วันอาทิตย์, กรกฎาคม 06, 2568

กรณีการส่งคืนโบราณวัตถุ 20 รายการให้กัมพูชา ถูกคนบางกลุ่มนำมาบิดเบือนอย่างจงใจกล่าวหาว่ารัฐบาลแพทองธาร “ขายชาติ ยกสมบัติให้ต่างประเทศ” ทั้งที่ข้อเท็จจริงทั้งหมดชัดเจนว่า ไม่ใช่ของเรา

.....

พายุ เนื่องจำนงค์
July 3
·
ขออนุญาตอธิบาย: กรณีการส่งคืนโบราณวัตถุ 20 รายการให้กัมพูชา กลับถูกคนบางกลุ่มนำมาบิดเบือนอย่างจงใจกล่าวหาว่ารัฐบาลแพทองธาร “ขายชาติ ยกสมบัติให้ต่างประเทศ” ทั้งที่ข้อเท็จจริงทั้งหมดชัดเจนและได้มีมติ ครม. สืบเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้านี้แล้ว

คำถามคือ - กลุ่มคนที่กล่าวหานี้ทราบข้อเท็จจริงหรือไม่? หรือรู้แต่จงใจบิดเบือนเพื่อหวังผลอะไรบางอย่าง? เพราะข้อเท็จจริงกรณีนี้มีดังนี้..

1. โบราณวัตถุเหล่านี้ไม่เคยเป็นสมบัติของประเทศไทยตั้งแต่ต้น

2. ถูกกรมศุลกากรยึดไว้เมื่อปี 2543 ขณะถูกลักลอบนำเข้าจากสิงคโปร์โดยผิดกฎหมาย

3. กรมศิลปากรตรวจสอบหลายครั้ง ก่อนที่กัมพูชาจะส่งหลักฐานยืนยันกรรมสิทธิ์อย่างเป็นทางการในปี 2567

4. รัฐบาลไทยจึงดำเนินการตามหลักฐาน ข้อกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศ

ในระดับสากล การคืนโบราณวัตถุเช่นนี้ถือเป็น “มาตรฐานของประเทศที่เจริญแล้ว” เพราะสะท้อนความรับผิดชอบในฐานะ “รัฐภาคีที่สุจริต” ภายใต้กรอบของ UNESCO และความตกลงทวิภาคี ไทย-กัมพูชา ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย ไม่ใช่อคติทางการเมือง

รัฐบาลไทยไม่ได้ “ยกให้” แต่ “คืนของที่ไม่ใช่ของเรา” ตามกระบวนการที่ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนและที่สำคัญทั้งหมดเกิดก่อนที่ท่านนายกฯแพทองธารจะมาเป็น รมว. กระทรวงวัฒนธรรมด้วยซ้ำไป (ท่านเพิ่งเข้ากระทรวงวันนี้เป็นวันแรก) การนำรูปท่านมาประกอบพาดหัวข่าวเช่นนี้เหมือนมีเจตนาสร้างความเข้าใจผิด..

ยิ่งไปกว่านั้นการกระทำของรัฐบาลยังเป็นหลักฐานชัดเจนว่า..

- ประเทศไทยไม่สนับสนุนการลักลอบขนย้ายและค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นของชาติใด

- ประเทศไทยยึดหลักนิติธรรมไม่ใช่ปลุกกระแสโหนชาตินิยมบิดเบือนความเป็นจริงเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม

ใครก็ตามที่ยังพยายามบิดเบือนและป้ายสีว่า “รัฐบาลยกสมบัติชาติให้เขมร” ก็เท่ากับว่าบุคคลเหล่านั้นกำลังดูถูกสติปัญญาของประชาชน และกำลังลดเกียรติภูมิของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก.. รัฐบาลนี้ไม่โหนความชาตินิยมราคาถูกเพื่อเอาตัวรอด

แต่เลือกที่จะยืนหยัดบนหลักฐานกฎหมาย และความสุจริตที่ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เพราะการรักษาเกียรติของประเทศไม่ใช่การยึดของคนอื่นไว้ด้วยความเงียบงัน (เช่น บางประเทศที่ได้ไปทำการยึดมาเองในสมัยล่าอณานิคม) แต่คือการกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้ท่ามกลางเสียงที่พยายามบิดเบือนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการนำมาโจมตีครับ

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1262371495508472&set=a.473184067760556


.....

