วันศุกร์, พฤษภาคม 10, 2567

จดหมาย อานนท์ นำภา 9 พค. 67 คาราวะ เพลงลูกทุ่งที่ก้าวหน้า


อานนท์ นำภา

“เฮ้ย! มันมีเพลงแบบนี้ด้วยเหรอ” น้าเก็ทอุทานเสียงดังในช่วงสายของวันนี้ พวกเราต้องรีบวิ่งไปฟังใกล้ๆลำโพงก่อนเพลงจบ
.
9 พฤษภาคม 2567 ถึงปราณและขาล ลูกรัก
.
เช้านี้ในแดน หลังเคารพธงชาติ ผู้ต้องขังแยกย้ายกันไปทำกิจกรรม เสียงเพลงลูกทุ่งลอยลมมา พวกเรานักโทษการเมืองกำลังจิบกาแฟพูดคุยสัพเพเหระ อยู่ๆก็มีเพลงเพลงหนึ่ง ซึ่งทำให้เราต้องหยุดฟังอย่างตั้งใจและเพื่อให้แน่ใจในเนื้อหาของเพลง พ่อกัลน้าเก็ทต้องรีบวิ่งไปฟังใกล้ๆก่อนเพลงจบ เพลงนั้นทราบจากนาราว่าคือเพลงชื่อ “ชั่วดีที ดีเจ็ดหน”
.
“ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” ต้นฉบับร้องโดยพุ่มพวง ดวงจันทร์ ประพันธ์คำร้องโดยสดใส รุ่งโพธิ์ทอง เนื้อเพลงให้แง่คิดและบอกถึงคุณค่าของคนว่าคนเรายากดีมีจน ก็เป็นคนเหมือนกัน ในเพลงมีบางท่อนร้องว่า “อย่ามองเห็นคนเป็นไพร่” และ “เราต่างเดินดินกินข้าวเหมือนกัน” ไม่น่าเชื่อว่าเพลงลูกทุ่งจะก้าวหน้าได้แหลมคมขนาดนี้ เพลงที่เรียกตัวเองว่าเพลงเพื่อชีวิตบางเพลงยังต้องอายเลย
.
พูดถึงเพลงลูกทุ่งที่ก้าวหน้ายังมีอีกหลายเพลง เช่น เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย ที่ประพันธ์โดย ครูไพบูล บุตรขันธ์ ซึ่งเคยโดนห้ามเปิดในยุคหนึ่ง หรือเพลงผู้อยู่เบื้องหลังที่ร้องโดย ไมค์ ภิรมย์พร เหล่านี้ล้วนเป็นเพลงที่มีเนื้อหาก้าวหน้า แทรกในมุมเล็กๆในอัลบั้มเพลงลูกทุ่ง การต่อสู้ทางชนชั้นจึงไม่ได้แยกขาดจากชีวิตประจำวันเสียทีเดียว ไม่ใช่แค่นักวิชาการหรือชนชั้นสูงเท่านั้นที่สามารถต่อสู้บนเวทีความคิด บรรดาเพลงลูกทุ่ง เพลงพื้นบ้าน หลายเพลงก็เป็นแนวรบทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งเช่นกัน
.
ขอคาราวะต่อครูเพลงลูกทุ่งเหล่านั้น ไว้มีโอกาสพ่อจะร้องเพลงเหล่านั้นให้ลูกทั้งสองฟัง
.
อานนท์ นำภา


ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน - พุ่มพวง ดวงจันทร์

(https://www.youtube.com/watch?v=K05bVF0K0og)