Election |
28 มกราคม 2015
ปลายปี 2556 สถานการณ์ทางการเมืองไทยเริ่มตึงเครียด ส.ส. พรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "ฉบับเหมาเข่ง" เข้าสภา ก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน และการชุมนุมคัดค้านขนาดใหญ่ แม้ว่าภายหลังร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะตกไป แต่ความร้อนแรงของอุณหภูมิทางการเมืองกลับไม่ได้ลดต่ำลงไปด้วย จากกระแสมวลชนที่ถูกจุดติด ทำให้มีการ "ยกระดับ" ข้อเรียกร้องไปเรื่อยๆ จากถอนร่าง พ.ร.บ. ไปเป็นให้รัฐบาลลาออก จนเมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภา ก็มีการผลักดันข้อเรียกร้องไปเป็น "ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง"
ในรูปธรรม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) และผู้สนับสนุนแนวคิด "ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง" ใช้มาตรการต่างๆเพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง รวมทั้งการปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไปใช้สิทธิ
ในเวลาต่อมา การปิดกั้นการใช้สิทธิโดยมวลชนที่เชื่อในแนวทาง "ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง" ก็กลายเป็นก้าวแรกที่นำประเทศเข้าไปสู่ทางตัน จนทำให้ทหารสามารถอ้างเป็นเหตุทำรัฐประหาร ประกาศใช้กฎอัยการศึก และใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง
จาก "คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสู่ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
1 พฤศจิกายน 2556 สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ในเวลาต่อมา มีประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงการผ่านกฎหมายดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ในหลายพื้นที่ เริ่มจากเวทีใหญ่ ตรงสถานีรถไฟสามเสน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและศูนย์ราชการ นอกจากนี้ยังมีเวทีย่อยที่ หอศิลป์ กทม. แยกราชประสงค์ แยกสวนลุมพินี ฯลฯ
7 พฤศจิกายน 2556 กระแสต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่หนักหน่วง ทำให้ส.ส..ที่เสนอร่างพ.ร.บ.นิโทษกรรม ตัดสินใจถอนร่างกฎหมายออกจากวาระการประชุม
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีก็แถลงว่า การผ่าน ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลพวงแห่งการรัฐประหารเท่านั้น ไม่ใช่ผ่านเพื่อล้างผิดกรณีคอร์รัปชัน ทั้งในขณะนี้ก็มีการถอนร่างพ.ร.บ.ทั้งหมดออกจากวาระการประชุมแล้ว จึงอยากขอให้ยุติการชุมนุม
11 พฤศจิกายน 2556 สมาชิกวุฒิสภา มีมติไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 141 เสียงและงดออกเสียง 1 เสียง
15 พฤศจิกายน 2556 การชุมนุมก็ยังคงดำเนินต่อไป มีการประกาศยกระดับการชุมนุมจากคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปเป็นการถอนรากถอนโคน "ระบอบทักษิณ" แทน โดยชี้ว่า พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เป็นเพียงผลไม้พิษที่มาจากต้นไม้พิษ คือระบอบทักษิณ
การชุมนุมและสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียด ทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยหวังว่า การยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่คงจะเป็นทางออกที่ดี แต่การชุมนุมไม่ได้ยุติลงไป ขณะที่ผู้ชุมนุมก็มีข้อเรียกร้องใหม่ ได้แก่การจัดตั้งสภาประชาชนและการฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ทวีความตึงเครียดและมีความไม่แน่นอน สปอตไลท์เริ่มส่องไปที่ทหาร ตัวแสดงที่สำคัญตัวหนึ่งของการเมืองไทย 27 ธันวาคม 2556 คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก แถลงในลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้เรื่องการรัฐประหาร แต่ก็ยืนยันว่าต้องแก้ปัญหาด้วยการพูดคุย
