วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 27, 2565

‘ไอติม’ แจงอีก แก้ไข ม.๑๑๒ เป็นผลดีกับสถาบันกษัตริย์

วนมาที่เรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญา ม.๑๑๒ อีกครั้ง หลังจากที่พรรคก้าวไกลเสนอเป็นนโยบาย แล้วมีหลายพรรครีบออกตัวกันว่า ไม่แก้ ไม่แก้ ไม่แก้ แต่สัจจธรรมในสังคมเวลานี้ อนุชนรุ่นสามสิบกว่าลงไปบอกไม่ต้องแก้ แต่ให้ยกเลิกไปเลย

พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกลออกมาชี้แจงผลดีที่จะได้จากการแก้ไข ม.๑๑๒ อย่างหนึ่งก็คือ จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และประชาชนที่มีความคิดอ่านก้าวหน้า ผูกมัดจิตใจต่อกันและกันชื่นมื่นขึ้น มิใช่ไม้เบื่อไม้เมาเช่นเป็นอยู่ทุกวันนี้

ที่จริงสิ่งที่ ไอติม นำมา “ชี้แจง” เพื่อเพื่อนๆ พรรคการเมืองอื่นจะได้เข้าใจ ไม่ “คลาดเคลื่อน หรืออาจเป็นความจงใจที่จะบิดเบือน” นั้น ได้มีการระบุและให้เหตุผลไว้แล้วตั้งแต่เริ่มมีการรณรงค์ (ผ่าน ครก.) แก้ไขกฎหมายนี้ เมื่อก่อน

ไม่ว่าประเด็น กำหนดโทษหนักเกินกว่าความเหมาะสม จนทำให้หลักการปกป้องสถาบันกษัตริย์มีจุดเด่นอยู่ที่ความเหี้ยมโหด มิควรต้องให้เป็นภาพลักษณ์สถาบันกษัตริย์ ข้อเสนอลดโทษหมิ่นเดชานุภาพไปเหลือคุกไม่เกิน ๑ ปี ปรับไม่เกิน ๓ แสน จึงลงตัวที่สุด

“การกำหนดผู้ฟ้องให้ชัดเจน” เป็นอีกประเด็นผิดผีผิดไข้ที่ต้องแก้ เพราะเกิดการใช้กฎหมายนี้กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามการเมือง หรือผู้เห็นต่าง พฤติกรรมของ ศรีสุวรรณ จรรยา นั่นชัดแจ้งที่สุด หากแต่ยังมีผู้ประพฤติเช่นนี้อีกมากมายทั่วประเทศ

ยกตัวอย่างคดี ๑๑๒ #ฟ้องทางไกล ต่อ พิพัทธ์ ชาวพิษณุโลก อายุ ๒๐ ปี ทำงานอยู่ลพบุรี แต่ถูกฟ้องที่ สภ.บางแก้ว-ศาลสมุทรปราการ ซึ่งเพิ่งยกฟ้องวันนี้เพราะศาลเห็นว่า อุราพร สุนทรพจน์ “นักฟ้องมือฉมังคนหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ” แสดงหลักฐานไม่แจ่มชัดหรือสมจริง

พวกนักฟ้องเหล่านี้ มักจะมีคดีที่ตนเป็นโจทก์กันคนละหลายๆ คดี เช่นพบว่าอุราพรฟ้องอย่างเดียวกัน ๕ คดี แต่ยังสู้ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ไม่ได้ที่ทำสถิติมากกว่า ถึง ๙ คดี ส่วนหนึ่งเป็นการกลั่นแกล้งฟ้องในที่ไกลๆ ทำให้เกิดความยากลำบากเดินทางไกลไปศาล ขาดงาน เสียเวลา

พริษฐ์ยังเอ่ยถึง “ข้าราชการบางกลุ่ม นำชื่อของสถาบันฯ ไปปกปิดการทุจริตของตน” และ “การวางขอบเขตการบังคับใช้” ที่คลุมเคลือ ไม่มีความแน่นอน “ความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้น อาจกระทบต่อสถาบันฯ แม้สถาบันฯไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง...ก็ตาม

ข้อหลังนี้เองที่ทำให้กฎหมายหมิ่นกษัตริย์กลายเป็นปีศาจร้ายในสังคมไทย เพราะเอาไปตีความการกระทำและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างเสรี ว่า หมิ่นฯ ไปเสียทั้งหมด ทั้งๆ ที่เป็นการติติงให้ถูกต้อง แต่ถูกข้อหากระทำผิด

ความศรัทธาจึงหมดไป ร้ายกว่านั้นผู้ที่หมดศรัทธาก็ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นฯ เสียอีก ครั้นไม่มีเหตุผลเพียงพอทางกฎหมายเพื่อเอาผิด ก็ผลักดันให้ไปเป็นคนวิกลจริตเสียฉิบ จันทร์อะไร ไตแลนเดีย

(https://www.matichon.co.th/politics/news_3638867 และ https://www.facebook.com/iLawClub/posts/pfbid0VA)