นักปรัชญาชายขอบ: ธรรมะมีไว้ทำไม
4 พฤศจิกายน 2567
ประชาไท
สภาวะที่เรียกว่า “ความเหลวไหล” ของระบบอำนาจทางการเมืองของบ้านเราคือ การที่รัฐบาลจากรัฐประหารอ้างภารกิจหลักว่าจะ “ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย” และปราบโกงให้หายไป แต่กลับสร้างรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นทำลายความเป็นประชาธิปไตย และทำให้อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้เข้มแข็งมากขึ้นโดยลำดับ ขณะเดียวกันก็ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนาน และสืบทอดอำนาจผ่านกลไกที่พวกเขาสร้างไว้ ส่วนรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนชูภารกิจหลัก “แก้ปัญหาเศรษฐกิจ” แต่กลับถูกทำให้เป็นง่อยในการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองให้ประชาธิปไตย และการคืนความยุติธรรมแก่ประชาชนที่ถูกกดปราบให้กลายเป็น “นักโทษทางความคิด” หรือนักโทษ 112
ใช่แต่รัฐบาลจากการเลือกตั้งยุคนี้เท่านั้นที่ไม่ได้รับ “ความเชื่อถือ” ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้จริง หากจำกันได้ ช่วงร่างรัฐธรรมนูญ 2540 (เป็นต้น) มีการปลุกกระแสสังคมให้เชื่อกันว่าหากปล่อยให้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองแก้รัฐธรรมนูญกันเอง ก็จะ “แก้เพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองเองเป็นหลัก” ซึ่งน่าสังเกตว่าความไม่เชื่อถือต่อพรรคการเมืองว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยได้เช่นนี้ ขัดกับการถือว่าพรรคการเมืองคือสถาบันตัวแทนของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ
รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เชื่อกันว่าเป็นประชาธิปไตยมากฉบับหนึ่งนั้นมาจาก “ภาคประชาชน” แต่แล้วเมื่อพรรคการเมืองมาเป็นรัฐบาลและบริหารประเทศตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ภาคประชาชนก็ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลด้วยข้อกล่าวหาทุจริตคอร์รัปชั่นและ “ล้มเจ้า” แล้วก็ตามมาด้วยรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยทิ้ง จากนั้นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารก็จัดให้ภาคประชาชนร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อปฏิรูปประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ได้มาจากการปฏิรูปประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลจากรัฐประหาร 2 ครั้งต่อเนื่องกัน ก็คือรัฐธรรมนูญที่เพิ่ม “อำนาจผูกขาดทางการเมือง” ให้กลุ่มชนชั้นนำมากขึ้นโดยลำดับ
ถึงตอนนี้รัฐบาลจากการเลือกตั้งและรัฐสภาจะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยก็ยากเย็นแสนเข็ญ ถูกสกัดทุกช่องทาง เช่นถูกห้ามแตะหมวดสถาบันกษัตริย์ ถูกเตะถ่วงโดย สว.สายสีน้ำเงิน ซี่งเป็น สว.ฝ่ายข้างมาก การนิรโทษกรรมคดีการเมืองก็ถูกกำหนด “ไม่ให้รวมคดี 112” ทั้งๆ ที่คดีนี้เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง หรือมี “ความเป็นคดีการเมือง” อันเนื่องมาจากการต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก และการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยมากกว่าคดีอื่นๆ เสียอีก
