วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2567
เมื่อชุดต้องขัง บดบังครุยทนาย และการทำหน้าที่ทนายความของ อานนท์ นำภา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
14h ·
ในวันพรุ่งนี้ (25 พ.ย. 2567) ศาลอาญาในคดีชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง UN62" กำหนดนัดพร้อม เพื่อให้ตัวแทนจากสภาทนายความฯ มาชี้แจงเกี่ยวกับความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ทนายความของ "อานนท์ นำภา" ในขณะเป็นผู้ต้องขัง หลังจากก่อนหน้านี้ ศาลในคดีนี้พยายามทำหนังสือสอบถามไปยังสภาทนายความฯ ถึง 2 ครั้ง แต่สภาทนายความฯ ก็ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่ายังไม่ปรากฏว่าอานนท์ถูกลงโทษมรรยาททนายความ และคดีที่เขาถูกกล่าวหาก็ยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดี จึงยังมีคุณสมบัติการเป็นทนายความและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
.
ณัฐวรรธน์ แก้วจู ชวนทบทวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับทนายอานนท์ ผ่านการทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการชั่งน้ำหนักระหว่างข้อกฎหมายกับหลักการที่ศาลควรอำนวยความยุติธรรมในระหว่างการต่อสู้คดีของคู่ความ
.
"คำถามคือในวันที่อานนท์ต้องทำหน้าที่ทนายความให้แก่จำเลยในคดีอาญา สถานะสองอย่างของอานนท์ที่ซ้อนทับกันอยู่ภายในตัวคือความเป็นผู้ต้องขังและความเป็นทนายความ สถานะใดจะอยู่เหนือกว่าและควรให้ความสำคัญ
.
"เหตุผลที่ทนายความต้องสวมครุยเนติฯ ในขณะว่าความ เมื่อเทียบกับเหตุผลของการมีทนายความของจำเลยในคดีอาญาแล้ว เหตุผลใดที่ควรรับฟัง
.
"การที่จำเลยในคดีอาญาไม่มีทนายความว่าต่างแก้ต่างให้ เมื่อเทียบกับผลกระทบของการที่ทนายความไม่สวมครุยเนติฯในระหว่างว่าความแล้ว สิ่งใดที่ร้ายแรงและกระทบสิทธิของบุคคลกว่ากัน"
.
"เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าอานนท์คือผู้ต้องคำพิพากษาคดีถึงที่สุดในคดีอาญา แม้เขาจะถูกศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีมาตรา 112 เป็นจำนวนกว่า 4 คดี และมีจำนวนโทษจำคุกรวมกันกว่า 14 ปี แต่ในทุกคดีก็ล้วนยังอยู่ในระหว่างการต่อสู้ ดังนี้ อานนท์ย่อมได้รับการสันนิษฐานโดยกฎหมายว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เหตุใดปรากฏการณ์ต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นกับอานนท์ เสมือนว่าเขาคือผู้กระทำความผิดไปเสียแล้ว"
.
.
อ่านบทความทั้งหมดที่ (https://tlhr2014.com/archives/71257)
.....
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
12h ·
พรุ่งนี้! ศาลอาญา คดี UN 62 เรียกสภาทนายความฯ ชี้แจงการทำหน้าที่ของ ‘ทนายอานนท์’ ขัดต่อ #มารยาททนายความ หรือไม่
.
วันพรุ่งนี้ (25 พ.ย. 2567) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 903 ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดพร้อมในคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง หรือคดี UN62 ในส่วนของแกนนำ 18 ราย ที่ถูกฟ้องข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จากการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมเดินขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดไว้ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 2561 ในโอกาสครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งตามกำหนด และให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้นยุติการสืบทอดอำนาจ
.
ในคดีนี้ก่อนหน้านี้ ศาลเจ้าของสำนวนพยายามทำหนังสือสอบถามไปยังกรมราชทัณฑ์และสภาทนายความฯ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทนายความของอานนท์ นำภา ซึ่งถูกจำคุกในคดีมาตรา 112 และมาปฏิบัติหน้าที่ในขณะเป็นผู้ต้องขัง ทางสภาทนายความฯ มีหนังสือตอบถึงสองครั้ง ยืนยันว่า อานนท์มีคุณสมบัติการเป็นทนายความและสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายความให้กับคู่ความได้
.
แต่หลังจากที่ศาลได้ปรึกษากับผู้บริหารแล้ว ได้แจ้งว่าจะหารือกับทางสภาทนายความและกรมราชทัณฑ์ในเรื่องนี้อีก โดยจะเชิญตัวแทนจากสภาทนายความฯ มาชี้แจงการทำหน้าที่ของอานนท์ในนัดนี้ด้วย
.
ในวันนัดสืบพยานครั้งก่อนหน้านี้ (8 ต.ค. 2567) อานนท์ได้แถลงต่อศาลว่า ตนเองไม่สามารถปฏิบัติตามมารยาททนายความว่าด้วยการแต่งกาย และข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาว่าด้วยการแต่งกายได้เนื่องจากถูกคุมขัง หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็พร้อมที่จะแต่งกายให้ถูกต้องตามข้อบังคับ และยืนยันที่จะเป็นทนายความให้แก่จำเลย อานนท์กล่าวว่าองค์กรที่ควบคุมดูแลวิชาชีพของเขาคือสภาทนายความฯ หากสภาทนายความยังเห็นว่าเขายังคงมีคุณสมบัติในการทำหน้าที่ ศาลก็ไม่อาจสั่งห้ามปฏิบัติหน้าที่ได้
.
.
หลักการพื้นฐานห้ามศาลปฏิเสธสิทธิของทนาย ถ้ายังไม่ถูกตัดสิทธิ ยังคงมีสิทธิในการทำหน้าที่
.
สัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล เคยให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่าหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติเกี่ยวกับบทบาทของทนายความ (Basic Principles on the Role of Lawyers) ในข้อที่ 19 กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า “ห้ามศาลหรือหน่วยงานใดปฏิเสธสิทธิของทนายความที่จะปรากฏตัวและให้การสนับสนุนด้านกฎหมายต่อลูกความของตน” โดยข้อยกเว้นเดียวของข้อกำหนดดังกล่าว คือ เมื่อทนายความนั้น “ได้ถูกตัดสิทธิการเป็นทนายความตามกฎหมาย” ผ่านกระบวนการที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ
.
ดังนั้น ตราบใดที่อานนท์ยังไม่ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทนายความ เขาก็ยังมีความสามารถในการว่าความให้ลูกความได้ตามหลักการสหประชาชาตินี้
.
อันที่จริงแล้ว ในทางกลับกัน ข้อที่ 16 ของมาตรฐานเดียวกัน กำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ต้องประกันว่าทนายความสามารถปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพของตนได้โดยปราศจากการข่มขู่ ขัดขวาง การคุกคาม หรือการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการถูกคุกคามด้วยการดำเนินคดีหรือการลงโทษสำหรับการดำเนินการใด ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมทางวิชาชีพทนายความ
.
อีกทั้งกำหนดไว้ในข้อที่ 10 ว่าจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายต่อไป บนพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึง ความคิดเห็นทางการเมืองอีกด้วย
.
ทั้งนี้ อานนท์ นำภา ถูกจำคุกในคดีมาตรา 112 ในระลอกล่าสุดนี้มาตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 และมาปฏิบัติหน้าที่ทนายความในขณะเป็นผู้ต้องขังในหลายคดีด้วยกัน
.
ในช่วงที่ผ่านมา พบคดีที่ศาลพยายามไม่อนุญาตอานนท์ทำหน้าที่ในฐานะทนายความ มีด้วยกันอย่างน้อย 4 คดี ได้แก่ คดีชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน, คดีของต้นไผ่, คดีของทอปัด และคดีนี้ (คดี UN 62) ขณะที่ในคดีส่วนใหญ่ ศาลยังคงให้อานนท์สามารถว่าความได้ต่อไป
.
.
ย้อนอ่านข่าวบนเว็บไซต์: (https://tlhr2014.com/archives/70452)