วันพฤหัสบดี, เมษายน 03, 2568

การต่างประเทศของไทยในช่วงยี่สิบปีมานี้ น่าจะล้มเหลวในเรื่องเครดิตและเกียรติภูมิมาก ที่สำคัญคือแลกทุกอย่างไปแล้ว ประเทศและประชาชนไม่ได้ดีขึ้น ไม่ได้อะไรขึ้นมา เศรษฐกิจแย่ลง ดูเหมือนจะมีแต่ชนชั้นนำหยิบมือเดียวที่ได้ผลประโยชน์

.....

กระทรวงต่างประเทศแถลงได้รับคำยืนยันว่า #มินอ่องหล่าย จะเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวเบงกอล #BIMSTEC ที่กรุงเทพฯ (3-4 เม.ย.)
.....

สำนักข่าวชายขอบ
6 hours ago
·
แรงงานพม่าในไทยผิดหวังรัฐบาลแพทองธารเชิญ “มิน อ่อง หลาย”ร่วมประชุมBIMSTEC ชี้เปิดพื้นที่ให้เผด็จการที่ฆ่าประชาชน “รศ.นฤมล”เผยเป็น “ดีลปีศาจ”ของแท้ หวังสร้างเงื่อนไขต่อรอง-นำบ้านเมืองเดิมพันเสี่ยง “กษิต”จวกยับทำลายศักดิ์ศรีชาติ
----------
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มาหวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์การที่รัฐบาลไทยได้เชิญ พล.อ.มินอ่องหลาย มาร่วมประชุมผู้นำ BIMSTEC หรือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation-BIMSTEC)ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่าวันที่ 3-4 เมษายนนี้ว่า ตนคิดว่ารัฐบาลไทยตอนนี้ส่วนหนึ่งที่คุยกับรัฐบาลมินอ่องหลาย คือใช้การทูตแบบเดิม รัฐบาลไทยคงประเมินว่าคุยกับรัฐบาลพม่าทางการ ซึ่งไทยก็ไม่ได้มีอำนาจต่อรองมากสักเท่าไหร่กับกรณีของพม่า ซึ่งเรื่องนี้เราไม่เห็นด้วย แต่เหมือนรัฐบาลไทยไม่ได้คิดแบบนั้น
“เราประเมินรัฐบาลไทยว่าอาจมองว่า ในเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ก็อยากแสดงบทบาทว่ารัฐบาลไทยสามารถเชิญพม่ามามาคุยได้ ซึ่งอันวาร์ อิบบราฮิม (นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและประธานอาเซียน) จะคุยหลายรอบ แต่ผ่านไปแล้ว 4 เดือนก็ยังทำไมได้ ไทยอาจคิดว่าจำเป็นที่จะต้องมีการแสดงท่าทีในการเจรจา ขณะเดียวกันผลจากการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ชายแดนไทยพม่า ในแง่นี้รัฐบาลไทยเองอาจประเมินว่าฝากความหวังกับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ได้ไม่มาก รัฐบาลไทยอาจจะคิดเอาว่าจะสามารถสร้างอำนาจต่อรองได้ เพราะสามารถเจรจากกับพม่าได้ แต่ก็จะต้องจ่ายในราคาแพงมากในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลไทยก็เสียหายมาแล้วจากกรณีส่งกลับชาวอุยกูร์ การดีลกับจีนและพม่านั้นเป็นคนละแบบ รัฐบาลคงเอาประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นฐานในการพิจารณา”รศ.ดร.นฤมล กล่าว
“กรณีนี้ไทยอาจประเมินว่าใช้วิธีการ realist politics ทั้งในเรื่องสัญญาก๊าซธรรมชาติของปตท.กับพม่าเหลืออีก 3 ปี ไทยตอนนี้วิกฤติเศรษฐกิจอยู่แล้ว รัฐบาลไทยเลือกที่จะเจรจากับรัฐบาลพม่า ทั้งในเรื่องแรงงานข้ามชาติ ที่รัฐบาลทหารพม่าพม่าไม่ยอมส่งแรงงาน MOU มาแล้วระยะหนึ่ง ทั้งเรื่องการปิดด่านที่ผ่านมา ไทยคิดแบบ neo liberal ในทางเศรษฐกิจมากกว่าคิดเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งคนไทยเองก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่คนไทยอาจไม่ได้แสดงท่าทีมาก ที่น่าเศร้าคือประชาชนพม่าที่หนีภัยสงครามเข้ามาเขาเห็นวิธีการของรัฐบาลไทยครั้งนี้คงรู้สึกแย่” รศ.ดร.นฤมล กล่าว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯกล่าวว่า ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นคงไม่คุ้ม แต่รัฐบาลไทยคงเมาหมัดด้านเศรษฐกิจอยู่ จึงพยายามที่จะเล่นบทบาททางการเมืองทั้งสองด้าน แต่จะได้ผลหรือไม่เพราะไทยไม่ใช่ประเทศใหญ่ ในมุมของรัฐบาลไทยอาจคิดว่าเป็นประเทศเดียว นอกเหนือจากจีนที่คุยกับผู้นำทหารพม่าได้ แต่คำถามคือคุ้มหรือไม่กับที่จะโดนด่าจากอาเซียน จากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และนานาชาติ ซึ่งต้องประเมินให้ดี แม้รัฐบาลไทยจะคิดว่าจะยอมโดนด่า แต่ต้องประเมินว่าประเทศเราจะได้อะไรด้วย
