การตายของ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ พิสูจน์ความจริงได้อย่างหนึ่ง และลบล้าง (ด้วยน้ำมะพร้าวรดหน้า) ต่อคำปรามาสของนังแบกตัวเอ้ ที่ว่าไม่มีนักกิจกรรมคนไหนอดอาหารด้วยอุดมการณ์อย่างจริงจังถึงตาย ขณะเดียวกับทำให้การรณรงค์เพื่อนิรโทษกรรมฟังขึ้นยิ่งนัก
“ไม่ควรต้องมีผู้ต้องขังคดีการเมืองในประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพ ในประเทศที่เป็นนิติรัฐและปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย” เป็นคำประกาศของกลุ่มทำกิจกรรม ‘จุดเทียนส่งบุ้ง’ ที่หน้าศาลอาญา เมื่อค่ำวันที่ ๑๔ พฤษภาคม
“เราขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง และนิรโทษกรรมประชาชน โดยรวมคดีมาตรา ๑๑๒ ให้ประชาชนทุกฝ่ายได้กลับคืนสู่ความปกติ” รวมถึง “ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอีกต่อไป”
ประจวบกับก่อนหน้านี้เมื่อ ๘ พฤษภา สำนักเลขาฯ สภาผู้แทนแจ้งต่อศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนฯ ว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ที่ภาคประชาชนเสนอไว้นั้นผ่านด่านปราการแรก ไม่ถูกจัดเข้าเป็นร่าง กม.เกี่ยวกับการเงิน แล้วไปถูกดองไว้ใน ครม.
“ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนนี้ เป็นร่างกฎหมายเพื่อยุติการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง และเป็นก้าวแรกของการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย โดยมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมลงชื่อจำนวน ๓๖,๗๒๓ คน”
ขณะนี้เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในหลายประเด็น เช่น เห็นด้วยไหมให้นิรโทษแก่ผู้ชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ ๑๙ กันยา ๔๙ โดยให้พ้นความผิดอย่างสิ้นเชิง และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “ลบทะเบียนประวัติอาชญากรรม”นั้นด้วย
ทั้งนี้โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมขึ้นดำเนินการ อีกทั้งถามว่าเห็นด้วยหรือเปล่าที่จะไม่นิรโทษ “เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงหรือการสลายการชุมนุมที่ได้กระทำไปเกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามมาตรา ๑๑๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา”
อย่างไรก็ดีสภาผู้แทนฯ ได้จัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ๓๕ คน ศึกษาแนวทางตรา พรบ.ดังกล่าว มี ชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธาน และนัดประชุมกันไปแล้ว ๑๐ ครั้ง ล่าสุดมีมติ (๒ พ.ค.) ขยายเวลาศึกษาเพิ่มเติมออกไปอีก ๖๐ วัน นัดประชุมกันอีกครั้งต่อไป ๑๖ พ.ค.นี้
ระหว่างนี้เป็นจังหวะที่ดี “ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนมาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” นี้บนเว็บไซ้ท์ของรัฐสภา > https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php... อย่าปล่อยให้หงอยเหงา