เรื่องจาก ข่าวสดออนไลน์
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า คนร.เห็นชอบแผนฟื้นฟูของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน ) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ส่วนรายละเอียดแผนที่จะต้องมีการใช้เงินงบประมาณจะต้องสรุปรายละเอียด เพื่อนำเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป
สำหรับแผนฟื้นฟูการบินไทยมีการพิจารณา 5 ประเด็นหลัก คือ 1 การปรับเส้นทางบิน 2.การปรับแผนการตลาด 3.การขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน 4.การปรับโครงสร้างอัตรากำลังลดจาก 2.5 หมื่นคน ให้เหลือ 2 หมื่นคน 5.การปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย (Non –Core) เช่น กิจการโรงแรม กิจการขนส่งน้ำมัน เป็นต้น
รมว.คมนาคม กล่าวว่า สำหรับ 1.แผนการปรับเส้นทางบิน จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ เส้นทางบินที่ขาดทุนอย่างแน่นอน และขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จะให้หยุดบิน และใช้เวลา 6 เดือน 12 เดือน และ 18 เดือนในการพิจารณาที่จะกลับมาบินใหม่อีกครั้ง ส่วนเส้นทางที่ขาดทุนแต่มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ ให้ปรับลดจำนวนเที่ยวบิน และให้ฟื้นฟูกลับมาภายใน 6-12 เดือน ส่วนเส้นทางที่พอมีกำไร ให้พัฒนาและเพิ่มการบริการ โดยเน้นการเชื่อมต่อเส้นทางบิน โดยเฉพาะในส่วนของ 2 กลุ่มแรกที่มีการหยุดบินและลดจำนวนเที่ยวบิน จะต้องมีการดำเนินเพื่อมิให้ผู้โดยสารไม่ได้รับผลกระทบ
2. การปรับแผนการตลาด จะเน้นการปรับกลยุทธ์การขายตั๋วเพิ่มสัดส่วนขายผ่านระบบออนไลน์และขายเอง 3.ขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น การเร่งขายเครื่องบินจำนวน 22 ลำ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลดเส้นทางบินที่ขาดทุน โดยเฉพาะเครื่องบินเก่าและเครื่องที่ไม่สิ้น เปลืองน้ำมัน เพื่อช่วยลดภาระด้านการซ่อมบำรุงและค่าจอดต่างๆ 4. ปรับโครงสร้างอัตรากำลัง ตามแผนจะปรับลดพนักงานจำนวน 5 พันคน จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวน 2.5 หมื่นคน แต่ยังไม่กำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน โดยจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนการเกษียณก่อนกำหนดและแผนสมัครใจลาออกด้วย 5.ปรับปรุงพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย (Non –Core) เช่น กิจการโรงแรม กิจการขนส่งน้ำมัน อาจจะต้องพิจารณาว่าอาจจะมีการขายกิจการ หรือ โอนออกไปยังส่วนอื่น
“การหยุดเลือดของการบินไทยได้ ต้องตัดในส่วนที่ทำให้ติดลบมากๆอออกไปก่อน เช่น เคยลงทุน 2 แสนล้านต่อปี อาจลดลงเหลือ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนแผนการรับมอบเครื่องบินใหม่และการชำระหนี้เครื่องบินนั้นก็ให้มีการเจรจาเพื่อขอยืดเวลาการรับมอบและการชำระหนี้ออกไป แต่ไม่ได้ยกเลิกแผนการสั่งซื้อเครื่องบิน”พล.อ.ประจิน กล่าว
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ภายในเดือนก.พ.นี้ จะเริ่มใช้มาตรการเหล่านี้ได้ทันที ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของฝ่ายบริหารและบอร์ดการบินไทย ส่วนการปรับลดหรือยกเลิกเส้นทางบิน หรือการขายตั๋วนั้นฝ่ายบริหารสามารถดำเนินการได้ทันที แต่แผนที่จะต้องมีการใช้งบประมาณจะต้องเสนอขออนุมัติจาก ครม. เช่น การปรับลดบุคลากร ต้องเสนอ ครม.ก่อน
“เรื่องการขายสินทรัพย์ของการบินไทยมี 2 ส่วน คือ การขายเครื่องบินที่ไม่ได้ใช้งาน กับการขายที่ดินหรืออาคารหากพิจารณาว่าไม่ได้มีการใช้งาน รวมทั้งกิจการบางส่วนด้วย รายละเอียดฝ่ายบริหารจะไปพิจารณาอาคารสำนักงานหรือที่พักในต่างประเทศนั้น ดีดีการบินไทย แจ้งว่าข้อมูลยังไม่พร้อมขอกลับไปพิจารณาและจำนำมาเสนอ คนร.ในครั้งต่อไป”รมว.คมนาคมกล่าว
พล.อ.อ.ประจินกล่าวต่อว่า สำหรับ รฟท.นั้น คนร.มีมติเห็นชอบให้มีการเพิ่มการให้บริการที่มีศักยภาพ เช่นการปรับปรุงประสิทธิภาพทางคู่ ปรับปรุงการให้บริการตรวจสภาพรถไฟ ซึ่งจะทำให้รถไฟสามารถให้บริการตรงเวลาและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินสะสมรวม 8.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจากภาระดอกเบี้ยที่เกิดจากรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยรฟท.ล่าช้า กรณีรถไฟฟรี การไม่ได้ปรับขึ้นค่าตั๋วตามต้นทุนที่แท้จริงจากนโยบายการเป็นบริการสาธารณะ และภาระค่าเงินบำนาญของพนักงานรฟท.นั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม รฟท. และกระทรวงการคลังไปหารือ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป
“กระทรวงคมนาคมจะต้องไปหารือกับ รฟท. และกระทรวงการคลัง ว่าจะแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนนี้อย่างไร จะนำที่ดินของรฟท. ไปแปลงเป็นทรัพย์สินอย่างไร จะมีการปรับปรุงบริการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้อย่างไร และจะขอให้กระทรวงการคลังช่วยรับภาระหนี้ที่เกิดจากบริการสาธารณะได้เท่าไหร่ โดยจะต้องนำข้อสรุปกลับมาเสนอ คนร. อีกครั้งภายใน2สัปดาห์” พล.อ.ประจิน กล่าว
ส่วนการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการทำงานตามภารกิจใหม่ที่จะมีการให้บริการรถไฟทั้งระบบทางคู่ 1 เมตร และทางมาตรฐาน 1.435 เมตรนั้น ที่ประชุมมอบให้รฟท. กลับไปศึกษาแนวทางการปรับสัดส่วนประเภทของพนักงาน ให้สอดคล้องกับภารกิจใหม่ ทั้งในส่วนของผู้บริหาร วิศวกร ช่างเทคนิคและพนักงานทั่วไป โดยให้นำมาเสนอ คนร.ในครั้งหน้า เพื่อขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ปี 2541 ที่กำหนดให้ รฟท. รับพนักงานใหม่ได้ไม่เกิน 5% ของจํานวนที่เกษียน
โดยตามแผนฟื้นฟูเบื้องต้นกำหนดให้มีการรับพนักงานเพิ่มเติมระหว่างปี 2558-2565 จำนวนรวม 2,500 คน ซึ่งจะทำให้จำนวนพนักงานของรฟท. ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.6-1.7 หมื่นคน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีจำนวน 1.4 หมื่นคน
พล.อ.อ.ประจินกล่าวต่อถึงแผนฟื้นฟู ขสมก. ว่า คนร.เห็นชอบให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและผู้บริหารให้สอดคล้องกับการทำงานและการกิจ โดยกำหนดบทบาทให้ขสมก.เป็นผู้ให้บริการเดินรถ ดังนั้นงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลจะโอนให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)เข้ามารับผิดชอบแทน แต่ในเรื่องของสัดส่วนการเดินรถและเส้นทางเดินรถต่างๆจะให้สิทธิกับ ขสมก.มากกว่ารถร่วมบริการ ซึ่งรายละเอียดจะต้องไปหารือร่วมกันอีกครั้ง
“ต่อไป ขสมก. จะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการเดินรถเหมือนกับรถร่วมรายอื่นๆ แต่จะมีสัดส่วนของรถและเส้นทางเดินรถมากกว่ารถร่วม แต่เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน ประเด็นทั้งหมดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปปรึกษาหารือเพิ่มเติม และเสนอ คนร.อีกครั้ง ” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
ส่วนที่ ขสมก.มีหนี้สินสะสมมากถึง 92,000 ล้านบาทนั้น พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกันว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ก่อนที่จะเสนอ คนร.ต่อไป นอกจากนี้จะต้องมีการปรับปรุงเส้นทางการเดินรถต่างๆ ซึ่งในรายละเอียดทาง ขสมก.จะต้องไปดำเนินการจัดทำแผน
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php…
...
ความเห็นจาก กานดา นาคน้อย...
ถ้าจะทำแค่ ก) ขายทรัพย์สิน ข) เอาพนักงานออก ง) ลดเงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน จ)ปรับแผนการตลาด ไม่ต้องจ้างซูเปอร์บอร์ดเงินเดือนแพงๆหรอกนะ กลยุทธพื้นฐานทางธุรกิจนี่ระดับผู้จัดการโรงงานเสื้อยืดก็คิดออก ที่ต้องคิดคือต้องลดจำนวน"ตั๋วฟรี"และ"ตั๋วลดด้วยสิทธิต่างๆ" คนซื้อตั๋วจริงต้องจ่ายแพงเพื่อชดเชยรายได้ทีเสียไปเพราะคนใช้อภิสิทธิ์บินฟรีหรือบินด้วยส่วนลด แพงมากลูกค้าก็หันไปใช้สายการบินอื่นแทน น้ำมันก็ราคาถูกแต่ก็ยังบริหารไม่ได้กำไรนี่นับว่าแย่มากนะ
http://www.thairath.co.th/content/477160
ความเห็นจาก กานดา นาคน้อย...
ถ้าจะทำแค่ ก) ขายทรัพย์สิน ข) เอาพนักงานออก ง) ลดเงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน จ)ปรับแผนการตลาด ไม่ต้องจ้างซูเปอร์บอร์ดเงินเดือนแพงๆหรอกนะ กลยุทธพื้นฐานทางธุรกิจนี่ระดับผู้จัดการโรงงานเสื้อยืดก็คิดออก ที่ต้องคิดคือต้องลดจำนวน"ตั๋วฟรี"และ"ตั๋วลดด้วยสิทธิต่างๆ" คนซื้อตั๋วจริงต้องจ่ายแพงเพื่อชดเชยรายได้ทีเสียไปเพราะคนใช้อภิสิทธิ์บินฟรีหรือบินด้วยส่วนลด แพงมากลูกค้าก็หันไปใช้สายการบินอื่นแทน น้ำมันก็ราคาถูกแต่ก็ยังบริหารไม่ได้กำไรนี่นับว่าแย่มากนะ
http://www.thairath.co.th/content/477160