ภาพจาก Bloggang.com |
ที่มา ประชาไท
Thu, 2015-01-01 12:53
ธิดา ถาวรเศรษฐ
29 ธ.ค. 57
ในสถานการณ์นี้ยิ่งกว่าโยนหินถามทาง ยิ่งกว่าเหาะเหินเกินลงกา และเกินกว่าถอยหลังลงคลอง
แต่เจตนาเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยไปเป็นอภิชนาธิปไตยและรัฐข้าราชการแท้ ๆ โดยตุลาการภิวัตน์ + กองทัพ (เสนาภิวัตน์) + คณะอภิชนและกลุ่มอนุรักษ์นิยม (ประชาภิวัตน์) โดยมวลชนอนุรักษ์นิยม
เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่อาจจะกล่าวเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากบอกว่า โอ..พระ(พุทธ)เจ้า ช่างกล้าหาญ (เหิมเกริม) อย่างไม่น่าเชื่อ ในการสวนกระแสธารการต่อสู้ของประชาชน ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาจน 14 ตุลาคม 2516 , 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535 และแม้แต่ พฤษภาคม 2553 อันเป็นกระแสธารการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชนไทย ไม่ใช่คณะบุคคลหรืออภิชนใด ๆ
ประเด็นแรก คือการเปลี่ยนแปลงเสาแห่งอำนาจนิติบัญญัติให้ที่มาของรัฐสภากลายเป็นรัฐสภาที่อ้างสภาพหุนิยมเพื่อสมดุลของระบบการเมือง โดยให้วุฒิสภามีสมาชิก 200 คน (ประมาณกึ่งหนึ่งของ ส.ส.) มาจากหลากหลายวิชาชีพและกลุ่ม นี่คือสภาที่มีการจัดตั้งจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม ชนชั้นกลางบน และอดีตข้าราชการชั้นสูง นักวิชาการ เรียกได้ว่าเป็นสภาของอภิชนอนุรักษ์นิยม อาจมีกลุ่มแรงงาน, สหกรณ์ และองค์กรเอกชนเข้าไปบ้าง แต่ต้องถือว่าเป็นสภาภายใต้การครอบงำของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม
ยิ่งกว่านั้นยังเพิ่มอำนาจให้สภานี้ ทั้งเสนอกฎหมายได้ ตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหารได้ ตรวจสอบประวัติรัฐมนตรีก่อนทูลเกล้าถวายฯ ถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการระดับสูง โดยร่วมกันลงมติกับ ส.ส. ใช้คะแนนเสียงกึ่งหนึ่ง (หมายความว่า ส.ว. เหล่านี้ร่วมกับ ส.ส. จำนวนไม่กี่คนก็ชนะโหวตได้แล้ว)
- มีอำนาจเลือก, แต่งตั้ง องค์กร ตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ (กกต., ปปช. คตง. ฯลฯ)
- ร่วมกับ ส.ส. ลงมติเห็นชอบวิสัยทัศน์, ยุทธศาสตร์ และแผนสำคัญของประเทศเพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปปฏิบัติ
หมายความว่า ส.ว. มีอำนาจมากกว่า ส.ว. ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เสียอีก ทั้งในด้านควบคุมรัฐบาล คณะรัฐมนตรี การแต่งตั้งและถอดถอนฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และข้าราชการชั้นสูงทั้งหมด
สำหรับสภาผู้แทนราษฎรก็มีการลดจำนวน ส.ส. จาก 1 ต่อ 1.2 แสนคน เป็น 1 ต่อ 2.5 แสนคน และมีสัดส่วนใกล้กับจำนวน ส.ว.สรรหาของชนชั้นนำ เท่ากับลดอำนาจประชาชนและสร้างอำนาจ ส.ว. สรรหาของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม
