วันจันทร์, ตุลาคม 24, 2565

ว่ายข้ามโขง : จาก "หมอริท" ฝากถึง "โตโน่" บริจาค รพ. ช่วยหมอ-พยาบาล ได้จริงหรือ



ว่ายข้ามโขง : จาก "หมอริท" ฝากถึง "โตโน่" บริจาค รพ. ช่วยหมอ-พยาบาล ได้จริงหรือ

23 ตุลาคม 2022
ธันยพร บัวทอง
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ข้อความที่ “หมอริท” แพทย์และนักร้องชื่อดัง ทวีตข้อความฝากถึงรุ่นพี่ “โตโน่” ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ที่เพิ่งจบภารกิจว่ายข้ามโขงระดมเงินบริจาคช่วยแพทย์พยาบาล สะท้อนบางส่วนของปัญหาในระบบสาธารณสุขไทย

ล่าสุด โครงการ "หนึ่งคนว่าย หลายคนให้" ของ “โตโน่” มียอดเงินบริจาคเกินกว่า 60 ล้านบาท

“หมอริท” นพ.เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ Ritz Rueangritz S. ใจความว่า ต่อให้บริจาคเป็น 1,000 ล้านบาท แพทย์พยาบาลไทยก็ยังเหนื่อยเท่าเดิม ปัญหาการทำงานหนักของบุคลากรทางการแพทย์จนทำให้เกิดภาวะสมองไหล ปัญหาเรื่องค่าตอบแทน

นอกจากประเด็นการระดมเงินบริจาคเพื่อช่วยหมอพยาบาลแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจ คือ บางส่วนของข้อความหมอริทที่ชี้ว่า คนไทยได้รักษาพยาบาลฟรี จึงไม่ดูแลสุขภาพ ทำให้เป็นภาระของโรงพยาบาล เป็นทัศนะที่เคยได้ยินได้ฟังจากแพทย์ผู้ให้บริการอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงผู้นำรัฐบาล ที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยกล่าวเมื่อปี 2561

"วันนี้คนมักจะเป็นโรค ความดันสูง เบาหวาน มะเร็ง สมองเสื่อม แต่ทุกคนบอกสบาย ช่างมัน ไม่ต้องออกกำลังกาย เดี๋ยวไปรักษาฟรี พอไม่ได้คุณภาพด่าคนรักษา" พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่มีชื่อในช่วงเริ่มต้นนโยบายว่า 30 บาทรักษาทุกโรค เกิดขึ้นในไทยเมื่อปี 2544-2545 สร้างหลักประกันให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ครอบคลุมสิทธิทุกประเภททั้งสิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิบัตรทอง คนต่างด้าว โดยปัจจุบันมีคนไทยได้ใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองกว่า 47.6 ล้านคน

จากข้อความของ "หมอริท" นี้ สะท้อนถึงปัญหาสาธารณสุขไทยบางส่วนที่อาจไม่ถูกกล่าวถึงในการมีกิจกรรมระดมเงินบริจาค บีบีซีไทย สำรวจประเด็นต่าง ๆ ที่ปรากฏในข้อความจากนักร้องนักแสดงรายนี้

เพราะรักษาฟรี ทำให้คนไทยไม่ดูแลสุขภาพ ?

หมอริท กล่าวว่า ต่อให้โตโน่ว่ายน้ำข้ามโขงเป็น 10 รอบ ได้เงินบริจาคมากว่า 1,000 ล้าน "หมอ พยาบาล เค้าก็เหนื่อยเท่าเดิมครับ" หลังจากนั้นได้บรรยายถึงระบบสุขภาพของประเทศไทย คือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ "คนไทยจะป่วยยังไง ก็มีการรักษารองรับ"

แม้ว่าหมอริทจะกล่าวว่า "คนจนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา" แต่ก็มีทัศนะที่ชี้ว่า เพราะคนไทยได้รักษาพยาบาลฟรี จึงไม่ดูแลสุขภาพ ทำให้เป็นภาระของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นข้อความที่เคยได้ยินได้ฟังจากแพทย์ผู้ให้บริการอยู่บ่อยครั้ง

"คนจนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา แต่ข้อเสียก็คือ คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ ซึ่งทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ยังได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม"

