พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : พูดลอยๆ เรื่องหาบเร่แผงลอยในวันหน้า
5 พฤศจิกายน 2567
มติชนออนไลน์
ของขวัญปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงจาก กทม. ที่มีผลต่อประชาชนในเมืองใหญ่แห่งนี้อย่างน้อยสามเรื่องน่าจะเป็นประเด็นที่หลายคนอาจจะพูดถึง หรืออาจจะยังไม่ทันสังเกต
5 พฤศจิกายน 2567
มติชนออนไลน์
ของขวัญปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงจาก กทม. ที่มีผลต่อประชาชนในเมืองใหญ่แห่งนี้อย่างน้อยสามเรื่องน่าจะเป็นประเด็นที่หลายคนอาจจะพูดถึง หรืออาจจะยังไม่ทันสังเกต
ไล่เรียงมาตั้งแต่การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยใหม่ การเก็บค่าขยะเพิ่มสามเท่า (จากยี่สิบบาท เป็นหกสิบบาท ถ้าไม่แยกขยะ) และเรื่องของการจัดระเบียบหมาแมว ที่จะส่งผลกับความหนาแน่นของพื้นที่ ฝังชิป และทำหมันฟรี
เรื่องการเก็บขยะนี่ ผมคิดว่าคงจะเริ่มมีคนพูดถึงมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะว่าถึงเวลาคงต้องตอบคำถามให้ได้ว่าถ้าเก็บตังค์เพิ่มขนาดนั้น ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเรื่องขยะมันจะดีขึ้นจริงไหม เพราะตอนนี้ในซอยบ้านผมก็เริ่มเก็บขยะไม่สม่ำเสมอมาเดือนหนึ่งแล้ว ไม่ทราบว่าด้วยเงื่อนไขอะไรที่แย่ลงได้ขนาดนี้
หลายคนก็บอกง่ายๆ ว่า ก็แจ้งทราฟฟี่ฟองดูรว์ไปเดี๋ยวก็ดีขึ้น ซึ่งก็น่าจะส่งผล แต่เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ การใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาเช่นนี้ก็ทำให้ไม่ต้องพูดเรื่องการทำงานของ ส.ก. สภาเขตที่ถูกยุบไป หรือระบบการเปรียบเทียบความสามารถของการทำงานของเขตและสำนัก และได้ตรวจสอบว่าการโยกย้ายแต่งตั้งของข้าราชการ กทม.ในแต่ละตำแหน่งนั้น ประชาชนจะได้มีโอกาสติดตาม ตรวจสอบ หรือควบคุมอะไรได้
คงต้องติดตามต่อไปหล่ะครับว่าระบบการเก็บเงินค่าขยะเพิ่ม ระบบการจูงใจเรื่องการแยกขยะ
และระบบการจัดเก็บจริงจะไปในทางเดียวกันมากน้อยแค่ไหน และโดยเฉพาะอย่างในซอยบ้านผมเองเนี่ย ผมไม่แน่ใจว่าถ้าคนที่เขาไม่จ่ายค่าขยะเขาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง จะมีวิธีจัดเก็บในด้านอื่นได้มากน้อยแค่ไหน
เดี๋ยวก็คงมีรายละเอียดตามมาครับผม
ส่วนเรื่องหาบเร่แผงลอยนี่ ผมคิดว่าเป็นมหากาพย์ที่ยังไม่สิ้นสุดหรอกครับในบ้านในเมืองของเรา และระบบที่เพิ่งออกมาซึ่งคาดว่าจะใช้หลังปีใหม่ก็ไม่น่าจะจบปัญหาที่เกิดขึ้นได้
ประการแรก จะแก้ปัญหาเรื่องหาบเร่แผงลอยนี่คงต้องกล้าที่จะเปิดรับฟังปัญหาก่อนว่าปัญหามันคืออะไรกันแน่ และมันเป็นปัญหาของใครบ้าง
ปัญหาหาบเร่แผงลอยเอาเข้าจริงมันไม่ได้เป็นเรื่องที่ทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน และยิ่งไปกว่านั้นก็คือปัญหาหาบเร่แผงลอยต่อให้มีความเข้าใจข้อเท็จจริงตรงกัน บางทีจุดยืนในการแก้ปัญหาอาจจะไม่ตรงกันอยู่ดี
สุดท้ายก็จบลงตรงคำพูดหรูๆ ทิ้งเอาไว้ในเอกสารไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยกลับมาแก้ใหม่เมื่อมีแรงกดดันทางสังคมในเรื่องนี้
ประการที่สอง กรอบคิดที่เป็นความท้าทายในเรื่องของหาบเร่แผงลอยใน กทม.ก็คือมันเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย สิ่งที่ทำได้เต็มที่ก็คือการยกเว้น ผ่อนผัน เพราะตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