การเปลี่ยนระบบการเลือก ส.ส. จากแบบบัญชีรายชื่อคู่ขนานกับ ส.ส. เขต โดยอ้างว่าเอามาจากระบบเยอรมัน มิได้มีเจตนารักษาเสียงประชาชนจริง เพราะระบบในรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็แยกวิธีการเลือกตั้ง ส.ส. พื้นที่ กับ ส.ส. บัญชีรายชื่อทั่วราชอาณาจักร ทำได้ดีอยู่แล้ว และการเปลี่ยนแปลงไม่ตัดพรรคเล็กที่คะแนนเสียงต่ำกว่า 5% ก็เป็นที่ยอมรับได้
วิธีการเลือก ส.ส. แบบคู่ขนานแบบรัฐธรรมนูญ 40 หรือ 50 ก็ตาม เป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือก ส.ส. ท้องถิ่น แตกต่างกับการเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อเพื่อเข้าไปบริหารประเทศ เขาไม่ได้มีเจตนาที่จะเลือกแบบเดียวกันเพื่อล็อคคะแนนพรรคใดพรรคหนึ่ง และระบบเยอรมันใช้ในสหพันธรัฐที่แตกต่างจากไทยอันเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียว เขามุ่งสนับสนุนพรรคการเมืองให้เข้มแข็งด้วยซ้ำ โดยตัดคะแนนพรรคเล็กไม่ถึง 5% ออก ไม่ให้มีที่นั่งใน Bundestag และการตั้งพรรคการเมืองใหม่ต้องได้รับการสนับสนุนเบื้องต้นจากประชาชน 0.1% ประมาณ 6 หมื่นคนก่อน จึงจะเข้าสู่ระบบเลือกตั้งได้ ที่สำคัญคือคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ได้พูดถึง (หรืออาจไม่รู้) ว่า ในปี 2013 ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันได้ลงมติแล้วว่า การเติม ส.ส. เขตที่ได้เกินกว่าความนิยมพรรคเข้าไปเฉย ๆ นั้น ทำให้มีตัวเลข ส.ส. เพิ่มเข้าไป อันจะมีผลต่อเปอร์เซ็นต์สัดส่วนความนิยมไม่เท่าเดิม
เราอาจเทียบเคียงได้เช่น พรรคพลังชลได้ ส.ส. เขต 6 คน แต่เปอร์เซ็นต์ ส.ส. บัญชีรายชื่อมีเพียง 0.55% ถ้าคิดแบบเติมเต็มตามที่กรรมาธิการยกร่างฯ คิดนั้น ส.ส. พรรคพลังชลจะได้ ส.ส. 6 คน (ตามระบบเขต ทิ้งชัยชนะเขตไม่ได้) ทั้งที่คะแนนความนิยมพรรคพลังชลควรได้ ส.ส. 1 คนเท่านั้น
แต่ในขณะเดียวกัน ส.ส. พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินได้เปอร์เซ็นต์สัดส่วน 1.52 และได้ ส.ส. เขตเท่ากับ 5 จะได้ ส.ส. 5 คน ตามระบบเขตเช่นกัน รวม ส.ส. น้อยกว่าพลังชลเสียอีก
เช่นเดียวกับพรรคอื่น ๆ ที่เป็นพรรคเล็ก ๆ ได้เปอร์เซ็นต์สัดส่วน 0.39 ถึง 1.52 จะได้ ส.ส. น้อยกว่าพลังชลทั้งสิ้น
ดังนั้นหลักการเอาเปอร์เซ็นต์ความนิยมสัดส่วนเป็นหลักตัดสินเก้าอี้ ส.ส. ในสภาทั้งหมดโดยวิธีที่กรรมาธิการยกร่างฯ คิดเอา ส.ส. แบ่งเขตเติมเข้าไปเฉย ๆ ไม่ว่าสัดส่วนจะเป็นเท่าไร จึงผิดหลักการ จึงมีทางเดียวที่จะรักษาหลักการเปอร์เซ็นต์สัดส่วนให้เป็นตัวบ่งชี้ความนิยมพรรคการเมืองคือ ต้องเพิ่มจำนวนของ ส.ส. เข้าไปให้ได้ฐานที่รักษาหลักการได้ ผู้เขียนได้คำนวณจำนวน ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2554 ตามหลักการล่าสุดตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน คำนวณจากฐานของ ส.ส. เขตพลังชล 6 เสียงเท่ากับได้เปอร์เซ็นต์ความนิยมพรรค 0.55% คิดบัญญัติไตรยางศ์ว่า 100% อันหมายถึงจำนวน ส.ส. ทั้งหมดจะเป็นเท่าไร? ได้เท่ากับ 1,091 คน แล้วกรรมาธิการจะว่าอย่างไร?
