล้ว 3 ราย และยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 6 ราย
ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เคยลั่นวาจาไว้เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ได้เรียกผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เข้ามาพูดคุย และให้ทุกรายยืนยันว่า ในเดือน มิ.ย. 2568 แล้วเสร็จ ยกเว้นทางหลวงพิเศษช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 4 และ 6 เนื่องจากมีการแก้ไขแบบ และเป็นจุดขึ้นลงทำให้เสร็จปลายปี 2568
การให้คำมั่นดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมออนไลน์ถึงความล่าช้าของการก่อสร้าง และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนับไม่ถ้วนในการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ บนถนนเส้นนี้
ล่าสุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุระลอกใหม่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุม ครม. นอกสถานที่ที่ จ.เชียงใหม่ มอบหมายให้นายสุริยะ ลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อหาสาเหตุ
นายสุริยะกล่าวว่า จะเร่งประสานกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดมาตรการลดอุบัติเหตุในระหว่างงานก่อสร้างโครงการของรัฐให้เป็นรูปธรรมภายในปีนี้ โดยในส่วนของบริษัทผู้รับเหมาชั้นพิเศษ จะมีมาตรการที่เรียกว่า “สมุดพก” บันทึกไว้ว่าทำผิดตรงไหนบ้าง ทั้งความล่าช้า หรืออุบัติเหตุที่ทำให้เสียชีวิต เช่น กรณีทำให้เกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิต จะมีมาตรการไม่ให้ผู้รับเหมารายนี้รับงาน 2-4 ปี
“เราต้องมีความเด็ดขาดกับผู้รับเหมา แต่ที่ผ่านมาตัวมาตรการเหล่านี้ยังไม่มี เราประกาศไป แต่ยังไม่มีออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งเรื่องการควบคุมส่วนหนึ่งอยู่ที่กรมบัญชีกลางที่เราจะไปพูดคุยกัน ถ้ามีมาตรการออกมาจะทำให้ปัญหาลดน้อยลงไป 80-90% แน่นอน” รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม กล่าว
บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลล่าสุดของอุบัติเหตุและแผนการกู้และรื้อถอนที่เกิดเหตุ
เกิดอะไรขึ้น
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาราว 04.07 น. ของวันนี้ (29 พ.ย.) เมื่อคานสะพานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทางยกระดับพังถล่มลงมา
จุดเกิดเหตุอยู่ที่ถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 21 ขาออกกรุงเทพฯ บริเวณหมู่ 4 ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ใกล้ตลาดมหาชัยเมืองใหม่
กรมทางหลวง (ทล.) รายงานต่อ รมว.คมนาคม ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากคานปูน (Segment) และเครน (Launching Gantry Crane) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างทางยกระดับ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 1 ถล่ม ขณะที่กำลังเชื่อมคานปูนเข้าด้วยกัน
นายมนตรี วงศ์วิวัฒน์ รอง ผอ.แขวงทางหลวงสมุทรสาคร กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้ทรัส (Launching Truss) ถล่มลงมาได้ ต้องรอให้ทางวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาตรวจสอบ
สื่อมวลชนหลายสำนัก อาทิ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3, เอ็นบีที รายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์จากหัวหน้าคนงาน กล่าวว่า ตอนเกิดเหตุ ทุกคนกำลังทำงานอยู่ด้านบน ช่วงที่กำลังจะย้ายมาทำงานอีกฟากหนึ่งของตัวยกแผ่นปูน จู่ ๆ ตัวโครงก็ถล่มลงมา โดยไม่มีสัญญาณใด ๆ ทำให้ลูกน้องตกลงมาเสียชีวิต และเชื่อว่าบางคนน่าจะถูกทับอยู่ใต้ซากคานที่ถล่มลงมา
“ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ที่จำได้คือภาพที่ลูกน้องตกลงมาเสียชีวิตและบาดเจ็บ” หัวหน้าคนงานกล่าว
สาเหตุเบื้องต้นจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ
นายวุฒินันท์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ให้สัมภาษณ์สื่อที่จุดบัญชาการเหตุเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุว่า จากการประเมินด้านนอกบริเวณหน้างานก่อสร้างและสอบถามข้อมูลจากผู้คุมงาน คาดว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นขณะกำลังประกอบชิ้นส่วน โดยเครนลอนเชอร์ทรัสที่เกิดอุบัติเหตุเป็นเครนที่ใช้ประกอบชิ้นส่วนคอนกรีตหรือเซกเมนต์ของทางวิ่งด้านบน แต่การจะตรวจสอบได้อย่างแน่ชัดจะต้องดูในขั้นตอนที่มีการเคลื่อนย้ายรื้อถอนชิ้นส่วนออกมาแล้วจึงจะประเมินได้ว่าสาเหตุเกิดจากการวิบัติในตัวโครงสร้างส่วนใด
“น้ำหนักที่ห้อยอยู่หนักหลายร้อยตัน และมีการขยับเคลื่อนที่ของตัวชุดรอกที่ยกรับน้ำหนัก ซึ่งเวลาขยับมันอาจจะไม่เกิดแรงบางด้าน แต่ทั้งนี้ต้องพูดคุยกับผู้ควบคุมพื้นที่หน้างานก่อน” นายวุฒินันท์กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นขณะที่ตัวเครนลอนเชอร์หรือทรัส กำลังหิ้วกล่องคอนกรีตสำเร็จรูปหรือเซกเมนต์ของทางวิ่งจำนวนหลายชิ้น ก่อนที่โครงสร้างคานเครนจะเกิดการวิบัติ
ทางด้าน รศ.ดร.คมสัน มาลีสี นักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธาและอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า จากการประเมินที่เกิดเหตุและการเก็บข้อมูลของภาควิชาวิศวกรรมโยธาเบื้องต้นพบว่า ตัวเครนลอนเชอร์ทรัสที่ใช้ยกชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปหรือเซกเมนต์ได้หิ้วตัวเซกเมนต์หลายชิ้นไว้พร้อมสำหรับการร้อยลวดเข้าด้วยกันแล้ว แต่กระบวนการยังไม่ทันถึงขั้นตอนการดึงลวด ได้เกิดเหตุที่ทำให้ตัวเครนลอนเชอร์พังทลายลงมาก่อน
จากการประเมินตัวเครนลอนเชอร์ทรัสดังกล่าว หรือตัวคานเหล็กสีน้ำเงินในภาพข่าวที่ถล่มลงมา รศ.ดร.คมสัน ระบุว่า ไม่แน่ชัดว่าเครนดังกล่าวสามารถจะรับน้ำหนักตัวเซกเมนต์ต่าง ๆ ได้ดีมากน้อยแค่ไหน แม้ก่อนการดึงลวดจะจะสามารถรับน้ำหนักสูงสุดไว้ได้ แต่ความสมบูรณ์หรือสภาพของตัวเครนอาจมีความเก่าหรือเผชิญกับความล้าหรือไม่ จึงมีเหตุทำให้ตัวเครนมันเกิดการวิบัติ
“หากความสมบูรณ์ของตัวเครนทรัสมันไม่ดีพอ มันก็อาจมีผลทำให้ความสามารถในการรับน้ำหนัก อาจทำไม่ได้เท่าที่ควรจะเป็น” รศ.ดร.คมสัน ตั้งข้อสังเกต และกล่าวว่า “อาจมีคำถามว่าแล้วทำไมทำมาตั้งนานไม่เห็นเป็นอะไร แต่เมื่อมายกส่วนนี้ถึงเกิดอุบัติเหตุขึ้น ต้องบอกว่าบางครั้งความล้าอาจเกิดขึ้น ถ้ามันไม่สมบูรณ์ เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง มันอาจทำให้โครงสร้าง (ของตัวเครน) วิบัติฉับพลันได้เหมือนกัน” รศ.ดร.คมสัน กล่าว
ผู้เกี่ยวข้องทำอะไรแล้วบ้าง แผนการรื้อถอนเป็นอย่างไรตั้งแต่ช่วงเช้า ผู้เกี่ยวข้องต่างลงพื้นที่ต่อเนื่อง นำโดยนายวรณัฎฐ์ หนูรอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่รุดไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ และพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมงาน หัวหน้าคนงาน และคนงานก่อสร้าง
