เมื่อความยุติธรรมไม่ปรากฏ ในคดี ‘ตากใบ’ กระบวนการทวงความยุติธรรมย่อมดำเนินต่อไป แม้กระทั่งผ่านพ้นนาฑีสุดท้าย เหลือเวลาอีกไม่ถึงสามวันคดีจะหมดอายุความ ก็ยังไม่เห็นความพยายามเป็นชิ้นเป็นอันอะไรจากรัฐบาล
อังคณา นีละไพจิตร ประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนวุฒิสภา ยังคงตั้งความหวังกับรัฐบาล ว่าสามารถออกพระราชกำหนดได้ หลังจากประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๒ ตุลา ถึงวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ก็ยังมีการประชุมของสภาอยู่ สามารถเสนอ พรก.เร่งด่วนได้
“ส่วนตัวมองเห็นว่าถ้าทำจริงๆ ก็น่าจะทันนะคะ เพราะกรณีเร่งด่วน สามารถทำได้เองอยู่แล้ว ส่วนตัวก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ทัน ถ้าเตรียมก็สามารถออกได้อยู่แล้ว” อังคณาชี้ว่านี่เป็นเรื่องของการทำให้อายุความหยุดอยู่ตรงนี้
“จนกว่าจะสามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลได้” เธอว่า “มันเป็นความหวังสุดท้ายของผู้เสียหาย” ไม่เช่นนั้นจะเป็นการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล ยิ่งกว่าคดีกรือแซะ ซึ่งการเสียชีวิตของ ๓๑ คนในมัสยิด “คดีหมดอายุความ”
แม้นว่าผู้ก่อเหตุครั้งนั้นได้รับโทษ ซึ่งต่างกับคดีตากใบ ที่ “เป็นการเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ จริงๆ เป็นความรับผิดชอบของรัฐโดยที่ไม่อาจปฏิเสธได้อยู่แล้ว” แต่ดูเหมือนว่าคดีนี้ ทุกคนจะพ้นผิดอีกเช่นกัน
ทางออกสุดท้ายเพื่อให้ได้ความยุติธรรมกลับมา ก็คือวิถีกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ อังคณาชี้ว่า “ประชาชนก็สามารถที่จะฟ้องต่อศาลระหว่างประเทศได้ ซึ่งจะมีกลไกอยู่” นอกเหนือจากนี้ “การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก
อาจจะเข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรง เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” นอกเหนือจากสิ่งที่เป็นห่วง
ว่าถ้าเรา “ปล่อยให้โอกาสในการพิสูจน์ความจริงในศาลหมดไป ถ้าไม่สามารถนำตัวจำเลยมาปรากฏตัวหน้าศาลได้ คงหลีกเลี่ยงยากในการที่จะเกิดความรุนแรงตามมา” ในเมื่อเหตุร้ายระเบิดในพื้นที่สามจังหวัด ชักจะเกิดถี่ขึ้นๆ อีกแล้ว