กล่าวโดยถึงที่สุด วิธีคิดของคณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญในการเลือก ส.ส. ระบบเยอรมันนั้น
1. ไม่สอดคล้องความเป็นจริงของเจตนารมณ์ประชาชนไทยที่แยกเลือก ส.ส. ในสภา (นิติบัญญัติ) ตามเขตและการเลือกรัฐบาลตามบัญชีรายชื่อ
2. ไม่สอดคล้องกับราชอาณาจักรเดียวที่แบ่งแยกมิได้
3. จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Overhang Mandate คือจำนวน ส.ส. เขตสำหรับพรรคเล็ก ๆ และพรรคใหญ่บางพรรคมีคะแนนมากกว่าเปอร์เซ็นต์สัดส่วนความนิยม ทำให้เกิดจำนวน ส.ส. เกินกว่าความนิยมพรรค ทำให้ฐานจำนวน ส.ส. เปลี่ยนไป เพิ่มขึ้นจากเดิม ไม่อาจใช้ระบบเติมเต็มเฉย ๆ ดังกรรมาธิการยกร่างฯ คิด เพราะจะเกิดการฟ้องร้องกันจนต้องเติมจำนวน ส.ส. เข้าไปมาก อาจเป็นเท่าตัวหรือกว่านั้น
4. การคิดลดจำนวน ส.ส. พรรคใหญ่บางพรรค และเพิ่มจำนวน ส.ส. พรรคเล็กมากขึ้นหาได้เป็นไปตามที่คิด เพราะจะสร้างนวัตกรรมการเมืองใหม่ ๆ มีการฮั้วกันหรือแตกพรรคใหญ่ออกไป จะสร้างปัญหาใหม่ รวมทั้งการที่มี ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองยิ่งจะกลายเป็นการซื้อตัว ซื้อพรรคเล็กง่ายยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ
5. การอ้างว่า ส.ส. บัญชีรายชื่อเหมือนของแถมนั้นก็ไม่ใช่ เพราะเป็นบัญชีรายชื่อของผู้เตรียมเป็นนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง และผู้ทำงานให้พรรคนั้น โดยยึดโยงกับประชาชนทั่วประเทศ ไม่ใช่ของเขตเลือกตั้ง
กล่าวคือประชาชนเขาเลือกบัตร 2 ใบด้วยจุดประสงค์ 2 อย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว นี่คุณกำลังบังคับประชาชนให้เลือกความนิยมพรรคเป็นหลักเพื่อกำหนดเก้าอี้ ส.ส. ในสภา แปลว่าบังคับให้เลือกได้วัตถุประสงค์เดียวเท่านั้น เพราะคะแนนเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อจะสูญเปล่าในบางภูมิภาคหรือในระดับทั่วประเทศ ถ้าพรรคนั้น ๆ ได้ ส.ส. เขตมากกว่าความนิยมเป็นเปอร์เซ็นต์สัดส่วน ก็แปลว่าผู้อยู่ในบัญชีรายชื่ออาจไม่ได้เข้าสภาเลยก็ได้
มาถึงขึ้นนี้จะเห็นเจตนารมณ์ผู้ร่าง ที่ต้องการรัฐสภาที่ตัวแทนของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมมีบทบาทเหนือกว่าผู้แทนราษฎร และมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายบริหารที่มาจากพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งสูงสุด และจงใจจะทำให้เกิดโกลาหลขึ้นขัดขวางอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารที่มาจากประชาชน ที่สำคัญอนุญาตให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยอ้างให้มาจากที่ประชุมสภาฯ ความจริงก็คือต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมนั่นเอง ดังที่ พลเอกเปรมฯ เคยทำสำเร็จมาแล้ว นับเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบหรือยุคอภิชน + ข้าราชการเป็นใหญ่ ในประเด็นนี้เท่ากับข้ามศพ เหยียบหัววีรชน 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35, พฤษภา 53 และประชาชนไทยไม่น้อยกว่า 15 ล้านคน
ร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้อาจหนักกว่าปี 2521 เพราะกะจะให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับอภิชนาธิปไตยเต็มใบให้อยู่ได้ยาวนาน (ไม่เสียของ) นั่นเอง!!!