วันพุธ, พฤศจิกายน 27, 2567

มารู้จักอดีตสุดโหดร้าย ‘ฮอโลโดมอร์’ เหตุการณ์ความอดอยากครั้งใหญ่จากนโยบายรัฐ เมื่อยูเครนครั้งอยู่ภายใต้สหภาพโซเวียต ที่คร่าชีวิตชาวยูเครนอย่างน้อย 3 ล้านคนเมื่อปี 1932-1933


ปธน. ยูเครน-ภริยา รำลึก 'ฮอโลโดมอร์' ทุพภิกขภัยภายใต้สหภาพโซเวียตที่คร่าชาวยูเครนนับล้าน #shorts

VOA Thai

Nov 24, 2024 

เมื่อ 23 พ.ย. ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน และโอเลนา เซเลนสกา ภริยา ร่วมพิธีรำลึก ‘ฮอโลโดมอร์’ เหตุการณ์ความอดอยากครั้งใหญ่จากนโยบายรัฐ เมื่อครั้งอยู่ภายใต้สหภาพโซเวียต ที่คร่าชีวิตชาวยูเครนอย่างน้อย 3 ล้านคนเมื่อปี 1932-1933
.....


LOCALRY
February 28, 2022 ·

อดีตสุดโหดร้าย ‘Holodomor’ นโยบายโซเวียตฝีมือสตาลิน บีบคนยูเครนอดตายหลายล้าน
.
ย้อนกลับไปราวๆ ยุค 1920 หมู่บ้านเกษตรกรรม ‘สตาวิช’ (Stavyshche) ในยูเครนเหมือนตกอยู่ใน ‘ฝันร้าย’ ทั้งเป็น
.
ชายคนหนึ่งที่รอดมาจากฝันร้ายครั้งนั้น เล่าถึงสมัยที่เขาเป็นเพียงเด็กชายอายุประมาณ 7 ขวบแต่ต้องพบเจอหลายสิ่งซึ่งน่าสะพรึง ไม่ว่าจะเป็นที่คนกำลังใช้มือเปล่าขุดดินหาอะไรยาไส้ ภาพของท้องถนนซึ่งมีผู้คนผอมโซเดินเกลื่อนกลาด ผิวหนังบวมเป่งและกลิ่นกายของคนขาดสารอาหารอย่างรุนแรงอันส่งกลิ่นตุประหลาดดำรงอยู่ในความทรงจำ
.
“คุณเห็นพวกเขาเดินและเดินไปอย่างนั้น แล้วก็จะมีบางคนที่ล้มลง จากนั้นก็มีรายต่อไป และต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้น…”
.
เรื่องเล่านี้มาจากบันทึกประวัติศาสตร์จากปลายยุค 1980 และมันเป็นเพียงเรื่องราวส่วนเล็กๆ ของเรื่องราวการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของชาวยูเครนในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
.
ทั้งโลกเรียกฝันร้ายครั้งนั้นว่า ‘โฮโลโดมอร์’
.
สิ่งที่น่าสลดที่สุด คือข้อเท็จจริงที่ว่าฝันร้ายของการต้องอดตายนี้มิได้เกิดจากภัยแล้งหรือน้ำมือของธรรมชาติ หากแต่มันเกิดจาก ‘น้ำมือเผด็จการ’ ที่ต้องการตัดแขนขามวลประชาที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบที่ต้นสร้างขึ้น
.
【รู้จักกับ Holodomor】
.
คำว่า โฮโลโดมอร์ หรือ ‘Holodomor’ เป็นคำจากภาษายูเครน หมายถึง การเข่นฆ่าด้วยความอดอยากหิวโหย หรือการปล่อยให้อดอยากหิวโหยจนถึงแก่ความตาย
.
ศาสตราจารย์แอนเดรีย กราซิโอซี (Andrea Graziosi) จากมหาวิทยาลันเนเปิลส์ เคยกล่าวไว้ว่า
.
“กรณีของโฮโลโดมอร์ คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกซึ่งมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และก่อกรรมทำเข็ญด้วยการเข้าไปริบทรัพย์เหล่าผู้คนจริงๆ ซึ่งดำรงชีพในฐานะสันหลังของชาติเพื่อความอยู่รอด สิ่งที่น่าสยดสยองอย่างยิ่ง คือ การกักตุนอาหารกลายเป็นอาวุธเพื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนชาติที่เป็นเหมือน ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ ของทวีปยุโรป”
.
【ยูเครนต่อสู้เผด็จการโซเวียต】
.
คุณอันดรีย์ เบซตา (Andrii Beshta) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูเครนประจำประเทศไทย ปี 2018 อธิบายการเมืองยูเครนก่อนเกิดเหตุการณ์โฮโลโดมอร์ไว้ว่า
.
“ประเทศยูเครนได้รับเอกราชเพียงระยะสั้นๆ ระหว่างปี 1917-1921 อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ชาวชนบทที่มีความรู้ความสามารถ มีความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ และมีจิตสำนึกแห่งชาติที่เข้มแข็ง ไม่ยอมรับนโยบายของมอสโกและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง”