ยึดหน่วยเลือกตั้ง ปูทางสู่การรัฐประหาร
13 มกราคม 2557 แกนนำกปปส.นัดชุมนุมปิดถนนสายหลักในกรุงเทพมหานคร (Shut down Bangkok) เพื่อยกระดับการชุมนุม หวังเผด็จศึกกดดันรัฐบาลรักษาการให้ลาออก และรณรงค์ไม่ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในระหว่างการชุมนุมที่ยืดเยื้อ รัฐบาลตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 21 มกราคม 2557 เพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผล
วันที่ 26 มกราคม 2557 กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าในกรุงเทพมหานครและในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 440,000 คนไม่สามารถออกเสียงลงคะแนนได้ เช่น ที่จ. ตรัง กลุ่ม กปปส. ตรัง เดินทางมาปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าเอาไว้ตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ที่จ.นครศรีธรรมราช มีมวลชนมาปิดล้อมจนต้องยุติการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งจังหวัด ขณะที่ จ.ชุมพร มวลชน กปปส. ตั้งเวทีปราศรัยหน้าสถานที่เลือกตั้งล่วงหน้าตั้งแต่เวลา 05.00 น. เพื่อป้องกันการรับหีบและบัตรเลือกตั้งของเจ้าหน้าที่
ที่มาภาพ: มติชน |
ทว่าในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 วันก่อนการเลือกตั้งก็เกิดเหตุรุนแรงขึ้น ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างที่ผู้ชุมนุม กปปส. ปิดกั้นการส่งหีบเลือกตั้งจากสำนักงานเขตหลักสี่ มีกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลราว 200 คน มาชุมนุมเผชิญหน้าคัดค้านกลุ่มกปปส. การเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมสองฝ่ายที่มีความเห็นต่างกันทำให้เกิดความตึงเครียดถึงขั้นใช้อาวุธปืนยิงโต้ตอบกันหลายนัด ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยหกคน
เหตุการณ์ที่่เป็นที่โจษจันคือ ลุงอะแกว วัย 72 ปี ที่เห็นว่ามีการชุมนุมกันบริเวณหลักสี่จึงเข้าไปสังเกตการณ์ เนื่องจากเป็นห่วงลูกสาวที่ทำงานขายอาหารอยู่ ภายในห้างไอทีสเเควร์ โดยอยู่ฝั่งผู้ชุมนุมสนับสนุนการเลือกตั้งและถูกยิงจนกลายเป็นอัมพาต เกือบ 8 เดือน จนกระทั่งเสียชีวิต
ผลแห่งความรุนแรงทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินใจระงับการลงคะแนนในเขตหลักสี่ นอกจากนี้ ยังยกเลิกการลงคะแนนใน จ.ชุมพร ตรัง พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สงขลาและสุราษฎร์ธานีเนื่องจากขาดบัตรเลือกตั้ง
2 กุมภาพันธ์ 2557 วันเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตดินแดงชุมนุมประท้วงกลุ่ม กปปส. ที่ปิดล้อมสำนักงานเขตดินแดงทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ได้ พร้อมทั้งเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้ง
ในวันเดียวกันก็เกิดเหตุผู้สนับสนุนกลุ่ม กปปส. ออกมาปิดล้อมคูหาเลือกตั้งในหลายๆ พื้นที่ ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดทางภาคใต้ หลายจุดมีการปะทะกันระหว่างผู้ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งกับผู้ชุมนุม เช่น กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. หาดใหญ่ ปิดล้อมศูนย์ไปรษณีย์หาดใหญ่ ทำให้ยังไม่สามารถแจกจ่ายบัตรเลือกตั้งไปยังจังหวัดต่างๆ ในชายแดนภาคใต้ได้ และที่สำนักเขตเลือกตั้ง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็มีกลุ่ม กปปส. ปิดล้อมเช่นกัน
