วันศุกร์, พฤศจิกายน 29, 2567

Kangaroo court


อานนท์ นำภา
14h ·

คดีที่มีการพิจารณาวันนี้ (28 พ.ย.)คือ คดีปราศรัยในธีมแฮรี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่หน้าร้านแมคโดนัล อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นคดีแรกที่อานนท์ถูกสั่งฟ้องด้วยมาตรา 112
.
ในนัดวันที่ 27 พ.ย. ศาลยังคงไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐานที่ทนายขอไป ซึ่งฝ่ายจำเลยมองว่าเป็นส่วนสำคัญในคดี อานนท์จึงไม่ถามค้านพยานโจทก์ ทำให้พยานโจทก์ทั้งหมดเบิกความไปโดยไม่มีการถามค้าน โดยศาลสั่งให้สืบพยานจำเลยในวันรุ่งขึ้นแม้ยังไม่ใช่นัดสืบพยานจำเลย
.
อานนท์จึงถอดเสื้อในห้องพิจารณาเพื่อประท้วงกระบวนการพิจารณา ศาลสั่งพิจารณาลับกระบวนการพิจารณาคดีที่เหลือ อานนท์เขียนคำร้องตั้งข้อรังเกียจผู้พิพากษาที่อาจทำหน้าที่ด้วยอคติ ศาลยกคำร้อง
.
28 พ.ย. อานนท์ขอปฎิเสธกระบวนการสืบพยานจำเลย ซึ่งจะทำให้ตัวเขาและพยานจำเลยที่ยื่นเข้ามาในสำนวนไม่ได้ขึ้นเบิกความในศาล เป็นการปฎิเสธกระบวนการพิจารณาคดีที่ถูกสั่งให้พิจารณาลับ ไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐานให้และยังยกคำร้องขอตั้งข้อรังเกียจผู้พิพากษา ศาลยังไม่อนุญาตให้เผยแพร่เอกสารรายงานกระบวนพิจารณาในวันนี้ด้วย จึงมีการถกเถียงว่าแล้วขอบเขตที่จะนำเสนอสถานการณ์ในคดีนี้อยู่ที่ไหน เราจะพูดอะไรได้บ้าง “ถ้าศาลเหี้ย เราจะพูดได้มั้ย..?” อานนท์ถาม
.
ตลอดเวลาที่มีการถกเถียงกัน ศาลไม่รับฟัง ไม่ให้สอบถามและไม่พยามตอบคำถาม ศาลสั่งให้ตำรวจศาลเอาอานนท์ลงไปขังใต้ถุนศาล และบอกว่าถ้าทนายของอานนท์พูดอะไรก็จะขังทนายด้วย
.
ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ทันทีในวันที่ 19 ธ.ค. 2567
.....

ศาลจิงโจ้ (Kangaroo Court) คืออะไร


‘kangaroo court’ หรือ แปลตรงตัวก็คือศาลจิงโจ้ ไม่ใช่การพิจารณาคดีข้อพิพาทระหว่างจิงโจ้แต่อย่างใด หากแต่คือ ‘ศาลเถื่อน’ อันหมายถึงศาลที่ไม่ดำเนินการพิจารณาคดีโดยคำนึงถึงหลักกฎหมายหรือหลักความยุติธรรม ส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งขึ้นมาทำงานเฉพาะกิจ

สำหรับตุลาการของศาลประเภทนี้จะถูกเรียกว่า ‘mock justice’ แปลให้วัยรุ่นอาจจะเรียกว่า ‘คอสเพลย์ตุลาการ’

แล้วทำไมถึงต้องเรียกว่าศาลจิงโจ้?

มีข้อสันนิษฐานหลากหลายคำอธิบาย เช่น เกิดจากข้อพิพาทในการขุดทองที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 1849 โดยมีชาวออสเตรเลียจำนวนมากมาทำงานที่เหมือง จนนำมาสู่การเร่งรีบตัดสินคดีโดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการปัญหาข้อเรียกร้องของคนงาน

อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ จิงโจ้มีพฤติกรรมกระโดดไปกระโดดมานั้น ให้นัยยะไปถึงการกระโดดย้ายข้างได้เรื่อยๆ หรือกระโดดข้ามหลักการหรือหลักฐานต่างๆ ได้ เป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น สั่งขังจำเลยที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด เป็นต้น

ความเป็นไปได้อีกประการคือ สมมุติฐานที่ว่าวลีนี้อาจหมายถึงกระเป๋าของจิงโจ้ ซึ่งหมายความว่าศาลอยู่ในกระเป๋าของใครบางคนที่คอยบงการ

อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคำคำนี้เริ่มใช้ขึ้นเมื่อใด คนทั่วไปมักเชื่อว่ามาจากศาลอาญาในดินแดนอาณานิคมของอังกฤษอย่างออสเตรเลีย กระนั้นในพจนานุกรมอ็อกซ์ฟอร์ดได้อ้างถึงการปรากฏครั้งแรกของคำจาก Philip Paxton สิ่งพิมพ์ท้องถิ่นของมลรัฐเท็กซัส สหรัฐ ในปี 1853

ดูเหมือนว่าศาลจิงโจ้นี้จะถูกใช้อย่างมากในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในกรณีที่ศาลกลายเป็นเครื่องมือการปกครองของรัฐบาลนาซี ในเยอรมนี และกรณีของสตาลิน ในโซเวียต

กระนั้นในช่วงหลังคำนี้ถูกนำมาใช้กับเรียกศาลที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาถาวรก็ได้ แต่คุณสมบัติดีเด่นไม่แพ้กันคือไม่สนใจหลักกฎหมายหรือจรรยาบรรณวิชาชีพใดๆ และที่สำคัญมีการตั้งธงการตัดสินเอาไว้ล่วงหน้า เราอาจจะเห็นได้จากทิศทางของรัฐบาลอำนาจนิยมในหลายประเทศ รัฐบาลเหล่านี้มักใช้อำนาจกดขี่ผ่านกฎหมาย โดยมีศาลทำหน้าที่ไล่ล่ากำจัดศัตรูทางการเมืองและรักษาตำแหน่งของพวกพ้องตนเอง

ถ้าจิงโจ้เป็นอุปมาที่น่ารักไป อาจใช้คำว่า ‘นิติสงคราม’

ที่มา (https://waymagazine.org/what-is-kangaroo-court/)