.
ชาวยูเครนพยายามต่อสู้กับกองทัพแดงของพรรคบอลเชวิกกว่า 3 ปี แต่สุดท้ายก็เสียเอกราชและกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในปี 1922 และเมื่อได้เข้าครอบครอง สตาลินก็มองยูเครนในฐานะ ‘ภัยคุกคาม’ ที่อาจเรียกร้องเอกราชคืนได้ทุกเมื่อ
.
นโยบายบดขยี้และตัดกำลังผู้ที่เห็นต่างจึงเริ่มต้นขึ้น…
.
【นโยบาย ‘นารวม’ และความหิวโหย】
.
นโยบาย ‘นารวม’ (the collectivization of agriculture) เข้ามาเป็นอาวุธสำคัญของเผด็จการโซเวียต ซึ่งทำให้รัฐบาลโซเวียตสามารถเข้ามาควบคุมทรัพยากรทางการเกษตรอันอุดมสมบูรณ์ของยูเครนได้เต็มสองมือ แต่ในทางกลับกันมันกลับขูดรีดขูดเนื้อชาวยูเครนอย่างทารุณ
.
และใครก็ตามที่อาจริต่อต้านระบอบดังกล่าว ถ้าไม่โดนจับ โดนประหาร ก็อาจถูกเนรเทศไปไซบีเรียหรือถูกส่งไปอยู่ค่ายแรงงาน เกษตรกรและชาวนาผู้เคยอยู่ดีกินดีก็โดนแปะป้ายว่าเป็นพวก ‘กูลักส์’ (Kulaks) ซึ่งจะโดนยึดทรัพย์สินและฆ่าทิ้ง ทั้งยังมีการออกกฎหมาย ‘Five Spikelet’ ในปี 1932 โดยระบุว่าใครหยิบเมล็ดธัญพืชจากท้องไร่จะต้องถูกจำคุกหรือประหารทันทีด้วยข้อหา ‘ลักทรัพย์ของสังคม’ และมีการขึ้นบัญชีดำหมู่บ้าน ปิดล้อมทางเศรษฐกิจ และปิดชายแดนให้ชาวยูเครนต้องทนหิวโหยจนตัวตายอย่างไร้ทางหนี
.
ผู้ที่ดิ้นรนจนวินาทีสุดท้ายคว้าทุกอย่างที่กินได้เข้าปาก หญ้า ลูกโอ๊ก หมา แมว ผู้คนเริ่มป่าเถื่อนใส่กันเอง กระทั่งมี ‘ข่าวลือ’ ว่าคนหิวจนกินคนกันเองได้ ผืนดินซึ่งเคยมีไว้ปลูกผลผลิตเลี้ยงท้องก็แปรเปลี่ยนเป็นผืนดินเพื่อการฝังศพรวมไปแทน
.
แต่ในขณะที่ชาวยูเครนต้องล้มตายลงวันแล้ววันเล่า ในปี 1932 รัฐบาลโซเวียตกลับกอบโกยผลผลิตไปได้กว่า 4.27 ล้านตัน ซึ่งพอเลี้ยงคน 12 ล้านคนไปได้ทั้งปี และพอถึงเดือนมิถุนายน ปี 1933 สภาวะอดอยากก็รุนแรงถึงขั้นสุด มีคนล้มตายวันละกว่า 28,000 คน
.
【ความสูญเสีย】
.
ปี 1933 ฝันร้ายก็มาถึงกาลสิ้นสุด เวลาเคลื่อนคล้อยเข้าปัจจุบัน แผลจากการโดนกระทำของชาวยูเครนยังอยู่ ซึ่งรัฐบาลรัสเซียแสดงการรับรู้ถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้น แต่ปฏิเสธว่ามันคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
.
ในเดือนเมษายน ปี 2008 รัฐบาลรัสเซียซึ่ง ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้นผ่านมติระบุว่าโฮโลโดมอร์นั้น “ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดซึ่งยืนยันได้ว่าทุพภิกขภัยนั้นถูกดำเนินการขึ้นเพื่อชนชาติใดชนชาติหนึ่ง”
.
กว่าฝันร้ายครั้งนั้นจะจบลง มีการคาดการณ์ว่าคนยูเครนต้องตายไปกว่า 3.9 ล้านคน และนักประวัติศาสตร์หลายคนเห็นด้วยว่า เช่นเดียวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นๆ บนโลกใบนี้ เราไม่มีทางรู้ตัวเลขการสูญเสียที่แท้จริงได้เลย…
.
อ้างอิง: University of Minnesota. Holodomor. https://bit.ly/3M11ZjQ
HISTORY. How Joseph Stalin Starved Millions in the Ukrainian Famine. https://www.history.com/news/ukrainian-famine-stalin
Britannica. Holodomor (Ukrainian history). https://bit.ly/3sloRTp
มติชนสุดสัปดาห์. คุยกับทูต อันดรีย์ เบชตา ว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยูเครน ด้วยความอดอยาก (ค.ศ.1932-1933). https://bit.ly/3M6ticm
.
#รากเหง้าเล่าอนาคต

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1361668510927398&id=380379022389690&set=a.392672311160361