ขณะที่ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรสาคร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กรมทางหลวง (ทล.) จะส่งผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับวิศวกรจากบริษัทผู้รับจ้าง เข้าตรวจสอบและประเมินความเสียหาย มีนายธนสาร สิทธาภา แขวงทางหลวงสมุทรสาครเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยพร้อมเข้าเคลียร์พื้นที่ด้วยถเครนขนาด 400 ตัน 1 คัน และ 200 ตัน 2 คัน หลังการประเมินเสร็จสิ้น
ส่วนการรื้อถอนกู้ซากคอนกรีต ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล กล่าวว่า การยกรื้อถอนส่วนที่เกิดอุบัติเหตุ “เป็นงานที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน” และ “การกู้คาดว่าต้องใช้เวลาหลายวัน”
ที่เป็นเช่นนี้ นายวุฒินันท์อธิบายว่า เนื่องจากตัวโครงสร้างที่พักพังทลายอยู่ในจุดนี้ น้ำหนักตามปกติน่าจะหนักที่หลายร้อยตัน อีกทั้งมีกล่องคอนกรีตเซกเมนต์ที่ห้อยคาอยู่ประมาณ 3-4 กล่อง ซึ่งมีน้ำหนักเดิมกว่า 50 ตัน มีชิ้นส่วนที่กองบริเวณพื้น 8 ท่อน ดังนั้น การเคลื่อนย้ายต้องใช้เครนขนาดใหญ่
นายวุฒินันท์กล่าวต่อไปว่า และด้วยโครงสร้างที่พังทลายอาจมีการแตกหักเสียหาย และชิ้นส่วนแต่ละส่วนอาจจะยึดโยงกันอยู่เพราะมีขนาดยาวมาก จึงทำให้ไม่สามารถยกโครงสร้างที่ต่อเนื่องและมีการพังทลายได้ในครั้งเดียว การกู้อาจต้องมีการตัดทีละส่วน จึงทำให้การกู้และรื้อถอนอาจต้องใช้เวลาหลายวัน
“ทาง วสท. จะมีทีมวิศวกรด้านงานยกเคลื่อนย้ายโดยเฉพาะ ซึ่งจะให้คำแนะนำว่าจะรื้ออย่างไร หรือจะต้องมีการตัดแยกส่วนก่อนลำเลียงลงสู่ด้านล่าง” ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท. ระบุ
นายวุฒินันท์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)
เครนที่เกิดอุบัติเหตุคืออะไร
โครงสร้างสะพานที่พังถล่มลงมาคือ เครนลอนเชอร์ หรือเครนทรัส (Launching Truss) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการติดตั้งคานสะพานด้วยโครงเหล็กเลื่อนของการก่อสร้างสะพานด้วยวิธีแบบก่อสร้างทีละช่วง (Span-by-Span) โดยโครงสร้างส่วนบน (Super Structure) ใช้รูปแบบคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องแบ่งเป็นหลายชิ้นใน 1 สแปน
ในการติดตั้งจะใช้รอกไฟฟ้ายกชิ้นส่วนคานขึ้นมาอยู่ในระดับการติดตั้ง และเลื่อนชิ้นส่วนให้เข้าชิดติดกันตามตำแหน่งแหน่งที่ระบุในแบบ แล้วใช้เส้นลวดสลิงขนาดใหญ่แขวนชิ้นส่วนสำเร็จทั้งหมดให้ลอยอยู่ในระดับที่ต้องการติดตั้ง และเข้าสู่ กระบวนการเชื่อมรอยต่อระหว่างชิ้นส่วนต่าง ๆ
วิเคราะห์ 3 ปัจจัย เหตุใดก่อสร้างถนนพระราม 2 จึงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
ระยะทางไกล-รับเหมาช่วงต่อหลายเจ้า-ทักษะผู้รับเหมารายย่อยแตกต่างกันรศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ถนนพระรามสองเป็นถนนที่มีระยะทางไกลมาก จึงมีการใช้ผู้รับเหมาช่วงหลายเจ้า ในเมื่อมีผู้รับเหมาช่วงหลายเจ้า ประเด็นของคุณภาพการทำงาน ประสิทธิภาพในการทำงานของผู้รับเหมาช่วงแต่ละเจ้าก็แตกต่างกันไปด้วย ทั้งในเรื่องทักษะการทำงานและอุปกรณ์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการก่อสร้างทั้งหมด
“บางเจ้าจะมีทักษะในการทำงานที่สูงมาก อุปกรณ์ที่เขาใช้ บางจุดบางช่วงอุปกรณ์บางอย่าง ไม่ได้ใช้เหมือนกันทุกราย แล้วแต่ผู้รับเหมาช่วงแต่ละที่ที่จะเลือกใช้”
จากข้อมูลจากเดือน มี.ค. 2567 พบว่าโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างบนถนนพระราม 2 (ทางหลวงหมายเลข 35) มีจำนวน 4 โครงการ
อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง 3 โครงการ ซึ่งมีสัญญากับผู้รับจ้างอย่างน้อยรวม 17 ราย โดยบางรายเป็นกิจการร่วมค้าที่ประกอบด้วยผู้รับเหมาอย่างน้อย 2-3 ราย ภายในสัญญาเดียวกัน
