งานวิจัยที่คว้ารางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ 2024 อธิบายผลกระทบแห่งยุคอาณานิคมต่อความเหลื่อมล้ำในโลกอย่างไร
ปณิศา เอมโอชา
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
17 ตุลาคม 2024
รางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2024 ตกเป็นของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน 3 คน ประกอบด้วย ดารอน อาเซโมกลู และไซมอน จอห์นสัน จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมืองเคมบริดจ์ และ เจมส์ เอ. โรบินสัน จากมหาวิทยาลัยชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ “จากการศึกษาวิธีการที่สถาบันต่าง ๆ ในสังคมถูกสร้างขึ้นและส่งผลกระทบต่อความเจริญรุ่งเรือง”
ในรายงานพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของรางวัลธนาคารกลางสวีเดน สาขาเศรษฐศาสตร์ เพื่อรำลึกถึงอัลเฟรด โนเบล ประจำปี 2024 คณะกรรมการรางวัลฯ หยิบยกประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคมโลกขึ้นมาจุดเริ่มต้น โดยชี้ว่า ตามข้อมูลจาก องค์กร Development Initiatives (DI) ประจำปี 2023 พบว่า ประชากร 50% ที่จนที่สุดในโลกนี้ ถือครองรายได้ในสัดส่วนรวมเพียง 8% ของรายได้ทั้งหมดในโลกนี้ ขณะที่ประชากรที่รวยที่สุด 10% ของโลกนี้ มีรายได้รวมครึ่งหนึ่งของรายได้รวมทั้งโลกใบนี้ และยังชี้ว่า ที่สถานการณ์เป็นเช่นนี้เพราะว่า เกิดจากความเหลื่อมล้ำระหว่างแต่ละประเทศ
คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้น: เหตุใดประเทศที่จนไม่สามารถเลียนแบบประเทศที่รวยและพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ และนี่คือจุดที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามคนข้างต้นได้รับรางวัลรวม 11 ล้านโครนาสวีเดน (ราว 34.75 ล้านบาท)
งานวิจัยที่สำคัญของพวกเขาทั้งสามคนเข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคการล่าอาณานิคมของยุโรปและแสดงให้เห็นว่าสถาบันต่าง ๆ ในสังคมนั้น (institutions) ส่งผลต่อความเจริญรุ่งเรืองอย่างไร
บีบีซีไทยรวบรวมประเด็นสำคัญจากงานศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 คน เพื่อฉายภาพให้เห็นว่า “สถาบัน” ที่เหล่านักวิจัยพูดถึงนั้น ส่งผลกระทบต่อความรุ่งเรืองหรือร่วงโรยของชาติชาติใดาติหนึ่งได้อย่างไร
ความมั่งคั่งหัวกลับและสถาบันแห่งการสูบรีด
ทฤษฎีของพวกเขาพบว่า หากประเทศหนึ่ง ๆ มีความมั่งคั่งหรือเจริญรุ่งเรืองก่อนตกเป็นอาณานิคม ประเทศเหล่านั้นจะกลายเป็นประเทศที่ยากจนลงในเวลาต่อมา หากประเทศในช่วงปี ค.ศ. 1500 มีความพัฒนาเป็นพื้นที่เมือง (urbanisation) เพิ่มขึ้น 5% จะทำให้รายได้ประชากรต่อหัว (GDP per capita) ในอีก 500 ปีถัดมาลดลงถึงหนึ่งในสาม ราว 32.3%
ในทำนองเดียวกัน หากพบความหนาแน่นของประชากรเพิ่มขึ้นหนึ่งส่วน [เป็นการวัดจากส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน] จะทำให้รายได้ประชากรต่อหัวในระยะยาวลดลงราว 44%
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะมหาอำนาจเหล่านั้นเลือกใช้รูปแบบการสร้างสถาบันแบบขูดรีดทรัพยากรหรืออาจเรียกว่า “สถาบันแบบเอาประโยชน์” (extractive institution) โดยเจ้าของรางวัลโนเบลทั้งสามคนให้คำจำกัดความว่านี่คือรูปแบบของการบริหารที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่มีหลักนิติธรรม (rule of law) และไม่มีหลักสิทธิในทรัพย์สิน
