ที่มา เว็บไซต์ประชาไท
2014-12-31 15:30
คณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะของ ICC ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบ-ประเมินการทำงานของคณะกรรมการสิทธิทั่วโลก เสนอลดระดับกรรมการสิทธิของไทย จาก A เหลือ B หลังพบปัญหา อาทิ กสม.ไม่สนองต่อปัญหาละเมิดสิทธิในประเทศทันท่วงที กระบวนการสรรหาไม่มีความหลากหลาย ทั้งนี้ มีเวลา 1 ปีในการแก้ไขตามความเห็นที่ ICC เสนอให้ มิเช่นนั้นจะถูกลดสถานะเป็น B
31 ธ.ค.2557 วานนี้มีการเผยแพร่รายงานการประชุมเมื่อเดือนตุลาคมของคณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะฯ ของคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions: ICC) โดยมีมติเสนอให้ลดระดับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของไทย จากสถานะ A เป็น B
สำหรับ ICC ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่มีบทบาทในการตรวจสอบและประเมินการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลกว่าได้ดำเนินการตามหลักการปารีส (Paris Principles) ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหรือไม่
ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีการประเมินคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลกจาก 16 ประเทศ โดยมีเพียงไทยเท่านั้นที่ถูกลดระดับ ที่เหลือเป็นการเลื่อนขั้น คงระดับและบางส่วนถูกเลื่อนการประเมินไปครั้งหน้า โดยครั้งนี้ มีการเสนอให้รับรองสถานะของประเทศลิเบียเป็น B
สำหรับประเด็นที่คณะอนุกรรมการฯ ของ ICC ให้ความเห็นต่อ กสม. มีอาทิ
กระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้ง กสม. พบว่า ไม่มีการกำหนดให้ต้องประชาสัมพันธ์การรับสมัคร กสม. คณะกรรมการสรรหา กสม. มาจากองค์กรสาธารณะไม่กี่แห่ง ไม่มีความเป็นตัวแทนที่ชัดเจน ไม่มีการกำหนดให้ปรึกษา หารือกับกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือภาคประชาสังคม ไม่มีข้อกำหนดเรื่องการปรึกษาหารือหรือการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการรับสมัคร การคัดเลือกและกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และไม่มีเกณฑ์ที่ละเอียดและชัดเจนที่จะใช้ประเมินคุณสมบัติของผู้สมัครเป็น กสม.
ด้านการตอบรับปัญหาด้านสิทธิมนุษย์อย่างทันสถานการณ์ กสม.ไม่สามารถตอบรับกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงได้ทันสถานการณ์ โดยอ้างถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2553 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แต่ กสม.ใช้เวลาถึงสามปีในการทำรายงานเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีกรณีการชุมนุมในปลายปี 2556 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเช่นกัน ทั้งนี้ แม้ว่า กสม.ได้ระบุว่ากำลังพยายามติดตามสถานการณ์สิทธิ แต่จะเห็นว่า ขณะนี้ กสม.ยังไม่มีรายงานการละเมิดสิทธิกรณีนี้ออกมา
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตถึงบทบาทของ กสม. ในสถานการณ์รัฐประหารหรือสถานการณ์ฉุกเฉินว่า องค์กรสิทธิควรมีหน้าที่เฝ้าระวังและธำรงความเป็นอิสระ รวมถึงส่งเสริมและยืนยันการเคารพสิทธิมนุษยชน หลักประชาธิปไตย และส่งเสริมความแข็งแกร่งของหลักนิติรัฐในทุกสถานการณ์โดยไม่มีข้อยกเว้น นอกจากนี้ ควรมีการเฝ้าระวัง การบันทึก ออกแถลงการณ์ และรายงานการละเมิดสิทธิผ่านสื่ออย่างทันท่วงที
ด้านความเป็นอิสระของ กสม. พบว่า มีเจ้าหน้าที่ของ กสม. แสดงความเห็นทางการเมืองขณะปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้ กสม. มีเวลา 1 ปีในการแก้ไขตามความเห็นที่ ICC เสนอให้ หากไม่ได้ดำเนินการตามนั้นจะถูกลดสถานะเป็น B
โดยผลกระทบจากการเป็น B status คือ
1) จะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือส่งเอกสารในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ รวมถึงการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Review) ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เกิดขึ้นในต้นปี 2559
2) สถานะของ กสม. คือ จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในการประชุมในระดับภูมิภาคและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เช่น การประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก - Asia Pacific Forum on National Human Rights Institutions)
3) จะไม่สามารถลงคะแนนเสียงในการประชุมของ ICC หรือสมัครเป็นคณะกรรมการ/อนุกรรมการของ ICC ได้