อธิการบดี สจล. อธิบายว่า โดยปกติผู้ที่ไปรับเหมาโครงการต่อภาครัฐจะเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ แต่บางครั้งหากปริมาณงานมีมาก การมีผู้รับเหมาช่วงรายย่อยเข้ามารับงานก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น หากมีผู้รับเหมาช่วงรายย่อยเยอะมาก ถ้าผู้รับเหมาหลักคุมงานได้ไม่ดีพอ หรือตรวจสอบพวกวัสดุที่ใช้ก่อสร้างไม่ดีพอ ก็อาจจะมีปญหาต่าง ๆ ตามมา และยังมีปัจจัยจากทางผู้รับเหมารายย่อยเองด้วยอีกทางหนึ่ง
“ทักษะของผู้รับเหมารายย่อยลงไปอาจมีบ้างที่ทำงานได้ไม่ละเอียดถี่ถ้วน ก็จะทำให้เห็นว่าเดี๋ยวมีอุบัติเหตุหล่นตรงนั้นตรงนี้ ระบบการป้องกันของเขาก็อาจจะไม่ดีพอ หรือประสบการณ์ในการทำงาน ผู้รับเหมาช่วงบางเจ้าอาจจะไม่เคยได้ทำงานในปริมาณที่มาก ๆ มาก่อนก็เป็นไปได้อีก เขาอาจมีเพียงสกิลบางส่วนแล้วก็ไปรับเหมาในพื้นที่ ทำให้ไม่ได้ระมัดระวังถึงความปลอดภัย”
โครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 มีทั้งสิ้น 3 โครงการ ประกอบไปด้วยสัญญารับจ้างอย่างน้อย 17 สัญญา และมีผู้รับเหมาช่วงต่อนับสิบราย
การลงทุนกับมาตรฐานความปลอดภัยไม่สูงพอ ?รศ.ดร.คมสัน ชี้ว่าโดยหลักการแล้ว ผู้รับเหมาหลักจะต้องตระหนัก โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ เรื่องความปลอดภัยต้องเอามาวางไว้เบื้องต้น ตั้งแต่ระบบการป้องกันไม่ให้วัสดุต่าง ๆ ร่วงหล่นลงมา ซึ่งระบบก่อสร้างในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นจะเน้นเรื่องการป้องกันมาเป็นประเด็นหลักในการก่อสร้าง เพราะถ้ามีอุบัติเหตุขึ้นจะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ในประเทศพัฒนาแล้ว
รศ.ดร.คมสัน ให้ความเห็นว่าประเทศไทยควรกลับมาพิจารณาว่า ถ้าระบบการป้องกันไม่ผ่านมาตรฐาน หรือไม่มีกระบวนการเหล่านี้ ตัวผู้รับเหมาหลักที่รับงานมาจากภาครัฐหรือบริษัทที่ปรึกษา (คอนซัลต์) ต้องห้ามไม่ให้ดำเนินการก่อสร้างเด็ดขาด
เขาบอกด้วยว่าภาครัฐต้องเน้นกับผู้รับเหมาให้มีการเสนอมาตรการความปลอดภัยและการป้องกันเหตุต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งการมีระบบในลักษณะนี้บางอย่างอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่มาตรการเหล่านี้สามารถกำหนดไว้ตั้งแต่ช่วงของการประมูล หรือหากมีในเงื่อนไขการประมูลแล้ว ก็ต้องบังคับให้ผู้รับเหมาดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ให้ได้
“มันอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการป้องกัน ตั้งแต่ช่วงของการประมูลก็ต้องทำ ไม่ใช่พอปล่อยเรื่องนี้ไปแล้วไปรีดราคาถูก ๆ หรือปล่อยให้เขาเสนองาน โดยไม่ทำระบบความปลอดภัยที่ดีก็จะเป็นปัญหา และต้องอยู่ที่ TOR (รายละเอียดในการจัดจ้าง) ที่เขียนด้วยว่ารอบคอบจุดนี้แค่ไหน หรือถ้ารอบคอบแล้ว เราก็ต้องบังคับให้ผู้รับเหมาทำให้ได้ โจทย์สองอย่างนี้ ถ้าเราทำได้ก็จะช่วยเรื่องพวกนี้ได้”
ช่องว่างของการตรวจสอบกระบวนการก่อสร้างรศ.ดร.คมสัน ชี้ว่าการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุในโครงการก่อสร้างสาธารณะ ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานของรัฐไปตรวจสอบในกระบวนการก่อสร้างได้ดีพอ เพราะส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาบริษัทที่ปรึกษาหรือคอนซัลต์ ดังนั้น การก่อสร้างสาธารณะ นอกจากผู้รับเหมาแล้ว คอนซัลต์ถือเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมมาตรฐานงานก่อสร้าง