ในยุคที่มหาอำนาจฝั่งยุโรปออกล่าอาณานิคมนั้นพวกเขาจะมองว่าประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นจึงมีทรัพยากรให้พวกเขาเข้าไป “ขูดรีด” ออกมาและเอาเปรียบคนพื้นเมืองได้ ทรัพยากรเหล่านี้ อาทิ ทอง เงิน และน้ำตาล
ขณะเดียวกัน การที่ผู้ล่าอาณานิคมจะเข้าไปตั้งรกรากในพื้นที่เหล่านั้นก็อาจเป็นเรื่องยากด้วย เนื่องจากอาจถูกต่อต้านโดยคนจำนวนมากได้ และนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นของเหล่าผู้ล่าอาณานิคม ด้วยเหตุนี้ แทนที่พวกเขาจะสร้างระบบสถาบันที่เรียกว่า “สถาบันแบบมีส่วนร่วม” (inclusive institution) จึงไปเลือกใช้การขูดรีดทรัพยากรแทน
นอกจากประเด็นเรื่องความพัฒนาของพื้นที่เมืองและความหนาแน่นของประชากร นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามคนยังพบความเชื่อมโยงของตัวเลขรายได้ประชากรต่อหัวเมื่อเทียบกับสัดส่วนอัตราการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ตั้งรกรากที่เป็นนักล่าอาณานิคม
จากข้อมูลชุดเดียวกันกับหัวข้อที่แล้วพบว่า หากสัดส่วนการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ตั้งรกรากในปี ค.ศ. 1500 เพิ่มขึ้นหนึ่งส่วน [เป็นการวัดจากส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน] จะทำให้รายได้ประชากรต่อหัวในปี 1995 ลดลงถึง 47%
เบื้องหลังของตัวเลขอยู่ที่การสร้างระบบสถาบันแบบขูดรีดอีกแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ในสมัยนั้นอัตราการเสียชีวิตของผู้ตั้งรกรากยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมการเกิดโรคเช่นเดียวกัน อาทิ โรคมาลาเรีย และโรคไข้เหลือง ซึ่งมักเกิดขึ้นมากกว่าในพื้นที่เขตร้อน (tropical areas) ดังนั้น นักล่าอาณานิคมชาวยุโรปจึงไม่นิยมไปตั้งรกรากในพื้นที่เหล่านั้น แต่เลือกที่จะใช้การขูดรีดแทน
ในทางตรงกันข้าม พื้นที่ที่มีสภาพอากาศแบบอบอุ่น (temperate areas) ซึ่งไม่ใช่สภาพอากาศที่โรคเหล่านี้จะเจริญเติบโตได้ดี อาทิ ประเทศแคนาดา หรือสหรัฐอเมริกา เหล่าผู้ตั้งรกรากจะมองทางเลือกการสร้างสถาบันแบบครอบคลุมขึ้นมามากกว่า
สถาบันเกิดขึ้น 500 ปีที่แล้ว ทำไมจึงอยู่มาจนถึงวันนี้ ?
ในหัวข้อที่แล้ว เราอธิบายให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเมื่อประเทศถูกปกครองในระบบสถาบันที่ไม่เป็นมิตรกับผู้คน ประเทศนั้นย่อมได้รับผลกระทบในทางลบ แต่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามคนชี้ว่า “เหตุผลเดียว” ที่ทำให้ปัจจัยอย่างตัวเลขผู้ตั้งรกรากชาวยุโรปที่เสียชีวิตเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วยังคงส่งผลกระทบมาถึงตัวเลขรายได้ประชากรต่อหัวในยุคปัจจุบัน เป็นเพราะระบบสถาบันในสมัยนั้นยังส่งผลกระทบมาจนถึงยุคสมัยนี้
เจ้าของรางวัลโนเบลทั้งสามคนเข้ามาตั้งคำถามต่อไปว่า หากสุดท้ายแล้วสถาบันทางเศรษฐกิจที่ดีมีผลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำไมบางประเทศถึงเลือกจะใช้หลักการเดิม ๆ ที่ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์แม้แต่กับผู้ที่กุมอำนาจบริหารเอง
