วันพฤหัสบดี, เมษายน 10, 2568

เมื่อโลกสั่นไหว แต่ใจไม่หวั่น: เรื่องเล่าของ 'อาย' ผู้ยืนหยัดท้าทายความทุกข์

9/04/2568
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธอมนุษยชน

ช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน 2568 ทนายความเข้าเยี่ยม “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ถูกตัดสินจำคุก 8 ปี 48 เดือน จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 8 ข้อความ การพบกันครังนี้ยังคงเผยให้เห็นชีวิตประจำวันของอายหลังกำแพงเรือนจำ ความคิดถึงลูก ความพยายามในการต่อสู้ทางคดี และการปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่จำกัด โดยเฉพาะอาการป่วยจากโรคซึมเศร้าที่ติดตัวเธอมาตั้งแต่ใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก

แต่ถึงแม้จะถูกคุมขังมาแล้ว 226 วัน อายยังคงรักษาบุคลิกของการเป็นผู้นำและเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ในการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นถึงการค้นพบคุณค่าของตัวเองท่ามกลางความยากลำบากและข้อจำกัด

______________________________

วันที่ 28 มี.ค. 2568

วันนี้ใบหน้าของอายเปล่งประกายด้วยเครื่องสำอางที่เธอเพิ่งได้รับ เพราะไม่ได้สวมแมสก์ ทำให้เห็นริมฝีปากสีส้มอ่อนที่เข้ากันดีกับอายแชโดว์โทนเดียวกัน เธอยิ้มรับคำชม เป็นรอยยิ้มที่หาได้ยากในสถานการณ์ที่อายเผชิญอยู่

“วันนี้หลัก ๆ จะมาคุยกันเรื่องยาเพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาของอาย” ทนายเปิดประเด็น อายรีบแจ้งว่าเอกสารขอย้ายสถานพยาบาลยังไม่ถึงมือเธอ

ก่อนจะเล่าด้วยน้ำเสียงขุ่นมัวถึงวันที่มีทนายมาให้ความรู้เกี่ยวกับการต่อสู้ทางคดี ซึ่งปกติเธอมักจะเป็นคนตั้งคำถามอย่างกระตือรือร้น แต่ดูเหมือนว่าวันนั้นจะมีคนไม่ต้องการให้เธอได้เข้าอบรม “เขาแกล้งให้ทนายรอนาน แล้วให้เข้าเยี่ยมช่วงที่อบรมพอดี พออายกลับเข้าไปก็อบรมกันเสร็จไปแล้ว” อายเล่าด้วยสีหน้าผิดหวัง

แล้วอายก็เปลี่ยนเรื่องคุย ถามถึงเรื่องอดอาหารของขนุน ทนายให้ข้อมูลว่าขนุนอยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ยังไม่ได้กลับไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ อายสารภาพว่าความคิดเรื่องอดอาหารไม่เคยหายไปจากหัวเธอ “อายคิดเรื่องอดอาหารตลอดเวลา ไม่เคยล้มเลิกเลย” เจ้าหน้าที่พยายามแนะนำให้อายนำใบรับรองแพทย์จากเรือนจำไปยื่นต่อศาล และยื่นคำร้องขอประกัน แต่อายก็ยังไม่เข้าใจว่าจะทำอย่างไรเมื่อตัวเธออยู่ข้างใน

แม้จะไม่ได้อดอาหารแล้ว แต่อายยังคงทำการอารยะขัดขืนด้วยการไม่ยืนในเพลงคล้ายเพลงสดุดี และเมื่ออยู่บนห้องนอน เธอก็จะไม่ยืนขณะเพลงชาติขึ้นด้วย

ท้ายที่สุด อายเล่าถึงสถานการณ์การย้ายผู้ต้องขังในเรือนจำหญิงกลาง โดยมีการย้ายคดีที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกาไปอยู่แดนเด็ดขาด ต้องเปลี่ยนมาใส่ชุดสีฟ้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้ต้องขังคดีเด็ดขาด แต่อายก็ไม่รู้ว่า ที่ด้านหลังจะมีตัวอักษรเขียนว่าอยู่ระหว่างอุทธรณ์หรือไม่

.