สรุปให้เห็นภาพชัดๆ คือ สภาวะที่เรียกว่า “ความเหลวไหล” ของระบบอำนาจทางการเมืองของบ้านเราคือ สภาวะที่ทำให้ทุกคนที่ต่างก็มองเห็น “ความเป็นจริง” ของปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยและความอยุติธรรมต่อประชาชนที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ต้องทำเป็นเสมือนว่ามองไม่เห็น ด้วยการไม่พูดถึง หรือพูดอ้อมๆ เฉียดๆ แล้วก็ยกเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยและการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนขึ้นมาเป็น “ปัญหาเร่งด่วน” แทนปัญหาที่แท้จริง และอ้างการไม่สร้างความแตกแยก ความปรองดองสมานฉันท์ลวงๆ ขึ้นมากลบเกลื่อนปัญหาที่แท้จริงและสำคัญมากกว่า
น่าสังเกตว่าความเหลวไหลของระบบอำนาจทางการเมืองดังกล่าว ดำเนินไปควบคู่กับความเหลวไหลทางศาสนาอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน กล่าวคือ ศาสนาสนิทเสน่หากับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่ครอบงำกดขี่ และระบบชนชั้นวรรณะมายาวนาน ยากจะตัดขาดจากกัน ส่วนที่ว่าช่วยให้พ้นทุกข์นั้น หมายถึงให้แต่ละคนลงมือทำเอง ได้แค่ไหนก็แค่นั้น แต่ทุกคนยังอยู่ใต้ระบบอำนาจกดขี่ที่ศาสนาปลูกฝังให้ศรัทธา
ตัวอย่างเช่นปรากฏการณ์ที่เราเห็นๆ พระที่มีชื่อเสียงทุกวันนี้แสดงความภูมิใจที่ดารา คนดัง คนรวย และผู้มีอำนาจทางการเมืองเข้าหา เพราะเชื่อว่าถ้าคนเหล่านั้นเข้าหาพระ เข้าวัด เข้าหาธรรมะ พวกเขาจะชักจูงประชาชนให้หันมาสนใจธรรมะ สนใจศาสนาได้มากขึ้น แต่นักคิดตะวันตกและตะวันออก เช่น มาคิอาเวลลี, รพินทรนาถ ฐากูรเป็นต้น เตือนไว้นานแล้วว่าถ้าเราต้องการมีศีลธรรม หรือซื่อตรงต่อความถูกต้อง ให้อยู่ห่างๆ จากอำนาจศาสนจักร และผู้มีอำนาจรัฐ พระเจ้าและธรรมะไม่ได้อยู่บนแท่นบูชาในศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ แต่อยู่กับคนธรรมดาทั่วไปที่ทำงานหนัก อยู่กับประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม และความเป็นคนเท่ากัน เยซูก็เตือนว่า "จะช่วยคนรวยให้ขึ้นสวรรค์นั้นยากยิ่งกว่าจูงอูฐลอดรูเข็ม" เป็นต้น
แต่น่าเศร้าที่พุทธศาสนาไทยมุ่งอวยชนชั้นปกครอง ผู้มีอำนาจรัฐ และคนรวย ดาราคนดัง มากกว่าที่จะร่วมสุขร่วมทุกข์กับประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและถูกกดปราบ ขณะที่การเมืองในสภาก็เลือกที่จะคล้อยตามอำนาจของชนชั้นปกครองมากกว่าที่จะต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมและอิสรภาพแก่ประชาชนที่ถูกดปราบ ถูกขังคุก และลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ
กระแสดราม่าในสื่อบ้านเราทุกวันนี้ มักเป็นเรื่องการประณาม “ความงมงาย” ของความเชื่อแบบบ้านๆ โดยทั่วไป ผู้รู้พุทธที่อ้างไตรปิฎกตัดสินความงมงายของ “ลัทธิเชื่อมจิต” เป็นต้น ก็ไม่เคยอ้างไตรปิฎกตัดสิน “ผ้ายันต์เลสเตอร์” ของพระผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมใน “มาตรฐานเดียวกัน” แต่อย่างใด
“ผ้ายันเลสเตอร์” ที่มา https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/616590
ขณะที่พากันตื่นตูม “คนตื่นธรรม” ว่าสอนธรรมะถูกต้องตามหลักคำสอนในไตรปิฎก แต่เราไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าสอนถูกต้องตามไตรปิฎกแล้วไงต่อ เช่น พระชื่อดังที่สอนถูกต้องตามหลักคำสอนในไตรปิฎก ก็สอนธรรมะอวยอำนาจทางการเมืองจากรัฐประหาร อวยชนชั้นปกครอง กระทั่งอวยความรวยได้อย่างไม่รู้สึก “เขินอาย” เช่นนั้นหรือ