Atukkit Sawangsuk
6 hours ago
·
อุ๊งอิ๊งเป็นรัฐมนตรีวัฒนธรรม
โดนพวกคลั่งชาติรังควานจนหวาดผวา กระทั่งยับยั้งการส่งกลับโบราณวัตถุ 20 ชิ้น อ้างงบไม่พอ อ้างสถานการณ์ระหว่าง 2 ประเทศ
ทั้งที่เป็น "ของโจร" ลักลอบนำเข้าจากสิงคโปร์โดยผิดกฎหมาย ศุลกากรยึดได้ เมื่อปี 2543 กรมศิลปากรตรวจสอบหลักฐานยืนยันว่าเป็นของกัมพูชา ส่งไปให้แล้ว 23 ชิ้นจาก 43 ชิ้น นี่เป็นชุดสุดท้ายที่จะส่ง 20 ชิ้น
ยังมีพวกคลั่งขี้ตู่ว่า "สมบัติชาติ" ทั้งที่เป็น "ของโจร"
:
ในมุมกลับกัน เรื่องแบบนี้ต่างหากที่อาจกลายเป็นประเด็นให้กัมพูชาอ้างได้ว่า โดนรังแก
เพราะมันไม่เป็นธรรมกับเขาจริงๆ ที่มากั๊ก "ของโจร"
หรือพวกนี้แม่-จะอ้างว่า เขมรเป็นจังหวัดของไทยมาก่อน พระเจ้าชัยวรมันเป็นคนพิมาย ฯลฯ
:
ทำอย่างไรฝ่ายประชาธิปไตย-รวมถึงพรรคส้ม จะต้องช่วยกันลดกระแสคลั่งชาติ
เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่มีเครดิตแล้ว
เรื่องนี้สำคัญมากต่ออนาคตประชาธิปไตย
นี่ท้วงติงมาตลอด พรรคส้มพลาดที่ไม่เบรกชาตินิยมทหารนิยม
(แต่ไม่ใช่เป็นคนปลุกคลั่งชาติอย่างที่พวกแบกยัดข้อหา)
ถึงตอนนี้แม้อาจเบรกยาก ต้องหาจังหวะ แต่ก็ต้องช่วยกันเบรก จับทีละประเด็น
มันเป็นไปหมดแม้แต่คนในฝ่ายก้าวหน้า แบบปลุกเกลียดชัง "โค่นล้มระบอบฮุนเซน" มันไม่ได้ช่วยให้สติเรื่องปัญหาชายแดน
.....

ไทม์ไลน์ 43 วัตถุโบราณกัมพูชา ไทยตรวจยึด 25 ปีก่อน ล่าสุด “อิ๊งค์” สั่งชะลอส่งคืน


4 ก.ค. 2568
ไทยรัฐออนไลน์

กรณีดราม่าในโลกโซเชียลขณะนี้ พุ่งเป้าโจมตี “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ และ รมว.วัฒนธรรม ป้ายแดง ว่ามีการคืนวัตถุโบราณจำนวน 20 รายการให้กับรัฐบาลกัมพูชา ท่ามกลางกระแสความนิยมที่ลดลงจาก “คลิปเสียง” สนทนาลับกับ “อังเคิล” ฮุน เซน ก่อนที่จะมีการตอบโต้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง และเตรียมเอาเรื่องคนที่ปล่อยเฟกนิวส์

สำหรับไทม์ไลน์ของ “วัตถุโบราณ” ที่ถูกพูดถึงอยู่นี้ เริ่มต้นจากการตรวจยึดของเจ้าหน้าที่ศุลกากรไทย จากการลักลอบนำเข้าวัตถุโบราณกว่า 43 รายการ จากประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี 2543 หรือกว่า 25 ปีก่อน จึงมีการนำของกลางไปเก็บไว้ที่คลังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นวัตถุโบราณจากที่ใด เพื่อส่งคืนประเทศต้นทาง

ต่อมา ในระหว่างปี 2552-2558 มีการตรวจสอบเสร็จสิ้น และยืนยันว่า วัตถุโบราณที่ตรวจยึดมาส่วนหนึ่ง จำนวน 23 รายการ มีต้นทางมาจาก “กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านของไทย จึงมีการดำเนินการส่งคืนตามกฎหมายระหว่างประเทศ และข้อตกลงร่วมกัน

ขณะที่ 20 รายการที่เหลือนั้น ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า เป็นวัตถุโบราณของใคร เพราะมีความใกล้เคียงกันระหว่างของไทยและกัมพูชา จึงยังไม่ดำเนินการส่งคืนอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะตรวจพิสูจน์ทราบให้ถ่องแท้ก่อน

กระทั่งมาถึงในวันที่ 21 พ.ค.2567 ครม. ในขณะนั้น ได้มีมติให้ส่งวัตถุโบราณอีก 20 รายการที่เหลือ หลังผ่านการตรวจสอบแล้วเสร็จ ส่งคืนให้กัมพูชาประเทศต้นทาง ผ่านช่องทางบก ไปยังเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา โดยคาดไว้ว่าจะดำเนินการในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2568

แต่หลังจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ที่อยู่ระหว่างถูกปฏิบัติหน้าที่ และเพิ่งรับตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม ไปสดๆ ร้อนๆ เพียงไม่กี่วัน กลับโดนข่าวโจมตีว่า มีคำสั่งให้คืน 20 วัตถุโบราณแก่กัมพูชา จนล่าสุด ในการเข้าทำงานวันแรกที่กระทรวงฯ น.ส.แพทองธาร ชี้แจงกับที่ประชุมและสื่อมวลชนที่เข้ารับฟังว่า

ปัจจุบันเรื่องวัตถุโบราณดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมเพื่อจัดส่งคืน ซึ่งงบประมาณในปีปัจจุบันไม่เพียงพอในการขนส่ง และไม่เป็นเรื่องเร่งด่วนในการของบกลาง จึงต้องส่งเรื่องเพื่อขอตั้งงบประมาณของกระทรวง พร้อมทั้งสั่งให้มีการทบทวนไว้ก่อนด้วย ด้วยความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักของทั้ง 2 ประเทศ

นอกจากนี้ น.ส.แพทองธาร เตรียมดำเนินคดีกับผู้ที่ปล่อยข่าวเฟกนิวส์ ทำให้ถูกโจมตีอย่างหนัก และกระทบกับความรู้สึกของคนไทยด้วย

อย่างไรก็ดี วัตถุโบราณ 20 รายการนี้ จะยังอยู่ที่ไทยต่อไป จนกว่าจะมีงบประมาณรอบใหม่ และจะมีความคลี่คลายของสถานการณ์ระหว่างไทย-กัมพูชา

https://www.thairath.co.th/scoop/infographic/2868538