วันที่ 1 เม.ย. 2568

เมื่อเจอหน้าอาย เธอยิ้มแย้มด้วยความยินดี เป็นรอยยิ้มที่ดูมีชีวิตชีวากว่าครั้งก่อน ทนายบอกว่ามาตีเยี่ยมแต่เช้า แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าอายเยี่ยมใกล้ชิด อายอธิบายว่า เพิ่งเยี่ยมใกล้ชิดและตรวจร่างกายหลังเยี่ยมเสร็จ “พอจะออกจากที่เยี่ยมเข้าข้างใน เจ้าหน้าที่ก็ประกาศชื่อว่าออกพบทนาย เขาก็เลยให้อายออกมาเลย”

ทนายแจ้งว่าได้ส่งมอบใบสั่งยาตัวจริงให้กับแฟนของอาย เพื่อไปดำเนินเรื่องต่อ อายทำหน้าไม่สบายใจเล็กน้อย ทนายจึงรีบอธิบายว่าเรื่องเร่งด่วนคือการจัดการให้อายได้รับยาที่จำเป็นก่อน ส่วนการประสานงานกับโรงพยาบาลแพทย์ปัญญานั้นเป็นแผนระยะยาว

อายเล่าถึงการเยี่ยมญาติใกล้ชิด ซึ่งเจ้าหน้าที่เรียกว่า เยี่ยมสายใยรักครอบครัว ผู้เข้าเยี่ยมต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือมีหลักฐานความเป็นสามีภรรยามายื่น “วันนี้คนที่มาเยี่ยม มีแฟน ลูก แล้วก็น้องสาว พอเจอลูกอายก็ร้องไห้ เรากอดลูก หอมลูก เอาลูกนั่งตัก แต่ลูกดูเข้มแข็งขึ้นมาก ลูกไม่ร้องไห้เลย แฟนก็ไม่ร้อง มีแต่อายกับน้องสาวที่ร้อง”

ดวงตาของอายเป็นประกายเมื่อพูดถึงลูก เธอเล่าถึงที่มาของชื่อลูก ไออุ่น ว่ามาจากความรักระหว่างเธอกับแฟน ทั้งคู่มาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ พ่อแม่ต่างก็เลิกรากัน จึงมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่เลิกกัน จะเป็นพ่อแม่ที่ดีให้กับลูก “สิ่งที่อายกลัวตอนนี้คืออายกลัวว่าลูกจะเป็นซึมเศร้าเหมือนอาย เพราะโรคแบบนี้มันส่งต่อผ่านพันธุกรรมได้ อายบอกกับแฟนตลอดว่าไม่อยากให้ลูกเป็นเหมือนอาย เพราะมันทรมานมาก”

จากนั้น อายเล่าถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้แฟนที่มาเยี่ยมช่วงบ่ายไม่ได้เข้าเยี่ยม “ตอนนั้นอายกำลังนั่งพับทิชชูเพื่อเตรียมจะเอาขึ้นห้องนอน แรก ๆ คิดว่าความดันขึ้น เพราะมีภาวะนี้อยู่แล้ว แต่พอมองไปรอบ ๆ เห็นโคมไฟที่แขวนอยู่บนเพดาน เหมือนขาข้างหนึ่งมันหลุดออกมา ตอนนั้นถึงรู้ว่าแผ่นดินไหว”

ผู้ต้องขังทุกคนวิ่งออกมาที่ลานโล่งด้านหน้า อายมีอาการใจสั่น มือสั่น แต่พยายามอดทนไว้ไม่แสดงออก เพราะในขณะนั้นทุกคนต่างตื่นตระหนก ส่วน มานี ผู้ต้องขังหญิงอีกคน ถึงกับต้องไปห้องพยาบาล

“เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รู้สึกเหมือนตอนที่เราไปม็อบแล้วมีการฉีดแก๊สน้ำตา แล้วเราต้องหาน้ำมาให้คนล้างหน้าล้างตา”

เธอเล่าต่อว่า ข้างในมีผู้สูงอายุหลายคนถึงขั้นเป็นลม ทำให้ต้องเปิดประตูแดนแรกรับไว้เพื่อใช้เป็นทางไปห้องพยาบาล อายแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยการไปเอาน้ำแดงและน้ำเขียวจากร้านค้า ผสมน้ำและเติมน้ำแข็ง จากนั้นเอาไปแจกจ่ายให้ผู้ต้องขังทุกคน

