วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 31, 2567
“คดีตากใบ-คดีการเมือง-สิทธิชาติพันธ์” ความท้าทายของไทยในฐานะคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ”
29/10/2024
iLaw
25 ตุลาคม 2567 เวลา 18.30 – 21.00 น. องค์กรภาคประชาสังคม ประกอบด้วย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ร่วมจัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “ความรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชน: ความท้าทายที่ยังคงอยู่ของไทยในที่นั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” ณ The Society Multi-Function เกสรวิลเลจ ร่วมเสวนาโดย เฝาซี ล่าเต๊ะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, อัครชัย ชัยมณีการเกษ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สัณหวรรษ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล, อูเซ็ง ดอเลาะ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และพรชิตา ฟ้าประทานไพร นักกิจกรรมเยาวชนจากหมู่บ้านชาติพันธุ์ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยมีอภิสิทธิ์ ดุจดา นักข่าวจากรายการ Workpoint Today เป็นผู้ดำเนินการ และคาเทีย คริริซซี สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้กล่าวเปิดการเสวนาปัญหาสิทธิมนุษยชนไทย
พื้นที่ภาคประชาชนสังคมหดตัว นักกิจกรรมการเมืองไม่ได้รับการคุ้มครอง
คาเทีย คริริซซี จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เริ่มต้นการกล่าวเปิดจากการแสดงความยินดีต่อประเทศไทยที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยการได้รับเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการแสดงภาวะผู้นำในการยกระดับสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติตามหลักพันธกรณีระหว่างประเทศ ท่ามกลางความท้าทายและช่องว่างของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยก็มีความคืบหน้าหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ การตรา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย ความก้าวหน้าด้านความหลากหลายทางเพศผ่านการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้มีการแสดงออกทางเพศสภาพได้อย่างเท่าเทียม การยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากโครงการบัตรสุขภาพแห่งชาติ และข้อสำคัญ ประเทศไทยกำลังจะถอนข้อสงวนในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 22 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและการเปิดโอกาสให้เด็กที่เป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้ไร้สัญชาติได้รับการคุ้มครอ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีปัญหาและช่องว่างในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ของภาคประชาสังคมที่หดตัวลงในประเทศไทย การขาดโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมของกลุ่มชนพื้นเมือง การประสบปัญหาในการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของนักกิจกรรมทางการเมือง นักกฎหมาย ทนายความ หรือแม้แต่นักการเมือง
การใช้กฎหมายอาญาตามมาตรา 112, 116 และหมิ่นประมาทยังเป็นข้อกังวลหลักถึงมาตรฐานการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมสาธารณะ ขณะที่สถาบันตุลาการเองก็มีความสำคัญทั้งในระดับประเทศและสากลในการปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ไม่เพียงแต่ปกป้องสิทธิของคนอื่น แต่ต้องสร้างถึงรูปแบบที่จะคุ้มครองการเจริญเติบโตของกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเคารพสิทธิทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่รัฐบาลไทยเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ ในการส่งเสริมให้กลุ่มคนผู้เปราะบางหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจ โดยเฉพาะในโครงการการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ
ขณะที่ด้านสภาพภูมิอากาศก็เป็นเรื่องอีกประการหนึ่ง ประเทศไทยกำลังพบกับปัญหาน้ำท่วมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ประเทศไทยควรดำเนินการใช้มาตรการยับยั้งและป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผ่านการใช้กลไกด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เช่น การเปิดโอกาสให้มีการใช้เครื่องมือจารีตประเพณีดั้งเดิมในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม และการเคารพและสร้างพื้นที่ภาคประชาชนที่เปิดกว้าง ปัญหาสำคัญสุดท้ายคือการลอยนวลพ้นผิด สิ่งนี้ส่งผลอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ประเทศไทยต้องดำเนินการให้ผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องรับผิดชอบหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว เพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริงในสังคม
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ พร้อมอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการยกระดับและคุ้มครองมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในตำแหน่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศเท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง ดังที่ประเทศไทยเคยให้คำมั่นสัญญา
รัฐไทยต้องนิรโทษกรรมประชาชนและยุติการดำเนินคดีกับประชาชนเหมือนที่เคยให้สัญญาไว้
อัครชัย ชัยมณีการเกษ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะได้รับการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่ข้อเท็จจริงสำคัญ คือประเทศไทยยังอยู่ในวิกฤตการณ์ด้านเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออก โดยเห็นได้จากตัวเลขของจำนวนคดีทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในปี 2563 ถึง 8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้น และแม้จะมีการเลือกตั้งและพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลแล้ว การดำเนินคดีทางการเมืองก็ยังคงไม่หมดสิ้นไป โดยจากสถิติ มีการดำเนินคดีกว่า 64 คดี และเป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 29 คดี และยังมีอีก 734 คดีที่ยังไม่สิ้นสุด ผู้ต้องหาหลายคนยังคงต้องเดินทางไปรายงานตัว ไปศาล ไปอุทธรณ์ และยังมีผู้ต้องหาอีกจำนวนกว่า 37 คน ถูกขังอยู่ในเรือนจำ ณ ขณะนี้
คำถามคือ แล้วอย่างไรต่อ? รัฐบาลไทยจะเดินหน้าอย่างไรต่อ? โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้รับหนังสือและคำแนะนำจากกลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติแล้วอย่างน้อย 111 ฉบับ และอย่างน้อย 104 ฉบับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งในฉบับล่าสุดก็มีการระบุถ้อยคำอย่างชัดเจนว่า ผู้ชุมนุมไม่ควรถูกดำเนินคดีอาญาจากการชุมนุมและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออก
ข้อเรียกร้องของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ได้มีความแตกต่างจากสิ่งที่กลไกของสหประชาชาติเรียกร้อง รัฐบาลไทยในฐานะคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนจะต้องยุติการดำเนินคดีการเมืองและตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ปล่อยตัวผู้ต้องขังการเมือง และยุติการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ดังที่เคยได้ให้คำมั่นสัญญาต่อประชาคมโลกในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว
รัฐบาลไทยรับรู้นานาชาติเรียกร้องยกเลิก/แก้ไข ม.112 มาโดยตลอด แต่ไม่ปฏิบัติตาม
เฝาซี ล่าเต๊ะ จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ก็นำเสนอข้อมูลสอดคล้องกับอัครชัยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการใช้มาตรการทางกฎหมายของรัฐยังคงไม่หมดสิ้นไป ซึ่งที่จริงแล้ว แม้ในช่วงรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจะมีสถิติการดำเนินคดีน้อยลง แต่สาเหตุก็เป็นไปเพราะมีการชุมนุมที่น้อยลงด้วยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
เฝาซี กล่าวว่า ตนอยากจะเน้นย้ำเรื่องกฎหมายมาตรา 112 เป็นพิเศษ กฎหมายนี้ไม่ได้เพิ่งถูกนำมาใช้กับสังคมไทย หากแต่ถูกนำมาใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ในช่วงสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการนำมาตรา 112 มาใช้อย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ด้วยช่องว่างของมาตรา 112 ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถเข้ามาฟ้องคดีได้ และในขณะนี้ ผู้ถูกคุมขังทางการเมืองที่ถูกคุมคุมขังอยู่กว่าครึ่งหนึ่งก็มาจากคดีในข้อหาตามมาตรา 112
ในการประชุม UPR (Universal Periodic Review) รอบที่ 3 ของสหประชาชาติ นานาชาติเองก็ต่างเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนและแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 โดยนำเสนอเป็นข้อเสนอแนะจำนวน 12 ข้อ ซึ่งรัฐบาลไทยได้แสดงเจตจำนงว่ารับทราบแต่ไม่ผูกมัดที่จะปฏิบัติตาม นอกจากนี้ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ก็มีการรายงานแสดงความกังวลถึงประเทศไทย เกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 เป็นจดหมายคำแนะนำถึง 23 ฉบับ ระบุทำนองเดียวกันว่า ตัวบทกฎหมายตามมาตรา 112 มีความคลุมเครือ อัตราโทษไม่ได้สัดส่วนและไม่เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 (General Comment) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
วันสุดท้ายของอายุความ 20 ปี เหตุการณ์ตากใบ ผู้เสียหายและญาติยังคงรอคอยคำขอโทษ
อูเซ็ง ดอเลาะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ตากใบที่สืบเนื่องมาจากการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องมีหมายจับกุมหรือการตรวจสอบโดยศาล ส่งผลให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่และนำไปสู่การคุกคามและกดดันผู้ต้องสงสัย ญาติพี่น้องและจำเลยในคดีความมั่นคงต่าง ๆ
เหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความรุนแรงและความเสียหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตกว่า 85 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1,300 คน โดยมีหลักฐานปรากฎว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการใช้กระสุนจริงยิงเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมจำนวนมากไปยังค่ายทหาร ส่งผลให้มีเหยื่อหลายรายเสียชีวิตจากการถูกยิงที่บริเวณศีรษะ และที่สำคัญคือการขนย้ายผู้ชุมนุม ซึ่งวิธีใช้ในการลำเลียงนั้นน่าสนใจมาก เพราะทุกคน รวมถึงญาติของผู้เสียชีวิตจนทุกวันนี้ก็ยังคงไม่เข้าใจว่าเขาคิดกันอย่างไรถึงใช้วิธีการลำเลียงผู้ชุมนุมแบบนั้น
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ตากใบ และครบ 20 ปีของอายุความ พวกเราเองและญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ ก็รออยู่ว่าจำเลยจะปรากฎตัวหรือไม่ จะมีการตามจับกุมจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาหรือไม่ แต่ถ้าหากไม่มา คดีก็จะหมดอายุความ การนำตัวผู้ต้องหามาลงโทษตามกฎหมายก็อาจจะไม่สามารถกระทำได้ ทุกวันนี้ญาติผู้เสียชีวิตทุกคนก็ยังคงรอคอยคำแถลง คำขอโทษ หรือคำแสดงความเสียใจจากผู้รับผิดชอบ รวมถึงการปรับปรุงมาตรการหรือวิธีการในอนาคตเพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้อีก ไม่ว่าพื้นที่ใดก็ตาม โดยต้องให้ความสำคัญกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เครื่องมือฟอกขาวของรัฐไทย แต่ความจริงมองคนไม่เท่ากัน พลเมืองชั้นสองไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียม
พรชิตา ฟ้าประทานไพร เริ่มต้นจากการอธิบายถึงสภาพภูมิศาสตร์และบริบทของหมู่บ้านกะเบอะดิน ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่พรชิตาเติบโตและอาศัยอยู่ หมู่บ้านกะเบอะดินตั้งอยู่ในตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้อาศัยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเอะญอและประกอบอาชีพเกษตรกร เป็นหมู่บ้านที่สุขสงบและอุดมสมบูรณ์ จนกระทั่งเมื่อราวปี 2562 คนในหมู่บ้านเริ่มได้รับข้อมูลของโครงการก่อสร้างเหมืองแร่ขนาดใหญ่ในพื้นที่อมก๋อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ พวกเขาจึงได้ออกมาต่อต้านเรื่องนี้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตของเขา
พวกเรา (ชาวบ้านหมู่บ้านกะเบอดิน) เริ่มต้นจากการสื่อสารเรื่องราวของพวกเรา บริบทและการต่อสู้ที่ผ่านมา ถ่ายทอดออกไปสู่สายตาของคนภายนอก เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่าทำไมชาวบ้านกะเบอะดินถึงต้องลุกขึ้นมาสู้กับเหมืองแร่ถ่านหิน ขั้นตอนต่อมาคือการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมและออกมาช่วยกันยืนหยัดต่อสู้เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของตนเอง และเราก็ยังได้ใช้กระบวนการยุติธรรม ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอน EIA (รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) เนื่องจากเราตรวจพบว่า EIA ที่บริษัทเหมืองแร่ฯ ทำขึ้นนั้นไม่ถูกต้อง บิดเบือนข้อมูล ไม่เป็นไปตามความจริง
ส่วนคำถามว่าประเทศไทยได้รับที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนนั้นจะช่วยแก้ไขปัญหาของชาวอมก๋อยอย่างไร พรชิตาเห็นว่าก็ยังมีผลน้อยมาก เพราะปัจจุบันเอง ประเทศไทยก็ยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองวิถีชีวิตของคนกลุ่มชาติพันธุ์ แม้จะมีการพูดถึงอยู่บ้างตามอนุสัญญาฯ หรือตามปฏิญญาสากลฯ พวกเรายังถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสองหรือชั้นสาม เรื่องนี้เราไม่ได้พูดเอง แต่เวลาที่เราสื่อสารกับคนข้างนอก พวกเขาก็บอกว่าเห็นพวกเราเป็นแบบนั้นเหมือนกัน พวกเราถูกกล่าวหาถูกตีตราว่าสกปรก ค้ายาเสพติด ทำลายป่า อย่างในช่วงที่ผ่านมา มีคนบอกว่าเราเป็นสาเหตุของน้ำท่วม แต่เรามองว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากเรา หากแต่เกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พวกเขาไม่ควรจะบอกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ทำให้เกิดน้ำท่วม
หากรัฐเห็นว่าสิทธิมนุษยสำคัญจริง ๆ เราก็อยากให้รัฐส่งเสริม สนับสนุน และให้โอกาสคนกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียมเหมือนกับที่กลุ่มพลเมือง ๆ อื่นได้รับ และอีกหนึ่งปัญหาที่คนไม่ค่อยเอ่ยถึง คือ กฎหมายที่รัฐอนุญาตให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เข้าไปทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ได้ โดยไม่ได้เปิดให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจหรือแม้แต่ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขา
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อาจเป็นเพียงเครื่องมือที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับประเทศไทย ว่ารัฐไทยเคารพสิทธิมนุษยชน แต่เราจะอยากบอกว่า ในบริบทของชุมชนของเรา เรายังประสบปัญหา ยังมีความเหลื่อมล้ำที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เข้ามาทำในพื้นที่ของเรา คำถามของเราคือ รัฐไทยจะมีกลไกใดมาช่วยสร้างความชอบธรรมและขยายโอกาสของประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและสมกับการเป็นพลเมือง
