วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 28, 2567
ความยากจนนั้นหาใช่เรื่องโรแมนติกไม่ ใครที่ยังติดใจ กับประโยคที่บอกว่า “--แม้แต่สุนัขก์ตามวัดก็ยังปรากฎว่าไม่มีอดตาย” ของรัชกาลที่ 7 อ่านต่อ...
Suchart Sawadsri
10h ·
ความยากจนนั้นหาใช่เรื่องโรแมนติกไม่
ที่มาของคำว่า "หมาวัดยังไม่อดตาย"
อ้างในเรื่องสั้น "พระแม่คงคา เถ้าแก่บัก และหมา "
โดย "ศรีดาวเรือง" เมื่อ พ.ศ.2520
-----------
ต่อไปนี้เป็นบางตอนจากปาฐกถา "ความฝันเดือนมิถุนา"
โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
นำเสนออาการหลอน 8 ประการ
ในวาระ "91 ปี อภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475"
-----------
อาการหลอนที่ 2
หลอนที่ 2. คืออุปทานหมู่ที่ผู้คนมักจะชอบโรแมนติคเรื่องเกี่ยวกับปัญหาความยากจน ว่าเป็นเพราะประเทศอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ตามสถิติในปี 2475 อุปทานหมู่ หรือ ความหลอนในเรื่องนี้ เคยมีการสำรวจประเทศสยามว่ามีประชากรอยู่ประมาณ 12 ล้านคน แต่จะมีสุนัข หรือมีหมาอยู่กี่ตัวในเวลานั้นยังไม่มีตัวเลขจากการสำรวจ ซึ่งผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีมากน้อยแค่ไหน ทราบแต่ว่าอุปทานหมู่ หรือความหลอนในเรื่องนี้มักจะถูกนำมาเปรียบเทียบอยู่เสมอว่า "หมาวัดยังไม่อดตาย" ซึ่งการเปรียบเทียบดังกล่าวนี้ได้ปรากฏครั้งแรกใน "บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม" ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงแสดงความเห็นโต้แย้ง “เค้าโครงเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” ของนายปรีดี พนมยงค์ ที่มาจากหลักข้อ 3 ในประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่บอกว่า “..จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” และเรื่องนี้ในทางโครงสร้างถือเป็นการประกาศสิ่งที่เรียกว่า “รัฐสวัสดิการ” อย่างเป็นระบบครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย
ตามหลักฐานจากเอกสารชั้นต้น ที่มาของคำว่า “หมาวัดยังไม่อดตาย” นั้นมาจากข้อความโต้แย้งของรัชกาลที่ 7 ดังปรากฏอยู่ในหมวด 2 ว่าด้วยความแร้นแค้นของราษฎร ที่โต้แย้งกับนายปรีดี มีความว่า
(ข้อความในวงเล็บ)
“ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า ราษฎรของเรา ตลอดจนขอทาน ยังมิได้ปรากฏว่าอดตาย คนที่อดตายก็มีแค่คนที่กลืนไม่ลงเพราะเจ็บไข้เท่านั้น แม้แต่สุนักข์ตามวัดก็ปรากฏว่ายังไม่มีอดตาย”
นี่คือที่มาของอาการหลอน หรืออุปทานหมู่ประการที่ 2 ที่ทำให้นายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์คนแรกของประเทศสยาม และได้ถูกรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์ฯ บังคับให้ออกนอกประเทศ แต่พระยาพหลฯได้ยึดอำนาจกลับคืนมา โดยอยู่ในอำนาจเพียง 28 วัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้นายปรีดีได้กลับประเทศเท่านั้น และพระยาพหลฯก็ไม่ได้มีความคิดในเรื่องต้องการ "ล้มเจ้า" แต่ประการใด
คำว่า “หมาวัดยังไม่อดตาย” หรือข้อความในภาษาของรัชกาลที่ 7 ก็คือ “สุนัขตามวัดก็ปรากฏว่ายังไม่มีอดตาย”
นี่คือมองปัญหาเศรษฐกิจในแบบโรแมนติก ที่ว่าความยากจนว่าไม่มีอยู่จริงในสังคมไทย แผ่นดินสยามนั้นยังงดงาม อุดมสมบูรณ์ แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องการ “ทำนาบนหลังคน” มาตลอดก็ตาม
และสืบเนื่องในอีก 46 ปีต่อมา ก็คือ ถ้าใครได้อ่านเรื่องสั้นชื่อ "แม่พระคงคา เถ้าแก่บัก และหมา" ของ “ศรีดาวเรือง” ที่พิมพ์ครั้งแรกในช่วงหลัง "6 ตุลา 19" ก็จะพบว่าความยากจนนั้นหาใช่เรื่องโรแมนติกไม่ เพราะมีหมาขี้เรื้อนในวัดตัวหนึ่งที่ "ศรีดาวเรือง" ได้บรรยายภาพไว้ว่า มันเที่ยวค้นหาของกินจากกองขยะกระทง แต่กลับไม่พบอะไรที่พอกินได้เลย ดังนั้น "สุนักข์วัด" ตัวนั้น
จึง “..ย่อขาลงหย่อนขี้ไว้บนขยะกระทง แล้วก็วิ่งออกจากวัดไป”
ในความเห็นของผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ผู้เขียนเรื่องสั้นชื่อ "พระแม่คงคา เถ้าแก่บัก และหมา" เคยทราบที่มาเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ แต่นี่เปรียบเหมือน Anti thesis ในจิตใต้สำนึกของ "ศรีดาวเรือง" ต่อประโยคที่บอกว่า “--แม้แต่สุนัขก์ตามวัดก็ยังปรากฎว่าไม่มีอดตาย” ของรัชกาลที่ 7 ที่เคยกล่าวโต้แย้ง "เค้าโครงเศรษฐกิจ" ของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อ พ.ศ.2476
อาการหลอน หรืออุปทานหมู่ที่เรียกว่า "หมาวัดยังไม่อดตาย" ของ "ศรีดาวเรือง" ที่ปรากฎในเรื่องสั้นเรื่องนี้ และที่ปรากฎอยู่ใน "สมุดปกขาว" ของรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ.2476 นั้น ผมเข้าใจว่ายังคงดำรงอยู่ต่อมา - แม้ในปัจจุบัน ---
บรรยายภาพ :
"ศรีดาวเรือง" ในวาระได้รับ "รางวัลปีติศิลป์สันติภาพ" ในฐานะนักสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวรรณกรรม ประจำปี พ.ศ.2556 ณ หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2556