ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558
ในมุมมองของศาสตราจารย์ไมเคิล เฮิร์ซเฟลด์ อาจารย์คณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองและวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆรวมถึงไทยด้วย โดย อาจารย์มองว่า ไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มอาณานิคมอำพราง
ในงานเสวนาหัวข้อ "Crypto-Colonialism" หรือ "อาณานิคมอำพราง" ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ไมเคิล อธิบายสถานะ "อาณานิคมอำพราง" ว่าเป็นสภาวะที่ผู้อยู่อาศัยนิยามตัวเองว่า "ไม่เคยอยู่ใต้อาณานิคม" แต่ในความเป็นจริงแล้วยังได้รับอิทธิพลจากมหาอำนาจทางอาณานิคม หรือถูกบอกให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่อย่างนั้นอิสรภาพจะสั่นคลอน
ทั้งนี้ สถานะ "อาณานิคมอำพราง" ยังเป็นห้วงที่แปลกประหลาดกว่าสถานะอื่น โดยประเทศที่เป็นอาณานิคมอำพรางไม่มีสิทธิพิเศษเหมือนประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม จึงยิ่งทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากที่อยู่ใต้อิทธิพล แต่ก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอาณานิคมที่เป็นพันธมิตร โดยการวิเคราะห์เหล่านี้ถือเป็นแบบอย่างที่ช่วยเปรียบเทียบตัวอย่างในประเทศต่างๆ ให้เข้าใจสถานการณ์และตระหนักถึงผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งชีวิตของคนในสังคมถูกผลิตซ้ำจากผลกระทบนี้อย่างเช่น สถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบผสมกันระหว่างตะวันตกกับ "ไทย", พฤติกรรมบนโต๊ะอาหารที่ถูกเปลี่ยนจากการใช้มือมาเป็นเครื่องมือต่างๆและการใช้ภาษาซึ่งเชื่อมโยงกับการนิยาม"ระดับทางสังคม"
หลายปีที่ผ่านมาคนไทยจำนวนไม่น้อยยังให้เหตุผลการพัฒนาตัวเองเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประเทศอื่นซึ่งศาสตราจารย์เฮิร์ซเฟลด์มองว่าการพัฒนาเป็นคำอันตรายในมุมมองทางมานุษยวิทยา
ศาสตราจารย์เฮิร์ซเฟลด์ยังแนะนำว่านักการเมืองไทยควรศึกษาและเปรียบเทียบตัวอย่างจากประเทศอื่นๆอย่างลึกซึ้งก่อนที่จะดำเนินการใดๆซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
https://www.youtube.com/watch?v=gA6X-9oEwoA