เหตุการณ์ตากใบอายุความไม่ควรถูกนำมาใช้ปฏิเสธความยุติธรรม โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ผู้อาศัยต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
สัณหวรรษ ศรีสด จากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล เริ่มต้นอธิบายว่า กลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมีอยู่ด้วยกันหลากหลายกลไก หนึ่งในกลไกเหล่านั้นคือ กลไกพิเศษสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือที่รู้จักกันในชื่อ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทย ต่อจากนี้เองก็จะได้รับและมีบทบาทเป็นผู้ร่วมคัดเลือกผู้รายงานพิเศษ แต่งตั้ง รับรายงาน และพิจารณารายงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของพวกเขา
ซึ่งผู้รายงานพิเศษนี้เองเพิ่งได้ออกจดหมายถึงรัฐบาลไทยกรณีเหตุการณ์ตากใบล่าสุด ในช่วงเมื่อวานที่ผ่านมา โดยมีความน่าสนใจหลายประการ ประการแรกคือรายงานดังกล่าวระบุว่า อายุความ ไม่สามารถถูกนำมาใช้ในการปฏิเสธความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากกรณีเหตุการณ์ตากใบได้ และทางผู้รายงานพิเศษฯ ขอเน้นย้ำว่า ตามมาตรฐานกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศนั้น การชดเชยเยียวยาความเสียหายไม่อาจหยุดลงเพียงเพราะเวลาผ่านไป และความล้มเหลวในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่เองก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในตนเอง พร้อมเสนอแนะให้ควรมีการแก้ไขกฎหมายอายุความ โดยเฉพาะในกรณีของการซ้อมทรมานหรือบังคับสูญหายไม่ให้มีอายุความ
สัณหวรรษ ยังอธิบายต่อไปว่า หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็เคยออกข้อสังเกตเชิงสรุปว่าตรวจพบการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย การวิสามัญฆาตกรรม การบังคับสูญหายและการลอยนวลพ้นผิดไม่ต้องรับโทษที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะว่าจะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในเรื่องนี้ รวมถึงการดำเนินคดีอย่างเป็นกลาง และการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมารับผิดชอบ หากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเทศไทยเราได้รับรายงานเรื่องพวกนี้มานานแล้ว และในด้านการดำเนินการ เราเองก็มีความพยายาม มีการเขียนแผนแม่บท เขียนแผนพัฒนา มีการเขียนเอกสารกันภายใน แต่เมื่อลงไปพื้นที่จริง ๆ มันเกิดปัญหาในขั้นปฏิบัติการ ปัญหาส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข อีกจุดหนึ่งที่เราอาจจะสามารถดูได้ คือรายงานการดำเนินการของเราที่ต้องยื่นส่งตามกลไกสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่มักไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องคอยติดตามกันต่อไป
กรมองค์กรระหว่างประเทศหวังว่าจะสามารถนำพัฒนาการสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศมาใช้กับประเทศไทย
ตัวแทนจากกรมองค์กรระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนจากกรมองค์กรระหว่างประเทศ ก็ขอแจ้งรับทราบความคิดเห็นของทุกท่านในวันนี้ ที่ผ่านมากระทรวงต่างประเทศก็พยายามมีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องกับองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งในมุมมองของกระทรวงต่างประเทศ การที่เป็นประเทศไทยได้รับเลือกเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็จะช่วยส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชน ทั้งในส่วนของภาครัฐและสาธารณชนของประเทศไทย เพื่อที่เราจะได้ร่วมทำงานกันอย่างเข้มแข็งต่อไป
และในเดือนหน้านี้ ประเทศไทยเองก็จะได้ต้อนรับการมาเยือนอย่างเป็นทางการของสองกลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติ คือ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติในประเด็นการเลือกปฏิบัติต่อเด็กหญิง และผู้รายงานพิเศษทางด้านสิทธิสุขภาพ และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำพัฒนาการสิทธิของมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศมาบังคับใช้กับประเทศไทย ท่ามกลางสภาพการณ์ความท้าทายใหม่จากบริบทด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่เป็นพัฒนาการใหม่ในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนในการนำแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศไทยที่ได้คิดค้นขึ้นเพื่อนำไปแบ่งปันในเวทีระดับประเทศ เช่น ประเด็นด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองดูแลผู้ต้องขังหญิง บัตรสุขภาพ เป็นต้น
(https://www.ilaw.or.th/articles/47295)
(https://www.facebook.com/photo?fbid=957610646412555&set=a.625664032940553)