เมื่อตั้งต้นด้วยเรื่องของการจำต้องยกเว้น ทุกเรื่องก็เลยพัวพันกันไปหมด เพราะหลักในการคิดไปอยู่ที่ข้อยกเว้น ก็เลยต้องให้เหตุผลในการยกเว้นนานับประการ ให้สังคมยอมรับกันให้ได้
เรื่องจึงนำมาสู่การชั่งน้ำหนักกัน ระหว่างเหตุผลความจำเป็นในการมีแหล่งอาหารราคาถูก และการส่งเสริมเศรษฐกิจในเมือง ในทางหนึ่ง กับอีกทางหนึ่งเป็นเรื่องของการผ่อนผันตามความจำเป็น หรือยกเว้นในกรณีพื้นที่ทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไปแล้ว
คำตอบหนึ่งจากการพยายามชั่งน้ำหนักกันมาแล้วในหมู่ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญก็คือ ต้องยอมให้คนจนใช้พื้นที่สาธารณะนั้น แต่ก็จะต้องติดตามตรวจสอบว่าจนจริงแค่ไหน ถ้าไม่จนจริงคือรายได้เกินเกณฑ์เมื่อไหร่ ก็จะต้องขยับขยายไปอยู่ที่อื่นแทน
นี่ยังไม่นับการผลักดันให้กิจการแผงลอยนั้นถูกผลักให้ไปอยู่ในพื้นที่ตรอก ซอก ซอย มากกว่าใช้ถนนใหญ่
ส่วนประเด็นถัดมาก็คือเรื่องของการอ้างอิงว่า นโยบายเรื่องของ ศูนย์หาบเร่ (hawker center) มาจากสิงคโปร์
แต่เอาเข้าจริง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้กระทั่งคำที่แปลตรงตัวว่าศูนย์หาบเร่นั้นก็ย้อนแย้งในตัวเอง คือ มันเป็นการทำให้หาบเร่ไม่เป็นหาบเร่ เพราะเอามาอยู่กับที่กับทาง
อันนี้ต้องแยกให้ออกก่อนว่า นโยบายของการสร้างศูนย์หาบเร่ หรือตลาดแผงลอยนั้นมันมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน และผูกพันกับตัวรัฐบาลเองว่ามีมุมมองต่อประชาชนและการพัฒนาเมืองอย่างไร
สิงคโปร์นั้นจะไปดูงานศูนย์หาบเร่นั้นก็ต้องเข้าใจว่าเขายกเลิกระบบหาบเร่ แผงลอยไปแล้ว ดังนั้น ประเด็นที่ไปตื่นตาตื่นใจกับศูนย์หาบเร่แผงลอยนั้นต้องแยกให้ออกก่อนว่า ที่เขาทำอยู่คือการสร้างพื้นที่พาณิชยกรรมสำหรับคนมีรายได้น้อย เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเมือง
โจทย์ตรงนี้ต้องคลี่ให้ออกก่อน คือ รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้มีทัศนคติในแง่ลบต่อหาบเร่ แผงลอย และไม่ได้ปกครองเมืองด้วยข้อยกเว้น
เขาพัฒนาเรื่องไม่ให้คนขายของบนทางเท้า คือหาบเร่แผงลอย มาตั้งแต่ยุคสมัยอาณานิคม แต่เรื่องใหญ่มันคือเรื่องที่มากกว่าความเป็นระเบียบ ไปสู่เรื่องของความสะอาด สุขอนามัย
แต่ที่สำคัญคือ เขาเพิ่มพื้นที่ในการสร้างศูนย์หาบเร่ขึ้น โดยมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมือง ไม่ใช่มองเป็นเรื่องความจำเป็นที่ต้องหลับตาข้างหนึ่งเอาไว้ คือผิดกฎหมายแล้วต้องยกเว้น
ด้วยความที่สิงคโปร์นั้นรัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดินส่วนมาก และมีวิสัยทัศน์ว่าเมื่อเป็นเจ้าของที่ดินก็ต้องพัฒนาเมืองและผู้คนของเขาโดยเฉพาะเรื่องที่พักอาศัยที่เปิดให้ประชาชนเช่ามากกว่าซื้อขาด การสร้างศูนย์กลางของแต่ละเมืองย่อยจึงต้องสร้างเมืองย่อยให้เป็นระบบ ที่มีลักษณะศูนย์กลางการพัฒนาเมืองย่อย (town center) แล้วเชื่อมร้อยกับโครงข่ายคมนาคม
เมื่อเป็นเช่นนี้ตลาดและศูนย์หาบเร่แผงลอยก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีในเมือง
ตรงนี้สำคัญว่าเขามุ่งมั่นสร้างศูนย์หาบเร่ทั้งการออกแบบ ก่อสร้าง และจัดระบบความสะอาดและการจัดการขยะมูลฝอยและน้ำเสีย
ขณะที่บ้านเราไปดูงานกลับมาขีดทางเท้าแล้วเถียงกันว่าจะให้พื้นที่แผงลอยเท่าไหร่ จะลงทะเบียนคนที่เคยขายยังไง และต้องมาพิสูจน์ความจนไม่งั้นขายไม่ได้ หรือถ้าขายจนรวยก็ต้องออกไป
อีกเรื่องที่ต้องไม่สับสนเมื่่อดูงานที่สิงคโปร์ คือการแยกศูนย์หาบเร่ กับ ศูนย์อาหาร (food court) ออกจากกัน เพราะศูนย์อาหารเป็นพื้นที่เอกชนที่เขาจัดทำขึ้นให้เช่าในราคาตลาด แต่อาจจะไม่ได้หรูหราเท่าไหร่ แต่ไม่ใช่เรื่องและความรับผิดชอบของรัฐบาล เว้นแต่เรื่องของกฎระเบียบที่ว่าด้วยระบบความสะอาด
บ้านเราคงจะต่างออกไปเพราะ กทม.ไม่ได้คิดเรื่องศูนย์หาบเร่จริงๆ ที่จะสร้างเอง แต่ไปใช้วิธีจูงใจให้เอกชนทำขึ้นมา ซึ่งแม้จะมีเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ระบบแบบเจ้าของที่ดินที่คิดว่าตนนั้นไม่ใช่เป็นแค่เจ้าของที่ดินที่จะสร้างความมั่งคั่งในเมือง
เจ้าของที่ดินที่มีความเชื่อมโยงกับความเป็นสาธารณะในเมือง หรือต่อให้ไม่เป็นก็พึงจะต้องคิดด้วยว่าตนนั้นจะต้องมีความรับผิดชอบต่อความกินดีอยู่ดีของผู้คนในเมืองด้วย ไม่ใช่คิดแค่ว่ามีหน้าที่หาเงินหาทองเข้าตัวเอง แล้วค่อยเอาเงินไปบริจาค หรือเอาเงินไปทำประชาสัมพันธ์ให้บริษัทหรือครอบครัวของตนดูดี
ที่น่าหดหู่ไปกว่านั้นคือการบริหารเมืองที่ไปเชื่อว่าจะต้องสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจในเมือง โดยขาดแรงกดดันหรือไม่ตระหนักว่าหน้าที่ในการบริหารเมืองนั้นคือการสร้างสมดุลระหว่างกันของความมั่งคั่งเติบโตทางเศรษฐกิจ และการกระจายความมั่งคั่งสู่ประชาชนในเมือง
อีกประการที่สำคัญคือ การพูดถึงสิทธิในการกำหนดและเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี (rights to the city) ต้องคำนึงถึงสองส่วน คือส่วนของคนที่แปลกแยกในเมือง พวกนี้คือคนที่ไม่ได้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจ แต่โหยหาคุณค่าด้านอื่นๆ เช่น เทศกาล
นัยยะทางวัฒนธรรม ทางสังคม กับพวกที่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รายได้
โอกาส การเข้าถึงบริการสาธารณะ
ในความเป็นจริงเมื่อจัดเทศกาลเมืองแล้วเปิดให้มีแผงลอย แต่แผงลอยเก่าไม่ได้ขาย เรื่องมันก็เกิดการตั้งคำถามกันหลายฝ่าย
ฝ่ายไม่ถามก็ไม่คิด
ฝ่ายถามก็ไม่มีปากมีเสียง
เรื่องมันก็ไม่ง่าย และการชุมนุมก็ไม่ใช่ทุกทางออก
ในกรณีที่แต่ละเขตนั้นกลไกในการตัดสินใจเรื่องเศรษฐกิจ และสิทธิในการใช้ทางเท้าไม่ได้ถกเถียงกว้างขวาง และมีโครงสร้างการตัดสินใจที่คนทั้งพื้นที่เข้ามามีส่วน แต่เป็นคณะกรรมการที่มีผู้ค้า กับเขตเจรจากันบ้าง แต่อำนาจไม่เท่าเทียมกัน และประชาชนทั้งเขตไม่ได้เป็นผู้ร่วมกำหนดการตัดสินใจ หรือติดตามตรวจสอบการตัดสินใจนั้น สุดท้ายปัญหาหาบเร่แผงลอยก็ยังเป็นเรื่องของการผ่อนผันในแต่ละพื้นที่
ซึ่งในความจริงการผ่อนผันก็คือการเจรจานอกรอบกันเป็นส่วนใหญ่
และปีใหม่ที่จะถึงปัญหานี้ก็จะย้อนกลับมาอีกอยู่ดี เพราะสังคมนี้ไม่ใช่สังคมที่จะได้มาซึ่งฉันทามติง่ายๆ เพราะแต่ละฝ่ายมีจุดยืนและผลประโยชน์ที่ต่างกัน
(https://www.matichon.co.th/columnists/news_4881479#m381cxpy2qepcsa63os)