หากพูดถึงผู้น้อมนำธรรมะของพระชื่อดังมาปฏิบัติ เราจะพบว่าผู้น้อมนำธรรมะตามคำสอน ว. วชิรเมธีมาปฏิบัติ คือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (เจ้าตัวพูดเองดู https://www.matichon.co.th/politics/news_3185961) และดิไอคอน กรุ๊ป ผู้น้อมนำธรรมะตามคำสอนพุทธทาสภิกขุมาปฏิบัติ คือ พธม.-กปปส. กำนันสุเทพพาพรรคพวกไปบวชที่สวนโมกข์เลย และผู้น้อมนำธรรมะตามคำสอนสมเด็จ ป.อ. ปยุตฺโตมาปฏิบัติ คือกลุ่มชาวพุทธทั้งพระและฆราวาสที่ออกมาเคลื่อนไหวให้บัญญัติพุทธเป็น “ศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญที่อ้างความคิดเรื่องความสำคัญของพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติไทยของสมเด็จปยุตฺโต
ที่มาภาพ http://www.anakame.com/page/5_Misc/N158.html
แน่นอนว่าตามความเป็นจริงย่อมมีคนหลากหลายที่ชอบธรรมะของพระดังทั้งสามรูปดังกล่าว แต่ผมยกมาเฉพาะที่เด่นๆ ที่แสดงตัว หรือเคลื่อนไหวอ้างคำสอนหรือความคิดของพระดังทั้งสามรูปนั้นอย่างเป็นที่ปรากฏในทางสาธารณะ
ถึงตรงนี้ คำตอบของคำถามที่ว่า “ธรรมะมีไว้ทำไม” อยู่ที่เราต้องทำความเข้าใจ “ความคิดพื้นฐาน” ของผู้รู้พุทธทั้งพระและฆราวาสที่มีอิทธิพลชี้นำทางความคิดในบ้านเรา เท่าที่อ่านงานของผู้รู้เหล่านั้นและได้เสวนาแลกเปลี่ยนโดยตรง ผมพบว่าพวกเขาจะคิดตรงกันว่า “ถ้าคนมีธรรมะสิทธิมนุษยชนก็ไม่จำเป็นต้องยกขึ้นมาพูดกันเลย” และพวกเขายังวิจารณ์ว่าต่อให้มีเสรีภาพมีหลักสิทธิมนุษยชน หรือเขียนรัฐธรรมนูญและบัญญัติกฎหมายอื่นๆ ให้ดียังไง หรือให้เป็นประชาธิปไตยยังไง ถ้าคนไม่มีธรรมะก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาอะไรได้จริง เพราะยังไงก็ยังมีความทุกข์อยู่ ยังพ้นทุกข์ไม่ได้จริง
ครั้นถูกถามว่าแล้วทำไมไม่ใช้ธรรมะแก้ปัญหาระบบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นประชาธิปไตย และแก้ปัญหาข่าวฉาวพระให้ได้ก่อนล่ะ ก่อนที่จะเสนอให้ใช้ธรรมะแก้ปัญหาการเมืองทางโลก ผู้รู้พุทธก็จะอ้ำอึ้ง และพูดเปรยๆ ว่า ปัญหาการปกครองคณะสงฆ์มันซับซ้อน “มีหลายเรื่องที่พูดไม่ได้” ก็แปลว่าผู้รู้พุทธต่างรู้ดีว่าปัญหาการปกครองสงฆ์มีหลายเรื่องที่พูดไม่ได้ แต่ดูเหมือนพวกเขาจะไม่ได้ตระหนักจริงจังเลยว่า “การไม่มีเสรีภาพในการพูดเป็นปัญหาใหญ่” เพราะการไม่มีเสรีภาพที่จะพูดความจริงทุกด้านนั่นแหละที่ทำให้ไม่สามารถใช้ธรรมะแก้ปัญหาการปกครองคณะสงฆ์ได้
นอกจากจะไม่ตระหนักถึงปัญหาการไม่มีเสรีภาพ บรรดาผู้รู้พุทธบ้านเรายังนิยมให้ข้อเสนอแบบ “กลับตาลปัตร” คือเสนอให้ “ใช้ธรรมะแก้ปัญหาการเมืองทางโลก” เช่น เสนอว่าเพราะธรรมาธิปไตยไม่มาจึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ หรือควรใช้วิธีปกครองแบบเผด็จการโดยธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นต้น แต่กลับเสนอให้รัฐ “บัญญัติกฎหมายแก้ปัญหาทางสงฆ์” โดยไม่รู้ว่านั่นเป็นข้อเสนอที่ขัดหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย เพราะเป็นการเสนอแบบ “ผิดฝาผิดตัว” คือให้เอาธรรมะตามความเชื่อทางศาสนามาแก้ปัญหาการเมืองทางโลก และเอาอำนาจรัฐซึ่งเป็นอำนาจทางโลกไปแก้ปัญหาทางศาสนา
