วันอังคาร, ตุลาคม 25, 2565

#สังหารหมู่ตากใบ 25 ตุลาคม พ.ศ.2547 ความรุนแรงและอาชญากรรมของรัฐต่อชาวมุสลิม คุณทราบไหมว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ไม่มีผู้ใดถูกลงโทษ


ตากใบ : ทำไมไม่มีใครถูกลงโทษจากการตายหมู่ของชาวมุสลิม? - BBC News ไทย

Oct 19, 2019

BBC News ไทย

ผ่านมา 15 ปี กับเหตุการณ์ตากใบ การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านที่จบลงด้วยการสลายการชุมนุม จับกุมผู้ประท้วง และนำตัวเข้าค่ายทหาร แต่ด้วยวิธีดำเนินการที่ขาดวิจารณญาณ ผู้สั่งการบกพร่องในหน้าที่ จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
 
แต่ทราบไหมว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ไม่มีผู้ใดถูกลงโทษ

.....

The Momentum
October 24, 2021

25 ตุลาคม 2547
โศกนาฏกรรม ‘ตากใบ’
.
วันนี้ เมื่อ 17 ปีก่อน เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 85 ศพ และกลายเป็นรอยร้าวระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนที่สืบเนื่องยาวนาน
.
โศกนาฏกรรมตากใบเกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีพลเอก สัมพันธ์ บุญญานันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และพลโท พิศาล วัฒนวงษ์คีรี เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 และเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ห่างจากอำเภอตากใบประมาณ 30 กิโลเมตร
.
จุดเริ่มต้นเริ่มจากการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยชาวบ้านเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหายักยอกปืนของทางราชการ ซึ่งชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่า ชรบ.ทั้ง 6 คนกระทำการดังที่ถูกกล่าวหา นำมาซึ่งการชุมนุมใหญ่ ต่อมา ตำรวจ-ทหารได้ตัดสินใจสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา ทั้งยังมีการใช้กระสุนจริงจนมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 7 คน (5 คน มีบาดแผลถูกยิงบริเวณศีรษะ) ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย
.
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้บังคับให้ผู้ชุมนุมหมอบลง ผู้ชุมนุมหญิงถูกแยกออกจากพื้นที่ ขณะที่ผู้ชุมนุมชาย 1,370 คน ถูกสั่งให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง และขึ้นไปนอนคว่ำซ้อนกันเป็นชั้นๆ บนรถจีเอ็มซีของทหาร เพื่อนำไปคุมขังที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่ห่างออกไปกว่า 150 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมงในการเดินทาง คำสั่งจากผู้บังคับบัญชาในเวลานั้นคือ ‘ขนไปให้หมด’ แม้จะมีรถบรรทุกอยู่แค่ 20 คัน ก็ตาม…
.
นั่นทำให้รถหนึ่งคันมีคนนอนซ้อนกันถึง 4-5 ชั้น หลายคนขาดอากาศหายใจเสียชีวิตระหว่างทาง เมื่อถึงปลายทาง สุดท้ายก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 78 ราย ทั้งหมดเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง รวมถึงรัฐบาล และผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ที่ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้
.
แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในขณะนั้น กล่าวถึงผลการตรวจพิสูจน์ศพในเบื้องต้นว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่มีบาดแผลฉกรรจ์ที่จะบ่งชี้ได้ว่าเสียชีวิตจากการปะทะ และคาดว่าการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากขาดอากาศหายใจและการฉีดแก๊สน้ำตาใส่ เพราะบริเวณตาขาวมีเลือดออก ประกอบกับการขนย้ายผู้ต้องหาทั้งหมดมีความแออัดยัดเยียด รถที่ขนส่งไม่เอื้ออำนวยการในการขนส่ง และใช้เวลาในการขนส่งนานถึง 6 ชั่วโมง ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม ทำให้กลุ่มผู้ที่เสียชีวิตจากการชุมนุมขาดอาหารและขาดน้ำตาล จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในขณะขนส่ง
.
1 วันถัดมา ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกฯ บอกว่า กรณีมีผู้ตายกว่า 80 ราย เป็นเรื่องที่น่าเศร้าและไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่ใช่เพราะเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธทำร้ายพวกเขา แต่เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ เนื่องจากอดอาหาร อดน้ำ ตากแดดทั้งวัน พอขึ้นไปเบียดเสียดยัดเยียดกันในรถ ใช้เวลานานกว่าจะวิ่งถึงที่หมาย คนเหล่านั้นจึงขาดอากาศหายใจและเป็นเหตุของการเสียชีวิต
.
แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถหยุดยั้งความสงสัยของสังคม ประชาคมมุสลิม รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศได้ประณาม ‘เหตุการณ์ตากใบ’ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ เป็น ‘อาชญากรรมของรัฐ’ วีซีดีบันทึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมถูกจ่ายแจกในสังคมมุสลิม และประชาชนอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกัน เสียงเรียกร้องให้ผู้สั่งการออกมาแสดงความรับผิดชอบก็ดังขึ้นเรื่อยๆ
.
คณะกรรมการ 11 คนที่รัฐบาลแต่งตั้งเพื่อสืบสวนหาความจริงกรณีตากใบ ได้รายงานข้อค้นพบในเดือนธันวาคม 2548 ผลสรุปมีตั้งแต่ความผิดพลาดในแง่วิธีการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังติดอาวุธและใช้กระสุนจริง โดยเฉพาะการใช้กำลังทหารเกณฑ์และทหารพรานซึ่งมีวุฒิภาวะไม่สูงพอเข้าร่วมในการเข้าสลายการชุมนุม อันเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นแบบแผน อีกทั้งผู้บังคับบัญชายังละเลย ไม่ควบคุมดูแลการลำเลียงและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารชั้นผู้น้อย ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผน ไม่เป็นไปตามวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล
.
ขณะเดียวกัน ผลสอบคณะกรรมการยังระบุความผิดของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ 3 ราย ได้แก่
.
1. พลโท พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา
.
2. พลตรี สินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ปฏิบัติงานไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา จากกรณีพบว่าในรถบรรทุกมีคนตาย แต่กลับมิได้มีคำสั่งหรือดำเนินการใดๆ
.
3. พลตรี เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ในเวลานั้น ผู้ควบคุมกำลังและเป็นหน่วยภาคยุทธวิธีในการสลายการชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ปฏิบัติงานไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา
.
ในอีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสภาทนายความ จัดตั้ง ‘ศูนย์นิติธรรม’ เพื่อให้การช่วยเหลือด้านคดีความแก่ประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ โดยช่วยหาทนายความให้ความรู้และให้คำปรึกษาเรื่องคดีความแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ใน 3 คดีสำคัญ ได้แก่
1. คดีผู้ต้องหาในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายจำนวน 58 คน ซึ่งภายหลังอัยการถอนฟ้อง
2. คดีผู้ชุมนุมที่ตากใบเสียชีวิต 85 คน
3. คดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากการตายโดยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
.
ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐได้พยายามช่วยเหลือเยียวยา ทั้งช่วยค่าทำศพแก่ญาติและครอบครัวผู้สูญเสีย ตลอดจนให้ทุนเด็กกำพร้า 64 คน แต่ก็ไม่สามารถชดเชยความทุกข์ยากและความเจ็บปวดระหว่างการเป็น ‘จำเลย’ ต้องคดีความที่ผ่านมาได้
.
เดือนมิถุนายน 2555 ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธโอกาสของผู้เสียหายจากกรณีตากใบอีกครั้ง ในการเรียกร้องความยุติธรรมขอไต่สวนการตายของเหยื่อบนรถบรรทุกทั้งหมด โดยมีคำสั่งยกคำร้องต่อการอุทธรณ์คำสั่งไต่สวนการตายเมื่อปี 2552 เนื่องจากคำสั่งศาลจากการไต่สวนการตายเมื่อเดือนตุลาคม 2547 ระบุเพียงว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ ซึ่งหมายความว่าไม่มีใครถูกลงโทษจากปฏิบัติการครั้งนี้ และยังคงเป็นอีกอาชญากรรมโดยรัฐ ที่เจ้าหน้าที่ทุกคนลอยนวลพ้นผิด
.
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ทักษิณตอบคำถามสั้นๆ ในแอพพลิเคชัน ‘คลับเฮาส์’ หลังจากมีผู้ถามถึงเหตุการณ์ตากใบว่า “รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ตอนนั้นอยู่ในการควบคุมทหาร ผมก็ได้รับรายงาน ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้ เสียใจ”
.
คำพูดของทักษิณอาจดูเหมือนปัดความรับผิดชอบ แต่ปริศนายังคงดำรงอยู่จนถึงวันนี้ว่า มีเหตุอันใดที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรีบเคลียร์พื้นที่ ใครคือผู้สั่งการตัวจริง และเพราะเหตุใดเรื่องนี้จึงจบด้วยการ ‘ลอยนวลพ้นผิด’ ทั้งที่อีกหลายเรื่องหลายคดีในยุคทักษิณนั้น ทักษิณและคณะรัฐมนตรีก็ถูกกระบวนการยุติธรรมเอาผิดแทบทั้งนั้น จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถกลับประเทศได้จนถึงวันนี้
.
หรือเรื่องนี้อาจไม่เกี่ยวกับทักษิณโดยตรง หรือเรื่องนี้อาจมีผู้เกี่ยวข้องมากเกินไปโดยเฉพาะ ‘ฝ่ายทหาร’ ทำให้การสืบสวนหาข้อเท็จจริงไม่เคยไปถึง
.
คำตอบทั้งหมด ยังคงล่องลอยอยู่ในสายลม...
.
ภาพ: Reuters
.
#TheMomentum #StayCuriousBeOpen #TheMomentumOnThisDay #ตากใบ #17ปีตากใบ #ทักษิณ #ความยุติธรรม #วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด #ปัญหาภาคใต้ #นราธิวาส