สำหรับที่กรุงเทพมหานครมีการปิดหน่วยเลือกตั้งที่ 17 สุเหร่าบ้านดอน ย่านทองหล่อ หลังถูกปาด้วยประทัดยักษ์และมีผู้ชุมนุมเป่านกหวีดให้ยุติการเลือกตั้ง ขณะที่เขตหลักสี่ ดินแดง ราชเทวี มีการปิดหน่วยเลือกตั้งโดยกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนเขตบางกะปิกับบึงกุ่มมีปัญหาคณะกรรมการหน่วยเลือกตั้งไม่เพียงพอ ทำให้ประกาศปิดรับการลงคะแนนในบางหน่วย
คณะกรรมการการเลือกตั้ง รายงานในภายหลังว่า สามารถจัดการเลือกตั้งได้ 68 จังหวัด มีผู้มาใช้สิทธิ 20,530,359 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 47.72 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของทั้ง 68 จังหวัด และมี 9 จังหวัด ที่จัดการเลือกตั้งไม่ได้
21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้จัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในวันเดียวกัน จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากภาควิชาการและพรรคเพื่อไทย กานต์ ยืนยง นักวิเคราะห์การเมือง กล่าวว่า ค่อนข้างชัดเจนว่า องค์กรอิสระต้องการถอดถอนยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีทั้งคณะเพื่อสร้างช่องว่างแห่งอำนาจ ด้านสดศรี สัตยธรรม อดีตผู้พิพากษาและอดีตกรรมการการเลือกตั้ง วิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการแช่แข็งประเทศ และเรียกร้องให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้มากเพื่อ "นำประชาธิปไตยกลับคืนมา
ในวันเดียวกัน กลุ่มนักเรียนนักศึกษาซึ่งใช้คำขวัญว่า "โปรดเคารพอนาคตของเรา" (Respect My Future) รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และใช้ผ้าดำคลุมอนุสาวรีย์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ประชาธิปไตยได้ตายลงแล้ว ส่วนประชาชนอีกกลุ่มจัดกิจกรรมชื่อ "เคารพเสียงของเรา" (Respect My Vote) เพื่อเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออก
7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีโยกย้ายข้าราชการโดยมิชอบ
9 พฤษภาคม 2557 สุเทพและแกนนำ กปปส.เปิดฉากการประท้วงที่เรียกว่า “การต่อสู้ครั้งสุดท้าย” โดยเข้าควบคุมพื้นที่สื่อมวลชนที่ผู้ชุมนุมมองว่าเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาล และโน้มน้าวไม่ให้รายงานโฆษณาชวนเชื่อนิยมรัฐบาลอีกต่อไป เพราะเชื่อว่าเป็นการบิดเบือนความจริง
สถานการณ์ดูจะเข้าสู่สภาวะสุกงอม กลางดึกของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึกในรูปของประกาศกองทัพบก เนื่องจากผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายยังไม่มีทีท่าจะยุติการชุมนุม
วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลรักษาการแถลงว่า ไม่ได้รับการปรึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจของกองทัพ ต่อมากองทัพแถลงว่าท่าทีดังกล่าวมิใช่การรัฐประหาร แต่มีการเรียกตัวแทนของรัฐบาลรักษาการและตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าเจรจาหาทางออก
เย็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศผ่านทางโทรทัศน์ว่า กองทัพภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินได้เรียบร้อยแล้ว
ดูสรุปสถานการณ์ประจำปี 2557 กรณีอื่นๆ
สรุปสถานการณ์ปี 2557 1/5 : การเรียกบุคคลไปรายงานตัว การจับกุมและการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก
สรุปสถานการณ์ปี 2557 2/5: คดีหมื่นประมาทพระมหากษัตริย์ เดินหน้าหนึ่งก้าวก่อนถอยหลังอีกสามก้าว
สรุปสถานการณ์ปี 2557 3/5: เสรีภาพการชุมนุม/การแสดงออกสาธารณะ และการตั้งข้อหาทางการเมือง
สรุปสถานการณ์ปี 2557 4/5: การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก
สรุปสถานการณ์ปี 2557 5/5 : เก็บตกเหตุการณ์ก่อน-หลังรัฐประหาร การเซ็นเซอร์ตัวเอง การปิดกั้นสื่อออนไลน์ การปิดวิทยุชุมชน และอื่นๆ