“อายก็ตะโกนถามว่าใครต้องการน้ำไหม บรรดาคุณแม่ คุณยายที่อายุเยอะ เขาก็ขอบคุณอาย เรียกอายว่าหนูคนสวยเอาน้ำมาให้ แบบนี้อายก็รู้สึกดีใจ” อายเล่าพร้อมรอยยิ้มกว้าง แววตาเปล่งประกายด้วยความภูมิใจ

เธอชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่มีสติและไม่ทิ้งผู้ต้องขัง คอยประกาศให้ออกมาอยู่นอกตึกและพยายามไม่ให้เกิดความแตกตื่น เมื่อเหตุการณ์สงบลงก็จัดการพาผู้ต้องขังทั้งหมดรวมถึงผู้ที่อยู่ในห้องกักตัวลงมาอยู่ในที่โล่ง และแจ้งว่าเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า แต่ประเทศไทยได้รับผลกระทบและมีตึกตรงจตุจักรถล่ม อายเล่าว่าเธอได้ยกมือถามว่าหากเกิดเหตุแบบนี้อีก ราชทัณฑ์จะจัดการอย่างไร และผู้อำนวยการเรือนจำหญิงได้ตอบว่า ถ้าอยู่ในนี้จะปลอดภัย เขาขอเอาตัวเองเป็นประกันเลย

“อยู่ที่นี่เวลาคนมีปัญหาก็ชอบมาขอให้อายช่วยพูด ขอความช่วยเหลือ แต่อายก็เลือกนะว่าจะช่วยใคร” น้ำเสียงของอายหนักแน่นขึ้น กล่าวย้ำว่า หากสิ่งที่ขอให้ช่วยเป็นเรื่องที่ทำเพื่อส่วนรวม เธอก็จะพูดให้ เหมือนเป็นกระบอกเสียง เช่น การขอให้เพิ่มรอบเยี่ยมทางไลน์ หรือการขอให้เพิ่มเวลาเยี่ยมญาติใกล้ชิดจาก 15 เป็น 20 นาที ซึ่งเธอภูมิใจที่ทางเรือนจำรับฟังและปรับปรุงตามที่เธอเสนอ

“พอสิ่งที่เราบอกมันไม่เกิดประโยชน์เฉพาะตัวเรา แต่เป็นประโยชน์กับคนอื่น แล้วเรือนจำมีการรับฟัง อายก็รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น รู้สึกแบบใจฟูขึ้น”

อายเล่าด้วยน้ำเสียงที่อ่อนลงว่า ก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในเรือนจำ เธอรู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น แผ่นดินไหว ที่เธอได้ช่วยเหลือผู้อื่น ได้เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ต้องขังที่ไม่กล้าพูด เธอก็รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น เมื่อถามถึงอาการส่วนตัวหลังจากเกิดแผ่นดินไหว อายยอมรับว่ามีอาการเวียนหัวบ้าง แต่เธอเป็นคนอดทน “ตอนที่เกิดเหตุอายรู้สึกแพนิคมาก แต่อายเหมือนคล้าย ๆ เป็นคนมีโลกสองใบ คือใจนึงก็รู้สึกมือสั่น ใจสั่น แต่ก็บอกตัวเองนิ่ง ๆ ไว้”

จนถึงปัจจุบัน (9 เม.ย. 2568) อายถูกคุมขังมาแล้ว 226 วัน หลังจากเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษจำคุก 24 ปี ก่อนลดเหลือ 8 ปี 48 เดือน เนื่องจากให้การรับสารภาพ โดยไม่รอลงอาญา ส่วนใหญ่เธอถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมขบวนการชุมนุมกับกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในช่วงปี 2564 ปัจจุบันถูกดำเนินคดีทางการเมือง 7 คดี โดยเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดี
.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

“อาย” กันต์ฤทัย ยังไม่อดอาหาร หลังพิจารณาถึงกระแสสังคมภายนอก ฟังหลายคนขอร้อง ยังคงเผชิญกับโรคซึมเศร้าในเรือนจำ-ความห่วงลูก

https://tlhr2014.com/archives/74679