วันศุกร์, กรกฎาคม 04, 2568

เล่าเรื่องชีวิตนักโทษการเมืองหน้าเรือนจำ ในวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมจ่อเข้าสภา - 3 กรกฎาคม 2568 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดกิจกรรม “3 กรกฎา มาบอกเพื่อน เรื่องนิรโทษ” ที่หน้าประตูทางเข้าเรือนจำกลางคลองเปรม


iLaw
7 hours ago
·
เล่าเรื่องชีวิตนักโทษการเมืองหน้าเรือนจำ ในวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมจ่อเข้าสภา
.
3 กรกฎาคม 2568 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดกิจกรรม “3 กรกฎา มาบอกเพื่อน เรื่องนิรโทษ” ที่หน้าประตูทางเข้าเรือนจำกลางคลองเปรม เพื่อสื่อสารต่อเพื่อนผู้ต้องขังคดีการเมืองว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับประชาชนกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568
.
ในกิจกรรมมีวงสนทนา “5 เรื่องราวชีวิตผู้ต้องขังคดีการเมือง” บอกเล่าเรื่องราวหลังเข้าประตูเรือนจำ ตอกย้ำความจำเป็นของการนิรโทษกรรมคดีตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 ในขณะที่พรรครัฐบาลประสานเสียงไม่แตะต้องคดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับประชาชน จึงเป็นความหวังเดียวของผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวน 32 คน และจำเลยในคดีที่กำลังพิจารณาอีกกว่าร้อยคน
.
วงสนทนาดังกล่าวประกอบด้วย ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือตี้ ธี-ถิรนัย และ มาย-ชัยพร ผู้ต้องหาคดี 112 ที่เคยถูกคุมขังและยังคงต่อสู้เพื่อคนที่ยังอยู่ข้างในเรือนจำ เจษฎา ศรีปลั่งหรือเจมส์ จากเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี และจิณห์วรา ช่วยโชติ จาก Amnesty International ประเทศไทย ผู้แทนที่คอยสื่อสารกับอัญชัญ ปรีเลิศ ผู้ต้องหาคดี 112 ที่ต้องโทษนานที่สุด พร้อมการบรรเลงดนตรีโดย อาเล็ก-โชคร่มพฤกษ์
.
การรักษา-สุขอนามัยในเรือนจำต้องดีกว่านี้: ใบปอ-ณัฐนิชและประสบการณ์ในสถานพยาบาลราชทัณฑ์
.
การสนทนาเริ่มต้นจากการบอกเล่าเรื่องราวในเรือนจำของใบปอ ที่เล่าถึงประสบการณ์ตรงของตนขณะอยู่ในสถานพยาบาล ภายในทัณฑสถานหญิงกลาง พร้อมกับเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ผู้ต้องขังทางการเมืองที่เสียชีวิตในเรือนจำ โดยก่อนหน้านั้น บุ้งและใบปอได้อดอาหารเพื่อประท้วงถึงสิทธิการประกันตัว ก่อนจะส่งตัวใบปอไปรักษาที่สถานพยาบาลของเรือนจำและได้ประกันตัวในภายหลัง ส่วนบุ้งได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
.
สถานการณ์ภายในสถานพยาบาลของทัณฑสถานหญิงกลาง มีทั้งนักโทษหญิงที่ตั้งครรภ์ เด็กเล็ก 1-3 ปี ใบปอบรรยายความรู้สึกว่า ผู้คนเหล่านี้ควรมีสิทธิได้รับการรักษาที่ดีกว่านี้ รวมไปถึงการรับรองสิทธิต่าง ๆ ยังไม่รวมถึงเรื่องสุขอนามัยที่แยกกันจากการรักษาพยาบาล
.
ใบปอเชื่อมโยงถึงประสบการณ์การได้เข้าเยี่ยม ‘บุ้ง’ ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งคนนอกจะไม่อาจเข้าใจได้หากไม่ได้ประสบด้วยตนเอง ใบปอเห็นว่าถึงแม้คนข้างในเรือนจำจะเป็นผู้ต้องขังที่โดนคดี แต่ก็ยังสมควรได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งคนข้างในเรือนจำสมควรได้รับการรักษาที่ดีขึ้นกว่านี้
.
เขากลัวอะไรนักหนากับการมีคนมาเยี่ยม: ประสบการณ์เยี่ยมเพื่อนในเรือนจำของ ตี้-วรรณวลี
.
