วันอังคาร, เมษายน 01, 2568

กลุ่มรักสถาบันแต่แจ้งความกลั่นแกล้งประชาชน เป็น IO ทหาร ? ไม่แฟร์เลย แกล้งกันชัดๆ อย่างนีัก็ได้เหรอ ??


Suchart Sawadsri
12 hours ago
·
กลุ่มเดียวกับที่มีผู้เปิดเผยในรัฐสภาว่าเป็น IO ของ กอ.รมน.
และผู้ฟ้องก็คือคนเดียวกับที่ฟ้องผม โดยใช้ ม.116 ในข้อหาว่าผมแชร์คลิปของ iLaw โดยย้อนหลังไปในปี 2565

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
16 hours ago
·
ประชาชนกรุงเทพฯ ถูกจับกุมคดี ม.112 กรณีแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ กล่าวหาไว้ที่พัทลุง หลังหมายจับออกมาปีกว่า และเคยไปพบตำรวจตามนัดมาก่อนแล้ว
.
.
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2568 เวลาประมาณ 16.24 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณี “จิรดี” (นามสมมติ) ประชาชนในกรุงเทพฯ อายุ 35 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปรามเข้าจับกุมจากสถานที่ทำงาน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยพบว่าเป็นคดีของ สภ.ควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาไว้ ทำให้เธอถูกนำตัวลงใต้ไปแจ้งข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจเจ้าของคดี ก่อนถูกส่งขอฝากขังที่ศาล และศาลให้ประกันตัวในเวลาต่อมา
.
การจับกุมดังกล่าว ตำรวจได้อ้างหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดพัทลุง ลงวันที่ 28 ส.ค. 2566 โดยมี พ.ต.ท.แสนชัย เกษรินทร์ พนักงานสอบสวน สภ.ควนขนุน เป็นผู้ร้องขอออกหมายจับ และมี เดชชยันต์ จึงนิจนิรันดร์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพัทลุง เป็นผู้อนุญาตให้ออกหมายจับ
.
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จิรดีเคยได้รับหมายเรียกของ สภ.ควนขนุน ออกโดย พ.ต.ท.ฉลอง ขุนภักดี ในคดีที่มี ทรงชัย เนียมหอม แกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหา ในข้อหาตามมาตรา 112 โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2566 เธอได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และในครั้งนั้นตำรวจได้สอบสวนไว้ในฐานะพยาน หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีหมายเรียกหรือการติดต่อจากทางตำรวจมาอีก และคิดว่าเรื่องดังกล่าวจบสิ้นไปแล้ว โดยไม่ทราบว่ามีการไปขอออกหมายจับจากศาล และตำรวจเพิ่งมีการเข้าจับกุมหลังหมายจับออกมาแล้วกว่าปีเศษ ทั้งที่ตัวเธอก็ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด
.
หลังถูกจับกุม ตำรวจได้พาตัวจิรดีไปยังกองปราบปรามเพื่อทำบันทึกจับกุม โดยชุดจับกุมนำโดยตำรวจจากกองกำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม และตำรวจจากฝ่ายสืบสวนของภูธรจังหวัดพัทลุง อ้างในบันทึกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมหลังได้รับแจ้งจากสายลับ ว่าผู้ถูกออกหมายจับ ทำงานอยู่ในสถานที่ดังกล่าว ชุดจับกุมจึงรายงานผู้บังคับบัญชา และเดินทางไปตรวจสอบก่อนเข้าจับกุม
.
จากนั้นตำรวจได้นำตัวเธอไปยังสถานีรถไฟบางซื่อ เพื่อเตรียมเดินทางไปยังจังหวัดพัทลุง โดยในตอนแรกไม่ยินยอมให้ญาติติดตามไป แต่หลังจากพูดคุย ได้ให้ญาติเดินทางไปที่สถานีรถไฟได้ แต่ไม่อนุญาตให้เดินทางไปด้วย
.
.
ต่อมาในวันที่ 28 มี.ค. 2568 เวลาประมาณ 9.00 น. ตำรวจได้นำตัวจิรดีมาถึง สภ.ควนขนุน โดยมีทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามไป โดยกว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำผู้ต้องหา ก็เป็นในช่วงค่ำแล้ว เนื่องจากรอพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี และรอคิวการสอบสวนในคดีอื่นด้วย