เวลาพูดถึง “เสรีภาพ” และ “ประชาธิปไตย” บรรดาผู้รู้พุทธก็ดูจะจริงจังกับการวิจารณ์จุดอ่อน ข้อบกพร่อง หรือปัญหาของการใช้เสรีภาพและประชาธิปไตย เช่น เตือนสติประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยว่าอย่าใช้เสรีภาพในทางที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น อย่าใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นที่สร้างความแตกแยกและความรุนแรง หรือวิจารณ์ผิดๆ ว่า “ประชาธิปไตยตัดสินความเห็นได้ แต่ตัดสินความจริงไม่ได้” ทั้งๆ ที่ถ้าเป็นประชาธิปไตย ประชาชนย่อมมีเสรีภาพพูดความจริงได้ทุกด้าน ย่อมนำไปสู่การตัดสินความจริงได้มากกว่า ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น ระบบการปกครองสงฆ์ต่างหากที่ไม่มีเสรีภาพพูดความจริง จึงไม่สามารถใช้ธรรมะแก้ปัญหาของระบบเช่นนั้นได้
ที่มาภาพ https://www.youtube.com/watch?v=LKY-HfLZs18
อันที่จริงปัญหา จุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของประชาธิปไตยและการใช้เสรีภาพเป็นเรื่องที่วิจารณ์กันได้เป็นปกติอยู่แล้ว มีงานวิชาการของนักคิดตะวันตกจำนวนมากที่วิจารณ์ไว้ แต่เขาไม่วิจารณ์ผิดๆ เช่นนั้น และไม่ได้วิจารณ์บนจุดยืนที่ว่าประชาธิปไตยต้องมีธรรมะกำกับเท่านั้นจึงจะเป็นระบบที่ดีได้ หรือการใช้เสรีภาพต้องมีธรรมะกำกับจึงจะเป็นการใช้เสรีภาพที่เกิดผลดีได้จริง
กลับกัน เวลาพูดถึง “การปกครองโดยธรรม” บรรดาผู้รู้พุทธไม่เคยพูดถึงปัญหา จุดอ่อน หรือข้อบกพร่องใดๆ เลย เช่นเดียวกับเวลาพูดถึง “ชนชั้นปกครอง” ก็อวยอย่างเดียว กล้าที่จะสอน “ประชาชน” ว่าอย่าใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นที่สร้างความขัดแย้งแตกแยก ความรุนแรง หรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น แต่ไม่เคยกล้าเตือนสติชนชั้นปกครองว่าอย่าทำรัฐประหารและใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน เพราะขัดหลักศีลธรรมพุทธศาสนาและเป็นการสร้างความขัดแย้งแตกแยกในสังคมยิ่งกว่าการใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นอย่างเทียบกันไม่ได้เลย
ดังนั้น ตราบที่ธรรมะหรือศาสนายังสนิทเสน่หากับระบบอำนาจที่ครอบงำกดขี่และตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งเป็นที่มาของระบบการเมืองที่เหลวไหล ธรรมะหรือศาสนาย่อมเป็นเพียงสิ่งที่ถูกนำมาอ้างอิงใช้อย่างเหลวไหลของบรรดาผู้รู้พุทธและเครือข่ายชนชั้นนำที่ใช้ธรรมะหรือศาสนาเป็นจุดยืนในการวิจารณ์ข้อด้อยของประชาธิปไตย และการใช้เสรีภาพของประชาชน แต่กลับใช้เป็นเครื่องมืออวยการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และอวยชนชั้นปกครองเป็นด้านหลัก
คำเตือนที่ว่าถ้าเราต้องการมีศีลธรรม หรือซื่อตรงต่อความถูกต้อง ให้อยู่ห่างๆ จากอำนาจศาสนจักร และผู้มีอำนาจรัฐ เพราะพระเจ้าและธรรมะไม่ได้อยู่บนแท่นบูชาในศาสนสถานอันโอ่อ่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้อยู่กับชนชั้นปกครองที่ผูกขาดอำนาจ แต่อยู่กับคนธรรมดาทั่วไปที่ทำงานหนัก อยู่กับประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม และความเป็นคนเท่ากัน ก็จะไม่ถูกได้ยิน!
https://prachatai.com/journal/2024/11/111293