วันศุกร์, พฤษภาคม 23, 2568

นิรโทษกรรมประชาชนเพื่อขจัดผลพวงรัฐประหาร 2557 - มรดก คสช. ยังไม่หายไปไหน คนจำนวนมากยังคงเจ็บปวดจนทุกวันนี้



นิรโทษกรรมประชาชนเพื่อขจัดผลพวงรัฐประหาร 2557 – มรดก คสช. ยังไม่หายไปไหน คนจำนวนมากยังคงเจ็บปวดจนทุกวันนี้

22/05/2568
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ผ่านมาแล้ว 11 ปีหลังจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากยึดอำนาจจากรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พลเอกประยุทธ์ และองคาพยพต่าง ๆ ของ คสช. สามารถสอดประสานทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี จนทำให้ตนเองและพวกสามารถดำรงตนเป็นรัฐบาลอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน ทั้งใช้วิธีการแต่งตั้งจัดสรรอำนาจกันเอง รวมไปถึงผ่านการเลือกตั้ง ที่มีรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเครื่องมือสำคัญ พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งมาเองเป็นแรงหนุนหลัง

หลังจากอยู่ในอำนาจมากว่า 9 ปี ยุคสมัยของพลเอกประยุทธ์ก็จบลงจากการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ทว่า แม้ คสช. และพลเอกประยุทธ์ จะลงจากอำนาจไปแล้ว แต่ประชาชนจำนวนมากถูกละเมิด ถูกดำเนินคดีไปแล้ว และผลพวงจากการกระทำของ คสช. ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน

ปี 2567-68 เกิดการรณรงค์และถกเถียงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และมีร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีหลักการเรื่องการนิรโทษกรรมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ถึง 4 ร่าง ได้แก่ 
  • ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. เสนอโดยนายชัยธวัช ตุลาธน (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลและคณะ)
  • ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ….เสนอโดยนายปรีดา บุญเพลิง (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคครูไทยเพื่อประชาชนและคณะ)
  • ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เสนอโดย นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ กับคณะ
  • ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน
โดยทั้ง 4 ร่าง อยู่ในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 เมษายน 2568 ในวาระ เรื่องที่ที่ประชุมเห็นชอบให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน อย่างไรก็ตามทั้งสี่ร่างยังไม่ได้รับการพิจารณาในวันนั้น ความเป็นไปได้อย่างเร็วที่สุดคือได้รับการพิจารณาเมื่อมีการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งถัดไปในเดือนกรกฎาคม 2568 หรืออาจถูกเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ

ประเด็นที่มีการถกเถียงมากที่สุดในเรื่องการนิรโทษกรรมในตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี ที่ผ่านมา มี มาตรา 112 เป็นแกนกลางของความขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายที่ต้องการให้มีนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหานี้ และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมโดยรวมคดีดังกล่าว ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งนี้ ยังมีอีกหลายประเด็น หลายความผิดที่ไม่ได้ถูกนำมาถกเถียงและให้ความใส่ใจ ซึ่งในกลุ่มหนึ่งคือความผิดอันเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งสร้างผลกระทบให้คนจำนวนมากเช่นกัน

.
ความผิดตามประกาศและคำสั่ง คสช./หัวหน้า คสช.

หลังการยึดอำนาจ ได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งได้ให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ให้สามารถสั่งระงับยับยั้งหรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

ประกาศและคำสั่งจำนวนมากที่ออกโดย คสช. และที่ออกโดยมีมาตรา 44 หนุนหลัง ได้มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก เช่น การสั่งควบคุมตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาชิกกลุ่มดาวดิน รวมไปถึงปฏิบัติการสลายการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมที่ออกมาชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร หรือการชุมนุมในช่วงที่ คสช. มีอำนาจอีกหลายครั้ง

อำนาจอย่างกว้างขวาง และปราศจากความรับผิดเช่นนี้ ทำให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก รวมไปถึงผู้ที่ต้องมีความผิดตัวติดตัวหรือต้องถูกจำคุกจากอำนาจดังกล่าว แม้ความผิดบางประเภทจะถูกยกเลิกไปแล้วแต่ยังมีบางคดี เช่น คดีของอภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจากฐานความผิดห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แม้ คสช. จะยกเลิกฐานความผิดไปแล้วก็ตาม

.
คดีความผิดเกี่ยวกับอาวุธของพลเรือนซึ่งพิจารณาคดีในศาลทหาร

คดีอาวุธตามประกาศคสช.ที่ 50/2557 เป็นหนึ่งในประเภทคดีที่ถูกนำมาพิจารณาในศาลทหาร อาจกล่าวได้ว่าในคดีพลเรือน 2406 ราย ที่ถูกนำมาพิจารณาศาลทหาร คดีส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับอาวุธและไม่ได้มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง อาทิเช่น คดีปืนแก็ปที่ใช้ล่าสัตว์ คดีปืนโบราณที่ตั้งโชว์ในบ้าน หรือคดีตัดไม้ แต่พบปืนและกระสุนปืนในที่เกิดเหตุ เป็นต้น (ดูรายงาน ส่องดูหลาก “คดีอาวุธ” ในศาลทหาร)

