วันพุธ, พฤษภาคม 08, 2567

รมว.คลังคนใหม่ มั่นหน้าเอาจริง ประกาศแบ๊งค์ชาติ มีอิสระในการเลือกทางที่ดีที่สุด แต่ต้องสนองความต้องการของรัฐบาล

เดี๋ยว เดี๋ยว ลืมหูลืมตาเสียหน่อย อย่าเพิ่งรีบแบก ที่ อึ่งไข่บอก รมว.คลังคนใหม่ “สื่อสารง่ายๆ ฟังแล้ววางใจว่าท่านรู้จริง และเอาจริง” เอาจริงน่ะอาจจะใช่ แต่รู้จริงไม่แน่ เพราะจากที่พูดถึงแบ๊งค์ชาติว่าต้องตอบสนอง ภาครัฐนั้นเว่อ

พิชัย ชุณหวชิร พยายามอธิบายเรื่องความอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างอ้อมค้อม เลี่ยงคำ แต่อ่านภาษากายได้ว่าจุดหมายคือให้ทำตาม ก.คลังสั่ง “ทุกวันนี้อิสระอยู่แล้ว” เขาว่า “มีอิสระในการเลือกทางที่ดีที่สุด

แต่ทางเลือกนั้นต้องสนองความต้องการของประชาชน พูดอีกอย่างก็คือตอบสนองความต้องการของคนที่มาทำงานแทนประชาชน” พูดอ้อมค้อมขี่ม้าเลียบค่ายใช้คำ ภาครัฐ แทนรัฐบาล ฝ่ายค้านเขาก็ต้องแย้งแหละว่า เขาทำเพื่อประชาชนเหมือนกัน ซ้ำมากกว่า

ฉะนี้จึงตีความได้เลยว่า รมว.คลังคนใหม่ เอาจริงในการฟัดเหวี่ยงกับ ธปท.ไม่เลิกง่ายๆ คอการเมืองเลยคอยจับตา ดูสิว่า ครม.ชุดใหม่ของเศรษฐานี้ จะบีบ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ออกไปจากตำแหน่งผู้ว่าการฯ แบ๊งค์ชาติได้ไหม

แต่ช้าก่อน บางกอกโพสต์เพิ่งตีพิมพ์ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์สามคน จากภาควิชาการ และธุรกิจการเงินเอกชน ล้วนสนับสนุนความเป็นอิสระของธนาคารชาติจากแรงกดดันโดยรัฐบาลทั้งสิ้น เริ่มด้วย เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

“การลดอัตราดอกเบี้ยอย่างหักโหม จะกระทบความมั่นคงของเงินบาท และความเชื่อมั่นของนักลงทุน เป็นผลลบต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน” เขายังชี้ผลกระทบของการลดอัตราดอกเบี้ยอีกหลายอย่าง “หนี้ครัวเรือนเพิ่ม แล้วแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นหมัน”

ส่วน อมรเทพ จาวะลา หัวหน้าทีมเศรษฐกิจธนาคารซีไอเอ็มบี ออกมาย้ำความสำคัญของการเป็นอิสระของธนาคารชาติ เพราะ “ฝ่ายการเมืองเน้นเป้าหมายระยะสั้น เป็นการเสี่ยงภัยต่อความมั่นคงระยะยาว” ด้าน ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ยกประเด็นอัตราดอกเบี้ย

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการการศูนย์วิจัยธนาคารกสิกร กล่าวว่า “ขณะที่เงินดองของเวียดนามกำลังอ่อนตัว ธนาคารอินโดนีเซียก็เพิ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อหนุนเงินรูเปียห์ เหล่านี้เสริมแนวความคิดให้ธนาคารชาติไทยรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ ๒.๕% ตลอดปี ๖๗”

ขณะเดียวกัน บีเอ็มไออันเป็นหน่วยงานในเครือ ฟิทช์โซลูชั่น’ ให้ความเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเช่นที่รัฐบาลไทยต้องการ จะไม่มีผลยกระดับเศรษฐกิจมากนัก ล่าสุดการกระจายความเติบโตของเศรษฐกิจกำลังไปได้ดี การปรับอัตราดอกเบี้ยจะไม่มีผลอะไร

เสียงสะท้อนจากภาคเอกชนเหล่านี้ ควรจะช่วยเตือนภาครัฐอย่างทีมกระทรวงคลัง ว่าอย่าได้ถือดีกันมากนัก และต้องสำนึกด้วยว่า ภาครัฐจะอยู่ไม่ได้ถ้าตะบี้ตะบันไป ไม่ฟังภาคเอกชน

(https://www.bangkokpost.com/business/general/2788810/economists-back-bots-autonomy)