วันเสาร์, พฤศจิกายน 30, 2567
การพยายามเปลี่ยนชื่อจาก”สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด”เป็น”สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด” ดูเผินๆเหมือนจะไม่มีอะไร แต่การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ส่อเจตนาของนายอนุทิน ที่จะทำให้ อปท.ทั่วประเทศ ทำงานในลักษณะเดียวกับส่วนภูมิภาค คือรับนโยบายจาก มท.มาขับเคลื่อน #ยุติรัฐราชการรวมศูนย์
กระทรวงมหาดไทย PR
2d ·
“อนุทิน” นั่งหัวโต๊ะ ประชุม คกก.โครงสร้าง มท. จัดตั้ง กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น รองรับบทบาท สถ. ส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ (27 พ.ย. 67) เวลา 09.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 1/2567 โดยมีผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย
สำหรับสาระสำคัญของการประชุมวันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบจัดตั้ง "กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น" เพื่อรองรับบทบาทและภารกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานการบริหารจัดการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ได้เห็นชอบเปลี่ยนชื่อ “สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด” เป็น “สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด” ทั้ง 76 จังหวัด โดยมีอัตราตำแหน่งตามโครงสร้างที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งส่วนราชการใน สถ. ต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท
ครั้งที่ 1,967/2567
วันที่ 27 พ.ย. 2567
.....
บรรณ แก้วฉ่ำ
1d ·
......ตั้งกองเพิ่มในกรม และเปลี่ยนชื่อท้องถิ่นจังหวัด..ผมมีข้อสังเกต ๔ ประเด็น
------------------------
.....๑. การตั้ง "กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น" เพิ่มขึ้นมาแล้ว เจ้าหน้าที่กรมฯ ในสังกัดกองดังกล่าว จะมาช่วยงานของ อปท.ที่ขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุข ได้กี่แห่ง..แก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขของ อปท.ได้หรือเปล่า โดยเฉพาะปัญหาถ่ายโอน รพ.สต.ให้ อบจ.ที่จัดสรรงบไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงที่นายอนุทิน เป็น รมว.สาธารณสุข ..กองใหม่นี้ จะแสดงบทบาทหน้าที่แก้ปัญหาเรื่องเงิน กับเรื่องคน ที่ไม่เพียงพอได้อย่างไร
.....๒. ชื่อเดิม "สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด" เป็นชื่อที่แสดงถึงบทบาทในการส่งเสริมให้ท้องถิ่นทำงาน ไม่ได้มาทำงานท้องถิ่นเอง ซึ่ง สอดคล้องกับหน้าที่ ช่วยผู้ว่ากำกับดูแลท้องถิ่นอยู่แล้ว
.....แต่การเปลี่ยนชื่อ เป็น "สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด" ต้องการจะทำหน้าที่เป็น "หน่วยงานธุรการ" ให้กับ อปท.ในเขตจังหวัด ใช่หรือไม่....ต่อไป..อปท.ทั่วประเทศ ก็รอดูกันว่า จะเป็นธุรการให้ แก่ อปท.ในเขตจังหวัด หรือยังคงแสดงบทบาทเป็น "ไปรษณีย์จังหวัด" เหมือนเดิม
...ตอนนี้แม้แต่หน่วยงานไปรษณีย์เอง เขาก็เปลี่ยนบทบาทตนเองแล้ว ในโลกดิจิตอล มีการให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น...อย่างรับส่งจดหมายเขาก็ไม่ค่อยจะทำกันแล้ว เพราะมีช่องทางติดต่อสื่อสารอย่างอื่นที่เร็วกว่า.
.....ระหว่าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับ อปท.๗,๘๕๐ แห่ง ซึ่งอาจส่งหนังสือกันทางไลน์ทางเมลล์ได้โดยตรง แต่ปัจจุบันเราก็ยังใช้บริการไปรษณีย์จังหวัด เช่นเดิม
.......๓. การเพิ่มกองในกรม และเปลี่ยนชื่อท้องถิ่นจังหวัด ทำให้เรื่องการสั่ง "ให้รายงาน" ที่เพิ่มงานให้กับ อปท.มีมากกว่าเดิมหรือไม่ ตามกฎหมายจัดตั้งท้องถิ่น ให้อำนาจ "รายงาน" แต่เฉพาะกรณีที่ อปท.มีกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้มีกฎหมายให้อำนาจในการ สั่ง ให้รายงานไปเสียทุกเรื่อง
......๔.ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ส่อเจตนาของนายอนุทิน ที่จะทำให้ อปท.ทั่วประเทศ ทำงานในลักษณะเดียวกับส่วนภูมิภาค คือรับนโยบายจาก มท.มาขับเคลื่อน ขัดต่อสาระของการปกครองท้องถิ่น..ซึ่งต้องให้ นายก อปท.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้ริเริ่มคิดนโยบายของตนเอง..ไม่ได้ให้ทำหน้าที่คอยรับนโยบายของ มท.มาดำเนินการแต่อย่างใด
/บรรณ แก้วฉ่ำ ๒๘ พ.ย.๖๗
.....
Chamnan Chanruang
1d ·
การพยายามเปลี่ยนชื่อจาก”สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด”เป็น”สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด” ดูเผินๆแล้วไม่น่าจะมีอะไร แต่หากดูให้ลึกๆแล้วจะเห็นได้ว่ามีการพยายามทำให้เข้าใจว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้งหลายซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ภายใต้สังกัดหรือการบังคับบัญชาของสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งในความเป็นจริงแล้วองค์กรปกครองท้องถิ่นไม่ได้สังกัดสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดที่เป็นสาขาของกรมส่งส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทยในภูมิภาคแต่อย่างใด และที่สำคัญที่สุดคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,849 แห่งก็ไม่ได้สังกัดกระทรวงทบวงกรมใดๆทั้งสิ้น เพราะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก ฉะนั้น บรรดาบุคคลากรทั้งหลายจึงสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นๆโดยผู้บริหาร เช่น นายกฯ/ผู้ว่า(กทม.) เป็นผู้บริหารสูงสุดแล้วแต่กรณีไป
การทำเช่นนี้นอกจากจะสร้างความเข้าใจผิดดังกล่าวแล้ว แล้วยังขัดต่อพรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯในส่วนของการจัดระเบียบบริหาราช การส่วนภูมิภาคและการจัดระเบียบบริหาราชการส่วนท้องถิ่น อีกทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญฯปี60 มาตรา250 วรรคห้าและมาตรา 76อีกด้วย
ชำนาญ จันทร์เรือง
28 พฤศจิกายน 2024
#ยุติรัฐราชการรวมศูนย์