ที่มา มติชนออนไลน์
ปฏิเสธไม่ได้ถึง "บทบาทกองทัพ"กับ "การเมือง" ในประเทศไทย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย หากไล่รายชื่อนายกรัฐมนตรีย้อนกลับไป ก็จะได้พบว่า นายกรัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารประเทศก็มักจะมาจาก "ทหาร" เสียเป็นส่วนใหญ่
หรืออย่างในวันนี้ผู้นำประเทศของเราคือ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี ก็มาจากทหาร รวมทั้งยังมีทหารเป็นรัฐมนตรีอีกหลายคน
และเนื่องในวันกองทัพไทย (18 มกราคม) ที่เพิ่งผ่านพ้นไป จึงถือโอกาสชวนนักวิชาการผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมือง แวดวงการทหารพูดคุยกันถึงเรื่อง "บทบาทกองทัพกับประชาธิปไตย"
สถานะ ′ผู้พิทักษ์′
และ ′มิติความมั่นคงรูปเเบบใหม่′
เริ่มต้นที่ ยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งบอกไว้ว่า "ทหาร" เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สำคัญในสังคมทุกสังคมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย อย่างไรก็ต้องมีกองทัพ เพียงเเต่ว่าบทบาทกองทัพในประชาธิปไตย ต้องเป็นกองทัพที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน
เเละสามารถทำให้ประชาชนนั้นมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเเละติดตามการดำเนินงานต่างๆ ได้
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มสธ. บอกว่า อนาคตกองทัพอาจจะต้องมองใน "มิติความมั่นคงรูปเเบบใหม่ (traditional security)" มากขึ้น จากเดิมที่เน้นมิติความมั่นคงเเบบดั้งเดิม เช่น ด้านการทหาร ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความมั่นคงในเชิงกายภาพ ขณะที่ปัจจุบัน มีความมั่นคงในรูปแบบใหม่ (non-traditional security) มากขึ้น เช่น ความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงเรื่องอาหาร ความมั่นคงทางสิ่งเเวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นบทบาทหน้าที่ของกองทัพซึ่งอาจจะต้องปรับตัวให้ทันกับสภาพเเวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนไป
"ในความมั่นคงรูปเเบบใหม่ กองทัพต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยสนับสนุนให้กับฝ่ายพลเรือน โดยมีบทบาทเข้าไปเสริมสร้างได้หลายส่วน เช่น เป็นหน่วยเสริมในการสร้างอาชีพให้กับคน หรือเป็นหน่วยเสริมในการพัฒนา โดยนำความรู้ไปสอนผู้คนในเรื่องเกษตรกรรม หรือเเสดงบทบาทเสริมในการป้องกันการปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นต้น"
โดยสรุปก็คือ กองทัพจะมองความมั่นคงจากรัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองความมั่นคงของประชาชนด้วย นั่นคือ มีความตระหนักในการจะมองประชาชนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ถึงจะเป็นกองทัพที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยเเละเป็นกองทัพที่มีความเป็นสมัยใหม่
การเมืองกับกองทัพยังเป็นเรื่องที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เห็นว่าเเยกกันไม่ออก
ยุทธพรบอกว่า ตั้งเเต่การรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 เป็นต้นมา บทบาทของกองทัพได้เข้ามาสู่สังคมไทยระดับฝังรากลึก โดยเฉพาะในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการวางรากฐานหลายอย่างให้กองทัพมีบทบาทสำคัญในสังคม เข้าไปอยู่ในกลไกต่างๆ อย่างกว้างขวาง ฉะนั้น การจะเเยกกองทัพออกจากการเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะในสังคมของประเทศกำลังพัฒนา กองทัพมักจะมีจิตสำนึกของความเป็น "ผู้พิทักษ์" อยู่ในตัวอยู่
"กองทัพมองตัวเองอยู่ในสถานะผู้พิทักษ์ ดังนั้น จะให้ออกไปจากการเมืองก็คงจะไม่ได้ เพราะต้องคอยเฝ้าระวังภัยต่างๆ นานาให้กับสังคม ทำให้กองทัพละทิ้งบทบาทของความเป็นผู้พิทักษ์ไม่ได้ ซึ่งประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีลักษณะเเบบนี้ในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย" ยุทธพรกล่าว
บทบาท ′รั้วของชาติ′
สารพัดปัญหา ′ต้องแก้′
ต่อมาคือ ไชยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งวิเคราะห์ไว้ว่า บทบาทของทหารทางการเมืองน่าจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ก่อนและหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี
พร้อมทั้งได้อธิบายว่า "ช่วงก่อนคือ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ทหารบางส่วนนิยมประชาธิปไตย ขณะที่บางส่วนนิยมเจ้า แต่ก็ยังมีความโน้มเอียงไปทางประชาธิปไตย อย่างพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) และพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ที่เข้าร่วมกับคณะราษฎรจนทำให้เปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ ทว่า ทหารเหล่านี้ไม่ใช่ทุกคนที่ชูธงประชาธิปไตยสูงสุด แต่ยังพูดรวมๆ ได้ว่านิยมประชาธิปไตย กระทั่งถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 2490 ทหารปีกขวาของคณะราษฎรขึ้นมามีอำนาจเต็มที่ก็ยังนิยมประชาธิปไตยอยู่"
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นหลังจากจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจจอมพลป.พิบูลสงครามเมื่อพ.ศ.2500
ไชยันต์บอกว่า ตั้งแต่นั้นมาแทบไม่มีทหารไทยคนใดเลยที่นิยมประชาธิปไตยอย่างจริงจัง กระทั่งปัจจุบัน อย่างกลุ่มทหารที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยคู่กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เป็นประชาธิปไตยแต่ชื่อ
"เมื่อใดที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมาก ทหารจะร่วมมือกับชนชั้นนำทำรัฐประหาร
"ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เรื่อยมา บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยดี แต่อาจมากไปจนทหารร่วมกับชนชั้นนำกำราบประชาธิปไตย เป็นแบบแผนเช่นนี้เรื่อยมา และมีความพยายามครองอำนาจเอง เช่น พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2535 เพียงแต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอ หรืออาจไม่ได้เข้ากับชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งของสังคมไทย ทำให้ พล.อ.สุจินดาต้องล้มไป... นั่นคือบทเรียน
"หากเราย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะพบว่าทหารกับการเมืองเกี่ยวดองกันเสมอ จนเกิดคำถามว่า ′แล้วหน้าที่รั้วของชาติ′ ล่ะ ทหารไทยทำได้ดีแค่ไหน?" ไชยยันต์กล่าว และตั้งคำถามชวนคิด
ถามว่า "ทำอย่างไรหากต้องการพัฒนาประชาธิปไตยไทย?"
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ บอกว่า ต้องให้บ้านเมืองมีกำลังประชาธิปไตย แต่ก็ยากตรงที่ยังมีชนชั้นนำต้องการรักษาอำนาจของตัวเองไว้ ซึ่งต้องพึ่งทหาร
ภาพจาก Maysaanitto |
"ทหารในประเทศอื่นมีเกียรติภูมิมาก เช่น ทหารอินโดนีเซียที่ต่อสู้กับอำนาจอาณานิคมดัตช์ ทหารพม่าต่อสู้กับอำนาจอาณานิคมอังกฤษ ทำนองเดียวกับทหารเวียดนามที่ต่อสู้กับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา คำถามคือ ทหารไทยมีเกียรติภูมิอย่างทหารเพื่อนบ้านไหม? คิดดูว่า ถ้าเราเอางบประมาณทหารมาพัฒนาประเทศ เราจะแซงเกาหลีได้เลย
"เพราะปัญหาของประเทศไทย คือ การด้อยพัฒนา ทั้งราคาผลิตผลเกษตรตกต่ำ คนยากจน คนไม่มีที่อยู่อาศัย การศึกษาไม่มีคุณภาพ การรักษาพยาบาลไม่ทั่วถึง ฯลฯ นี่เป็นปัญหาที่อยากถามว่า ทหารจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร" "ความมั่นคง" ที่อ้าง เป็นความมั่นคงของใคร ตอนนี้ไม่มีประเทศใดมารุกรานจนต้องใช้ทหารป้องกัน
"เพราะสมัยนี้เขาบุกกันทางเศรษฐกิจ"
วังวนของ ′ประชาธิปไตย′
ครั้งหนึ่งเราเคยเป็น ′ต้นแบบ′
คนสุดท้ายคือผู้ที่ติดตามแวดวงกองทัพมาอย่างยาวนาน สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของคอลัมน์ "ยุทธบทความ" ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
และล่าสุดมีผลงานรวมเล่มชื่อว่า "เสนาธิปไตย รัฐประหารกับการเมืองไทย"
สุรชาติบอกว่า บทบาททหารกับการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย ปกติมักจะเริ่มที่ปี 2475 แต่ถ้าเราย้อนกลับไปจะเห็นว่าทหารพยายามที่จะมีบทบาททางการเมืองตั้งแต่ปี 2452 หรือสมัยรัชกาลที่ 6 และเหตุการณ์ครั้งแรกที่ทหารพยายามจะเข้ามามีบทบาททางการเมือง นำไปสู่การจับกุมในปี 2454 (กบฏ ร.ศ.130) ซึ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามในขณะนั้น
แต่ความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองที่สำเร็จครั้งแรกเกิดขึ้นในอีก27ปีต่อมา