ทั้งสามคนให้คำตอบว่า ประเด็นนี้เกี่ยวโยงกับสถาบันทางการเมืองและเหล่า “อีลีท” หรือชนชั้นนำ ซึ่งมักเป็นผู้กุมอำนาจบริหารมาตั้งแต่อดีตกาลโดยตรง งานศึกษาของพวกเขาชี้ว่า “ตราบใดก็ตามที่ระบบทางการเมืองยังคงให้ประโยชน์กับอีลีท ประชาชนไม่อาจเชื่อใจคำมั่นสัญญาใด ๆ เรื่องการปฏิรูประบบเศรษฐกิจได้”
หลักการคือ เหล่าอีลีทไม่เชื่อใจว่าภายใต้ระบบที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถเปลี่ยนผู้นำที่ไม่รักษาสัญญาในการเลือกตั้งรอบใหม่ได้ ประชาชนจะชดเชยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่พวกเขาจะสูญเสียไปได้เมื่อระบบใหม่นี้หรือระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยถูกนำมาใช้ สิ่งนี้เป็นอุปสรรคที่แก้ไขได้ยาก และทำให้สังคมติดอยู่กับระบบ “สถาบันแบบเอาประโยชน์” ที่นำไปสู่ความยากจนในวงกว้าง ขณะที่ชนชั้นสูงยังคงมั่งคั่งต่อไป
ทว่าแม้จะมีปัญหาที่แก้ได้ยากอย่างข้างต้น แต่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามคนก็ชี้ให้เห็นว่า ในสถานการณ์เดียวกันนี้ก็อาจเป็นเหตุผลที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นรากฐานของการมีระบบสถาบันที่ดีได้เช่นเดียวกัน
พวกเขาชี้ว่า แม้ประชาชนในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยจะขาดอำนาจทางการเมือง แต่พวกเขามีสิ่งที่กลุ่มอีลีทชนชั้นปกครองกลัวนั่นก็คือ พวกเขามีจำนวนมาก ประชาชนสามารถรวมตัวกันและกลายเป็นภัยคุกคามจากการปฏิวัติได้ แม้ว่าภัยคุกคามนี้อาจมีความรุนแรง แต่หากบริหารจัดการได้อย่างสงบ ก็จะกลายเป็นเครื่องมีที่ทรงพลังเพราะเปิดโอกาสให้มีคนจำนวนมากเข้าร่วมได้มากที่สุด
เมื่อถึงจุดนี้กลุ่มผู้ปกครองก็จะต้องเลือกว่าจะมอบคืนอำนาจให้กับประชาชน หรืออาจจะให้คำสัญญาว่าจะปฏิรูป ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามคนชี้ว่า คำสัญญาเหล่านั้นไม่น่าเชื่อถือ เพราะประชาชนเองก็รู้ว่า หากปล่อยให้ชนชั้นนำอยู่ในอำนาจเหมือนเดิม ไม่นานเมื่อสถานการณ์สงบลงทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่รูปแบบเดิม ๆ
อย่างไรก็ดี กลุ่มชนชั้นนำยังมีเครื่องมืออื่น ๆ เช่นเดียวกัน อาทิ “ชนชั้นนำยังสามารถก่อรัฐประหาร เพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งถูกสถาปนาขึ้นใหม่ เพื่อทวงคืนอำนาจทางการเมือง”
นี่จึงเป็นเหตุผลที่บางประเทศถึงย่ำอยู่กับที่ เดี๋ยวเป็นประชาธิปไตยเดี๋ยวไม่เป็นประชาธิปไตย และเพราะสถาบันทางการเมืองนี้ เชื่อมโยงโดยตรงกับการสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจที่ดี ที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ทั้งหมดจึงกลับมาตอบคำถามแรกเริ่มได้ว่า เหตุใดบางประเทศที่จนถึงยังไม่สามารถรวยได้จนถึงตอนนี้
https://bbc.in/3BWV4rb
.....
Chutnarong Chaimongkol
“สถาบันแห่งการขูดรีด” มีอำนาจในมือ ไม่ขยันคิดสิ่งใหม่ เน้นขอส่วนแบ่ง
.
Naret Habhong
นี่คือความจริงที่ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้เลย
เพราะสังคมแบ่งชนชั้นพบเห็นได้ง่ายในประเทศด้อยพัฒนาทางการเมือง ไม่มีประชาธิปไตยเต็มใบมีแต่ประชาธิปไตยจอมปลอม แม้ชนะเลือกตั้งก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
.
Jirus Kumboon
ฮา อย่างบางประเทศคน 1% ถือครองทรัพยากร 90% ยังอวยกันอยู่ได้ รวยบริสุทธิ์มากเลยมั้ง
.
Jillian Lustsul
รูปประกอบจากโนเบล