“ประเด็นสำคัญคือเมื่อเจอกับมินอ่องหลายแล้วรัฐบาลไทยจะคุยอะไร เช่น เป็นไปได้หรือไม่ที่ทหารพม่าจะประกาศหยุดยิง หรือปล่อยนักโทษการเมือง เช่น อองซานซูจี แบบนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นในยุคเขมรแดง เพียงแต่เราเห็นว่ารอบนี้รัฐบาลไทยเลือกใช้ประเด็นเศรษฐกิจมากกว่าประเด็นมนุษยธรรมและประชาธิปไตย ทั้งที่คุณเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย มันคุ้มรึเปล่า คนที่เล่นเกมนี้ มีความเสี่ยง คิดแล้วหรือยังว่าคุ้มหรือเปล่า ขนาดรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารคือรัฐบาลประยุทธ ก็ยังไม่กล้าทำแบบนี้เลย”รศ.ดร.นฤมล กล่าว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯกล่าวว่า ชัดเจนว่ารัฐบาลไทยไม่ได้คิดเรื่องประชาธิปไตย แต่คิดแค่เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและพลังงาน ฝ่ายความมั่นคงของไทยก็ไม่ได้มองกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ว่ามีอำนาจเท่ากับรัฐบาลทหารพม่าเห็นได้ชัดเจนกรณีการเคลียร์แหล่งอาชญากรรมและแก็งค์คอลเซนเตอร์ที่ชายแดนไทยพม่า ซึ่งรัฐบาลไทยก็ประสานอยู่กับรัฐบาลเนปีดอว์
“การที่เชิญมินอ่องหลายเข้ามาประเทศไทยในครั้งนี้ก็คงเป็น “ดีลปีศาจ” ของแท้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าว่า มีแต่ไทยที่จะดีลกับพม่าได้ ซึ่งเป็นการพนันที่ใช้เดิมพันราคาแพงไปหน่อย ไทยประเมินสูงไปหรือเปล่าว่าคุณกำหนดเกมนี้ได้ แม้จะไม่คิดเรื่องเมตตากรุณา มนุษยชนหรือมนุษยธรรมเลย แม้จะคิดเรื่องผลประโยชน์ประเทศล้วนๆ ก็ยังไม่รู้ว่าจะคุ้มหรือเปล่า”รศ.ดร.นฤมล กล่าว
นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า พล.อ.มิน อ่อง หลาย เป็นบุคคลที่โลกไม่ยอมรับและรัฐบาลของเขาถูกนานาชาติคว่ำบาตร แม้แต่มติภายในอาเซียนก็ระบุว่าการประชุมต้องไม่มี พล.อ.มิน อ่อง หลาย รวมทั้งคณะรัฐมนตรีและนายทหารพม่าเข้าร่วม อนุญาตให้เพียงข้าราชการประจำ แต่ประเทศไทยได้ละเมิดข้อห้ามในเรื่องนี้ โดยรัฐบาลแพทองธาร ได้เชิญ พล.อ.มิน อ่อง หลาย เข้าร่วมประชุมบิมสเทค ซึ่งผิดมติอาเซียน และหลักปฎิบัติสากล การตัดสินใจของรัฐบาลจึงสวนทางกับความรู้สึก เสมือนว่ารัฐบาลไทยเห็นดีกับการปฎิวัติรัฐประหารและไม่สนใจความรู้สึกชาวพม่าที่ฝักใฝ่อุดมการณ์ประชาธิปไตย
“การกระทำของรัฐบาลชแพทองธาร เหมือนไม่แคร์คนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งขณะนี้การสู้รบในสงครามกลางเมืองพม่า ซึ่งฝ่ายแพ้รัฐบาลทหารพม่าพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องจนถึงยึดพื้นที่ไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่จำนวนมากชาวบ้านกลายเป็นผู้พลัดถิ่นและไม่มีปัจจัยสี่ แม้แต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหว รัฐบาลทหารพม่าก็ยังเอาเครื่องบินไปทิ้งระเบิด เพราะฉะนั้นการเชิญ มิน อ่อง หลาย มาในครั้งนี้เท่ากับเป็นการเชิญฆาตกรระดับโลกมาประชุมด้วย ซึ่งประเด็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้นำทหารพม่า แต่อยู่ที่รัฐบาลแพทองธารที่เป็นผู้เชิญ” นายกษิต กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การประชุมบิมสเทคไม่ได้มีข้อห้ามในการเชิญ พล.อ.มิน อ่อง หลาย เหมือนอาเซียน ใช้เป็นข้ออ้างได้หรือไม่ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ฟังได้แค่ครึ่งเดียวเพราะในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน และยังเป็น 1 ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ด้วยหมวกทั้งสองใบจึงไม่ควรข้องแวะกับ พล.อ.มิน อ่อง หลาย และบิมสเทคเอง ก็ควรคำนึงความรู้สึกของชาวพม่าด้วย