ตี้ วรรณวลี ธรรมสัตยา เล่าถึงประสบการณ์ของเพื่อนในเรือนจำทั้งหมดสามคน โดยเธอกล่าวว่าเธอไม่มั่นใจว่าการรวมตัวกันในวันนี้จะส่งเสียงไปถึงเพื่อนในเรือนจำหรือไม่ แต่หากมีใครได้เข้าไปเยี่ยมพวกเขาและนำภาพบรรยากาศเปิดให้ดู พวกเขาคงจะดีใจที่ผู้คนยังไม่ลืมคนที่อยู่ข้างในเรือนจำ
.
ผู้ต้องขังคนแรกที่ตี้เล่าถึง คือ “อาลีฟ” หรือวีรภาพ วงษ์สมาน ซึ่งตี้เล่าว่า อาลีฟเป็นน้องที่น่ารัก แม้ภายนอกจะดูรุนแรง แต่อาลีฟก็เป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกครั้งที่ตี้ขึ้นศาล อาลีฟจะพยายามมาฟังคำตัดสินในศาลให้ได้ ตี้เล่าถึงความฝันของอาลีฟว่าอยากเรียนหนังสือ ขายเสื้อผ้าเพื่อหาเลี้ยงตนเองและพ่อเลี้ยง โดยบทสนทนาครั้งท้าย ๆ อาลีฟคุยกับตี้ว่าจะร่วมหุ้นทำกิจการด้วยกัน และจะชวนเพื่อน ๆ ที่ไม่มีรายได้มาร่วมด้วย
.
เธอเล่าถึงการเข้าเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำว่า ถึงแม้จะมีโทรศัพท์ข้างใน แต่ก็พยายามส่งเสียงตะโกนให้ดังที่สุด ส่วนอาลีฟก็พยายามตะโกนเรียกเช่นกัน เธอเล่าว่า เธอพยายามตะโกนเรียกเพื่อขอเข้าเยี่ยม แต่ก็ไม่สามารถพูดคุยกันได้ เธอพยายามติดต่อเพื่อน ๆ ที่เข้าเยี่ยมว่าให้เพิ่มชื่อของเธอเข้าไปในรายชื่อเยี่ยมของอาลีฟแต่ถูกกีดกันเสมอมา
.
อีกครั้งหนึ่งคือ งานรำลึก วาฤทธิ์ สมน้อย ลีฟถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลากเข้าไปในสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ดินแดง และทำร้ายร่างกาย โดยมีหลักฐานเป็นวีดิโอ แต่เมื่อตี้ถามหาหลักฐานจาก สน. ปรากฏว่า ไม่มีหลักฐาน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดอย่างมาก เธอจึงพยายามที่จะส่งต่อเรื่องราวของลีฟต่อผู้คนมากมายรอบตัว เพราะสื่อมวลชนสำนักใหญ่ไม่พูดถึงเรื่องนี้
.
ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือแอมป์ คืออีกคนหนึ่งที่ตี้เล่าถึง โดยการปราศรัยของแอมป์ขึ้นชื่อเรื่องการมีลำดับข้อมูลชัดเจน เข้าใจง่าย ทั้งยังไม่ท้อถอย นำข้อมูลเกี่ยวกับเพื่อนที่เข้าเรือนจำไปอีกตั้งไว้ที่สกายวอล์ก หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร วันนี้แอมป์ยังคงอยู่ในเรือนจำเช่นกัน โดยสภาพจิตใจของแอมป์ไม่ได้เข้มแข็ง ต้องยานอนหลับตามที่แพทย์สั่ง แต่ถึงอย่างนั้น แอมป์ก็ลุกขึ้นมาทำให้สังคมรับรู้ว่า มีคนอยู่ในเรื่อนจำเพิ่มขึ้นอีกคน
.
ส่วน บัสบาสหรือมงคล ถิรโชติ ผู้ออกมาเคลื่อนไหวโดยการอดข้าวประท้วงทั้งที่หน้าศาล หน้าเรือนจำ และเกือบจะถูกฝ่ายตรงข้ามทำร้ายร่างกาย ก่อนหน้านี้บัสบาสถูกขังที่เรือนจำจังหวัดเชียงราย ด้วยโทษหลายกรรมหลายวาระสูงมาก โดยพี่น้องประชาชนร่วมกันไปเยี่ยมตั้งแต่เรือนจำกลางคลองเปรมไปถึงเชียงราย และสุดท้ายบัสบาสถูกย้ายไปที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ในที่สุด
.
ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ตี้จะเข้าฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญาธนบุรีในคดี 112 จากการปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ และในวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ตี้ยังมีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยฝากไว้ว่า ถ้าในวันพรุ่งนี้ตี้ถูกคุมขัง ไม่ต้องไปเรือนจำ และไม่ต้องเป็นห่วง แต่เป็นเจ้าหน้าที่ต่างหากที่น่าเป็นห่วง ก่อนจะจบด้วยบทกวี “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ” ของวิสา คัญทัพ
.
ทำไมคนต้องถูกดำเนินคดี เพียงเพราะอยากให้ประเทศนี้เปลี่ยนแปลง
.
ต่อมา ธี-ถิรนัย และ มาย-ชัยพร เริ่มเล่าเรื่องราวด้วยเพลง “ประเทศกูมี” ของ Rap Against Dictatorship ต่อด้วยการเรียกร้องนิรโทษกรรมประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ช่วงเวลาที่พวกเขาถูกดำเนินคดีในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันนั้น พวกเขายังเป็นเยาวชน ทำไมพวกเขาถึงถูกดำเนินคดี เพียงเพราะอยากให้ประเทศนี้เปลี่ยนแปลง
.
แม้ว่าจะออกจากเรือนจำมาแล้ว ธีและมายยังคงต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งยังเรียกร้องให้สังคมนี้สนับสนุนผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และส่งสารไปยังเพื่อน ๆ ผู้ต้องข้งทางการเมืองในเรือนจำ
.
มาย-ชัยพร กล่าวว่าช่วงที่เขาถูกดำเนินคดี ผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคนได้รับการประกันตัวออกมา และได้รับข่าวคราวและกำลังใจจากคนข้างนอก เขายังกล่าวอีกว่า ไม่ว่าผู้ต้องขังจะเจ็บป่วยอย่างไร ก็ควรมีสิทธิในการรักษาที่ดี รวมถึงอาหารการกิน ที่เขาได้รับการสนับสนุนจากมวลชน
.
ธีกล่าวเสริมว่า ระหว่างที่ตนถูกดำเนินคดีตรงกับช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าสู่ประเทศ แต่ไม่เคยมีสักวันที่เขาอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่นักโทษคดีการเมือง ยังคงอยู่ในเรือนจำ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงต้องสนับสนุนร่างนิรโทษกรรมฉบับประชาชน
.
ส่วนมายกล่าวปิดว่า หลายคนถูกตัดสินเข้าไปในเรือนจำ เสียโอกาสในการศึกษา ไม่ได้เจอหน้าค่าตา หรือแม้กระทั่งสูญเสียคนที่รัก และไม่ได้รับประกันตัวด้วย เพียงเพราะเป็นคดีอัตราโทษสูงและเกรงว่าจะหลบหนี
กลไกรัฐสภา ควรเป็นคำตอบของการ ปล่อยเพื่อนเรา
เจมส์ เจษฎา ศรีปลั่งจากเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี เล่าถึงประสบการณ์ของตนว่า ตนเคยตั้งคำถามหลายครั้งว่าประชาชนไม่สนใจการเมืองจริงหรือไม่ เพราะในช่วงเวลาหนึ่งประชาชนก็แสดงออกถึงสิทธิ เสรีภาพของตน แต่เป็นเพราะกลไกต่าง ๆ ของรัฐต่างหากที่ขัดขวางประชาชน รวมถึงการมีผู้คนที่กล้าพูดในสิ่งที่ประชาชนอยากพูด แต่ก็ถูกดำเนินคดี หลายคนอยู่ในเรือนจำ และหลายคนลี้ภัยไปต่างประเทศ
.
เขายังกล่าวอีกว่า การดูหมิ่น กับการประทุษร้าย มีความแตกต่างกัน โดยการเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อสาธารณะคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่การอยู่เฉยต่างหากที่ทำให้สิ่งต่างๆ เลวร้ายลง ท้ายที่สุด เขาเรียกร้องให้รัฐสภาทำหน้าที่รับเรื่องตรวจสอบจากประชาชนอย่างแท้จริง และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง
.
จดหมายของ ‘อัญชัญ’ กับสามี และความหวังที่มีคือ ‘นิรโทษกรรมประชาชน’
.
สุดท้ายจิณห์วรา ช่วยโชติ จาก Amnesty International อ่านจดหมายตอบโต้กันของอัญชัญ ปรีเลิศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ป้าอัญชัญ” ผู้ต้องขังการเมืองที่มีอายุสูงที่สุดกับสามีของเธอ ผู้ซึ่งต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
.