"ต้องยอมรับว่าคณะราษฎรมีส่วนประกอบทั้งทหารและพลเรือน แต่กำลังสำคัญเป็นทหาร ที่หวังจะพาประเทศไปสู่การปกครองระบอบ ′รัฐธรรมนูญนิยม′ สมัยนั้นยังไม่เรียกว่า ′ประชาธิปไตย′ แต่การเมืองหลังจากปี 2475 มีความผันผวน สุดท้ายสิ่งที่เป็นอุดมคติในยุค 2475 ที่จะทำให้เกิดระบอบรัฐธรรมนูญนิยมนั้น เอาเข้าจริงแล้วกลับกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองไทย เมื่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้าสู่อำนาจในปี 2481
"ประกอบกับสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เสริมให้บทบาททหารขยายตัวมากขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะความสำเร็จจากการเรียกร้องดินแดนในปี 2484 ทำให้บทบาทพลเรือนในการเมืองไทยลดน้อยลง" สุรชาติอธิบาย
และว่า หลังจากสงครามสงบ เป็นความโชคดีที่รัฐบาลจอมพล ป. พาประเทศไทยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ทำให้ไทยไม่ถูกถือเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ทำให้ประเทศไม่ถูกยึดครองโดยกองทัพพันธมิตร และที่สำคัญที่สุดคือ กองทัพไทยไม่ถูกปลดอาวุธ เมื่อเป็นเช่นนี้กลับส่งสัญญาณว่าโครงสร้างอำนาจทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารยังคงมีอำนาจที่มีความชัดเจนขึ้น เพราะกองทัพไม่ถูกแตะต้องแม้มีเสรีไทยเป็นคู่แข่งก็ตาม แต่ทั้งหมดก็จบลงด้วยการรัฐประหารปี 2490
สุรชาติบอกว่า เป็นการนำพากลุ่มทหารและกลุ่มอำนาจเก่าก่อนปี 2475 เข้ามาผนวกกำลัง ทำให้เงื่อนไขของการสร้างประชาธิปไตยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความซับซ้อนขึ้น ช่วงนี้บทบาททหารมีความสำคัญ มีความพยายามที่จะก่อรัฐประหาร หรือมีความพยายามต่อสู้กับฝ่ายทหารเกิดขึ้น เช่น กบฏวังหลวง 2492 ของเสรีไทยที่ถูกปราบโดยทหาร
ตัวแบบเหล่านี้เห็นชัดว่ากองทัพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นสถาบันการเมืองที่ทหารยังกุมอำนาจทางการเมืองไว้มาก จนกระทั่งความขัดแย้งทางการเมืองจบลงจากการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 และ 2501
"ถ้าเปรียบเทียบกับปี 2490 แล้ว ปี 2501 เป็นความสำเร็จในการสร้างอำนาจของรัฐทหารจริงๆ หรือเป็นการสร้างอำนาจระบบการปกครองแบบเผด็จการทางทหารเต็มรูป จะเห็นความชัดเจนโดยเฉพาะความชัดเจนที่ผ่านรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่มาตรา และเราจะได้ยินวลี ′ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว′ เท่ากับบอกเราว่า อำนาจของการเมืองไทยรวมศูนย์อยู่กับผู้นำทหารเท่านั้น" สุรชาติกล่าว
กระทั่งปี 2506 จอมพลถนอม กิตติขจร เข้ามารับช่วงต่อสืบทอดอำนาจแบบทหาร ก่อนจะจบลงในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
เหตุการณ์ 14 ตุลาที่เกิดขึ้น เหมือนการกำเนิดความพยายามสร้างระบอบประชาธิปไตย ครั้งที่ 2 หลังปี 2475 ขณะเดียวกันสะท้อนให้เห็นความถดถอยของอำนาจทหาร แต่ระบอบประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา ก็มีอายุสั้นเพียงแค่ 3 ปี และจบลงปี 2519 เข้าสู่เรื่องเดิมคือรัฐประหาร อำนาจของทหารก็กลับเข้ามา
สุรชาติบอกอีกว่า หลังปี 2519 การเมืองไทยมีความผันผวนโดยตลอด จนเกิดการรัฐประหารปี 2520 นำไปสู่ระบบการปกครองที่เราเรียกว่า การเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ยุคพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สุดท้ายการเมืองก็เข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบในยุคพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ก็มาสะดุดในเหตุการณ์รัฐประหารปี 2534 ก่อนจะจบที่ชัยชนะของประชาชนอีกครั้งในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535
"หลังปี 2535 ทุกคนเชื่อว่ารัฐประหารปี 2534 จะเป็นการแทรกแซงครั้งสุดท้ายของทหารไทยทางการเมือง แต่เอาเข้าจริงการแทรกแซงทางการเมืองก็กลับมาอีกครั้งในปี 2549 และ 2557 เพราะฉะนั้น ทหารกับประชาธิปไตยไทย วันนี้ต้องยอมรับว่ากลายเป็นวังวน ไม่มีจุดจบ จากรัฐประหารเสร็จ ร่างรัฐธรรมนูญ เปิดการเลือกตั้ง ถ้าไม่พอใจการเลือกตั้งก็รัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ วังวนชุดนี้เป็นสิ่งที่เกิดมายาวนานในสังคมไทย"
จนมีคำถามว่า มีโอกาสที่วังวนหรือวัฏจักรของการรัฐประหารในสังคมไทยจะมีจุดสิ้นสุดหรือไม่? และกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทยจะเข้มแข็งขึ้นหรือไม่?