“ตราบใดที่ไทยยังเป็นสมาชิกยูเอ็น สมาชิกมนตรีสิทธิมนุษยชน สมาชิกอาเซียน ซึ่งไม่มีใครเขาเอาด้วยกับ มิน อ่องหลาย เพราะฆ่าคน จับคนขังคุก และประชาชนพม่าต่อต้าน แล้วเราจะไปต้อนรับเขาได้อย่างไร การทำเช่นนี้เป็นการทำลายศักดิ์ศรีของประเทศ เพราะไปคบหากับเผด็จการ และฆาตกรสงคราม ที่สำคัญคือทำให้สังคมไทยต้องแตกแยกและแบ่งฝักแบ่งฝ่าย”นายกษิต กล่าว
ด้าน นายสุรัช กีรี แกนนำเครือข่ายแรงงานชาวพม่าในไทย ในนามกลุ่ม Bright future กล่าวว่ารู้สึกผิดหวังต่อการที่รัฐบาลไทยให้การต้อนรับ พล.อ.มิน ออง หล่าย ซึ่งเผชิญกับข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในประเทศเมียนมา การที่รัฐบาลไทยยังคงเปิดพื้นที่ให้ พล.อ.มิน ออง หล่าย เดินทางมาที่ประเทศไทย ถือเป็นการสนับสนุนระบอบเผด็จการทหาร ซึ่งทำให้ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยรู้สึกผิดหวังและไม่สบายใจอย่างมาก
“ มิน อ่อง หลาย ฆ่าประชาชนมากมาย และแม้เมื่อเกิดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในเมียนมา แต่รัฐบาลทหารก็ยังคงไม่หยุดใช้ความรุนแรง ทิ้งระเบิดใส่ประชาชน การที่รัฐบาลไทยยอมให้ผู้นำที่ก่อความรุนแรงมาที่นี่ เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้สนับสนุนการกระทำของรัฐบาลทหารเมียนมา”นายสุรัช กล่าว
นายสุรัชยังกล่าวว่า ในฐานะแรงงานพม่าที่ทำงานในประเทศไทยและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแรงงานพม่า รู้สึกผิดหวังที่รัฐบาลไทยเลือกที่จะยอมรับผู้นำที่ก่อการฆ่าประชาชน โดยไม่สนใจความรู้สึกของชาวพม่าที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีความเกลียดชังมิน ออง หล่าย อย่างมาก
“มันเหมือนกับว่ารัฐบาลไทยไม่ได้เห็นความทุกข์ทรมานของพี่น้องพม่า ที่พวกเราต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การที่รัฐบาลไทยเลือกที่จะประนีประนอมกับรัฐบาลทหารของมิน อ่อง หลาย เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนพม่าเลย” นายสุรัชกล่าว
ก่อนหน้านี้นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการแถลงข่าวการประชุม BIMSTEC SUMMIT ครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่กรุงเทพมหานคร โดยสื่อมวลชนสอบถามว่า พล.อ.มิน อ่อง ลาย ผู้นำเมียนมา จะเดินทางเข้าร่วมประชุมหรือไม่ นายนิกรเดช เปิดเผยว่า ผู้นำเมียนมา ยืนยันเข้าร่วมประชุม แต่ยังไม่ทราบกำหนดการอื่นๆว่าจะเดินทางมาถึงเมื่อใด
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวสอบถามว่านายกรัฐมนตรีจะมีการหารือทวิภาคีกับผู้นำแต่ละประเทศหรือไม่ ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบว่ามีการหารือแน่นอน แต่ไม่ได้ระบุว่าจะมีการหารือทวิภาคีกับผู้นำเมียนมาหรือไม่
ภาพจาก The Global New Light Of Myanmar

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2740546606156242&id=100006027885606


.....

ภัควดี วีระภาสพงษ์
7 hours ago
·
การต่างประเทศของไทยในช่วงยี่สิบปีมานี้ น่าจะล้มเหลวในเรื่องเครดิตและเกียรติภูมิมาก ที่สำคัญคือแลกทุกอย่างไปแล้ว ประเทศและประชาชนไม่ได้ดีขึ้น ไม่ได้อะไรขึ้นมา เศรษฐกิจแย่ลง ดูเหมือนจะมีแต่ชนชั้นนำหยิบมือเดียวที่ได้ผลประโยชน์