จดหมายสี่ฉบับตอบโต้กันของป้าอัญชัญและสามี สะท้อนให้เห็นถึงความหวัง ความฝันของคนวัยเกษียณสองคนที่จะใช้ชีวิตอย่างธรรมดาสามัญ และพวกเขาไม่รู้เลยว่าเพียงเพราะการแชร์โพสต์หนึ่งครั้ง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ ในชีวิตบั้นปลายของคนสองคนถึงเพียงนี้่
.
“ทำสุขภาพให้แข็งแรงทั้งกายและใจ หากเราได้อยู่ด้วยกัน เราจะได้ไปวัด ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำใจให้สบาย เราก็แก่แล้วเนอะ ไม่รู้ว่าเราสองคนจะไปไหนก็ไม่รู้ แต่ว่าอยากให้เราอดทน เข้าใจ และแข็งแรงไปด้วยกัน” อัญชัญเขียนข้อความเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายฉบับล่าสุดที่เขียนถึงสามี ณ แดนไกล
.
จิณห์วรายังกล่าวอีกว่า จดหมายทั้งระหว่างอัญชัญและสามีถูกส่งผ่าน Amnesty International และในขณะเยี่ยม ป้าอัญชัญไม่เพียงแต่จะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของผู้คนเท่านั้น แต่ยังถามถึงความคืบหน้าของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนอยู่เสมอ และร่างกฎหมายฉบับนี้ก็เป็นความหวังของป้าอัญชัญ และผู้ต้องขังคดีการเมืองอื่น ๆ ได้ออกมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติอย่างที่ใฝ่ฝัน ไม่ต้องฉลองวันเกิดในเรือนจำอย่างที่เป็นอยู่

https://www.facebook.com/photo?fbid=1140778331429118&set=a.625664032940553
.....


iLaw
9 hours ago
·
3 กรกฎาคม 2568 เวลา 17.00 น. ที่หน้าประตูเรือนจำคลองเปรม เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดกิจกรรม “3 กรกฎา มาบอกเพื่อน เรื่องนิรโทษ” หลังวาระพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎร กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งและจ่อเข้าพิจารณาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568
ภาพรวมของกิจกรรมจะเป็นการส่งสารผ่านการเขียนจดหมายไปถึงนักโทษคดีการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำว่าวาระนิรโทษกรรมใกล้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาแล้ว ซึ่งจะเป็นการคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดี ทั้งที่ในคดีที่พิพากษาแล้วและที่ยังไม่ได้พิพากษา
นอกจากนี้จะมีการเล่าเรื่องราวของผู้ต้องขังและเหยื่อของคดีความทางการเมืองผ่านห้าบทเพลง นำโดย ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ ตี้-วรรณวลี ธรรมสัตยา ธี-ถิรนัย มาย-ชัยพร เจมส์-เจษฎา ศรีปลั่ง และ บู-จิณห์วรา ช่วยโชติ จาก Amnesty International ประเทศไทย ที่จะมาแบ่งปันเรื่องราวของ ‘ป้าอัญชัญ’
ในส่วนสุดท้ายของกิจกรรมจะมีการร่วมกันเขียนและอ่านจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ นำโดย อานนท์ ชวาลาวัลย์ จากพิพิธภัณฑ์สามัญชน, ไม้โมก-ธีรภพ เต็งประวัติ มู่หลาน-ธันยชนก และ บี๋-นิราภร อ่อนขาว จาก Thumb Rights, เอกชัย หงส์กังวาน อดีตผู้ต้องขังทางการเมือง, ต้นอ้อ-นักศึกษาราม เพื่อน ‘ก้อง’ ผู้ต้องขังคดี 112 เพื่อส่งเสียงว่าอิสรภาพของพวกเขาใกล้มาถึงแล้ว
ณัฐชนน ไพโรจน์ จาก Thumb Rights ได้อัพเดทสถานการณ์การพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมว่า ปัจจุบันมีประชาชน ถูกดำเนินคดีทางการเมือง รวมอย่างน้อย 1,959 คน ใน 1,305 คดี และที่สำคัญ มีประชาชนอย่างน้อย 51 คน ที่ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง
ซึ่งร่างนิรโทษกรรมที่กำลังจะเข้าพิจารณาในสภาจะมีทั้งหมด 4 ฉบับประกอบด้วยร่างของภาคประชาชน ร่างของพรรคก้าวไกล ร่างของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งร่างฉบับพรรคประชาชนเป็นร่างเดียวที่ชัดเจนว่าจะนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112