“งานก่อสร้างที่เกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ถ้ามีคอนซัลต์ที่ดี มีการแนะนำที่ใกล้ชิดก็น่าจะช่วยได้ owner (เจ้าของโครงการ) ซึ่งก็คือรัฐ จะต้องหาตัวแทนที่เชื่อมั่นได้และมีศักยภาพสูงพอที่จะเป็นตัวแทนของฝ่ายภาครัฐในการช่วยเป็นหูเป็นตาเรื่องความปลอดภัย” อธิการบดี สจล. ระบุ
“รัฐในฐานะของเจ้าของ ต้องเน้นว่าอุบัติเหตุต้องไม่มี ต้องเป็นศูนย์ ถ้าให้โจทย์พวกนี้ไปกับทางคอนซัลต์ เขาก็ต้องไปขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ไปกับผู้รับเหมาให้ได้”
อธิการบดี สจล. ทิ้งท้ายด้วยว่า ประเด็นมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน ประเทศไทยยังมีบุคลากรในด้านนี้น้อยเกินไปอย่างเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งบุคลากรด้านนี้ที่จะมีส่วนช่วยดูแลความปลอดภัยในการทำงานได้
ย้อนดูอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบนถนนพระราม 2ตั้งแต่ปี 2561 ถนนเส้นนี้เต็มไปด้วยโปรเจกต์ก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 3 โครงการ ไม่นับโครงการซ่อมแซมอื่น ได้แก่ 1) ทางยกระดับบนทางถนนพระราม 2 หรือมอเตอร์เวย์ 2) ทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และ 3) โครงการขยายพระราม 2 ช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือน ก.ค. 2564
ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาทิ
- 9 ส.ค. 2563 รถยนต์ 2 คันเป็นรถกระบะ และรถเก๋ง ตกร่องถนนที่กำลังก่อสร้าง จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณหน้าบริษัท โลหะกิจเจริญทรัพย์ ถนนพระราม 2 จ.สมุทรสาคร ขาเข้ากรุงเทพฯ โดยที่เกิดเหตุไม่มีป้ายแจ้งเตือนและเป็นลักษณะน้ำท่วมบริเวณร่องถนน
- 21 ส.ค. 2564 คนงานบริษัท อิตาเลียนไทยฯ หล่นจากคานทางยกระดับพระราม 2 ช่วง กม.19 เสียชีวิตระหว่างทำการติดตั้งแผ่นรองรับตัวคาน คาดว่าเป็นช่วงมุดเข้าใต้ท้องสะพานจึงถอดเข็มขัดนิรภัยออก
- 17 ก.ค. 2565 วัสดุก่อสร้างร่วงหล่นลงบนถนนพระราม 2 กม.17 ขาเข้ากรุงเทพฯ ช่วงสมุทรสาคร เหล็กขนาดใหญ่ได้ลอยตกลงมาทับจนรถกระดอนขึ้นสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง และมีรถยนต์ส่วนบุคคลเสียหายอีก 2 คัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 3 คน ทล. ชี้แจงว่าเหล็กดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนนั่งร้านเหล็ก
- 22 ก.ค. 2565 พบรอยแตกร้าวพื้นสะพานทางด่วนพระราม 2 บริเวณทางเข้าหมู่บ้านเนเชอร่า ทล. ชี้แจงคาดว่าเกิดจากความสั่นสะเทือน เนื่องจากสะพานช่วงดังกล่าวมีปริมาณการจราจรสูงมาก พร้อมระบุถึงการเข้าซ่อมแซมโดยปิดช่องจราจรด้านใต้ของสะพานเป็นเวลา 2 สัปดาห์
- 31 ก.ค. 2565 สะพานกลับรถหรือจุดยูเทิร์นเกือกม้าบนถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 34 บริเวณใกล้โรงพยาบาลวิภาราม จ.สมุทรสาคร เกิดเหตุถล่ม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นคนงานก่อสร้าง และบาดเจ็บ 2 ราย
- 7 มี.ค. 2566 เกิดเหตุเครนล้มขวางถนนพระราม 2 ฝั่งขาออกจากกรุงเทพฯ ช่วง ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ในโครงการ M82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 3 ผู้รับจ้างใช้รถเครนยกรถแบ็กโฮที่ติดหล่ม ระหว่างที่ยกนั้น สลิงของรถเครนได้หลุดออกจากรถแบ็กโฮ ทำให้บูมรถเครนเหวี่ยงและหักขวางถนน เคราะห์ดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
https://www.bbc.com/thai/articles/ce8y9n8n5rlo