ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มีนาคม 2561
คอลัมน์ ในประเทศ
ในประเทศ : นิวบลัด “ธนาธร-ปิยบุตร” Start up ตั้งพรรคยุคใหม่
(https://www.matichonweekly.com/column/article_85874)
หากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ไม่ถูกล้ม ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลั่นวาจาไว้
จะนับเป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะหมายความว่าประชาชนจะได้ไปใช้สิทธิการเลือกตั้งที่เว้นระยะมานานตั้งแต่ปี 2554 (หากไม่นับการเลือกตั้งในปี 2556 ที่ถูกประกาศให้เป็นโมฆะ) การประกาศเลือกตั้งในปี 2562 จึงถือเป็นความหวังของคนอยากเลือกตั้ง และนับเป็นคำประกาศสุดท้าย
แม้หลายฝ่ายจะเกรงว่า สัญญาใหม่ล่าสุดนี้จะกลายเป็นลมปากเหมือนสัญญาก่อนๆ ที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก เพราะคำพูดพ่วงท้ายที่ว่า ไม่ได้ขู่ แต่ถ้าทุกคนยังออกมา เดี๋ยวคอยดูแล้วกันว่า พอเวลาปลดล็อกออกมาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ก็ต้องพร้อมเสี่ยงที่จะลงเลือกตั้งแล้ว
จะเห็นได้จากการขยับตัวของพรรคการเมืองหลายพรรค ซึ่งมีผู้แสดงความจำนงจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองถึง 114 พรรค ในวันแรกของการเปิดให้พรรคการเมืองใหม่จดจองชื่อและเครื่องหมายพรรคกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 2 มีนาคมนี้
ถ้าจัดแบ่งตามนโยบาย และจุดประสงค์การจัดตั้งพรรคแล้วมีหลายหลายกลุ่มที่น่าสนใจ
หนึ่ง กลุ่มนักการเมืองคลื่นลูกใหม่ ซึ่งยังต้องติดตามว่าจะโดดลงสนามเลือกตั้งหรือไม่
จากบทสัมภาษณ์ในบีบีซีไทย ของ “เอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทายาทเจ้าของอาณาจักรซัมมิทกรุ๊ป ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์แห่งภูมิภาคเอเชีย ที่ประกาศพร้อมลงเล่นการเมืองหากจำเป็น
แต่ต้องรอดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งหมดก่อน เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนก่อนตัดสินใจว่าจะโดดเข้าสนามแข่งขันทางการเมืองหรือไม่
เมื่อสืบประวัติ พบว่า สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อาของ “เอก” ธนาธร ก็เคยเข้าสู่สนามแข่งนี้ ในหลายตำแหน่ง ทั้งเลขานุการรัฐมนตรี ที่ผ่านการฝึกวิทยายุทธ์จาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน พรรคกิจสังคมในขณะนั้น ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งตำแหน่งนายทุนพรรค
ขณะที่ “เอก” ธนาธร นั้นสนใจข่าวสารบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีส่วนเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชน
ทั้งยังได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ของเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เข้าร่วมการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ
รวมถึงกระแสข่าวการตกเป็นนายทุนขบวนการนักศึกษา ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่เจ้าตัวออกมาปฏิเสธว่าเป็นเพียงการเดินทางไปตามสิทธิและอิสระในความคิดเท่านั้น
ซึ่งการวนเวียนอยู่ในกลุ่มของเหล่านี้ จนเป็นที่มาของฉายา “ไพร่หมื่นล้าน” ซึ่งเปิดฉากทำสงครามกับเหล่าอำมาตย์และผู้มีอำนาจ
หนึ่งเหตุผลสำคัญที่ “เอก” ธนาธร บอกเล่าในคำสัมภาษณ์นั้น คือ “ผมคิดว่ามันจำเป็นต้องทำ เราไม่สามารถยืนอยู่เฉยๆ แล้วเฝ้าดูสังคมไทยล่มสลายไปต่อหน้าต่อตาได้อีกต่อไป”
