วันอังคาร, มิถุนายน 03, 2568

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาประกาศยืนยันว่า จะเดินหน้าฟ้องคดีในศาลโลก แต่ไม่ง่าย


Phil Saengkrai
8 hours ago
·
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาประกาศยืนยันว่า จะเดินหน้าฟ้องคดีในศาลโลก

ในแง่กฎหมาย กำแพงด่านแรกที่กัมพูชาต้องเผชิญคือ ประเด็นปัญหาว่าด้วยอำนาจศาล ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ศาลโลกจะมีเขตอำนาจได้ ก็ต่อเมื่อรัฐคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ให้ความยินยอมเท่านั้น

ไทยเคยประกาศยอมรับอำนาจศาลเป็นการทั่วไปเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีที่แล้ว แต่หลังจากคำพิพากษาคดีพระวิหาร ปี ค.ศ. 1962 ฝ่ายไทยก็ไม่ได้ยอมรับเขตอำนาจในลักษณะนี้อีก

ด้วยเหตุนี้ ในคดีที่กัมพูชาฟ้องไทยเมื่อประมาณสิบปีก่อน กัมพูชาจึงต้องพยายามเฟรมข้อต่อสู้ว่าเป็นเรื่องการตีความคำพิพากษาในคดีเดิม ไม่ใช่ข้อพิพาทในเรื่องใหม่ เพื่อจะผ่านกำแพงเรื่องอำนาจศาลไปให้ได้

แต่ในครั้งนี้ ข้อพิพาทเรื่องสามเหลี่ยมมรกตนี้ เป็นเรื่องใหม่อย่างชัดเจน เป็นข้อพิพาทใหม่ ดังนั้น หากกัมพูชาต้องการจะนำคดีไปสู่ศาลโลก จึงต้องหา "ความยินยอม" จากฝ่ายไทยในเรื่องเขตอำนาจศาลให้ได้ ซึ่งมีอยู่ 3 แนวทาง

1) พยายามเจรจากับไทย เพื่อทำความตกลงนำข้อพิพาทไปสู่ศาลร่วมกัน ดังเช่นที่อินโดนีเซียกับสิงคโปร์เคยทำ

แนวทางนี้ จะเดินหน้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝ่ายไทยล้วนๆ

2) ค้นหาสนธิสัญญาที่ทั้งกัมพูชาและไทยเป็นภาคี และมีข้อบทที่อนุญาตให้ฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องคดีในศาลโลกได้เลย

แนวทางนี้ เป็นไปได้ยาก สนธิสัญญาที่มีข้อบทลักษณะนี้มีอยู่ไม่กี่ร้อยฉบับ เท่าที่ผมนึกดู ไม่น่าจะมีฉบับไหนที่เข้าข่ายให้กัมพูชาไปฟ้องไทยได้ฝ่ายเดียว

3) เดินหน้าฟ้องคดีฝ่ายเดียว แม้ฝ่ายไทยจะไม่ได้ยอมรับเขตอำนาจศาล ภาษาเทคนิคเรียกว่า forum prorogatum โดยรัฐโจทก์อาจจะยื่นฟ้อง พร้อมทั้ง "เชื้อเชิญ" ให้รัฐที่ถูกฟ้องยอมรับเขตอำนาจศาลในคดีนั้นๆตัวอย่างเช่น การฟ้องคดีเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ของอาร์เจนติน่าในสหรัฐอเมริกา กรณีนี้ แม้มีการยื่นฟ้อง คดีจะไม่ปรากฏในสารบบความ จนกว่ารัฐที่ถูกฟ้องยอมรับเขตอำนาจศาล ดังนั้น เราจึงไม่เห็นคดีอาร์เจนตินาฟ้องอเมริกาในสารบบความ เพราะอเมริกาปฏิเสธว่า ศาลไม่มีเขตอำนาจในคดีนั้นๆ

แนวทางนี้ น่าจะเป็น last resort สำหรับฝ่ายกัมพูชา และตรงกับแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีกัมพุชาในวันนี้ เพราะถึงแม้คดีจะไม่ปรากฏในสารบบความของศาล แต่อย่างน้อยก็นำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในประเทศต่อได้

ผมเดาว่า ถ้ากัมพูชาเลือกทางนี้จริง คงร้องขอให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวด้วย (คล้ายๆ กับที่ศาลไทยจะสังให้รัฐมนตรีระงับการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา) โดยอ้างว่ามีการใช้กำลังเกิดขึ้นแล้ว อาจจะทวีความรุนแรงได้ ดังนั้น จึงขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ทั้งฝ่ายระงับการใช้กำลัง ในแง่กฎหมาย เงื่อนไขข้อหนึ่งที่ศาลจะออกคำสั่งได้ คือ อย่างน้อย ศาลต้องน่าจะมีเขตอำนาจ ซึ่งหากเป็นการยื่นฟ้องแบบ forum prorogatum นี้ ศาลจะไม่มีเขตอำนาจจนกว่าฝ่ายที่ถูกฟ้องยอมรับ ดังนั้น ศาลจะออกคำสั่งไม่ได้ แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลกัมพูชาก็คงยังจะร้องขออยู่ดี เพราะจะได้นำคำร้องนี้ไปใช้ต่อในเวทีการเมืองภายในประเทศ

จากคดีพระวิหาร เราจะสังเกตเห็นยุทธศาสตร์การฟ้องคดีในศาลโลกของกัมพูชาอย่างหนึ่ง คือการใช้การฟ้องคดีในศาลโลกเป็นเครื่องมือปลุกความรู้สึกชาตินิยมในประเทศ และเพื่อสร้างกระแสความนิยมแก่รัฐบาล เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วที่ฟ้องไทยในศาลโลก ครั้งนั้น ก็ฟ้องในจังหวะที่มีการเลือกตั้งทั่วไป และร้องขอให้ศาลออกคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวได้

ครั้งนี้ก็คงไม่ต่างกันนัก

สเต็ปต่อไป หากกัมพูชาจะฟ้องจริงๆ คงจะส่งหนังสือมายังรัฐบาลไทย เพื่อชี้แจงอย่างละเอียดว่ามีข้อพิพาทกับไทยในประเด็นใด และฝ่ายกัมพูชามีความเห็นในประเด็นต่างๆ ว่าอย่างไร เพราะ ตามแนวทางคำพิพากษาศาลในปัจจุบัน เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล คู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องรู้ (หรือควรรู้) และเข้าใจตรงกันว่า มีข้อพิพาทกันว่าอะไร หากมาฟ้องโดยที่อีกฝ่ายไม่รู้รายละเอียดของข้อพิพาทเลย ศาลจะถือว่า ไม่มีข้อพิพาทระหว่างกันเลย

ดังนั้น ติดตามกันต่อไปว่า กัมพูชาจะส่งหนังสือทำนองนี้มายังรัฐบาลไทยหรือไม่

https://www.facebook.com/photo/?fbid=10165073400364989&set=a.143967509988