เดี๋ยว เดี๋ยว ลืมหูลืมตาเสียหน่อย อย่าเพิ่งรีบแบก ที่ ‘อึ่งไข่’ บอก รมว.คลังคนใหม่ “สื่อสารง่ายๆ ฟังแล้ววางใจว่าท่านรู้จริง และเอาจริง” เอาจริงน่ะอาจจะใช่ แต่รู้จริงไม่แน่ เพราะจากที่พูดถึงแบ๊งค์ชาติว่าต้องตอบสนอง ‘ภาครัฐ’ นั้นเว่อ
พิชัย ชุณหวชิร พยายามอธิบายเรื่องความอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างอ้อมค้อม เลี่ยงคำ แต่อ่านภาษากายได้ว่าจุดหมายคือให้ทำตาม ก.คลังสั่ง “ทุกวันนี้อิสระอยู่แล้ว” เขาว่า “มีอิสระในการเลือกทางที่ดีที่สุด
แต่ทางเลือกนั้นต้องสนองความต้องการของประชาชน พูดอีกอย่างก็คือตอบสนองความต้องการของคนที่มาทำงานแทนประชาชน” พูดอ้อมค้อมขี่ม้าเลียบค่ายใช้คำ ‘ภาครัฐ’ แทนรัฐบาล ฝ่ายค้านเขาก็ต้องแย้งแหละว่า เขาทำเพื่อประชาชนเหมือนกัน ซ้ำมากกว่า
ฉะนี้จึงตีความได้เลยว่า รมว.คลังคนใหม่ ‘เอาจริง’ ในการฟัดเหวี่ยงกับ ธปท.ไม่เลิกง่ายๆ คอการเมืองเลยคอยจับตา ดูสิว่า ครม.ชุดใหม่ของเศรษฐานี้ จะบีบ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ออกไปจากตำแหน่งผู้ว่าการฯ แบ๊งค์ชาติได้ไหม
แต่ช้าก่อน ‘บางกอกโพสต์’ เพิ่งตีพิมพ์ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์สามคน จากภาควิชาการ และธุรกิจการเงินเอกชน ล้วนสนับสนุนความเป็นอิสระของธนาคารชาติจากแรงกดดันโดยรัฐบาลทั้งสิ้น เริ่มด้วย เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
“การลดอัตราดอกเบี้ยอย่างหักโหม จะกระทบความมั่นคงของเงินบาท และความเชื่อมั่นของนักลงทุน เป็นผลลบต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน” เขายังชี้ผลกระทบของการลดอัตราดอกเบี้ยอีกหลายอย่าง “หนี้ครัวเรือนเพิ่ม แล้วแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นหมัน”
ส่วน อมรเทพ จาวะลา หัวหน้าทีมเศรษฐกิจธนาคารซีไอเอ็มบี ออกมาย้ำความสำคัญของการเป็นอิสระของธนาคารชาติ เพราะ “ฝ่ายการเมืองเน้นเป้าหมายระยะสั้น เป็นการเสี่ยงภัยต่อความมั่นคงระยะยาว” ด้าน ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ยกประเด็นอัตราดอกเบี้ย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการการศูนย์วิจัยธนาคารกสิกร กล่าวว่า “ขณะที่เงินดองของเวียดนามกำลังอ่อนตัว ธนาคารอินโดนีเซียก็เพิ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อหนุนเงินรูเปียห์ เหล่านี้เสริมแนวความคิดให้ธนาคารชาติไทยรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ ๒.๕% ตลอดปี ๖๗”
ขณะเดียวกัน ‘บีเอ็มไอ’ อันเป็นหน่วยงานในเครือ ‘ฟิทช์โซลูชั่น’ ให้ความเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเช่นที่รัฐบาลไทยต้องการ จะไม่มีผลยกระดับเศรษฐกิจมากนัก ล่าสุดการกระจายความเติบโตของเศรษฐกิจกำลังไปได้ดี การปรับอัตราดอกเบี้ยจะไม่มีผลอะไร
เสียงสะท้อนจากภาคเอกชนเหล่านี้ ควรจะช่วยเตือนภาครัฐอย่างทีมกระทรวงคลัง ว่าอย่าได้ถือดีกันมากนัก และต้องสำนึกด้วยว่า ภาครัฐจะอยู่ไม่ได้ถ้าตะบี้ตะบันไป ไม่ฟังภาคเอกชน
(https://www.bangkokpost.com/business/general/2788810/economists-back-bots-autonomy)