http://news.voicetv.co.th/thailand/150549.html
วิกฤตศรัทธาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคณะบุคคล ที่ได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปี เนื่องมาจากคำวินิจฉัย หลายคดีสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ
หลายคนมองว่านี่คือ 1 ปี แห่งวิกฤตความขัดแย้งของสังคมไทย ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้ประเทศ เดินเข้าสู่ทางตัน มากกว่าการดำรงสถานะเป็นสถาบันสำคัญ ในการยุติความขัดแย้ง และหาทางออกให้ประเทศ
ย้อนดูคำตัดสินจากคดีสำคัญ นับตั้งแต่ปลายปี 2556 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 ต่อ 3 ให้ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ส.ส.และ ส.ว. รวม 312 คน ซึ่งใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.มีความผิด และพ้นจากตำแหน่ง
จากนั้น วันที่ 12 มีนาคม 2557 มีคำวินิจฉัย ด้วยมติ เอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้าน เพื่อพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ตามนโยบายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ขณะนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
และนี่ คือการชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส.ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคุ้มครอง ว่าเป็นการใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ แต่ในทางตรงกันข้าม คือการมีมติ 6 ต่อ 3 ตัดสินให้การเลือกตั้ง วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งพร้อมกัน ในวันเดียวทั่วราชอาณาจักรได้
หลังจากนั้น 1 เดือน ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมกดดันรัฐบาลอย่างหนัก วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
พร้อมกับให้ รัฐมนตรี 9 คนพ้นจากตำแหน่งไปด้วย และอีก 2 วันต่อมา ยิ่งลักษณ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งซ้ำเป็นครั้งสอง เมื่อ ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิดในคดีโครงการรับจำนำข้าว
ซึ่งการตีความข้อกฎหมาย ที่ขยายขอบเขตอำนาจอยู่เหนือสถาบันอื่นนี้ นำไปสู่วิกฤตศรัทธาที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญ และคงอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้
...
https://www.youtube.com/watch?v=rOewRx-ii70