หากพิจารณาเพียงแรงจูงใจทางการเมืองเพียงอย่างเดียว คดีต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่เข้าข่าย ทั้งที่คดีเหล่านี้ถูกละเมิดสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เนื่องจากพลเรือนถูกพิจารณาในศาลทหารอันเป็นผลกระทบจากการใช้อำนาจของ คสช. เช่นเดียวกัน

แต่ก็มีบางคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ทางการเมือง เช่น คดีของแม่ครัวในจังหวัดลำพูน ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาครอบครองอาวุธปืนและยุทธภัณฑ์ จากการตรวจค้นสวนลำไยที่อ้างว่าเป็นที่รวมตัวของกลุ่มการ์ดเสื้อแดง เธอถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ไม่ได้ประกันตัวประมาณ 3 เดือน และต่อสู้คดีกว่า 4 ปี สุดท้ายศาลทหารยกฟ้องคดี โดยเธอไม่เคยได้รับการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเฉพาะฐานความผิดดังกล่าว อาจจะยังเป็นที่ถกเถียงว่าควรได้รับการนิรโทษกรรม ควรพิจารณาคดีใหม่ในศาลพลเรือน หรือให้สิทธิในการอุทธรณ์-ฎีกาได้

.
ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

แม้จะมีความพยายามในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ แต่เป็นที่ทราบดีว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ล้วนเขียนไว้เพื่อรองรับการขึ้นสู่อำนาจของ คสช. ขจัดคู่แข่งทางการเมือง สร้างความได้เปรียบให้กับพลเอกประยุทธ์และพวก และยิ่งสะท้อนออกมาในกระบวนการรณรงค์เพื่อทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ในช่วงปี 2559 ซึ่งฝ่ายที่รณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกลับต้องถูกดำเนินคดี ไม่น้อยกว่า 212 คน ตามกฎหมายว่าด้วยประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ทั้ง ๆ ที่ในการรณรงค์ให้ไม่รับร่างของหลายกลุ่มก็ไม่ได้มีท่าทีรุนแรงหรือผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

.
คดีของบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารซึ่งไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้

ศาลทหารมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาของทหารซึ่งไม่มีพลเรือนร่วมกระทำความผิดด้วย แต่ศาลทหารเมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึกจะไม่สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ ดังนั้นเมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึกระหว่าง 20 พ.ค. 2557 – 1 เม.ย. 2558 จากการเข้าคุมอำนาจของ คสช. มีคดีอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นคดีที่ทหารถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและได้รับการพิจารณาในศาลทหาร ก็กลับไม่สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาได้ ทั้งที่คดีของทหารในกลุ่มดังกล่าวนั้นไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองเลย อันขัดต่อหลักของนิติรัฐ และขัดต่อพันธกรณีข้อ 14 (5) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งบุคคลที่ถูกกล่าวหาต้องได้รับสิทธิในการทบทวนคดีโดยศาลที่สูงขึ้นไป

ร่างพระราชบัญญัติทั้งสี่ฉบับต่างยังไม่ได้พิจารณาที่จะแก้ไขปัญหาให้กับผู้ถูกดำเนินคดีกลุ่มดังกล่าว ซึ่งบุคคลเหล่านี้ควรได้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาคดีของตนเองเช่นกัน หากพวกเขายังมีความประสงค์ นับได้ว่าทหารที่ถูกดำเนินคดีในช่วงดังกล่าว เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐประหารของ คสช. เช่นกัน

.
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน – ความหวังลบล้างผลพวงรัฐประหาร 2557

ในบรรดาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับต่าง ๆ มีเพียงร่างฉบับประชาชนเท่านั้น ที่ระบุอย่างชัดเจนถึงการนิรโทษกรรมความผิดให้แก่ผู้ถูกดำเนินคดีในความผิดดังกล่าวอันเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของ คสช. โดยตรง

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า หากร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน และร่างพระราชบัญญัติฯ ของพรรคก้าวไกลตกไป ความผิดตามประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่ถูกรวมเข้ากับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ เช่นเดียวกับมาตรา 112 เนื่องจาก ความผิดดังกล่าวไม่อยู่ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติของ ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ…. ทั้งสองฉบับ

ในทางตรงกันข้าม ความผิดตามประกาศคำสั่ง คสช. กรณีพลเรือนซึ่งถูกดำเนินคดีในศาลทหาร หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เหล่านี้ หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน มีโอกาสได้บังคับใช้เป็นกฎหมาย จะได้รับการนิรโทษกรรมทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการมาพิจารณาแรงจูงใจทางการเมือง

ขณะเดียวกัน เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาฯ และมีการพิจารณาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนไม่ได้ไปต่อในวาระแรก จะทำให้ความผิดต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ถูกนำมาพิจารณาในการนิรโทษกรรมทันที อันเนื่องมาจากมีเพียงร่างฉบับประชาชนเท่านั้นที่ระบุชัดเจนถึงการนิรโทษกรรมผู้คนที่ถูกดำเนินคดีจากความผิดดังกล่าว

ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จึงเป็นความหวังตั้งต้นหนึ่งในการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 2557 และเยียวยาผู้ที่ไดัรับผลกระทบจากการใช้อำนาจตามอย่างปราศจากความรับผิดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

https://tlhr2014.com/archives/75500