และดูเหมือนคำกล่าวนี้จะเป็นคำตอบในช่วงเวลาอันใกล้นี้ว่า “เอก” ธนาธร จะกระโจนลงไปในสนามเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่
อีกกลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ยังไม่ชัดว่าจะเข้าร่วมสนามรบครั้งนี้ แต่ก็มีเสียงแว่วมาแต่ไกล คือ คณะนิติราษฎร์ บางส่วนเตรียมพร้อมที่จะจัดตั้งพรรคการเมือง โดยหนึ่งในนั้น คือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล
หากเราพูดถึงคณะนิติราษฎร์ หลายคนคงรู้จักในนามกลุ่มอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอให้ลบผลพวงของการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2553 และเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
แม้จะยังไม่มีการออกมายืนยันว่าการจัดตั้งพรรคของหนึ่งในคณาจารย์คณะนิติราษฎร์จะเกิดขึ้นจริง
แต่จากการออกมาแสดงความคิดเห็นของนายปิยบุตร ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า เราต้องสร้าง “ทางเลือกใหม่” ทางการเมืองให้สำเร็จ แม้อาจจะไม่ชนะในวันนี้ แต่อย่างน้อย ถ้าทำให้ผู้คนมี “ความหวัง” กับการเมือง หันกลับมาในเส้นทางที่ถูกต้อง ให้ตระหนักว่า เผด็จการไม่ใช่ทางออก แต่เป็นทางตัน เมื่อพ้นจาก คสช. แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกลับไปเป็นการเมืองแบบเดิมๆ ที่สองพรรคใหญ่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ประชาชน จนหันไปเลือกการรัฐประหาร แม้ประชาชนอยากจะให้มีการเลือกตั้ง แต่ถ้าหากเลือกตั้งแล้วไม่ว่าได้พรรคใหญ่พรรคใดก็ตาม ก็กลับไปเป็นแบบเดิม ดังนั้น การอยู่แบบเดิมย่อมดีกว่า
ชั่วโมงนี้ ยังไม่มีคำตอบว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะมาเสริมทัพใคร หรือสร้างทัพใหม่
แต่เชื่อได้ว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ของคนอยากเลือกตั้ง
ที่น่าสนใจแน่นอน เหมือนที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ “หมอเลี้ยบ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่าหากย้อนมองประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคการเมือง “ใหม่” ไม่เคยว่างเว้นจากการเมืองไทย และบางครั้ง เขย่าการเมืองอย่างเข้มข้นมาแล้ว อย่างกรณีของพรรคประชากรไทย ของนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2535 ซึ่งกวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานครไปแทบหมด
หรือกรณีพรรคไทยรักไทยในปี 2544 ที่เหลือที่นั่งในกรุงเทพมหานครให้พรรคประชาธิปัตย์แค่เพียงน้อยนิดเท่านั้น
สอง กลุ่มที่รีแบรนด์พรรคเดิม บางส่วนแยกตัวออกมาจากพรรคเดิม และบางส่วนนำพรรคเก่ามารีรัน เช่น “พรรคพลังพลเมืองไทย” นำโดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ซึ่งแยกออกมาจากพรรคเพื่อไทยกว่า 30 คน ชูนโยบายประสานงาน ลดเหลื่อมล้ำ ลดความขัดแย้ง
“พรรคพลังธรรมใหม่” นำโดยหมอระวี มาศฉมาดล นำชื่อพรรคเดิมที่ก่อตั้งโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง มารีแบรนด์ใหม่ ก็ต้องรอดูว่าจะเดินไปตามอุดมการณ์เดิม หรือจะเป็นพรรคเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุน “บิ๊กตู่”
หรือ “พรรคมุสลิม” ควบรวม ส.ส.มุสลิม ในจังหวัดชายแดนใต้ กับกลุ่มมุสลิมใหม่ นำโดย พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง ลูกข่ายทักษิณ และเพื่อไทย ตั้งเป้า ส.ส. 15 ที่นั่ง
สาม กลุ่มที่จุดประสงค์ชัดเจน คือ “กลุ่มที่ประกาศตัวสนับสนุน “บิ๊กตู่” ให้เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง” เช่น “พรรคประชาชนปฏิรูป” ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เดินหน้าเข้าเกียร์ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า นอกจากสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้นั่งนายกฯ ต่อแล้ว ยังจะปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้เกิดความบริสุทธ์ เพิ่มอำนาจประชาชนด้วยการตั้งสภาตรวจสอบรัฐบาลทั่วประเทศ
และพรรค กปปส. ที่นายธานี เทือกสุบรรณ น้องชายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เตรียมยื่นจดทะเบียนพรรค แรกๆ ก็เหมือนพรรคจะชูสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ต่อ เพื่อสานต่อการปฏิรูป
แต่ล่าสุด นายธานีออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ยืนยันว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่ แต่ขอรอดูเรตติ้งก่อน เข้าแนวทางแทงกั๊กเบาๆ สอดรับกับนายสุเทพ ที่ออกมายืนยันว่าในช่วงเวลาที่เหลือจะอุทิศให้กับการรับใช้ประชาชน และไม่คิดที่จะหันกลับไปเล่นการเมือง ไม่ร่วมรัฐบาล ไม่เป็นนักการเมือง ไม่ลงสมัคร ส.ส. แน่นอน แต่ก็พร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล คสช. ต่อไป
แน่นอนว่า ในอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญของการจัดตั้งพรรค กปปส. คือ ไม่ให้การต่อสู้ของ กปปส. ที่ผ่านมาสูญเปล่า จึงต้องจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อหาแนวทางในการเสนอสิ่งที่เรียกร้องมา
แม้นายธานีจะประกาศว่าพร้อมส่งผู้สมัครลงในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้ ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ของพรรคใหญ่เก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พรรคใหม่ที่กำลังจะเกิดนี้ จึงต้องหาทางทำให้ประชาชนเห็นด้วยกับนโยบาย และทำให้เห็นว่าพรรคนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจคนใดคนหนึ่งที่บริจาคให้พรรค
งานนี้ หากพรรคประชาธิปัตย์ปรับแผนให้นายหัวชวน หลีกภัย กลับมานำทัพ พรรค กปปส. คงต้องผวาหนัก อาจสอบตกก็เป็นได้ เพราะอะไรก็ไม่แน่ไม่นอน
แม้นายหัวชวนจะยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคแน่นอน
และล่าสุด กับผลสำรวจสวนดุสิตโพล ออกมาระบุว่า ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการตั้งพรรคหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะพรรคการเมืองใหม่ควรทำเพื่อประชาชน ไม่ควรสนับสนุนใคร ในเมื่อผลออกมาอย่างนี้ พรรคที่ชูนโยบายสนับสนุน “ลุงตู่” คงต้องมีแผนสำรองเผื่อไว้ท่าจะดีไม่น้อย
การเปิดให้กลุ่มและพรรคการเมืองเริ่มทำกิจกรรม อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ คสช. อาจจะต้องการสยบทางการเมือง ให้เหล่าคนอยากเลือกตั้งได้เห็นเค้าลางการเลือกตั้ง
แต่การเลือกตั้งก็ยังไม่มีความแน่นอน
ตราบใดที่กฎหมายลูกจะยังอยู่ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และยังไม่ประกาศใช้
...
พรรคการเมืองทางเลือกล้วนเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเสมอ ความสำเร็จตั้งต้นไม่ได้อยู่ที่ผลการเลือกตั้ง แต่อยู่ที่การทำให้สังคมเห็นทางเลือกใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ ทำให้เห็นว่าสังคมยังมีการเมืองแห่งความหวัง ไม่ใช่มีแต่การเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ pic.twitter.com/3TNIDyOmm0— iSpacethailand (@iSpace_thailand) March 5, 2018