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จริง ๆ แล้ว ก็เพิ่มขึ้นทุกปี แต่เป็นการเพิ่มและขยายบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้ครอบคลุมโรคและปัญหาสุขภาพของคนไทยมากขึ้น รวมทั้งค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว

แล้วการรักษาฟรี ทำให้คนไทยไม่ดูแลสุขภาพจริงหรือ

จากงานวิจัยเรื่องผลกระทบจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเรื่องระบบสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงจากกรณีประเทศไทย (The impact of Universal Health Coverage on health care consumption and risky behaviours: evidence from Thailand) เมื่อปี 2013 ได้นำข้อมูลสุขภาพและพฤติกรรมของคนไทย จากฐานข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ มาวิเคราะห์ว่า กลุ่มคนไทยที่ได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลใน โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีพฤติกรรมด้านสุขภาพเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากมีโครงการฯ เทียบกับในช่วงก่อนมีโครงการที่ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลโดย งานวิจัยดังกล่าวชี้ว่า ไม่มีหลักฐานว่าคนมีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่เสี่ยงขึ้น หรือพยายามดูแลสุขภาพน้อยลง โดยผลสรุปจากวิจัย มีดังนี้
  • ไม่มีหลักฐานว่าคนมีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่เสี่ยงขึ้น หรือพยายามดูแลสุขภาพลดลง หลังจากเกิดระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากข้อมูลงานวิจัยพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ลดลง ส่วนการดื่มสุราคงที่ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการเข้ามาถ่วงดุลจากการมีแคมเปญรณรงค์ลดการสูบบุหรี่และการดื่มสุราจากหน่วยงานด้านสุขภาพ ที่เริ่มรณรงค์ในช่วงปี 2545
  • มีการไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพประจำปีมากขึ้นหลังจากมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค งานวิจัยชี้ว่ามีความแตกต่างระหว่างปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงก่อนมีโครงการ กับปี 2546 ช่วงหลังเกิดโครงการ ในกลุ่มผู้หญิงที่เข้ารับการตรวจสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงนี้ มีผลอย่างมากต่อระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในแง่ค่าใช้จ่ายรักษาด้านการรักษาพยาบาลที่ลดลงได้ในอนาคต เพราะการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันช่วยทำให้มีการวินิจฉัยที่รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
  • ค่าใช้จ่ายในการไปหาหมอหรือรักษาพยาบาลของคนทุกกลุ่มลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชาย ลดลง 7,800 บาท รองลงมาคือ กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้อาศัยในเขตเทศบาล
  • เข้ารักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในมากขึ้น 2% แต่การแอดมิทที่ รพ. ที่มีระยะเวลาเฉลี่ยยาวนานขึ้นในกลุ่มแรงงานนอกระบบไม่ได้เป็นเพราะปัจจัยจากคนไข้ แต่เกิดจากระบบค่าใช้จ่ายรายหัวที่เป็นแรงจูงใจให้หน่วยบริการดูแลผู้ป่วยใน รพ. นานขึ้น


หมอ พยาบาล ทำงานเกิน 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

"ทุกวันนี้หมอไทยยังต้องทำงานเกินเวลาตามระเบียบกำหนด ทำให้เกิดภาวะสมองไหล หมอ ๆ ก็ออกนอกระบบโรงพยาบาลรัฐกันหมด หมอก็น้อยลง งานก็ยังหนัก ผลิตหมอเท่าไหร่ก็ไม่พอ ก็วนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆครับ ถึงบอกว่าเงินบริจาคเยอะแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยให้หมอหายเหนื่อยครับ" คือ หนึ่งในประเด็นที่หมอริท กล่าว

"การผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนใช้เวลาเกือบ 13 ปี เพื่อฝึกฝนให้เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านนั้น ๆ นอกจากงานที่หนัก ทำงานหนักสุดเกิน 120 ชั่วโมง/สัปดาห์ ค่าตอบแทนเหล่านี้ เป็นธรรมจริงหรือ" ข้อมูลสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งกำลังเคลื่อนไหวผลักดันการแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานของที่ยาวนานของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ และค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ตั้งคำถาม

เพจของสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เล่าถึงสถานการณ์ของแพทย์ที่ต้องทำงานต่อเนื่องในเวรดึกว่า ได้รับค่าตอบแทนแบบเหมาจ่าย สำหรับตัวเลขของศัลยแพทย์ที่ปฏิบัติงานตอนกลางคืนในโรงพยาบาลรัฐ พวกเขาได้รับค่าตอบแทนเงินเวรเหมาจ่าย 68 บาท/ชั่วโมง โดยตัวเลขอาจแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด แต่จากประกาศเดิมปี 2552 อยู่ที่ 34 บาท/ชั่วโมง

"คืนนั้น จะกี่คน ก็ราคาเหมาๆ ทำงานเริ่ม 08.00 เช้า (หรือเช้ากว่านั้นถ้าต้องดูผู้ป่วยใน) ถึง 16.00 เย็น อยู่เวรที่เลือกไม่ได้ว่าจะอยู่หรือไม่เพราะไม่มีบุคลากรอื่นมาทดแทน จาก 16.00 เย็น ต่อจนถึง 08.00 เช้าวันต่อไป และทำงานในวันนั้นต่อจนกว่าจะเลิกงาน"

ในปี 2562 รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผลสำรวจภาระงานและภาวะหมดไฟในการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขและผลกระทบต่อผู้ป่วย ที่มีผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นแพทย์ทั้งสิ้น 1,105 คน โดย รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ วิจัยไว้เมื่อปี 2562 ชี้ว่า มีแพทย์ทำงานเกิน 80 ชั่วโมง/สัปดาห์ จำนวน 90% และมีแพทย์ทำงานเกิน 120 ชั่วโมง/สัปดาห์ คิดเป็น 60% ส่วนแพทย์ที่ตอบแบบสำรวจว่าทำงานติดต่อกันมากกว่า 24 ชั่วโมง มีทั้งสิ้น 90%

นอกจากนี้ 90% ของแพทย์ผู้ตอบแบบสำรวจ ยังระบุว่า สถานการณ์ภาระงานที่หนักยังมีผลทำให้เกิดการรักษาผิดพลาดเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ

นี่เป็นตัวเลขจริง ที่สวนทางกับประกาศของแพทยสภา เมื่อปี 2560 ที่กำหนดชั่วโมงการทํางานของแพทย์นอกเวลาราชการ ไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ และระยะเวลาการทํางานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน

“พี่บอกว่าหมอพยาบาลเสี่ยง คำถามคือ แล้วใครปล่อยให้หมอพยาบาลทำงานภายใต้ความเสี่ยง? ถ้ารู้ว่าเค้าทำงานแบบเสี่ยงอยู่ ทำไมผู้มีอำนาจโดยตรงถึงมองไม่เห็นและไม่สามารถจัดการปัญหานั้นโดยเร่งด่วนได้ หรืองบประมาณไม่เพียงพอ แล้วถ้างบไม่พอจริงๆ ทำไมไม่รายงานขึ้นไป ทำไมต้องรอเงินบริจาค?” นี่คือ คำถามจากหมอริท ที่เขียนข้อความบนทวิตถึง “โตโน่”


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว สาธารณสุข สวมกอด "โต่โน่" ในระหว่างกิจกรรมโครงการ "หนึ่งคนว่าย หลายคนให้" ที่ สปป. ลาว เมื่อ 22 ต.ค. 

แพทย์ของ รพ. รัฐ สมองไหล

ข้อมูลจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ชี้ให้เห็นสถานการณ์กำลังคนในกระทรวงดังนี้
  • มีแพทย์ออกจากกระทรวงสาธารณสุข 40% ต่อปี
  • เวลาขอตำแหน่งแพทย์ไปที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) มักจะได้แค่ 80% ของที่ขอไป เนื่องจากปัญหาเรื่องงบประมาณ
  • สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรที่ไม่รวมแพทย์กำลังศึกษาอยู่ที่ 1 ต่อ 3,626 คน
  • สัดส่วนแพทย์ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 1 ต่อ 548 คน แต่บางจังหวัด เช่น อีสาน อาจไปถึง 1 ต่อ 3,500 คน
สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้บุคลากรในวงการสาธารณสุข ยังผลักดันการแก้ปัญหาต่อเนื่อง โดยวันที่ 25 ต.ค. นี้ สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน และเครือข่ายพยาบาล จะร่วมทวงถามความคืบหน้า การแก้ปัญหากำหนดชั่วโมงการทำงานแพทย์ ต่อคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร