ในสังคมพหุวิสัย ย่อมได้เห็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทะลุม่านวัฒนธรรมออกมาได้เสมอ ดังปรากฏในเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่าง ‘เจ้าของ’ และกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ลอส แองเจลีส ไทมส์ วันนี้
เมื่อ ดร.แพ้ตทริค ซุนเชียง สั่งห้ามหนังสือพิมพ์ของเขาตีพิมพ์บทยรรณาธิการสนับสนุน คามาล่า แฮริส เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ในการเลือกตั้งเดือนหน้านี้ ทั้งที่เป็นธรรมเนียมของหนังสือพิมพ์ที่จะประกาศสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ
และเป็นเรื่องไม่แปลกอะไรที่กองบรรณาธิการของ ลอส แองเจลีส ไทมส์ เลือกที่จะสนับสนุนคามาล่า ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่ของนครลอส แองเจลีส หรือกระทั่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียโดยรวม ท่วมท้นไปด้วยฝักฝ่ายการเมืองเสรีนิยม
การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของมหาเศรษฐีพันล้านผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ ในความรู้สึกของฝ่ายการเมืองอนุรักษ์นิยมย่อมเป็นการใช้พลังที่เป็นของตนต่อต้านขัดขวางแนวทางที่ไม่เห็นด้วย ดร.ซุนเชียงเคยทำอย่างนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.๒๐๒๐
นายแพทย์เจ้าของกิจการไบโอเท็ค เคยยับยั้งไม่ให้หนังสือพิมพ์ของเขาตีพิมพ์สนับสนุน เอลิซาเบ็ธ วอเร็น วุฒิสมาชิกสายเสรีนิยม ในการเลือกตั้งเบื้องต้นของพรรคเดโมแครทเพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีนั้น
คราวนี้เขาสั่งให้กองบรรณาธิการตีพิมพ์เสนอภูมิหลังของแฮริสและทรั้มพ์ทั้งคู่ เมื่อกอง บก.ไม่ยอมทำตามนั้น เขาจึงสั่งห้ามการสนับสนุนไม่ว่าฝ่ายใด แต่กองหาเสียงของทรั้มพ์ก็คว้าเอาไปเป็นประเด็นเข้าข้างตน ว่าดูสิในบ้านของคามาล่าแท้ๆ
เช่นนี้สมาชิกในกอง บก.คนหนึ่งประกาศลาออกเพื่อประท้วง ทั้งที่การที่หนังสือไม่ตีพิมพ์สนับสนุนแฮริส คะแนนนิยมของเธอในมหานครและทั้งมลรัฐก็มากกว่าทรั้มพ์หลายขุมอยู่แล้ว มารีล การ์ซา บอกว่า “คนที่ซื่อสัตย์ต้องยืนขึ้นสู้”
ดร.ซุนเชียง ซึ่งเกิดในอาฟริกาใต้ ซื้อหนังสือพิมพ์ลอสแองเจลีสไทมส์ มาในราคา ๕๐๐ ล้านดอลลาร์ ในปี ค.ศ.๒๐๑๘ ขณะที่หนังสือพิมพ์ตกอยู่ในภาวะขาดทุนอย่างหนัก แล้วใส่เงินเข้าไปอีกร้อยกว่าล้านดอลลาร์เพื่อบูรณะขึ้นมาใหม่
แต่ปัจจุบัน แอลเอไทมส์ก็ยังไม่สมบูรณ์และยิ่งยงเหมือนอดีต เมื่อมกราคมที่ผ่านมาประกาศว่าจะต้องลดจำนวนคนงาน และเลิกจ้างราว ๑๑๕ คน นับเป็นการตัดออกจำนวนคนงานครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติ ๑๔๓ ปีของหนังสือพิมพ์