สุรชาติทิ้งท้ายด้วยการเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านถึงสถานการณ์การเมืองให้เห็นภาพ
โดยบอกว่าหลังเหตุการณ์พฤษภาปี2535การเมืองไทยเป็นต้นแบบของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่วันนี้ ถ้าย้อนกลับไปดูสถานการณ์รอบบ้านจะเห็นว่า การเมืองของอินโดนีเซียกลายเป็นตัวแบบแทนการเมืองไทย หรือวันนี้ เราเห็นการเมืองของฟิลิปปินส์ที่เคยล้มลุกคลุกคลานจนถูกเรียกว่าเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย ในระยะเวลาไม่กี่ ปีฟิลิปปินส์ประกาศว่าฟื้นจากการป่วยไข้แล้ว เราก็ได้เห็นการพัฒนาเศรษฐกิจ
ขณะที่พม่า วันนี้จะมีการเลือกตั้ง เป็นความท้าทาย แม้จะมีคนวิจารณ์ว่าการเลือกตั้งยังอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายทหารก็ตาม
"เพราะฉะนั้น โจทย์ของการพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาควันนี้ ต้องยอมรับว่าไม่ใช่แค่การเมืองไทยอย่างเดียว เพราะปี 2558 เป็นปีที่รวมอาเซียน มีความหวังว่าการสร้างประชาคมอาเซียนจะคู่ขนานกับการสร้างประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"สุรชาติกล่าว
คือบทวิเคราะห์อย่างเจาะลึกของ3นักวิชาการผู้คร่ำหวอดในแวดวงทหารและการเมือง
ร่วมฉลอง "วันกองทัพไทย" ในห้วงเวลาที่มีการ "ปฏิรูป" ประเทศเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย
ขอเวลาอีกไม่นาน
(ที่มา:มติชนรายวัน 19 มกราคม 2558)
ooo
เดินหน้ายุทธศาสตร์ คสช.! ตั้ง ผบ.เหล่าทัพควบคุมดูแลประเทศ ทุกด้าน
ที่มา มติชนออนไลน์
22 มกราคม พ.ศ. 2558โดยการประชุมในวันนี้มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช. ในฐานะรองประธานฯ และกรรมการประกอบด้วย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.วรพงษ์ สว่างเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.), พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.), พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม, พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อ.ถาวร มณีพฤกษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม., นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการและเลขานุการ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ขาดแต่เพียง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ติดภารกิจเยือนประเทศกัมพูชา
โดยภายหลังการประชุมว่า พล.อ.ประวิตรได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อช่วยขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงาน ดังนี้ พล.อ.ประวิตร เป็นประธานอนุกรรมการดูแลเรื่องปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เรื่องการคลัง และเรื่องรัฐวิสาหกิจ งบประมาณ และพาณิชย์ ด้าน พล.อ.อุดมเดช เป็นประธานคณะอนุกรรรมการดูแลเรื่องตำรวจ ยาเสพติด ความมั่นคง ปกครอง ทั้งระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น พล.อ.ศิริชัย เป็นประธานอนุกรรมการดูแลเรื่องการอุตสาหกรรม พลังงาน การเกษตร และความสัมพันธ์ต่างประเทศ พล.อ.วรพงษ์ เป็นประธานอนุกรรมการดูแลเรื่องการท่องเที่ยวและกีฬา การค้าชายแดน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ พล.ร.อ.ไกรสร เป็นประธานอนุกรรมการดูแลเรื่องการประมง การขนส่ง โลจิสติกแรงงานและปัญหาแรงงานทาส พล.อ.อ.ตรีทศ เป็นประธานอนุกรรมการด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไอซีที และสาธารณสุข ขณะที่ พล.อ.ดาว์พงษ์เป็นประธานอนุกรรมการดูแลงานด้านยุทธศาสตร์ คสช.โดยรวมและงานประสานระหว่าง สนช. และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)