.
พ.ต.ต.วิชัย อำพันธ์ พนักงานสอบสวน สภ.ควนขนุน ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อจิรดี ในข้อหาตามมาตรา 112 โดยระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 เวลาประมาณ 17.00 น. ทรงชัย เนียมหอม หัวหน้าและผู้ก่อตั้งกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ได้ขับขี่รถยนต์จากจังหวัดกระบี่ มุ่งหน้าตัวเมืองพัทลุง เมื่อมาถึงสี่แยกสัญญาณไฟจราจรโพธิ์ทองที่เกิดเหตุ รถติดสัญญาณไฟแดง จึงได้เข้าไปอ่านข้อความต่าง ๆ ในทวิตเตอร์ของโทรศัพท์มือถือ และได้พบว่ามีผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ โพสต์เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ทวีตข้อความโต้ตอบกัน ในประเด็นเรื่องมุมมองเกี่ยวกับคนดีและคนไม่ดี โดยมีการกล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งผู้กล่าวหาอ้างว่าบัญชีที่โพสต์โต้ตอบบัญชีหนึ่งเป็นบัญชีทวิตเตอร์ของผู้ถูกกล่าวหา จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี
.
ในชั้นสอบสวน จิรดีให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ในตอนแรกทางพนักงานสอบสวนจะให้วางหลักทรัพย์ประกันจำนวน 225,000 บาท แต่ต่อมาเมื่อเสนอเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชา ทางตำรวจไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยจะต้องนำตัวไปขอฝากขังต่อศาล ทำให้เธอต้องถูกควบคุมตัวไว้อยู่ที่ สภ.ควนขนุนอีก 1 คืน
.
.
ก่อนเช้าวันที่ 29 มี.ค. 2568 พนักงานสอบสวนได้นำตัวจิรดีไปยื่นขอฝากขังที่ศาลจังหวัดพัทลุง โดยระบุว่าแม้ไม่มีพยานต้องสอบสวนแล้ว แต่ยังต้องรอผลการตรวจลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา จึงขออำนาจศาลฝากขังเป็นระยะเวลา 12 วัน และยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา อ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง เชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี
.
ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำขอ แต่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ 1 แสนบาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยหากผิดสัญญาประกัน ศาลให้ปรับ 200,000 บาท จากนั้นจิรดีจึงได้รับการปล่อยตัว
.
.
ในส่วนของแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันดังกล่าว พบว่าได้ดำเนินการแจ้งความคดีมาตรา 112 จำนวนมากไว้ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ โดยใช้วิธีการกล่าวหากระจายไปในหลายสถานีตำรวจ เบื้องต้นพบว่ามีผู้ถูกแจ้งข้อหาแล้วไม่น้อยกว่า 15 คดี อาทิที่ สภ.ตะโหมด จ.พัทลุง, สภ.ทะเลน้อย จ.พัทลุง, สภ.เมืองพัทลุง, สภ.ควนขนุน จ.พัทลุง, สภ.เขาชัยสน จ.พัทลุง, สภ.คอหงส์ จ.สงขลา, สภ.เมืองกระบี่ และ สน.บางนา ในกรุงเทพฯ ด้วย โดยส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นประชาชนทั่วไป ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกแจ้งความ ทำให้แต่ละคนมีภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อสู้คดี
.
รวมทั้งยังมีแจ้งความในคดีมาตรา 116 อีกหลายคดี อาทิคดีของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการและศิลปินแห่งชาติผู้ถูกถอดถอน ถูกกล่าวหาไว้ที่ สภ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง และล่าสุดกรณีของ “ปูน ธนพัฒน์” ที่ถูกจับกุมตามมาตรา 116 ในวันเดียวกับคดีจิรดี ก็มีผู้กล่าวหาคนเดียวกันนี้ไปกล่าวหาไว้ที่ สภ.ห้วยยอด จ.ตรัง อีกด้วย