
21 ก.ค. ศาลอาญานัดไต่สวน กรณีธงชัยยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวน และยุติการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ต่ออานนท์ นำภา และผู้ต้องขังอื่นๆ
วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนกรณีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนโดยพลันและยุติการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีของมนุษย์ ต่อนายอานนท์ นำภา โดยในการไต่สวนครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน, คณะกรรมการแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ, นักวิชาการด้านกฎหมาย และอานนท์ นำภา มาเป็นพยานในนัดนี้
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ได้ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนโดยพลันและยุติการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อนายอานนท์ นำภา หลังพบเห็นอานนท์ปรากฏตัวในชุดเครื่องแบบนักโทษพร้อมกุญแจเท้าทั้งสองข้างระหว่างการเดินทางมาศาลและในห้องพิจารณาคดี ธงชัยมองว่าการใส่ชุดนักโทษ การใส่กุญแจเท้า หรือการใส่โซ่ล่ามระหว่างการพิจารณาคดี ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผิดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงอาจเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้น จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนโดยพลัน ตามมาตรา 26 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
ในคำร้องนี้ ธงชัยขอให้ศาลอาญาไต่สวนโดยพลัน และทบทวนการใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ให้สอดคล้องกับข้อห้ามตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 ที่มีใจความว่า “ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง” เพราะฉะนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ จึงต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการเพื่อให้สิทธิดังกล่าวได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน
ในคำร้องนี้ ธงชัยได้ให้เหตุผลไว้ว่า พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 บัญญัติห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่เพียงบางกรณี โดยหากต้องใช้เครื่องพันธนาการ ผู้สั่งใช้เครื่องพันธนาการต้องบันทึกเหตุผลหรือความจําเป็นที่ต้องใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขังนั้นไว้ด้วย จะเห็นได้ว่าเจตน์จำนงค์ของกฎหมายก็เพื่อห้ามใช้เครื่องพันธนาการ แต่ให้ใช้ได้เป็น “ข้อยกเว้น” เท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่ทว่า ทุกวันนี้การใส่พันธนาการได้กลายเป็นแนวปฏิบัติอย่างเป็นปกติ สำหรับแทบทุกกรณีเมื่อออกจากเรือนจำ มิใช่ข้อยกเว้นอีกต่อไป การปฏิบัติเช่นนี้ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้อาจ ส่งผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ต้องขังอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจ ร่วมกันติดตามนัดไต่สวนคำร้องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อยืนยันว่าสำนักงานศาลยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์จะทำหน้าที่พิจารณาการใช้กุญแจข้อเท้าและโซ่ล่ามผู้ต้องขังรายอื่นๆ เป็นรายกรณีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังเป็นการสร้างมาตรฐานและพัฒนาระบบบริหารจัดการในการควบคุมตัวผู้ต้องขัง เพื่อให้สิทธิของผู้ต้องขังได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง
https://crcfthailand.org/2025/07/18/60100/